โรคกรดไหลย้อน Acid Regurgitation 胃反酸 รักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  42865 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคกรดไหลย้อน Acid Regurgitation  胃反酸 รักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

โรคกรดไหลย้อน Acid Regurgitation 胃反酸
เป็นอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวัน หรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือ หลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร (atypical or extraesophageal GERD) เช่น อาการทางปอด หรือ อาการทางคอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux : LPR)



โดยปกติ ร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหาร ขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด การที่เกิดโรคกรดไหลย้อนนั้นเชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย

โดยปกติถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้น เชื่อว่ามีการทำงานของระบบป้องกันดังกล่าวเสียไป จึงมีกรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย, กล่องเสียง และปอดได้  


อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด  

1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้
- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
- กลืนลำบาก หรือกลืนเจ็บ
- เจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก
- มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
- เรอบ่อย คลื่นไส้
- รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย


2. อาการทางกล่องเสียง และปอด
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
- ไอเรื้อรัง
- ไอ หรือ รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน
- กระแอมไอบ่อย
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่แย่ลง(ถ้ามี)
- เจ็บหน้าอก
- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ


การป้องกันรักษาด้วยตนเอง

1. การปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน
การส่งเสริมรักษาวิธีนี้ในแผนจีนเรียกว่า "การหย่างเซิง" มีความสำคัญมากในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง หย่างเซิงคือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นมากขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หรือแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีแล้วโดยไม่ต้องกินยาแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรหย่างเซิงปฏิบัติตน ดังนี้

• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต 
- ควรพยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- บริหารอารมณ์ พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรลด ละ เลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว

• การเลือกรับประทานอาหาร
- หลังการรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ, การออกกำลัง, การยกของหนัก, การเอี้ยวหรือก้มตัว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึกและไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
- พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด, อาหารมัน, พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม, กระเทียม, มะเขือเทศ, ฟาสท์ฟูด, ช็อกโกแลต, ถั่ว, ลูกอม, peppermints, เนย, ไข่, นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้ว่าเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็ไม่ควรดื่ม) ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น


• ปรับเวลาในการนอน / วิธีการนอน
- ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
- เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

2. การรับประทานยา
เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และ/หรือ เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว ควรรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 - 3 เดือน และปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหาร และการดำเนินชีวิตประจำวันที่ระบุไว้ในข้อ 1

หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น เช่น progesterone, theophyllin, anticholinergics, beta-blockers, alpha-blockers, calcium channel blockers, aspirin, NSAID, vitamin C, benzodiazepines พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา 


3. การผ่าตัด

เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารส่วนบน การรักษาวิธีนี้จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้ หรือผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา แต่ไม่ต้องการที่จะกินยาต่อ ซึ่งผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น endoscopic fundoplication, radiofrequency therapy, injection / implantation therapy

 

โรคกรดไหลย้อนในทัศนะของการแพทย์แผนจีน

ภาวะกรดไหลย้อน ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกว่า TunSuan มีสาเหตุจากไฟตับลุกโชนและรุนแรงทำให้เกิดการเสียสมดุลระหว่างตับและกระเพาะอาหาร และสาเหตุจากภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร จากทั้งสองสาเหตุ จะนำไปสู่การล้มเหลวของการขนส่งอาหารและน้ำ ทำให้เกิดการไหลย้อนขึ้นของชี่ที่ไม่สะอาด



 
การวินิจฉัยแยกกลุ่มโรค

1.  ไฟตับลุกโชน
อาการ: มีภาวะกรดไหลย้อน อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ อาการร่วม มีกระวนกระวาย ปากแห้ง ขมในปาก มีกลิ่นปาก
ลิ้น ปลายลิ้นมีสีแดง ฝ้าเหลือง-บาง ; ชีพจรตึง หรือ เร็ว (XianMai or ShuMai)

 
2.  เย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร
อาการ: มีภาวะกรดไหลย้อน อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร รู้สึกอืดแน่นบริเวณลิ้นปี่ อาจมีอาการเรอ อาเจียน และดีขึ้นด้วยการกดนวด
ลิ้น  ซีด ฝ้าขาว ;  ชีพจร  ตึง-เล็ก (Xian-XiMai)



แนวทางการรักษาในการแพทย์แผนจีน
1. ไฟตับลุกโชน
หลักการรักษา: ขจัดไฟตับ


2.  ม้ามและกระเพาะอาหารเย็นพร่อง
หลักการรักษา: อุ่นบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร 

วิธีการรักษาในทางการแพทย์แผนจีน 
1. การฝังเข็มในจุดฝังเข็มหลัก โดยใช้วิธีการกระตุ้นระบาย เพื่อขจัดไฟตับ ลดไฟตับ ร่วมกับกับฝังเข็มในจุดเสริมเพื่อช่วยขจัดไฟตับจากถุงน้ำดี รวมทั้งป้องกันไฟตับรุกรานกระเพาะอาหาร จุดฝังเข็มหลักและจุดฝังเข็มรองช่วยเสริมชี่ของซ่างเจียวและจงเจียว ดึงชี่ที่ย้อนขึ้นไปอย่างผิดปกติให้ลงมาและหยุดอาการกรดไหลย้อน 

ส่วนในแนวทางการรักษาโดยการฝังเข็มเพื่ออุ่นบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ใช้การฝังเข็มร่วมกับการรมยาเพื่อปรับสมดุลจงเจียว การรมยาจะช่วยอุ่นจงเจียงและกำจัดความเย็น ไล่ความชื้นสะสมในร่างกาย 








2. การใช้ตำรับยาจีนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปในหลักการรักษากลุ่มอาการนี้ จะใช้หลักวิธีการรักษาผสมผสานกันทั้งภาคอายุรกรรมยาจีน เสริมกับการรักษาทางหัตถการ เช่น ฝังเข็ม รมยา เข็มอุ่น ในภาคยาจีนจะเป็นการใช้ตำรับสมุนไพรเพื่อเสริมสร้าง ซ่อมแซมระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เลือดลม ขจัดไฟตับ ขับไล่ความชื้นในร่างกาย และช่วยอุ่นบำรุงอวัยวะที่เกี่ยวข้อง  หากผู้ป่วยปรับพื้นฐานสุขภาพให้สอดคล้องกันจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนสรรพคุณทางการรักษาในภาคยาจีนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น





หมายเหตุ: ในเวชปฏิบัติทั่วไป ภาวะกรดไหลย้อน มักเป็นหนึ่งในหลายอาการของโรคหลายโรค ผู้ป่วยต้องพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ซึมเศร้า และรับประทานอาหารให้ได้ตาม ปกติ ผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากม้ามและกระเพาะอาหารเย็นพร่อง ควรให้ความสนใจในการรักษาความอบอุ่นหลังรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานของลมเย็น


ข้อมูลประกอบบทความ  : " หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 2"
Acupuncture & Moxibusion Volume 2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้