การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  42089 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

การรมยา (Moxibustion) เป็นวิธีการใช้สมุนไพร หรือ “อ้ายเย่" เพราะมีกลิ่นฉุน จุดติดไฟง่าย เพื่อให้เกิดความร้อนบนจุดหรือตำแหน่งที่แน่นอนบนร่างกาย เป็นการรักษา ป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ วิธีการนี้มีการใช้มานานหลายศตวรรษ ดังได้กล่าวไว้ในคัมภีร์โบราณว่า

"โรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็มอาจรักษาได้ด้วยการรมยา"
"เมื่อโรคไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือการฝังเข็ม ควรเปลี่ยนมาใช้การรมยา"


หมอจีนใช้อะไรในการรมยา ?
สมุนไพรที่นำมาใช้ในการรมยา ทำมาจากอ้ายเย่ ซึ่งเป็นพืชในตระกูลดาวเรือง มีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนที่นำมาใช้คือ ใบ และเรือนยอด นำมาตากแดดให้แห้งแล้วบดเป็นผง โดยคุณสมบัติความร้อนทำให้เกิดความอบอุ่นและคลายจากการอุดตัน กำจัดความเย็นและความชื้นออกจากเส้นลมปราณ 


แสดงลักษณะต้นและใบของอ้ายเยว่

กลิ่นฉุนของอ้ายเย่สามารถทะลวงเส้นลมปราณเพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือดและลมปราณให้เป็นปกติ นอกจากนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นจะไม่สูงและจะค่อยๆส่งผ่านเข้าไปได้ลึกจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งหากใช้วัสดุชนิดอื่นมาเผาแทน ผู้ป่วยจะไม่สามารถทนความร้อนได้ และผลการรักษาก็ไม่ดีเท่ากับที่ใช้สมุนไพรชนิดนี้


สรรพคุณของการรมยา
1. ช่วยอบอุ่นเส้นลมปราณและขจัดความชื้น
ความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือดและลมปราณมักเกิดจากความเย็นความร้อนที่มากเกินไป ความเย็นทำให้การไหลเวียนช้าลงและเกิดการติดขัดขึ้น ในขณะที่ความร้อนจะทำให้การไหลเวียนพุ่งเร็ว

การรมยาช่วยอบอุ่นเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากความเย็น ความชื้น และโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุจากความเย็นเข้าไปกระทบกล้ามเนื้อ

การใช้เข็มอุ่น หรือ Moxibustion with warmed needles แพทย์จีนจะปักเข็มลงบนจุดบนตัวคนไข้ จากนั้นใช้โกฐเสียบบนหางเข็มแล้วจึงจุดไฟ ความร้อนจะถ่ายทอดลงไปตามเข็ม ช่วยอบอุ่นเส้นลมปราณ ทำให้เลือดและลมปราณไหลเวียนดีขึ้น มักใช้ในกลุ่มอาการปวดข้อจากความเย็น อาการชาและแขนขาอ่อนแรง


ภาพการรักษาที่เรียกว่า การใช้เข็มอุ่น : Moxibustion with warmed needles


2. เพื่อให้เลือดและลมปราณไหลเวียนอย่างราบรื่น
การรมยา ช่วยทำให้เลือดและลมปราณไหลขึ้นบนและลงล่าง ตัวอย่างเช่น หมอจีนรมยาที่จุดหย่งเฉวียน เพื่อรักษาโรคแกร่งในส่วนบนและพร่องที่ส่วนล่างของร่างกาย และโรคหยางของตับไหลขึ้นบนมากเกินไป  "เมื่อเกิดลมปราณแกร่งในส่วนบนของร่างกาย ควรชักนำลมปราณลงเบื้องล่าง โดยการบำรุงที่ส่วนล่างของร่างกาย" ขณะที่หากเกิดภาวะพร่องในส่วนบนและภาวะแกร่งในส่วนล่างของร่างกาย ทำให้ชี่ตกจากภาวะพร่องแล้วเกิดโรค เช่น มดลูกหย่อน ถ่ายเหลวเรื้อรัง การรมยาที่จุดไป่หุ้ย จะช่วยชักนำหยางชี่ขึ้นสู่เบื้องบนเพื่อรักษาโรคดังกล่าว












3. รมยาช่วยป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพ
"ถ้าต้องการมีสุขภาพดี ควรรมยาที่จู๋ซานหลี่เป็นประจำ"
"ถ้าคนที่มีสุขภาพดี รมยาที่จุดกวานเอวี๋ยน ชี่ไห่ มิ่งเหมิน และจงหว่าน" อย่างสม่ำเสมอ เขาจะมีชีวิตยืนยาว จากการปฏิบัติการทางคลินิกพบว่า การรมยาช่วยป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างดี


4. อบอุ่นเส้นลมปราณกระจายความเย็น 
 รักษาโรคความเย็นอุดกั้นทำให้เกิดอาการติดขัด เช่น อาการปวดต่างๆ โรคปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายบิด

5. พยุงพลังหยางป้องกันอาการอวัยวะภายในหย่อน  รักษากับผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ พลังหยางไม่มีแรงดึงรั้ง  เช่น น้ำกามเคลื่อน มดลูกหย่อน ตกเลือด ตกขาว ท้องเสียเรื้อรัง มีเสมหะความชื้นภายใน

6. สลายก้อนขับอาการคั่งค้าง  มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะพลังชี่และเลือดติดขัดเช่น ฝีเต้านมระยะแรก

7. เสริมบำรุงร่างกาย  เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคและป้องกันโรคระบาดในช่วงเปลี่ยนฤดู เช่น ไข้หวัด



ในทางทฤษฎีศาสตร์การแพทย์แผนจีน เชื่อว่า การรมยาสามารถปรับสมดุลอินหยาง ปรับสมดุลพลังชี่และเลือด  อบอุ่นขับเคลื่อนเส้นลมปราณ บำรุงพลังชี่และขจัดพิษภายในร่างกาย,กระตุ้นการไหลเวียนของพลังและเส้นลมปราณ พยุงหยาง รวมไปถึงช่วยในเรื่องความงาม และการดูแลสุขภาพอีกด้วย

กระบวนการรมยาจะขึ้นอยู่กับขนาดของกรวยโกฐและเวลาที่ใช้ โดยทั่วไปจะขึ้นกับโรคอาการ อายุของผู้ป่วย และตำแหน่งจุดที่จะใช้ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที


วิธีการรมโกฐยา และวิธีการประคบร้อนที่มักใช้บ่อย

 วิธี “เวินเหอจิว(温和灸)” แพทย์ที่ทำการรักษาจะนำแท่งโกฐรมยาที่ทําจากอ้ายเยว่ (艾条)มาจุดให้ติดไฟ ทําการรมยาโดยถือแท่งโกฐหมุนวนไปมาเหนือจุด ฝังเข็ม ให้มีระยะห่างจากผิวหนัง 2-3cm ให้เกิดความอุ่นร้อนระดับพอเหมาะบริเวณจุดฝังเข็มนั้น



 วิธีรมยาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยรมยา
นำแท่งโกฐรมยาที่ทำจากอ้ายเยว่ (艾条)วางใส่กล่องรมยา หรือ อุปกรณ์รมยาอื่นแล้วนำมาวางบนจุดฝังเข็มที่ต้องการ

 

 วิธีประคบร้อน/วิธีแปะแผ่นร้อน 
วางอุปกรณ์ประคบร้อน เช่น กระเป๋าน้ำร้อน แผ่นร้อน ถุงเกลือร้อน หรือ แปะแผ่นร้อน บนจุดฝังเข็ม วิธีนี้ใช้การ รมยา เมื่อ อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่สามารถทำการรมยาได้

ปริมาณการรมยาที่เหมาะสม ความรู้สึกจากการรมยา และข้อควรระวัง ปริมาณการรมยา
-  เลือกจุดฝังเข็ม 3-5 จุด เพื่อทำการรมยาในแต่ละครั้ง
-  แต่ละจุดใช้เวลา 10-20 นาที
-  ทำวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน หรือ วันเว้นวัน 
-  ในการรมยาแต่ละครั้ง ใช้เวลารวมกัน 30-60 นาที ใช้แท่งโกฐ ½-1 แท่ง

ความรู้สึกจากการรมยา
- ให้มีความรู้สึกอุ่นร้อน แต่ต้องไม่ร้อนจนแสบลวก ให้ผิวหนังบริเวณที่รมยามีสีแดงเรื่อก็พอ

ข้อห้ามและข้อควรระวัง 
1.  โรคกลุ่มอาการแกร่งและโรคกลุ่มความร้อน (รวมถึงอาการไข้สูงจากโรคหวัดและกลุ่มอาการร้อนจากอินพร่อง)  ถึงแม้ว่าความร้อนจากการรมโกฐจะไม่มาก แต่อาจเกิดผลเสียขึ้นได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ และไม่ควรทำการรมยาเอง

2.  ขณะทำการรมยา ควรอยู่ในอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม กล้ามเนื้อผ่อนคลาย มองเห็นจุดที่ต้องการรมยาอย่างชัดเจน 

3. รักษาความอบอุ่นภายในห้องที่ใช้รมยา ระมัดระวังอย่าให้ร่างกายโดนความเย็น 

4. การรมยาจะเลือกใช้จุดจำนวนน้อยแต่ได้ผล แรงไฟรมยาสม่ำเสมอ

5. ในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีการตอบสนองช้า หรือ ผู้ที่มีการรับความรู้สึกบริเวณผิวหนังลดลง ห้ามรมยาในปริมาณมากเกิน เพื่อป้องกันบาดแผลจากการโดนลวก

6. ขณะทำหัตถการรมยา ควรระมัดระวังป้องกันไม่ให้เสื้อผ้า ที่นอน ถูกไฟไหม้ เมื่อการรักษาเสร็จสิ้นแล้วต้องดับไฟให้สนิท เพื่อป้องกันอัคคีภัย 

7. เวลาใช้แผ่นแปะความร้อน ห้ามสัมผัสบริเวณผิวหนังโดยตรง เพื่อป้องกันการโดนลวก ต้องใช้ผ้าวางกั้นบน จุดฝังเข็มที่ทำการรมยา อีก 1 ชั้น 

8. ตามปกติแพทย์จีนจะไม่ทำการรมยาบริเวณใบหน้าและศีรษะ หรือ บริเวณที่อยู่บนเส้นเลือดขนาดใหญ่และบริเวณที่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น ใกล้ดวงตา และจะไม่ทำการรมยาบริเวณท้องและหลังในหญิงตั้งครรภ์ 

9. กรณีผู้ป่วยที่หมดสติ แขนขาชา อัมพาต สามารถทำได้แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จีนและรักษาด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ



อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการรมยา
1. ขณะรมยา ควรจะมีความรู้สึกอุ่นร้อนเล็กน้อยบริเวณที่ทำการรมยา ถ้ามีอาการร้อน ลวก หรือแสบผิวหนัง ให้เรียกแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ทันที

2. ในบางรายหลังการรมยา อาจมีตุ่มน้ำพอง ไม่ควรทำการเจาะเอาถุงน้ำออกเอง ให้ท่านทำความสะอาดร่างกายตามปกติ ซับบริเวณที่มีอาการพองให้แห้ง แล้วกลับมาพบแพทย์

3. หลังรมยาแล้วเมื่อกลับไปถ้าท่านรู้สึกแสบร้อนมีรอยแดงที่ผิวหนังบริเวณที่รมยา ให้ท่านประคบเย็นบริเวณดังกล่าว หรือทาเจลว่านหางจรเข้ จะสามารถบรรเทาอาการแสบร้อนและป้องกันอาการพองของผิวหนังได้

แพทย์จีน รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (เวิน เจิน ฮุ่ย)
คลินิกฝังเข็ม

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือการฝังเข็มรมยา เล่ม 1
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0789-1


หมายเหตุ : เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน  ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้