อวัยวะทั้ง 5 กับการดูแลสุขภาพผิวพรรณ

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  3370 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อวัยวะทั้ง 5 กับการดูแลสุขภาพผิวพรรณ

           ตามทฤษฎีศาสตร์การแพทย์แผนจีน อวัยวะตัน(จั้ง)ทั้ง 5 อันได้แก่ หัวใจ ปอด ม้าม ตับและไต เป็นอวัยวะหลักที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย โดยอวัยวะทั้ง 5 ทำงานประสานเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณ ชี่ เลือด สารน้ำและสารจำเป็นต่างๆในร่างกายของเรา และแสดงออกถึงประสิทธิภาพการทำงานออกมาที่ผิวหนังภายนอก เส้นผม หรืออวัยวะภายนอกร่างกาย

           การดูแลสุขภาพผิวพรรณตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะภายนอกเท่านั้น สุขภาพผิวพรรณที่สดใสเปล่งปลั่ง ย่อมเกิดจากภายในร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้วจึงสะท้อนออกมาที่ภายนอก

           ดังนั้นถ้าหากอวัยวะตันทั้ง5 มีการทำงานที่บกพร่องเสียสมดุลย่อมส่งผลให้ปรากฎความผิดปกติหรือรอยโรคที่ผิวพรรณให้เห็นตามมา

1.หัวใจ (心) : ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน หัวใจมีหน้าที่กำกับเลือดและ ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หัวใจยังควบคุมความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ  เปิดทวารที่ลิ้นและมีความสัมพันธ์กับใบหน้า  หากหน้าที่ของหัวใจเป็นปกติ มีเลือดและชี่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ใบหน้าจะมีเลือดฝาด สีชมพูระเรื่อ สุขภาพดี

หากชี่หัวใจพร่อง เลือดในหัวใจไม่พอ จะส่งผลให้ผิวขาวซีด แห้งเหี่ยว  หรือหัวใจสูญเสียเลือดมากเกินไป จะส่งผลให้เลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ ทำให้ใบหน้าซีดขาวเหมือนกระดาษ แลดูซีดเซียวไม่มีออร่า หากเลือดในหัวใจไหลเวียนได้ไม่คล่องเกิดการติดขัดย่อมส่งผลให้ใบหน้าออกม่วงคล้ำ ผิวแห้งไม่สดใส

2.ปอด (肺) : ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนปอดมีหน้าที่ควบคุมชี่และการแผ่กระจายของชี่ ควบคุมการลำเลียงของน้ำสารเหลว(จินเย่)ในร่างกาย เปิดทวารที่จมูกและมีความสัมพันธ์กับผิวหนัง และเส้นขน มีหน้าที่ในการลำเลียงของเหลว เลือด ชี่และสารจำเป็นสู่ผิวหนังและเส้นขน ให้มีความชุ่มชื้น ปรับการปิดเปิดของต่อมเหงื่อ ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ หากหน้าที่ปอดสมบูรณ์แข็งแรง ผิวหนังและเส้นขนย่อมได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่ ทำให้ผิวพรรณ เส้นขนต่างๆชุ่มชื้นไม่แห้งกร้าน การปิดเปิดของต่อมเหงื่อและอุณหภูมิร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ป้องกันเสียชี่(ปัจจัยก่อโรค)จากภายนอกเข้ามารุกรานผิว แต่ถ้าหากชี่ของปอดพร่อง ย่อมส่งผลให้ผิวพรรณและเส้นขน เหี่ยวแห้ง แตกเป็นขุย มีเหงื่อออกผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง หรืออาจป่วยได้ง่าย

3.ม้าม (脾) : ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนม้ามมีหน้าที่ ควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหาร  และสารอาหารที่ได้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างเลือดและชี่ของร่างกาย ดังนั้นหากม้ามแข็งแรงสมบูรณ์ ทำงานได้อย่างปกติจะทำให้การย่อย การดูดซึมและการขนส่งอาหารในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ สารอาหารถูกหล่อเลี้ยงนำไปสร้างเป็นเลือดและชี่เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตและทำให้หล่อเลี้ยงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ใบหน้ามีผิวพรรณที่สดใสเปล่งปลั่ง แต่ในทางกลับกัน หากมีสิ่งมาขัดขวางการทำงานของม้าม ก็จะส่งผลให้การสร้างเลือดและชี่น้อยตามมา เมื่อเลือดและชี่มีไม่เพียงพอ การนำไปหล่อเลี้ยงร่างกายผิวพรรณและใบหน้าก็จะลดลง ทำให้แสดงออกมาทางผิวพรรณ ใบหน้าจะมีสีออกเหลืองหรือมีสีคล้ายกับมีคราบฝุ่นเกาะอยู่บนใบหน้า มีความแห้งกร้าน ดูหม่นหมองไม่สดใส ประการที่สอง หากม้ามมีการย่อยและลำเลียงสารน้ำผิดปกติไป จะส่งผลให้มีสารน้ำและความชื้นติดขัดคั่งค้างอยู่ภายในร่างกาย หากทิ้งไว้เป็นเวลานานจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นความร้อนชื้น ความร้อนชื้นจะขึ้นด้านบนร่างกาย ส่งผลให้เกิดสิวอักเสบ(痤疮) หรือ โรคสิวหน้าแดง(酒渣鼻) ได้ และอีกหน้าที่หนึ่งของม้ามในทางแพทย์แผนจีน คือม้ามมีหน้าที่ดูดซึมและส่งสารอาหารมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อให้เจริญแข็งแรง หากม้ามพร่องทำงานผิดปกติ การส่งสารอาหารมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อร่างกายลดน้อยลง กล้ามเนื้อไม่ตึงแน่นหน้าเกิดริ้วรอยก่อนวัย ผิวพรรณขาดการหล่อเลี้ยง ใบหน้าหมอง คล้ำผิวหน้าแห้งกร้านเป็นขุย

4.ตับ (肝) : ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนตับมีหน้าที่สะสมเลือด  และปรับปริมาณเลือดให้คงที่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่แผ่ซ่านชี่ให้ทั่วถึงตลอดภายในร่างกาย   ควบคุมการไหลเวียนของชี่เลือดและของเหลวในร่างกายให้เป็นไปอย่างสมดุล หากตับทำงานได้สมบูรณ์แข็งแรง  ผิวพรรณและใบหน้าจะเปี่ยมด้วยการหล่อเลี้ยงของเลือดทำให้ใบหน้ามีสีเลือดฝาด ชมพูระเรื่อแต่หากตับมีการเก็บเลือดที่ไม่สมบูรณ์ เลือดน้อยไม่เพียงพอจะส่งผลให้ใบหน้าขาดการหล่อเลี้ยงของสารน้ำและเลือด ขาดความชุ่มชื้น ใบหน้าจะดูไม่สดใส ไม่เปล่งปลั่ง หากตับมีการแผ่ซ่านชี่ที่ผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดเลือดคั่งที่บริเวณใบหน้า ใบหน้าจะมีสีคล้ำกว่าปกติหรือคล้ำออกเขียว ใต้ตาคล้ำ หรือเกิดเป็นฝ้า(黄褐斑)ที่บริเวณใบหน้า

5.ไต (肾) : ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนไตมีหน้าที่ในการกักเก็บสารจิง(สารพื้นฐานของชีวิต)เพื่อใช้ในการหล่อเลี้ยงร่างกายในการดำรงชีวิต โดยสารจิงนั้นได้รับแต่กำเนิดจากพ่อแม่แล้วถูกกักเก็บไว้ในไต ช่วยในการสร้างชี่ของไต อบอุ่นอวัยวะตันทั้ง5(จั้ง) ทำให้อวัยวะตันทั้ง5ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยจะทำหน้าที่พัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย ความแก่ชราจึงมีความเกี่ยวข้องกับพลังชี่ของไตทั้งสิ้น หากชี่ไตสมบูรณ์จะทำให้อวัยวะตันทั้ง5ทำงานได้อย่างปกติ ชี่และเลือดในร่างกายเพียงพอ มีอายุยืนยาวและเปรียบว่าใบหน้าเหมือนถูกหยุดเวลาไว้ไม่แก่ชราลง ลักษณะภายนอกดูไม่เหี่ยวเฉาตามอายุที่มากขึ้น แต่ถ้าหากชี่ไตพร่องไป จะทำให้ใบหน้ามีสีน้ำตาลดำดูหมองหรือหากไตอินพร่องไม่สามารถควบคุมไฟได้ ก็จะทำให้เกิดไฟลุกโชนสะสมที่ผิวหนังส่งผลให้ใบหน้าเกิดเป็นฝ้า(黄褐斑) กระ(雀斑) หรือทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำไม่สม่ำเสมอตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ (黑变病) หากสารจิงในไตลดลง ชี่ไตถูกทำลายจะส่งผลให้อวัยวะตันทั้ง5ทำงานผิดปกติไป ใบหน้าดำหมองคล้ำ ดูแก่ก่อนวัย

บทความโดย
แพทย์จีน รัญชนา ตั้งมั่นเจริญสุข (ซุน หลี)
孙梨 中医师
TCM. Dr. Runchana Tangmancharoensuk (Sun Li)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1412

อ้างอิง
中医美容学/刘宁主编。一北京中国中医药出版社,2005.11、(2015.3重印)
新世纪全国高等中医医院校中医美容系列教材

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้