รักษาสิวด้วยวิธีแพทย์แผนจีน รักษาจากข้างในสู่ภายนอก

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  79604 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาสิวด้วยวิธีแพทย์แผนจีน รักษาจากข้างในสู่ภายนอก

"สิว" โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของต่อมไขมัน  มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก ไหล่ หรือหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก สิวพบมากในวัยรุ่นหนุ่มสาวทั้งชายและหญิงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่มากกว่าวัยอื่น โดยทั่วไปสิวมักจะหายไปหรือทุเลาลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น

สิวเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่รูขุมขนโดยมีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วยดังนี้

1. ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป

2. เซลล์ผิวหนังหลุดลอกไม่สมบูรณ์

3. แบคทีเรีย P. acne

4. เกิดการอักเสบ






การเกิดสิวในมุมมองแพทย์แผนจีน
อาการต่างๆของโรคที่สะท้อนออกมาทางผิวหนัง เป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกถึงภาวะไม่สมดุลหรือมีการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย สิวที่เกิดขึ้นจึงบ่งบอกถึงอวัยวะภายในมีการเปลี่ยนไป    

สาเหตุและกลไกการเกิดสิว
1. ปอดมีความร้อน
มักพบในวัยเจริญพันธุ์เป็นช่วงที่ร่างกายมีพลังหยางมาก ส่วนใหญ่มีสภาวะร่างกายค่อนไปทางร้อนได้ง่าย ประกอบกับมีปัจจัยอื่นๆเช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดสะสม เป็นต้น โดยทั่วไปนั้นความร้อนจะมีทิศลอยขึ้นสู่ส่วนบน จึงเกิดเป็นสิวที่ใบหน้า

2. ลำไส้และกระเพาะอาหารมีความร้อนและความชื้นสะสม เกิดจากการทานอาหารรสเผ็ดจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด อาหารที่มีไขมันสูง ขนมขบเคี้ยวและเบเกอรี่ทำให้เกิดความชื้นและความร้อนสะสม

3. เสมหะอุดกั้น เป็นผลพวงเกิดจากความร้อนและความชื้นสะสมเป็นเวลานานจนทำให้เสมหะจับตัว


การแบ่งกลุ่มของสิว (แบบแพทย์แผนปัจจุบัน)
1. สิวอักเสบ :
สิวอักเสบชนิดนูนแดง (Papule)  สิวอักเสบ ชนิดมีหัวหนอง (pustule)
สิวอักเสบชนิด nodule และสิวอักเสบชนิด cyst 

2. สิวไม่อักเสบ :
สิวอุดตันชนิดหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ สิวอุดตันชนิดหัวปิด หรือสิวหัวขาว

การแบ่งกลุ่มและการรักษาสิว (แบบแพทย์แผนจีน)

1. สิวที่เกิดจากปอดมีความร้อน
ลักษณะสิว :
ตุ่มสิวนูนแดง อักเสบ ผิวหน้าแดง-ร้อน
อาการร่วม :  คอแห้งกระหายน้ำ นอนไม่หลับหรือนอนได้น้อย

หลักการรักษา : ขจัดความร้อนที่ปอด




    
        


2 .สิวที่เกิดจากสภาวะลำไส้และกระเพาะอาหารมีความร้อนและความชื้นสะสม
ลักษณะสิว :
สิวอุดตัน ตุ่มสิวหนองมาก  ผิวหน้ามัน หรือแสบคันผิวหน้า
อาการร่วม :
ท้องผูก เบื่ออาหาร ท้องอืดอาหารไม่ย่อยหรือรับประทานอาหารปริมาณมาก
หลักการรักษา : 
ขจัดความร้อนและความชื้นที่ลำไส้และกระเพาะอาหาร







3. สิวที่เกิดจากเสมหะอุดกั้น 
ลักษณะสิว :
สิวหัวช้าง เป็นก้อนไตใต้ผิวหนัง หลุมสิว มีแผลเป็น
อาการร่วม :
คนที่เป็นสิวเรื้อรัง อ่อนเพลีย ขับถ่ายผิดปกติ เบื่ออาหาร ท้องอืด หรือมีเสมหะที่ลำคอ
หลักการรักษา : 
ขจัดความชื้นสลายเสมหะสลายเลือดคั่ง
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยารักษาภายนอก ได้แก่ ยาพอก ยาทาและการฝังเข็ม






สิวที่ขึ้นแต่ละแบบบอกอะไรเราบ้างตามมุมมองแพทย์แผนจีน

1.  สิวตุ่มแดง สิวผด หรืออาจมีหัวหนองขนาดเล็ก อาจมีอาการคันเล็กน้อย ขึ้นบริเวณใบหน้าเป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับมีอาการคอแห้งกระหายน้ำ ท้องผูกเป็นประจำ ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอาการของ ปอดและกระเพาะร้อน

2.  สิวที่ปวดบวมแดง มักขึ้นที่ใบหน้า หลัง อก ผิวค่อนข้างมัน บางครั้งมีสิวหัวหนองขึ้น บางครั้งเป็นสิวไตแข็ง ร่วมกับมีอาการปากขม ปากมีกลิ่น ท้องผูก เรามองว่าเกิดจาก กระเพาะและลำไส้มีความร้อนชื้น

3. สิวตุ่มสีแดงคล้ำ มีสิวหัวหนอง สิวหัวดำ สิวเป็นไตแข็งสีแดงเข้มคล้ำ มักพบบริเวณสองข้างแก้มลงมาถึงขากรรไกรล่าง ผู้ที่มีสิวลักษณะนี้มักมีอาการหงุดหงิดง่าย ปากขมคอแห้ง หรืออาจเจ็บเสียดชายโครง ในผู้หญิงมักพบประจำเดือนมีสีแดงคล้ำ และปวดประจำเดือน หรือมีอาการคัดตึงหน้าอกช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการของชี่ตับติดขัดมีเลือดคั่ง

4. สิวเรื้อรัง สิวตุ่มแดงคล้ำ มีสิวผด สิวหัวหนอง สิวอักเสบเป็นไตแข็ง สิวไม่มีหัว สิวหัวช้าง มีรอยสิว เป็นมานานรักษายากร่วมกับมีอาการแน่นหน้าอก ท้องอืด เป็นการสะท้อนภาวะเสมหะและเลือดคั่งสะสม

แนวทางการรักษา : รักษาด้วยการรับประทานยาจีนเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีนทาหรือพอกเพื่อลดอาการอักเสบเฉพาะที่และบำรุงผิว ร่วมกับการฝังเข็ม ทั้งนี้ผลการรักษาและระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาพพื้นฐานร่างกายของแต่ละบุคคล รวมถึงการปฏิบัติตนเพื่อลดปัจจัยการเกิดสิว




การป้องกันและดูแลตนเอง ลดการเกิดสิว
  1. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (เผ็ด,เปรี้ยว,เค็ม,หวานจัด)
หลีกเลี่ยงน้ำเย็น ของทอด ของมัน เบเกอรี่ต่างๆ อาหารแสลง หรืออาหารที่กระตุ้นการเกิดสิวได้ง่าย เช่น พริก อาหารรสเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ควรรับประทานอาหารผัก ผลไม้ที่สดใหม่

2. ควรล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น
หลีกเลี่ยงการล้างหน้าด้วยน้ำเย็น เพื่อป้องกันรูขุมขนหดตัว ป้องกันไขมันอุดตัน ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์ค่อนไปทางกรดเล็กน้อย

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า
ห้ามใช้มือกด บีบ สิว เพื่อลดการอักเสบ ไม่ให้เกิดเป็นหลุมและแผลเป็น

4. การเลือกใช้เครื่องสำอาง
เพื่อลดการเกิดรูขุมขนอุดตันสะสมจนเกิดสิว

5. ขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน

6. ดื่มให้เพียงพอในแต่ละวัน

7. พักผ่อนให้เพียงพอ
ควรเข้านอนก่อนเวลา 23.00น.

8. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

9. หลีกเลี่ยงความเครียด
ผ่อนคลายจิตใจ ฝึกสมาธิ และทำใจให้สบายๆ

10. หากใช้วิธีต่างๆ ไม่ได้ผล ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังจะดีที่สุด

+++ การหย่างเซิงดูแลสุขภาพสำหรับคนเป็นสิวตามฤดูกาล +++

* ฤดูร้อน  ระบายความร้อน ขับพิษ
อาหารแนะนำ  : ถั่วเขียว แห้ว มะระ แตงกวา ฟัก

* ฤดูหนาว หรือ ช่วงที่อากาศเย็น บำรุงอิน-หยาง รักษาสมดุล
อาหารแนะนำ : เห็ดหูหนูดำ ผลวอลนัท

* ฤดูใบไม้ผลิ  ขับชี่ที่ตับ
อาหารแนะนำ : ใบสะระแหน่  โกจิเบอร์รี่ ดอกกุหลาบ

* ฤดูใบไม้ร่วง  บำรุงปอด ให้ความชุ่มชื้น
อาหารแนะนำ : ดอกลิลลี่(แปะฮะ) เห็ดหูหนูขาว สาลี่  แอปเปิล  

แนะนำเมนูอาหาร สำหรับคนผิวมัน
+ ถั่วเขียวลูกเดือยต้มน้ำตาล +
ส่วนผสม 
ถั่วเขียว 100 กรัม
ลูกเดือย 100 กรัม 
น้ำตาลกรวด 50 กรัม

ขั้นตอนการทำ
1. นำถั่วเขียวกับลูกเดือยล้างน้ำให้สะอาดและแช่น้ำค้างคืน
2.  ตั้งไฟต้มน้ำให้เดือดใส่ถั่วเขียวและลูกเดือย ต้มไฟอ่อนประมาณ1-1.30 ชม.จนกว่าถั่วเขียวและลูกเดือยนิ่ม


Cr.Photo : mindbodygreen.com



ดื่มชาโดยนำสมุนไพรมาชงเป็นน้ำชา ดื่มแบบอุ่นๆ
1. ใบหม่อน ข้าวบาร์เลย์ เก๊กฮวย
2. เจวี๋ยหมิงจื่อ ซานจา ดอกสายน้ำผึ้ง



คลินิกอายุรกรรมผิวหนัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้