จุดฝังเข็มและการทำงานของระบบเส้นลมปราณเพื่อการรักษาโรค

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  82399 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุดฝังเข็มและการทำงานของระบบเส้นลมปราณเพื่อการรักษาโรค

ธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการย่อส่วนของธรรมชาติระดับมหภาคอย่างเช่นจักรวาล
หากย่อส่วนจากระดับจักรวาลมาเป็นระดับมนุษย์ ร่างกาย เลือดเนื้อ ชีวิต จิตใจ ก็คือจักรวาลหนึ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง



ในมุมมองของแพทย์แผนจีนนั้น ร่างกายของมนุษย์คือหนึ่งเดียวกัน "ห้าอวัยวะอิน และ หกอวัยวะหยาง" ต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่น อีกทั้งยังมีการรักษาความสมดุลกันอยู่ตลอดเวลา ในระบบของการแพทย์แผนจีนยังมีส่วนที่มีความสำคัญอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือ ระบบเส้นลมปราณ (Meridian System) ของร่างกายมนุษย์ เปรียบได้กับระบบเน็ตเวิร์คที่แพทย์แผนจีนได้ค้นพบเมื่อหลายพันปีก่อน จวบจนกระทั่งมีคณะทั่วโลกได้ทำการค้นคว้า วิจัยเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดก็สามารถค้นพบหลักฐานการมีอยู่จริงของส้นลมปราณในห้องทดลองฟิสิกส์ได้




ระบบเส้นลมปราณไม่เหมือนกับระบบเน็ตเวิร์คอื่นๆของร่างกายที่มีโครงสร้างของท่อที่เฉพาะ หากแต่เป็นเน็ตเวิร์คที่ได้ครอบคลุมทั่วทั้งร่างกาย หากจะอธิบายความเชื่อมโยงดังกล่าวในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมจะนำมาอธิบายได้ก็คือ ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ กับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์มากกว่า เพราะว่าฟิสิกส์ 2 ทฤษฎีนี้มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระดับลึกของอนุภาค สสาร พลังงาน และคลื่น ในหลักการของแพทย์แผนจีน จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณเป็นที่รวมของเส้นประสาทที่เปรียบเสมือนสายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน เส้นลมปราณนอกจากจะเป็นแนวการเรียงตัวของจุดฝังเข็มแล้ว ยังมีลักษณะของช่องทางในการไหลเวียนลมปราณไปตามส่วนต่างๆของร่างกายได้อีกด้วย



จุดฝังเข็ม (输穴 ซู่เซฺวีย)
คือ ตำแหน่งบนร่างกายที่เลือดและชี่จากอวัยวะภายในไหลเวียนมาเพิ่มเติมและกระจายออก โดยอาศัยการทำงานของระบบเส้นลมปราณ ในทางเวชปฏิบัติ จุดฝังเข็ม หมายถึง จุดที่แพทย์จีนใช้ฝังเข็มหรือกระตุ้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อการรักษาโรค 


จุดฝังเข็มส่วนใหญ่เรียงรายอยู่บนเส้นลมปราณต้น 14 เส้น ซึ่งอยู่ลึกระดับใต้ผิวหนัง หรือเอ็นและกล้ามเนื้อ จุดฝังเข็มมีตำแหน่งแน่นอน ซึ่งสามารถใช้ฝังเข็มได้อย่างปลอดภัย

การรักษาของแพทย์จีนในการกระตุ้นจุดฝังเข็มด้วยวิธีการที่เหมาะสม สามารถใช้ในการรักษาโรค บรรเทาอาการผิดปกติ เสริมสร้างสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกันโรค และปรับสมดุลการทำงานของร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์



ประเภทของจุดฝังเข็มบนร่างกายที่แพทย์จีนใช้ในการรักษา
จุดฝังเข็ม แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 
1. จุดฝังเข็มในระบบ  
2. จุดฝังเข็มนอกระบบ
3. จุดกดเจ็บ



1. จุดฝังเข็มในระบบ (经穴 จิงเสฺวีย)
จุดฝังเข็มในระบบ หรือ ‘จุดในระบบ’ หรือ ‘จุดในเส้นลมปราณ’ หรือ ‘จุดในเส้น’ หรือ ‘จุดใน 14 เส้น’ หมายถึง จุดฝังเข็มที่อยู่บนเส้นจิง 14 เส้น ได้แก่ จุดบนเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น จำนวน 309 จุด (309 คู่ ถ้านับทั้งซ้ายและขวา) และจุดบนเส้นลมปราณพิเศษกลางลำตัว 2 เส้น คือเส้นลมปราณตูและเส้นลมปราณเญิ่น จำนวน 52 จุด รวมทั้งสิ้น 361 จุด (รวมทั้งหมดในร่างกาย เท่ากับ 670 จุด) จุดในระบบเป็นจุดที่มีชื่อและมีตำแหน่งบนร่างกายที่แน่นอน ตามเส้นทางของเส้นจิงที่สังกัดอยู่ จุดฝังเข็มชุดนี้ใช้เป็นจุดหลักในการฝังเข็มและรมยา

2. จุดฝังเข็มนอกระบบ (奇穴ฉีเสฺวีย)

จุดฝังเข็มนอกระบบ หรือ ‘จุดนอกระบบ’ หรือ ‘จุดนอกเส้นลมปราณ’ หรือ ‘จุดนอกเส้น’ ส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ‘จุดพิเศษ’ หมายถึง จุดที่มีชื่อและมีตำแหน่งบนร่างกายที่แน่นอน แต่ไม่ได้รับการจัดให้เป็นจุดในระบบ เนื่องจากจุดพิเศษส่วนใหญ่มีตำแหน่งอยู่นอกแนวเส้นจิง 14 เส้น แม้ว่าบางจุดจะอยู่ในแนวเส้นจิง แต่เข้าใจว่าอาจเป็นจุดที่พบเพิ่มเติมมาภายหลัง เช่น จุดอิ้นถัง (印堂, EX-HN3) ซึ่งอยู่ในแนวเส้นลมปราณตู เป็นต้น

จุดฝังเข็มนอกระบบเป็นจุดที่มีสรรพคุณในการรักษาเฉพาะโรค แพทย์จีนจะเลือกใช้เพียงจุดเดียวเฉพาะโรคที่ต้องการรักษา หรือนำมาใช้ร่วมกับจุดในระบบเพื่อเสริมการรักษาก็ได้ จุดนอกระบบมีกระจายอยู่ทั่วร่างกายโดยได้รับการจัดแบ่งกลุ่มและมีรหัสสากลตามตำแหน่งทางกายวิภาค ได้แก่ ศีรษะและคอ (EX-HN)  หลัง (EX-B)  อกและท้อง (EX-CA)  รยางค์บน (EX-UE) และรยางค์ล่าง (EX-LE) รวมประมาณ 48 จุด และมีจุดนอกระบบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีรหัส

3. จุดกดเจ็บ หรือ จุดอาษื้อ (阿是穴อาษื้อเสฺวีย)

อาษื้อ (阿是) แปลว่า "เออใช่" หรือ "ถูกแล้ว" หรือ "ใช่เลย"  จุดอาษื้อ เป็นจุดที่ไม่มีชื่อและไม่มีตำแหน่งบนร่างกายที่แน่นอน การหาจุดอาษื้อของแพทย์จีนจะอาศัยการคลำและกดหาไปตามตำแหน่งที่ผู้ป่วยบอกเล่า หรือตามแนวเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโรค จุดอาษื้อจะกดเจ็บกว่าปกติเมื่อใช้แรงกดเท่ากัน จึงมักเรียกว่า จุดกดเจ็บ หรืออาจพบมีลักษณะของผิวหนังแตกต่างจากปกติ ในทางปฏิบัติจุดอาษื้อมักใช้เพื่อการรักษากลุ่มอาการปวดต่าง ๆ

สรรพคุณในการรักษาโรคของจุดฝังเข็ม

1. สรรพคุณรักษาโรครอบจุดฝังเข็ม หรือ รักษาโรคใกล้ หมายถึง จุดฝังเข็มสามารถใช้รักษาโรคที่อยู่ในตำแหน่งของจุดฝังเข็ม รวมถึงเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่บริเวณรอบจุดฝังเข็ม

2. สรรพคุณรักษาโรคห่างไกลจุดฝังเข็ม หรือ รักษาโรคไกล หมายถึง จุดฝังเข็มสามารถใช้รักษาโรคของเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ห่างไกลจุดฝังเข็มได้ โดยอาศัยแนวครอบคลุมของเส้นลมปราณที่สัมพันธ์กับจุดฝังเข็มและรอยโรค

3. สรรพคุณพิเศษ ได้แก่ สรรพคุณสองด้าน และ สรรพคุณเฉพาะโรค

สรรพคุณสองด้าน หมายถึง จุดฝังเข็มจุดเดียวกันสามารถใช้รักษาโรคที่มีอาการมากเกินไป หรือน้อยเกินไปได้ เช่น จุดเทียนซู (天枢, ST25) มีสรรพคุณรักษาได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย จุดเน่ย์กวาน (内关, PC6) มีสรรพคุณรักษาได้ทั้งภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป

สรรพคุณเฉพาะโรค หมายถึง จุดฝังเข็มบางจุด นอกจากมีสรรพคุณทั่วไป ตามหลักของทฤษฎีเส้นลมปราณแล้ว ยังมีสรรพคุณเด่นในการรักษาอาการบางอย่างได้เป็นพิเศษอีกด้วย เช่น จุดต้าจุย (大椎, GV14) มีสรรพคุณลดไข้สูงได้ดี จุดจื๋ออิน (至阴, BL67) มีสรรพคุณรักษาทารกในครรภ์อยู่ผิดท่า

จุดฝังเข็มเฉพาะ
จุดฝังเข็มเฉพาะ หมายถึง จุดฝังเข็มในระบบที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือสรรพคุณเฉพาะ แตกต่างจากจุดอื่นในเส้นจิงเดียวกัน และเป็นจุดที่ใช้บ่อยในทางคลินิก จุดฝังเข็มเฉพาะแบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่

1. จุดซูทั้งห้า (五输穴 อู่ซูเสฺวีย)
จุดซูทั้งห้า เป็นกลุ่มจุดในลมปราณหลัก โดยแต่ละเส้นมีจุดซู 5 จุด เรียงรายเป็นลำดับจากปลายนิ้วถึงข้อศอกหรือเข่า ทั้ง 12 เส้น รวมทั้งสิ้น 60 จุด จุดอู่ซูเทียบเคียงดุจดังสายน้ำ เริ่มจากตาน้ำไหลรวมสะสมเป็นสายน้ำลงสู่ทะเล ได้แก่ จุดจิ่ง (井) ดุจดังตาน้ำ จุดหรง (荣) ดุจดังน้ำพุ จุดซู (输) ดุจดังลำธาร จุดจิง (经) ดุจดังแม่น้ำ และ จุดเหอ (合) ดุจดังทะเล จุดซูซูทั้งห้ามีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างกัน

2. จุดเหอล่าง (下合穴 เซี่ยเหอเสฺวีย)
จุดเหอล่าง หมายถึง จุดฝังเข็ม 6 จุด ที่อยู่บนเส้นลมปราณหยางของขา 3 เส้น เป็นจุดที่ชี่ของอวัยวะกลวงทั้งหกไหลเวียนมาบรรจบรวมอยู่ จึงเป็นจุดที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของอวัยวะกลวง

3. จุดเหวียน (原穴 เหวียนเสฺวีย)
จุดเหวียน คือ จุดที่ชี่ปฐมภูมิ หรือ เหวียนชี่ (原气) จากอวัยวะภายในไหลเวียนมาสะสมอยู่ เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น มีจุดเหวียน เส้นละ 1 จุด มีตำแหน่งอยู่ใกล้ข้อมือและข้อเท้า จุดเหวียนของเส้นลมปราณอินเป็นจุดเดียวกับจุดซู-ลำธารของจุดอู่ซู จุดเหวียนของเส้นลมปราณหยาง อยู่เหนือจุดซู-ลำธารขึ้นมา 1 จุด

จุดเหวียนมักเป็นจุดที่สะท้อนอาการผิดปกติของอวัยวะภายในที่เส้นลมปราณหลักสังกัดอยู่ ในทางคลินิกจุดเหวียนช่วยในการวินิจฉัยโรคและใช้รักษาโรคของอวัยวะภายในต้นสังกัด

4. จุดลั่ว (络穴 ลั่วเสฺวีย)
จุดลั่ว คือ จุดที่เส้นลั่วแยกออกมาเพื่อไปเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณหลักที่เป็นคู่สัมพันธ์ และไปเสริมการหล่อเลี้ยงพื้นที่ตามแนวไหลเวียนของเส้นลมปราณหลักต้นสังกัด เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น มีจุดลั่วเส้นละ 1 จุด อยู่ปลายต่อศอกและเข่า บนลำตัวมีจุดลั่ว 3 จุด ด้านหลังอยู่บนเส้นลมปราณตู 1 จุด ด้านหน้าอยู่บนเส้นลมปราณเญิ่น 1 จุด และด้านข้างเป็นจุดลั่วใหญ่ของเส้นลมปราณม้าม 1 จุด รวมทั้งสิ้น 15 จุด

จุดลั่วที่อยู่บนแขนและขามีเส้นลั่วแยกไปเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณหลักคู่สัมพันธ์ จึงใช้รักษาโรคได้ทั้งสองเส้นลมปราณหลักที่สัมพันธ์กัน จุดลั่วของลมปราณเส้นตูใช้รักษาโรคของหลัง จุดลั่วของเส้นลมปราณเญิ่นใช้รักษาโรคของท้อง จุดลั่วใหญ่ของเส้นม้ามที่ด้านข้างลำตัวใช้รักษาโรคของชายโครงและหน้าอก และสามารถใช้รักษาโรคข้อต่าง ๆ ได้

5. จุดซี (郗穴 ซีเสฺวีย)
ซี (郗 Xi) แปลว่า ร่องหรือช่อง จุดซีเป็นจุดที่เลือดและชี่จากเส้นลมปราณไหลเวียนมาสะสมรวบรวมอยู่ จุดซีมีตำแหน่งอยู่บนแขนและขารวมทั้งสิ้น 16 จุด เป็นจุดซีของเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น เส้นละ 1 จุด และของเส้นลมปราณพิเศษ อินเชียว หยางเชียว อินเหว่ยและหยางเหว่ย เส้นละ 1 จุด

6. จุดเชื่อมโยงเส้นลมปราณพิเศษทั้งแปด (八脉交会 ปาม่ายเจียวหุ้ย)
จุดเชื่อมโยงเส้นพิเศษทั้งแปด หมายถึง จุดฝังเข็ม 8 จุด ซึ่งเป็นจุดของเส้นลมปราณหลัก ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเส้นลมปราณพิเศษหรือเส้นลมปราณวิสามัญทั้ง 8 เส้น มีตำแหน่งอยู่บนแขนและขา แบ่งเป็น 4 คู่ ตามความครอบคลุมของสรรพคุณ ได้แก่

1. จุดเน่ยกวาน (内关, PC6)  ของเส้นเยื่อหุ้มหัวใจเชื่อมโยงกับเส้นอินเหวย และจุดกงซุน (公孙, SP4) ของเส้นม้ามเชื่อมโยงกับเส้นชง สองจุดนี้ครอบคลุมการรักษาโรคบริเวณทรวงอก หัวใจ และกระเพาะอาหาร

2. จุดไว่กวาน (外关, TE5) ของเส้นซันเจียวเชื่อมโยงกับเส้นหยางเว่ย และ จุดจู๋หลินชี่ (足临泣, GB41) ของเส้นถุงน้ำดีเชื่อมโยงกับเส้นไต้ สองจุดนี้ครอบคลุมการรักษาโรคบริเวณหางตา หลังใบหู แก้มและไหล่

3. จุดโฮ่วซี (后溪, SI3) ของเส้นลำไส้เล็กเชื่อมโยงกับเส้นตู และจุดเซินม่าย (申脉, BL62) ของเส้นกระเพาะปัสสาวะเชื่อมโยงกับเส้นหยางเชียว สองจุดนี้ครอบคลุมการรักษาโรคบริเวณหัวตา ท้ายทอย ใบหู ไหล่และหลัง

4. จุดเลี่ยเชฺวีย (列缺, LU7) ของเส้นปอดเชื่อมโยงกับเส้นเญิ่น และจุดเจ้าไห่ (照海, KI6) ของเส้นไตเชื่อมโยงกับเส้นอินเชียว สองจุดนี้ครอบคลุมการรักษาโรคของระบบหายใจ ได้แก่ ปอด หลอดลม และกระบังลม

จุดเชื่อมโยงเส้นพิเศษ 8 จุด มีความสำคัญและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย การใช้จุดทั้งแปดของแพทย์จีน สามารถพิจารณาใช้ได้ 2 กรณี ได้แก่ การเลือกใช้จุดเดี่ยว และการเลือกใช้จุดคู่

การเลือกใช้จุดเดี่ยว มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นพิเศษเส้นนั้น เช่น จุดโฮ่วซี (SI3) ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นตู จุดกงซุน (SP4) ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นชง

การเลือกใช้จุดคู่ ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมีจุดหนึ่งอยู่ที่ปลายแขน และอีกจุดหนึ่งอยู่ที่ปลายขา สามารถใช้รักษาโรค ได้กว้างขวางตามส่วนของร่างกายที่ครอบคลุมถึง



7. จุดอิทธิพลทั้งแปด (八会穴 ปาหุ้ยเสฺวีย)
จุดอิทธิพลทั้งแปด หมายถึง จุดฝังเข็ม 8 จุด ที่สารจำเป็นจากอวัยวะทั้งแปด ได้แก่ อวัยวะตัน  อวัยวะกลวง ชี่ เลือด เส้นเลือด กระดูก ไขกระดูก และเส้นเอ็น มาบรรจบรวมอยู่ ในทางคลินิก จุดอิทธิพลทั้งแปดนำไปใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อที่จุดนั้นมีอิทธิพลอยู่

8. จุดซูหลัง หรือ จุดซูอวัยวะหลัง (背俞穴 เป้ยซูเสฺวีย)
จุดซูหลัง หรือ จุดซูอวัยวะหลัง เป็นจุดด้านหลังลำตัวที่ชี่ของสิบสองอวัยวะภายในไหลเวียนมาบรรจบเพิ่มเติม จุดซูหลังเป็นจุดบนเส้นลมปราณเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะเส้นแรก ซึ่งอยู่เรียงเป็นเส้นขนานสองข้างห่างจากเส้นกึ่งกลางกระดูกสันหลังข้างละ 1.5 ชุ่น จุดซูของหลังมีข้างละ 12 จุดเท่ากับจำนวนอวัยวะภายในที่เป็นต้นสังกัดของเส้นลมปราณหลัก

จุดซูหลัง แพทย์จีนใช้รักษาโรคของอวัยวะภายในโดยเฉพาะโรคของอวัยวะตัน เช่น จุดเฟ่ยซู  (肺俞) ใช้รักษาโรคของปอด เป็นต้น นอกจากนี้จุดซูหลังยังใช้รักษาโรคของอวัยวะรับสัมผัสที่เป็นทวารของอวัยวะนั้นได้อีกด้วย เช่น จุดกานซู (肝俞, BL18) ใช้รักษาโรคตาซึ่งเป็นทวารของตับ จุดเซิ่นซู (肾俞, BL23) ใช้รักษาโรคหูซึ่งเป็นทวารของไต เป็นต้น ในทางคลินิกจุดซูหลังมักใช้ร่วมกับจุดมู่

9. จุดมู่ หรือ จุดมู่อวัยวะหน้า (幕穴 มู่เสฺวีย)
จุดมู่ หรือ จุดมู่อวัยวะหน้าเป็นจุดบนหน้าอกและท้องที่ชี่ของสิบสองอวัยวะภายในไหลเวียนมาบรรจบเพิ่มเติม จุดมู่มี 12 จุด เป็นจุดเดี่ยว 6 จุดอยู่บนเส้นลมปราณเญิ่นกึ่งกลางลำตัวด้านหน้า และจุดคู่ข้างซ้ายและข้างขวาบนเส้นลมปราณหลักที่ผ่านทางด้านหน้าของลำตัวข้างละ 6 จุด

จุดมู่ใช้รักษาโรคของอวัยวะภายในโดยเฉพาะโรคของอวัยะกลวง เช่น จุดจงหว่าน (中脘, CV12) ใช้รักษาโรคของกระเพาะอาหาร จุดเทียนซู (天枢, ST25) ใช้รักษาโรคของลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

การใช้จุดซูหลังร่วมกับจุดมู่ หรือเรียกอย่างรวบรัดว่า‘จุดซู-มู่’หมายถึง การใช้จุดของอวัยวะเดียวกันทั้งด้านหลังคือจุดซูและด้านหน้าคือจุดมู่ร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น ใช้จุดเว่ยซู (胃俞, BL21) ร่วมกับ จุดจงหว่าน (中脘, CV12) เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคของกระเพาะอาหาร เป็นต้น

10. จุดตัด (交会穴 เจียวปาหุ้ย)
จุดตัด หมายถึงจุดฝังเข็มที่มีเส้นลมปราณตั้งแต่ 2 เส้น ขึ้นไปมาตัดผ่านกัน ทำให้จุดตัดมีคุณสมบัติรักษาโรคของทุกเส้นลมปราณที่มาตัดผ่าน จุดตัดมีจำนวนมากกว่า 90 จุด ส่วนใหญ่อยู่บนลำตัว แต่ละจุดมีสรรพคุณแตกต่างกันตามตำแหน่งและเส้นลมปราณที่ตัดผ่านกัน เช่น จุดซานอินเจียว (三阴交, SP6) เป็นจุดตัดของเส้นลมปราณอินเท้าสามเส้น จึงสามารถใช้รักษาได้ทั้งโรคของเส้นม้าม เส้นตับและเส้นไต  



ระบบเส้นลมปราณ (经络系统 จิงลั่วซี่ถ่ง)ป็นทฤษฎีพื้นฐานที่สำคัญของการฝังเข็มและรมยา และการแพทย์แผนจีนทุกสาขา เส้นลมปราณเป็นเส้นทางไหลเวียนของเลือดและชี่ โดยจะแตกแขนงเชื่อมโยงกันเป็นร่างแหไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย แบ่งเป็นเส้นลมปราณหลัก (经จิง) และเส้นลมปราณย่อย (络 ลั่ว)

เส้นลมปราณหลัก เป็นเส้นลมปราณใหญ่ มีเส้นทางตามแนวยาวของลำตัวและแขนขา มักอยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังและในชั้นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ร่างกายส่วนบนกับส่วนล่างและอวัยวะภายในกับระบบโครงสร้างของร่างกาย

เส้นลมปราณย่อย เป็นเส้นลมปราณที่แตกแขนงจากเส้นลมปราณหลัก ส่วนมากแยกออกตามแนวขวางไปยังผิวหนังและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแตกเป็นแขนงย่อย ๆ เชื่อมโยงกันเป็นร่างแหคล้ายระบบเส้นเลือดฝอย

องค์ประกอบของระบบเส้นลมปราณ
เส้นลมปราณ จำแนกออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1. เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น (十二经脉 สือเอ้อร์จิงม่าย)
2. เส้นลมปราณสาขา 12 เส้น (十二经别 สือเอ้อร์จิงเปี๋ย)
3. เส้นลมปราณลั่ว 15 เส้น (十五络脉 สืออู่ลั่วม่าย)
4. เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้น (十二经筋 สือเอ้อร์จิงจิน)
5. แนวเขตผิวหนัง 12 แนว (十二皮部 สือเอ้อร์ผีปู้)
6. เส้นลมปราณพิเศษ 8 เส้น (奇经八脉 ฉีจิงปาม่าย)

เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น (十二经脉 สือเอ้อร์จิงม่าย)
เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น เป็นเส้นลมปราณปกติที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงอวัยวะภายในกับระบบโครงสร้างร่างกายและแขนขา แบ่งเป็นเส้นลมปราณอิน 6 เส้น สังกัดในอวัยวะตัน (脏จั้ง) และเส้นลมปราณหยาง 6 เส้นสังกัดในอวัยวะกลวง (腑ฝู่)

แขนและขาแต่ละข้างมีเส้นลมปราณหลัก 6 เส้น แบ่งเป็นเส้นลมปราณหยาง 3 เส้น และเส้นลมปราณอิน 3 เส้น โดยเส้นลมปราณอินและเส้นลมปราณหยางของแขนขาแต่ละข้างจะมีระดับความเป็นอินและหยางต่างกัน

เส้นลมปราณอินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ไท่อิน (太阴) เส้าอิน (少阴) จฺเหวียอิน (厥阴)

เส้นลมปราณหยางแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หยางหมิง (阳明) ไท่หยาง (太阳) เส้าหยาง (少阳)

ชื่อของเส้นลมปราณแต่ละเส้นจะประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ
1. เป็นเส้นลมปราณมือหรือเท้า
2. ระดับความเป็นอินหรือหยาง
3. อวัยวะต้นสังกัด



วิถีไหลเวียนของเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น
1. เส้นลมปราณมือไท่อินปอด เส้นลมปราณมือเส้าอินหัวใจ และเส้นลมปราณมือจฺเหวียอินเยื่อหุ้มหัวใจ ไหลเวียนออกจากทรวงอก ผ่านไปตามแขนด้านใน สู่ปลายมือ และส่งต่อให้กับเส้นลมปราณมือหยางที่เป็นคู่สัมพันธ์ บริเวณปลายมือ

2. เส้นลมปราณมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่ เส้นลมปราณมือไท่หยางลำไส้เล็ก และเส้นลมปราณมือเส้าหยางซานเจียว ไหลเวียนจากปลายมือ ขึ้นไปตามแขนด้านนอก ผ่านหัวไหล่ไปยังศีรษะ และส่งต่อให้กับเส้นลมปราณเท้าหยางที่มีระดับหยางเสมอกัน เช่น เส้นมือหยางหมิง ส่งต่อให้ เส้นเท้าหยางหมิง





3) เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร เส้นลมปราณเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ และเส้นเท้าลมปราณเส้าหยางถุงน้ำดี ไหลเวียนจากศีรษะ ผ่านลำตัว ลงไปตามขาด้านนอก สู่ปลายเท้า และส่งต่อให้เส้นลมปราณเท้าอินที่เป็นคู่สัมพันธ์ บริเวณปลายเท้า

4) เส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม เส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต และเส้นลมปราณเท้าจฺเหวียอินตับ ไหลเวียนจากปลายเท้า ขึ้นไปตามขาด้านใน เข้าสู่ลำตัว ไปยังอวัยวะตันที่เป็นต้นสังกัด และส่งต่อการไหลเวียนให้เส้นลมปราณมืออินในระดับถัดไป เช่น เส้นเท้าไท่อิน ส่งต่อให้ เส้นมือเส้าอิน

เส้นลมปราณสาขา 12 เส้น (十二经别สือเอ้อร์จิงเปี๋ย)
เส้นลมปราณสาขา เป็นเส้นลมปราณที่แยกจากเส้นลมปราณหลักที่บริเวณแขนขา แล้วกระจายเข้าสู่ส่วนลึกของลำตัวไปยังอวัยวะภายในต้นสังกัด และเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณสาขาของอวัยวะคู่สัมพันธ์ แล้วออกสู่ภายนอกบริเวณลำคอ ท้ายทอย หรือใบหน้า เข้าบรรจบรวมกับเส้นลมปราณหลักอีกครั้งหนึ่ง  

เนื่องจากเส้นลมปราณสาขาแผ่กระจายอยู่ส่วนลึกของร่างกายจึงไม่มีจุดฝังเข็ม ในความเป็นจริงเส้นลมปราณสาขาคือส่วนหนึ่งของเส้นลมปราณหลักที่ทำหน้าที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน เชื่อมสัมพันธ์อวัยวะ บน-ล่าง นอก-ใน ทำให้โครงข่ายของระบบเส้นลมปราณแผ่กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น  

วิถีไหลเวียนของเส้นลมปราณสาขาแต่ละเส้นจะไปบรรจบรวมกับเส้นสาขาของเส้นลมปราณหลักที่เป็นคู่สัมพันธ์กัน จึงแบ่งวิถีไหลเวียนของเส้นลมปราณสาขา ออกเป็น 6 คู่ ได้แก่

1. เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 1
สาขาของเส้นเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ และเส้นเท้าเส้าอินไต
- เส้นสาขาของเส้นเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ แยกจากเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะที่ข้อพับเข่า ผ่านไปถึงใต้ต่อกระดูกก้นกบ วนรอบทวารหนัก เชื่อมต่อกับกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด และแยกไปที่ไตซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ จากนั้นผ่านขึ้นไปตามกระดูกสันหลัง กระจายเส้นไปยังหัวใจ แล้วออกสู่ภายนอกบริเวณคอไปรวมกับเส้นเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ

2. เส้นสาขาของเส้นเท้าเส้าอินไต แยกจากเส้นลมปราณไตที่ใต้ข้อพับเข่า ผ่านขึ้นไปตัดกับเส้นสาขาของกระเพาะปัสสาวะที่ต้นขา แล้วผ่านขึ้นไปยังไตซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด แล้วขึ้นไปตัดผ่านกับเส้นลมปราณไต้บริเวณกระดูกสันหลังอกที่ 7 แล้วขึ้นไปยังโคนลิ้น ออกสู่ภายนอกบริเวณต้นคอไปรวมกับเส้นลมปราณเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ
- เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 2
สาขาของเส้นเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหารและเส้นเท้าไท่อินม้าม

- เส้นสาขาของเส้นเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร แยกจากเส้นลมปราณกระเพาะอาหารที่ต้นขาผ่านเข้าช่องท้อง ไปยังกระเพาะอาหารซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัดและกระจายเส้นไปที่ม้ามซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ แล้วขึ้นไปยังหัวใจ จากนั้นผ่านไปตามแนวของหลอดอาหารถึงปาก แล้วผ่านขึ้นไปตามจมูกถึงตา แล้วออกมารวมกับเส้นเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร

- เส้นสาขาของเส้นเท้าไท่อินม้าม แยกจากเส้นลมปราณม้ามที่ต้นขาแล้วบรรจบกับเส้นลมปราณสาขาของเส้นกระเพาะอาหาร แล้วขึ้นไปยังลำคอส่วนหน้าและสิ้นสุดที่ลิ้น

3. เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 3
สาขาของเส้นเท้าเส้าหยางถุงน้ำดีและเส้นเท้าจฺเหวียอินตับ
- เส้นสาขาของเส้นเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี แยกจากเส้นลมปราณถุงน้ำดีที่ต้นขา ผ่านข้อสะโพกเข้าสู่ช่องท้องส่วนล่างในช่องเชิงกราน บรรจบกับเส้นสาขาของเส้นเท้าจฺเหวียอินตับ จากนั้นผ่านไปยังกระดูกซี่โครงส่วนล่างไปยังถุงน้ำดีซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด และกระจายเส้นไปยังตับซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ แล้วผ่านไปตามหัวใจ หลอดอาหาร ใบหน้าและตา แล้วจึงรวมเข้ากับเส้นเท้าเส้าหยางถุงน้ำดีบริเวณหางตา

- เส้นสาขาของเส้นเท้าจฺเหวียอินตับ แยกจากเส้นลมปราณตับที่หลังเท้า ผ่านขึ้นไปยังหัวเหน่าเข้าสู่ช่องเชิงกราน บรรจบรวมเข้ากับเส้นสาขาของเส้นเท้าถุงน้ำดี

4. เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 4
สาขาของเส้นมือไท่หยางลำไส้เล็กและเส้นมือเส้าอินหัวใจ
- เส้นสาขาของเส้นมือไท่หยางลำไส้เล็ก แยกจากเส้นลมปราณลำไส้เล็กที่หัวไหล่ ผ่านรักแร้เข้าไปยังหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ แล้วผ่านลงไปในช่องท้องไปรวมกับเส้นมือไท่หยางลำไส้เล็ก

- เส้นสาขาของเส้นมือเส้าอินหัวใจ แยกจากเส้นลมปราณหัวใจบริเวณรักแร้ ผ่านเข้าช่องอกไปยังหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด แล้วผ่านขึ้นไปตามลำคอ ใบหน้า ออกมารวมกับเส้นมือไท่หยางลำไส้เล็กที่บริเวณหัวตา

5. เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 5
สาขาของเส้นมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่และเส้นมือไท่อินปอด

- เส้นสาขาของเส้นมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่ แยกจากเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ที่มือ แล้วผ่านแขน หัวไหล่ไปยังเต้านม ที่หัวไหล่มีสาขาแยกออกมา 2 เส้น เส้นแรกเข้าสู่กระดูกสันหลังตรงต้นคอ แล้วผ่านลงไปยังลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด และกระจายไปยังปอดซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ เส้นสาขาจากหัวไหล่เส้นที่ 2 ผ่านไปตามลำคอ ออกมารวมกับเส้นมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่บริเวณแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า

- เส้นสาขาของเส้นมือไท่อินปอด แยกจากเส้นลมปราณปอดบริเวณรักแร้ ผ่านเข้าสู่ช่องอกไปยังปอดซึ่งเป็นอวัยวะต้นสังกัด และกระจายไปลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์ จากนั้นมีสาขาจากปอดผ่านขึ้นไปยังกระดูกไหปลาร้า ลำคอ แล้วออกมาบรรจบรวมกับเส้นมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่

6. เส้นลมปราณสาขาคู่ที่ 6
สาขาของเส้นมือเส้าหยางซานเจียวและเส้นมือจฺเหวียอินเยื่อหุ้มหัวใจ

- เส้นสาขาของเส้นมือเส้าหยางซานเจียว แยกจากเส้นลมปราณซานเจียวที่กลางกระหม่อม ผ่านลงมายังแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า ผ่านเข้าสู่ซานเจียวแล้วกระจายอยู่ในช่องอก

- เส้นสาขาของเส้นมือจฺเหวียอินเยื่อหุ้มหัวใจ แยกจากเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจที่ใต้ต่อรักแร้ลงมา 3 ชุ่น แล้วผ่านเข้าช่องอกเชื่อมสัมพันธ์กับซานเจียว จากนั้นมีสาขาผ่านขึ้นไปตามลำคอ แล้วออกมาบรรจบรวมกับเส้นมือเส้าหยางซานเจียวที่หลังหู

เส้นลมปราณลั่ว 15 เส้น (十五络脉สืออู่ลั่วม่าย)
เส้นลมปราณลั่ว 15 เส้น เป็นเส้นลมปราณที่แยกจากจุดลั่วของเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น จากจุดลั่วของเส้นลมปราณตูทางด้านหลังลำตัว 1 เส้น จากจุดลั่วของเส้นลมปราณเญิ่นทางด้านหน้าลำตัว 1 เส้น และจากจุดต้าเปา (大包, SP21) ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของเส้นลมปราณม้ามอยู่ด้านข้างลำตัว 1 เส้น รวมเป็น 15 เส้น

เส้นลมปราณลั่วมีลักษณะเป็นเส้นที่แตกแขนง แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นเส้นเล็กละเอียดจำนวนมากมายกระจายสู่ส่วนผิวของร่างกาย เส้นลมปราณลั่วของเส้นลมปราณหลักแต่ละเส้น มีแนวทางการไหลเวียนหลักเป็น 2 ทิศทาง โดยเมื่อออกจากจุดลั่ว เส้นแขนงส่วนหนึ่งจะไปเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณหลักที่เป็นคู่สัมพันธ์ ส่วนที่เหลือจะไหลเวียนขนานไปกับเส้นลมปราณเดิมไปยังอวัยวะเป้าหมายในลำตัวและศีรษะ เส้นลมปราณลั่วของเส้นลมปราณหลักทั้ง 12 เส้น จึงทำหน้าที่เชื่อมโยงเส้นลมปราณหลักที่เป็นคู่สัมพันธ์ และส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดและชี่ไปยังพื้นที่อวัยวะที่เส้นลมปราณหลักครอบคลุม

เส้นลมปราณลั่วของเส้นลมปราณเญิ่น ออกจาก จุดจิวเหว่ย (鸠尾, CV15) ตรงลิ้นปี่ แผ่กระจายครอบคลุมส่วนท้องทั้งหมด

เส้นลมปราณลั่วของเส้นลมปราณตู ออกจากจุดฉางเฉียง (长强, GV1) ตรงบริเวณฝีเย็บ แผ่กระจายครอบคลุมไปตลอดแนวสองข้างของกระดูกสันหลังจนถึงต้นคอและศีรษะ เส้นลมปราณนี้จะเข้ารวมกับเส้นกระเพาะปัสสาวะบริเวณสะบัก

เส้นลมปราณลั่วจากจุดต้าเปา (大包, SP21) ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของเส้นลมปราณม้าม อยู่ด้านข้างของลำตัว เส้นลมปราณนี้แผ่กระจายครอบคลุมหน้าอกและชายโครง

เส้นลมปราณเอ็น 12 เส้น (十二经筋สือเอ้อร์จิงจิน)
เส้นลมปราณเอ็น เป็นช่องทางให้เลือดและชี่จากเส้นลมปราณหลัก ไปหล่อเลี้ยงและควบคุมการทำงานของเอ็นและกล้ามเนื้อ เอ็นและกล้ามเนื้อเชื่อมต่อกระดูกและข้อไว้ด้วยกัน เส้นลมปราณเอ็น จึงหล่อเลี้ยงและควบคุมการทำงานของระบบโครงสร้างร่างกาย ได้แก่ กระดูก ข้อ เอ็นและกล้ามเนื้อ เส้นลมปราณเอ็น มีประโยชน์ในการรักษาโรคระบบโครงสร้างของร่างกาย โดยเฉพาะโรคของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นตะคริว กล้ามเนื้อฝ่อลีบ เส้นเอ็นหดรั้งติดขัด

เส้นลมปราณเอ็น มีจำนวน 12 เส้น เท่ากับจำนวนของเส้นลมปราณหลัก และมีแนวเส้นทางส่วนใหญ่ ซ้อนทับกับเส้นลมปราณหลัก จึงมีชื่อล้อตามชื่อของเส้นลมปราณหลักที่ครอบคลุมอยู่ อย่างไรก็ตาม เส้นลมปราณเอ็นมีลักษณะพิเศษ คือ ทุกเส้นมีจุดเริ่มต้นจากปลายมือหรือปลายเท้า เมื่อออกจากจุดเริ่มต้น จะแผ่ออกไปตามกล้ามเนื้อ แล้วขมวดสอบแคบเป็นระยะ คล้ายเป็นเส้นข้อปล้อง ไหลเวียนเข้าสู่ลำตัวและศีรษะ แต่ไม่เข้าไปเชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน

วิถีไหลเวียนส่วนใหญ่ของเส้นลมปราณเอ็น แม้จะมีแนวซ้อนทับกับเส้นลมปราณหลัก แต่เส้นลมปราณเอ็น ก็มีระบบวิถีไหลเวียนที่แตกต่าง และมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่

- เส้นลมปราณเอ็นเท้าหยาง 3 เส้น เริ่มต้นจากปลายเท้า ผ่านขาด้านนอก กระจายผ่านลำตัวด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ด้านละ 1 เส้น แล้วไปสิ้นสุดที่ตา

- เส้นลมปราณเอ็นเท้าอิน 3 เส้น เริ่มต้นจากปลายเท้า ผ่านขึ้นตามขาด้านใน ไปสิ้นสุดบริเวณรอบอวัยวะเพศ

- เส้นลมปราณเอ็นมือหยาง 3 เส้น เริ่มต้นจากปลายมือ ผ่านแขนด้านนอก ไปสิ้นสุดที่หน้าผาก บริเวณง่ามผม

- เส้นลมปราณเอ็นมืออิน 3 เส้น เริ่มต้นจากปลายมือ ผ่านแขนด้านใน ไปสิ้นสุดบริเวณกล้ามเนื้อทรวงอก

แนวเขตผิวหนัง 12 แนว (十二皮部สือเอ้อร์ผีปู้)
ผิวหนังเป็นด่านชั้นนอกสุดของร่างกาย เป็นช่องทางติดต่อระหว่างอวัยวะภายในกับสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ปกป้องร่างกาย จากปัจจัยรุกรานภายนอก การแพทย์แผนจีนจัดผิวหนังเป็นส่วนหนึ่งของระบบเส้นลมปราณ โดยเป็นอวัยวะชั้นนอกสุดที่ระบบเส้นลมปราณหล่อเลี้ยงอยู่ ผิวหนังแบ่งเป็น 12 แนวเขต ตามแนวการไหลเวียนของเส้นหลัก 12 เส้น

ระบบเส้นลมปราณปกป้องร่างกายจากปัจจัยรุกรานภายนอก โดยการควบคุมการปิดและเปิด ของรูขุมขนและต่อมเหงื่อ เมื่อระบบของผิวหนังสูญเสียการป้องกัน ทำให้เหตุแห่งโรครุกล้ำผ่านผิวหนังเข้าเส้นลมปราณย่อย ไปเข้าเส้นลมปราณต้น แล้วผ่านตามเส้นลมปราณต้นเข้าสู่อวัยวะภายใน ผิวหนังและเส้นลมปราณ จึงเป็นช่องทางให้เหตุแห่งโรครุกรานเข้าสู่อวัยวะภายใน

ในทางกลับกัน เมื่อมีความผิดปกติของอวัยวะภายใน อาการและอาการแสดงของโรคสามารถสะท้อนผ่านระบบเส้นลมปราณออกสู่ผิวหนัง ตำแหน่งและลักษณะความผิดปกติของผิวหนัง ใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยถึงอวัยวะภายในที่ผิดปกติ และลักษณะทางพยาธิสภาพ

ในการรักษาโรค ผิวหนังเป็นช่องทางในการรักษาความผิดปกติของอวัยวะภายใน โดยอาศัยการเชื่อมโยงของระบบเส้นลมปราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ซึ่งมีจุดฝังเข็มจำนวนมากมายในระบบเส้นลมปราณ จำเป็นต้องอาศัยผิวหนังเป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่งจุด และใช้ผิวหนังเป็นทางผ่านในการกระตุ้นจุดฝังเข็ม นอกจากนี้ตำแหน่งที่ผิดปกติบนผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับโรค ยังสามารถใช้เป็นจุดฝังเข็มได้อีกด้วย

เส้นลมปราณพิเศษ 8 เส้น (奇经八脉 ฉีจิงปาม่าย)
เส้นลมปราณพิเศษแตกต่างจากเส้นลมปราณหลัก ที่ไม่มีจุดเริ่มต้นจากอวัยวะภายในและไม่ได้สังกัดอยู่กับอวัยวะภายใน เส้นลมปราณพิเศษแต่ละเส้น มีจุดเริ่มต้นและวิถีการไหลเวียนที่เฉพาะของตนเอง โดยวิถีไหลเวียนมักร้อยรัดอยู่ระหว่างเส้นลมปราณหลัก นอกจากนี้เส้นลมปราณพิเศษไม่มีจุดฝังเข็มเป็นของตนเอง ยกเว้นเส้นลมปราณตูและเส้นลมปราณเญิ่น

หน้าที่โดยรวมของเส้นลมปราณพิเศษ คือ เชื่อมโยงเส้นหลักให้ทำงานสอดคล้องสัมพันธ์กัน เป็นแหล่งพักสำรองเลือดและชี่ รวมถึงควบคุมและปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือดและชี่ อย่างไรก็ตาม เส้นลมปราณพิเศษทั้ง 8 เส้น ต่างมีวิถีการไหลเวียน คุณสมบัติ และหน้าที่แตกต่างกัน

เส้นลมปราณเญิ่น (任脉เญิ่นม่าย)
เญิ่น (任) แปลว่า รับผิดชอบ, ตั้งครรภ์
เส้นลมปราณเญิ่น มีวิถีการไหลเวียนอยู่ตลอดแนวเส้นกลางลำตัวด้านหน้า ครอบคลุมท้อง อก คอจนถึงคาง เส้นลมปราณเญิ่นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเส้นลมปราณอินทุกเส้น ทำหน้าที่รองรับและสนับสนุนชี่ ให้กับเส้นลมปราณอินทั้งหมด จึงได้รับสมญาว่า ‘ทะเลแห่งเส้นลมปราณอิน (阴脉之海 อินม่ายจือไห่)’มีจุดฝังเข็มทั้งสิ้น 24 จุด ซึ่งเป็น 1 ใน 2 เส้นลมปราณพิเศษที่มีจุดฝังเข็มของตน

เส้นลมปราณตู (督脉ตูม่าย)
ตู督  แปลว่า  ปกครอง  ดูแล
เส้นลมปราณตู มีวิถีการไหลเวียนหลักอยู่ตลอดแนวเส้นกลางลำตัวด้านหลังและศีรษะ และเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณหยางทุกเส้น ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของชี่ ในเส้นลมปราณหยางทั้งหมด จึงได้รับสมญาว่า ‘ทะเลแห่งเส้นลมปราณหยาง (阳脉之海หยางม่ายจือไห่)’มีจุดฝังเข็มทั้งสิ้น 28 จุด ซึ่งเป็น 1 ใน 2 เส้นลมปราณพิเศษที่มีจุดฝังเข็มของตน

เส้นลมปราณชง (冲脉ชงม่าย)  
เส้นลมปราณชง ออกมาจากท้องน้อยตรงฝีเย็บแล้วไหลเวียนขนานไปกับเส้นลมปราณไต
ไปจนถึงบริเวณใต้ตา เส้นลมปราณชงเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเส้นลมปราณหลักทั้ง 12 เส้น จึงได้รับสมญาว่า ‘ทะเลแห่งสิบสองเส้นลมปราณหลัก (十二经之海 สือเอ้อร์จิงจือไห่)’หรืออีกนัยหนึ่งคือ‘ทะเลแห่งเลือด (血海 เซฺวียไห่)’

เส้นลมปราณไต้ (带脉ไต้ม่าย)
เส้นลมปราณไต้ มีจุดเริ่มบริเวณใต้ชายโครงแล้วไหลเวียนตามขวางรอบเอวคล้ายเข็มขัด จึงทำหน้าที่ร้อยรัดเส้นลมปราณที่ผ่านตามแนวยาวของลำตัวเข้าไว้ด้วยกัน

เส้นลมปราณอินเหวย  (阴维脉อินเหวยม่าย)
เส้นลมปราณอินเหวย เริ่มต้นจากหน้าแข้งด้านใน ผ่านขึ้นไปยังท้อง เชื่อมต่อกับเส้นเท้าไท่อินม้าม เส้นลมปราณเญิ่น และเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณอินทั้งหมด ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับการไหลเวียนชี่ ของร่างกายส่วนใน เมื่อร่วมกับเส้นลมปราณหยางเหวย จึงทำหน้าที่ควบคุมและปรับการไหลเวียนของชี่ในเส้นลมปราณอินและหยางทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ชี่ของร่างกายส่วนในและส่วนนอก ให้อยู่ในภาวะสมดุลและสอดคล้องสัมพันธ์กัน

เส้นลมปราณหยางเหวย (阳维脉หยางเหวยม่าย)
เริ่มต้นจากส้นเท้าด้านนอก ผ่านขึ้นไปตามเส้นเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี ผ่านลำตัวด้านข้าง ไปที่หน้าผาก แล้ววกไปสิ้นสุดที่ท้ายทอย เข้าบรรจบกับเส้นลมปราณตู เส้นลมปราณหยางเหวยเชื่อมโยงกับเส้นลมปราณหยางทั้งหมด ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับการไหลเวียนชี่ ของร่างกายส่วนนอก เมื่อร่วมกับเส้นลมปราณอินเหวย จึงทำหน้าที่ควบคุมและปรับการไหลเวียนของชี่ในเส้นลมปราณอินและหยางทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ชี่ของร่างกายส่วนในและส่วนนอก ให้อยู่ในภาวะสมดุลและสอดคล้องสัมพันธ์กัน

เส้นลมปราณอินเชียว (阴跷脉อินเชียวม่าย)
เส้นลมปราณอินเชียว เริ่มจากฝ่าเท้าด้านใน ผ่านขึ้นตามขาด้านใน อวัยวะเพศ หน้าท้อง อก ลำคอด้านหน้า โหนกแก้ม ไปสิ้นสุดที่หัวตา เข้าบรรจบกับเส้นลมปราณหยางเชียวเส้นลมปราณอินเชียวและหยางเชียว ร่วมกันทำหน้าที่ปรับประสานสมดุลการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะร่างกายกับรยางค์ล่าง

เส้นลมปราณหยางเชียว (阳跷脉หยางเชียวม่าย)
เส้นลมปราณหยางเชียว เริ่มจากส้นเท้า ผ่านตาตุ่มนอกขึ้นไปตามขาด้านนอก ลำตัวและคอด้านข้าง มุมปาก เข้าบรรจบกับเส้นลมปราณอินเชียวที่หัวตา แล้วผ่านต่อข้ามไปหลังศีรษะ เข้าบรรจบกับเส้นเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี เส้นลมปราณหยางเชียวและอินเชียว ร่วมกันทำหน้าที่ปรับประสานสมดุลการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะร่างกายกับรยางค์ล่าง

หน้าที่ของระบบเส้นลมปราณ
- เป็นทางไหลเวียนของเลือดและชี่ ไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายอย่างเป็นระบบ
- ควบคุมและปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือดและชี่
- เชื่อมโยงเนื้อเยื่อและอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ทั้งภายนอกและภายใน ตื้นและลึก บนและล่าง ซ้ายและขวา ให้ทำงานสอดคล้องสัมพันธ์กัน
- เป็นระบบติดต่อระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม ปรับการทำงานของร่างกายให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปกป้องร่างกายจากเหตุแห่งโรคที่มากระทำต่อร่างกาย
- เป็นช่องทางในการรักษาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

การประยุกต์ใช้ทฤษฏีเส้นลมปราณทางคลินิก
ใช้อธิบายสรีรวิทยาและการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา   

ทฤษฎีเส้นลมปราณ ใช้อธิบายความสัมพันธ์การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะขาดสมดุล ซึ่งสามารถใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะอื่น เมื่อเกิดความผิดปกติกับอวัยวะหนึ่ง

เส้นลมปราณเป็นช่องทางให้สาเหตุของโรค จากภายนอกรุกรานเข้าสู่ภายในร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อระบบการปกป้องร่างกายของระบบเส้นลมปราณบกพร่อง

เส้นลมปราณช่วยสะท้อนอาการและอาการแสดงของความผิดปกติ ของอวัยวะภายในสู่ภายนอก จึงช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะ หรือตำแหน่งของการเกิดโรค เช่น ความผิดปกติของหัวใจจะมีอาการแสดงออกมาตามแนวเส้นลมปราณหัวใจ หรือที่ลิ้นซึ่งเป็นทวารของหัวใจ เป็นต้น

เส้นลมปราณช่วยสะท้อนลักษณะของพยาธิสภาพ จึงช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น การมีแผลที่ลิ้นบ่งบอกว่ามีไฟหัวใจมากเกินไป การที่ผิวหนังมีสีคล้ำบ่งบอกถึงการไหลเวียนของเลือดและชี่ติดขัด ผิวหนังซีดขาวบ่งบอกถึงการได้รับผลกระทบจากความเย็น เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค   
เส้นลมปราณเป็นช่องทางในการรักษาโรคของอวัยวะภายใน โดยอาศัยจุดบนเส้นลมปราณที่สัมพันธ์กับอวัยวะนั้น หรือจุดบนเส้นลมปราณที่มีวิถีการไหลเวียนผ่านไปยังอวัยวะที่ผิดปกติ เส้นลมปราณใช้พิจารณาในการเลือกและกำหนดวิธีในการรักษาโรค เช่น เมื่อพบว่าชี่ของอวัยวะบกพร่อง ควรใช้การฝังเข็มกระตุ้นแบบเสริมบำรุง หรือการรมยา บนจุดที่เป็นจุดเสริมบำรุงของ

อวัยวะนั้น หรือเมื่อวินิจฉัยว่ามีเลือดและชี่แกร่งแต่การไหลเวียนติดขัด ทำให้เกิดอาการปวด ควรใช้การฝังเข็มกระตุ้นแบบระบาย หรือปล่อยเลือด หรือครอบถ้วย ที่จุดที่ใช้ในการระบายของตำแหน่งที่เกิดโรค เป็นต้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้