บทบาทของแพทย์แผนจีนในการลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็ง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  10645 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทบาทของแพทย์แผนจีนในการลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง จัดเป็นโรคที่ต้องอาศัยการหมั่นสังเกตและตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอจึงจะสามารถค้นพบโรคได้อย่างทันท่วงทีตั้งแต่ในระยะต้นๆ การพบโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะต้นจะทำให้การรักษามะเร็งเป็นไปได้อย่างราบรื่นและโอกาสรักษาได้หายขาดสูงยิ่งขึ้น

คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ละเลยการสังเกตและตรวจร่างกายเป็นประจำ จนสุดท้ายเมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็งก็อยู่ในระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้าย (ระยะที่4)  โดยส่วนมากแล้วมะเร็งในระยะนี้นั้นโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดเป็นไปได้ยากมาก 

นอกจากนี้ มะเร็งระยะสุดท้ายยังสามารถพัฒนามาจากมะเร็งระยะที่ 1-3 ก็ได้เช่นกัน การรักษามะเร็งในระยะนี้ ส่วนใหญ่จะหวังผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวได้มากที่สุด



การรักษามะเร็งระยะสุดท้ายจะเป็นการใช้การแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาดูแลเป็นแนวทางหลัก ซึ่งก็ได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ แต่จากการวิจัยพบว่าหากมีการใช้ยาสมุนไพรจีนที่อยู่ในการควบคุมของแพทย์แผนจีนมาร่วมในการรักษาด้วยแล้ว จะได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและอัตราการรอดชีวิต ซึ่งผู้เขียนจะขอหยิบยกงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับโลกมาให้อ่านกัน


ปี  2014 วารสาร Cancer ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของนายแพทย์ Yuan-Wen Lee และคณะ โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่สามตอนปลาย ที่ได้รับยาในกลุ่ม Taxanes ในไต้หวัน ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2001-2010 จำนวน 729 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้การแพทย์แผนจีนร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบัน 115 คน และกลุ่มที่ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันรักษาเพียงอย่างเดียว 614 คน เปรียบเทียบอัตราการรอดชีวิต

โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 227คน คิดเป็น 38.0% โดยกลุ่มที่ใช้การแพทย์แผนจีนร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบัน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32 คน คิดเป็น 27.8%  กลุ่มที่ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันรักษาเพียงอย่างเดียว มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 245 คน คิดเป็น 39.9% ซึ่งถือได้ว่าอัตราการเสียชีวิตมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเชิงสถิติ (P <0.001) (ดูกราฟประกอบ)



นอกจากมะเร็งระยะลุกลามหรือระยะสุดท้ายแล้ว แพทย์แผนจีนยังสามารถเข้ามามีบทบาทในการรักษามะเร็งได้ในทุกระยะเช่นกัน โดยในปี 2015 วารสาร QJM : An International Journal of Medicine  ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของ Hung-Che Lin และคณะ โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งศีรษะและลำคอในไต้หวัน ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2001-2011 จำนวน 5,636 คน

โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมด้วย (รักษาด้วยแพทย์แผนจีน 90วัน ขึ้นไป) จำนวน 2,966 คน และกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมด้วย (รักษาด้วยแพทย์แผนจีนน้อยกว่า 30 วัน) จำนวน 2,670 คน เปรียบเทียบอัตราการรอดชีวิต โดยในช่วง 11ปี ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มที่รักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมด้วยต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมด้วยอย่างชัดเจนในเชิงสถิติ (P <0.001) และอัตราการเสียชีวิตจะต่ำลงเรื่อยๆ หากมีการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนในระยะเวลาที่นานขึ้น (ดูกราฟและตารางประกอบ)



จากงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแพทย์แผนจีนเข้ามาร่วมมีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็ง สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

โดยการแพทย์แผนจีนนั้น ยึดหลักการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยให้แข็งแรง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้เอง ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีงานวิจัยรองรับในการต้านมะเร็งเข้าร่วมในการรักษา ทั้งยังมีการปรับใช้ยาเพื่อแก้อาการไม่พึงประสงค์ต่างๆจากโรคของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น การพัฒนาของโรคเป็นไปได้ช้าลง ในผู้ป่วยที่ไม่พบก้อนมะเร็งแล้วก็ยังช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซํ้าหรือแพร่กระจาย และสุดท้ายก็สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

อนึ่ง การใช้ยาสมุนไพรจีนในการรักษาโรคมะเร็ง ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์แผนจีนอย่างเคร่งครัด เพราะยาสมุนไพรทุกชนิดจะมีขนาด ระยะเวลาและความเหมาะสมในการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะดึงประสิทธิภาพของยาออกมาใช้ได้สูงสุดโดยไม่เกิดโทษต่อผู้ป่วย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นแพทย์แผนจีนที่มีความรู้ความเข้าใจในยาสมุนไพรจีนเป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ป่วย


บทความโดย แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง

Link โหลดบทความงานวิจัยอ้างอิง
https://academic.oup.com/qjmed/article/108/12/959/1889850
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/cncr.28579

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้