นวดกดจุดแก้อาการมึนๆงงๆ

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  137633 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวดกดจุดแก้อาการมึนๆงงๆ

อาการเวียนศีรษะ  หน้ามืด  เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุปัจจัย  ส่วนใหญ่มาจากการนั่งทำงานในท่าเดิม  ๆ เป็นเวลานาน  หรือในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน อากาศเย็นๆชื้นๆ  บริเวณคอบ่าไหล่โดนลมเย็นจากแอร์มากระทบ  ทำให้คอบ่าไหล่  ปวดตึง  แล้วมักจะมีอาการปวดหัว เวียนหัวตามมา   บางคนถ้ากล้ามเนื้อคอเกร็งมากก็จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย 

หมอจีนมีวิธีการกดจุดบรรเทาอาการเวียนศีรษะจากโรคออฟฟิศซินโดรมมาฝากกันครับ

1. นวดจุด ไท่หยาง  (太阳穴) จุดนี้จะอยู่บริเวณขมับทั้งสองข้าง อยู่ด้านหลังหางคิ้วไปประมาณ 1.5 เซนติเมตร  เวลานวดใช้นิ้วหัวแม่มือคลึงหมุนเป็นวงกลมนาน  3 – 5 นาที

 

2.    นวดจุด ป่ายฮุ่ย  (百会穴) จุดนี้อยู่บริเวณศีรษะด้านบน  อยู่ในแนวกึ่งกลางระหว่างใบหูทั้งสองด้าน เวลานวดใช้ปลายนิ้วชี้หรือนิ้วกลาง  นวดคลึงหมุนเป็นวงกลมประมาณ 3 - 5 นาที




3.    นวดจุดเฟิงฉือ  (风池穴)
จุดนี้จะอยู่บริเวณท้ายทอยทั้งสองข้าง  เวลาคลำจะเจอร่องลึกบริเวณไรผม  เวลานวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง กดคลึงลงไปหมุนเป็นวงกลมประมาณ 3 – 5 นาที 

* หากกล้ามเนื้อโดยรอบมีจุดกดเจ็บหรือคลำแล้วเจอกล้ามเนื้อหดเกร็งอยู่ก็สามารถนวดบริเวณโดยรอบได้

4.    นวดจุด ชวีฉือ (曲池穴)จุดนี้อยู่บริเวณข้อศอกด้านนอก  เมื่องอข้อศอก 90 องศาจุดนี้ จะอยู่กึ่งกลางระหว่างกระดูกและปลายเส้นข้อพับข้อศอกด้านนอก   กดลงไปบนจุดจากเบาไปหนักประมาณ 3 – 5 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยนวดคลึงเบา ๆ ต่ออีก ประมาณ 1 นาที



5.    นวดจุด เหอกู่ (合谷穴)จุดนี้อยู่บริเวณด้านหลังฝ่ามือทั้งสองข้าง  ตำแหน่งระหว่างนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ  เมื่อกางนิ้วทั้งสองออก  จะอยู่ลึกเข้าไปจากประมาณ 1 ข้อนิ้วหัวแม่มือ   เวลานวดใช้นิ้วหัวแม่คลึงลงไปบนจุด หมุนเป็นวงกลมประมาณ 3 – 5 นาที  



6.    นวดจุด เจียนจิ่ง (肩井穴) จุดนี้จะอยู่บนบ่า  ตำแหน่งระหว่างกระดูกหัวไหล่ด้านนอกสุดและกระดูกคอข้อที่ 7 (เป็นกระดูกสันหลังข้อที่นูนที่สุด) นวดคลึงด้วยปลายนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อยประมาณ 3 – 5 นาที 

 
*** นอกจากนี้ยังสามารถนวดกล้ามเนื้อบ่าในแนวเส้นนี้ได้อีกด้วย

การนวดจุดเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวเวียนหัวได้ด้วยตนเอง  ช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น  ลดอาการตึง  เกร็งของกล้ามเนื้อคอบ่า  การนวดให้ได้ผลดีนั้น  เมื่อกดไปแล้วตัวเราต้องรู้สึกตึง ๆ หน่วง ๆ บริเวณตำแหน่งที่กด  ความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นระบบประสาท  ให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาที่ถูกวิธีต่อไปครับ

บทความโดย แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (กวน จิน ซุ่น)
แผนกทุยหนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้