Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1903 จำนวนผู้เข้าชม |
“ไป๋ปี่”(白疕)เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่งในตำราแพทย์แผนจีน ที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังเป็น ๆ หาย ๆ มีลักษณะเด่นของโรคคือ ผิวมีลักษณะสีแดงหรือผื่นสีแดงนูน ด้านบนปกคลุมด้วยขุยหรือสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบเยื่อบาง ๆ พร้อมจุดเลือดออกเล็ก ๆ การดำเนินโรคยาวนาน กลับเป็นซ้ำได้ง่าย มักพบได้ในวัยรุ่นและพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยปกติแล้วอาการมักกำเริบในช่วงฤดูหนาว โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ซึ่งโรคนี้เทียบเคียงได้กับโรค “สะเก็ดเงิน (psoriasis)” ในชื่อทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
ลักษณะอาการทางคลินิก สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
1. แบบทั่วไป เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถเกิดผื่นได้ทั่วร่างกายรวมถึงเล็บ มักเริ่มจากหนังศีรษะไปแขนขา ตัวผื่นสีแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเงินสีขาว รอยโรคมีรูปร่างหลากหลาย มักเริ่มจากจุดเล็กและขยายเป็นผืนหรือเป็นรูปเหรียญ วงแหวน แผนที่ หรือเปลือกหอย เป็นต้น อาจพบตัวเล็บมีหลุมเป็นจุด ๆ เล็บไม่เรียบสม่ำเสมอหรือเล็บหนาตัว มักแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะกำเริบ ระยะสงบ ระยะฟื้นตัว โดยอาจมีหรือไม่มีอาการคันร่วม
2. ตุ่มหนอง ทางคลินิกพบได้น้อย ลักษณะของตุ่มหนองไม่มีการติดเชื้อแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ขึ้นเป็นตุ่มหนองกระจายตามบริเวณผื่นที่ขึ้นชนิดแบบทั่วไป มักพบอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ข้อปวดบวมร่วมกับอาการไม่สบายตัว กับอีกประเภทคือขึ้นเฉพาะบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มหนองไม่แตกง่าย ร่วมกับอาการแห้งลอก ตัวเล็บมักเปลี่ยนรูปและหนาตัว
3. ข้ออักเสบ มักเกิดอาการหลังจากพบอาการสะเก็ดเงินแบบทั่วไป หรือเกิดพร้อมกับสะเก็ดเงินชนิดอื่น ๆ มักมีอาการปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าโดยเฉพาะปลายข้อนิ้ว หากอาการหนักอาจลามไปถึงข้อเข่า กระดูกก้นกบ กระดูกสันหลังได้ อาการแสดงคือข้อบวมแดง เคลื่อนไหวไม่สะดวก จนถึงข้อผิดรูป
4. ผิวแดงลอก มักเกิดจากการพัฒนาของโรคแบบทั่วไป หรืออาจเกิดจากช่วงระยะกำเริบมีการใช้ยาบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น หรืออาจเกิดจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ปริมาณมากแล้วหยุดยากระทันหัน อาการแสดงคือ ผิวแดงลอกทั่วตัว บวมแดง ผื่นแฉะหรือแห้งลอก ตัวเล็บหนาขึ้นและเปลี่ยนรูป มักพบอาการตัวร้อน กลัวหนาวร่วมด้วย
ตัวอย่างการรักษาสะเก็ดเงินในวัยรุ่น
ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 26-02-2023
ผู้ป่วยเพศชาย ชาวไทย อายุ 15 ปี
อุณหภูมิร่างกายปกติ, ชีพจร 84/min, ความดัน 130/72 mmHg, น้ำหนัก 78.9 kg
อาการสำคัญ : คนไข้มาด้วยอาการผื่นแดงและมีสะเก็ดทั่วร่างกายเว้นใบหน้าร่วมกับมีอาการคันในบางครั้งเป็นเวลา 5 เดือนกว่า
เมื่อ 5 เดือนก่อนคนไข้เริ่มมีผื่นขึ้นร่วมกับอาการคันบริเวณหนังศีรษะและลุกลามมากขึ้นทั่วตัว ได้พบแพทย์แผนปัจจุบันและถูกวินิจฉัยเป็นโรค “สะเก็ดเงิน” มีประวัติบิดามีโรคสะเก็ดเงินเช่นกัน เคยได้รับการรักษาด้วยยาทาชนิดสเตียรอยด์ไม่มียารับประทานแต่หาอาหารเสริมทานเอง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการคันให้ลดลงแต่ผื่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถทานอาหารได้ปกติ ขับถ่าย 2 วันต่อครั้ง อุจจาระค่อนข้างแข็ง คนไข้ดื่มน้ำน้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน การนอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ชีพจรลื่นเร็ว
พบผื่นทั่วร่างกายเว้นแต่บริเวณใบหน้า ตัวผื่นสีแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดขาวแห้ง
การวินิจฉัย : สะเก็ดเงิน(白疕/银屑病)
การรักษา : ทานยาและยาทาสมุนไพรจีนตำรับเซียวเฟิงส่านเพิ่มลด(消风散)ซึ่งมีสรรพคุณขจัดลม ขับความชื้นความร้อน บำรุงเลือด เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 02-04-2023
ชีพจร 81/min, ความดัน 111/54 mmHg
หลังรับประทานยาจีนไปครั้งแรกอาการคันบริเวณผื่นลดลง รอยผื่นตามร่างกายโดยรวมเรียบลงกว่าเดิมเริ่มมีการลอกของสะเก็ดมากกขึ้น คนไข้มีการปรับการดื่มน้ำมากขึ้น การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว
พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิมและปรับลดตัวยา เพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณบำรุงเลือดเพิ่มการไหลเวียนเลือดและสารน้ำในร่างกาย เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 4 วันที่ 30-04-2023
ชีพจร 88/min, ความดัน 110/65 mmHg
ในระยะเวลาสามสัปดาห์ ผื่นทั่วตัวค่อย ๆ จางลงชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณแขนขา บริเวณกึ่งกลางผื่นเห็นเป็นลักษณะผิวปกติ สีผื่นค่อนข้างแดงคล้ำ มีสะเก็ดหลุดลอก ไม่พบอาการคัน ที่แผ่นหลังตัวผื่นจางลงแต่บริเวณหน้าท้องผื่นยังค่อนข้างหนาตัว และสีแดงเข้มบริเวณร่องจมูกทั้งสองข้างและแก้ม การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีค่อนข้างแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว
พบผื่นบริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้างเป็นสีแดงอ่อนบริเวณกว้างตัวผื่นค่อนข้างแห้ง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิมและปรับลดตัวยา เพิ่มสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณลดการอักเสบดับร้อนขับพิษ เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 6 วันที่ 28-05-2023
ชีพจร 82/min, ความดัน 124/60 mmHg
ผื่นบริเวณแขนขา หลังจางลงชัดเจน ส่วนรอยผื่นบริเวณหน้าท้องค่อย ๆ จางลง ไม่พบอาการคัน บริเวณใบหน้ามีสิวผดขึ้นเล็กน้อย การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีค่อนข้างแดง ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิม เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตรวจรักษาครั้งที่ 7 วันที่ 11-06-2023
ชีพจร 75/min, ความดัน 124/64 mmHg
ผื่นทั่วตัวจางลงเห็นเป็นรอยสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ยังคงเหลือผื่นส่วนหน้าท้องเล็กน้อย ไม่พบอาการคัน ไม่มีผื่นใหม่ขึ้น บริเวณใบหน้าไม่พบสิวใหม่ขึ้น การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติวันละครั้ง นอนหลับปกติ
การตรวจร่างกาย : ลิ้นสีแดงอ่อน ปลายลิ้นแดงและมีจุดแดงชัด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กลื่นเร็ว
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับเดิม เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ติดตามอาการหลังหยุดรับประทานยาจีนเป็นเวลา 1 เดือน รอยผื่นจางลงตามลำดับและไม่พบผื่นใหม่ขึ้น
------------------------
บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)
แผนกอายุรกรรมภายนอก(ผิวหนัง) 中医外科
เอกสารอ้างอิง
瞿幸.(2019).中医皮肤性病学. 中国中医药出版社,2009.12,165-167.
15 ก.ค. 2567
30 ส.ค. 2567