แข็งแรงต้านภัย...ทำได้ด้วยตัวเรา

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  19695 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แข็งแรงต้านภัย...ทำได้ด้วยตัวเรา

แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญที่ “ ป้องกันและฟื้นฟู”  ในสถานการณ์โควิด 19

         
  สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนจีน   มีจำนวนผู้ป่วยที่มีผลการรักษาหายมากกว่าร้อยละ 90    แน่นอนว่าในขั้นตอนการตรวจคัดกรองวินิจฉัย  การควบคุมความปลอดภัย  ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อจะใช้เครื่องมืออุปกรณ์ของแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก  โดยจากการรายงานของทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งชาติและรัฐบาลจีนได้กล่าวว่า ในการรักษานั้นผู้ป่วยในกลุ่มที่เริ่มมีอาการและกลุ่มผู้ป่วยฟื้นฟูจะใช้การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนเป็นหลักตั้งแต่ต้น   บรรเทารักษาอาการ ป้องกันหรือชะลอไม่ให้อาการหนักขึ้นได้ดีในช่วงที่รักษา  สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการหนักและอาการวิกฤต  จะใช้วิธีรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา  ลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น

            ดังคำกล่าวโบราณในคัมภีร์เน่ยจิงที่ว่า “แพทย์ที่ดีจะต้องรักษาก่อนที่จะเจ็บป่วย (上工治未病) ” นั่นหมายรวมถึงการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค  เมื่อเป็นโรคแล้วก็ต้องป้องกันไม่ให้เปลี่ยนหรือพัฒนาโรคให้เป็นหนัก  และเมื่อโรคเปลี่ยนไปแล้วก็ต้องป้องกันไม่ให้พัฒนาต่อ  ส่วนในการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนนั้น มีจุดเด่นคือต้องทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละคน แล้วให้ยารักษาเฉพาะบุคคล 1 คน ต่อ 1 ตำรับ เนื่องจากสภาพร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน

           สำหรับในช่วงที่ฟื้นฟู แพทย์แผนจีนยังคงดูแลอย่างต่อเนื่องเพราะจุดนี้สำคัญมาก  เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัสตัวนี้อนุภาพทำลายรุนแรงมากส่งผลกระทบต่อร่างกายทั่วทุกระบบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังจากที่รักษาหายแล้ว มักพบว่ายังมีอาการอื่น ๆ หลงเหลือ เช่น เหนื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจสั้น หายใจได้ไม่ลึก  นอนไม่หลับ มีภาวะเครียด ซึมเศร้า เป็นต้น   อาการเหล่านี้ สามารถใช้การรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนซึ่งได้ผลดี  นอกจากจะฝังเข็ม และทานยาสมุนไพรจีนตามแพทย์สั่งแล้ว  ยังสามารถใช้วิธีการออกกำลังกาย รำไทเก็ก ปาต้วนจิ่น หรือการทานอาหารเป็นยาก็สามารถช่วยฟื้นฟูร่างกายได้เช่นเดียวกัน  สำหรับผู้ที่เนื้อปอดเสียหายไปแล้วการรับประทานยาจีนจะช่วยลดการอักเสบและช่วยซ่อมแซมให้เนื้อปอดมีสภาพที่ดีขึ้น

            การเลือกทานอาหารเป็นยานั้นเราสามารถทำง่าย ๆ จากที่บ้านด้วยตัวเอง เพื่อป้องกัน สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ที่มีการติดต่อใกล้ชิดกับบุคคลหรือบริเวณที่เป็นกลุ่มเสี่ยง  และยังช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการรักษา  ซึ่งสามารถเลือกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายแต่ละบุคคลได้ดังนี้

(1) แข็งแรงต้านภัย...ทำได้ด้วยอาหาร

1.กลุ่มคนที่มีพื้นฐานร่างกายสมดุล

เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่สุขภาพค่อนข้างแข็งแรง  ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการ  หรือไม่เป็นคนธาตุร้อนหรือเย็นจนเกินไป

1.1 ซุปหมูตุ๋นถั่วดำ (ซุปกุลทมิฬชี้นภา)


ส่วนประกอบ (ปริมาณสำหรับ3คน)
-    ถั่วเหลือง 50 กรัม 
-    ถั่วดำ 50 กรัม 
-    ขู่ซิ่งเหริน (นำเปลือกออก) ทุบละเอียด15 กรัม 
-    เนื้อหมูไม่ติดมัน 250 กรัม 
-    ผิวส้มจีน 10 กรัม 
-    ขิงสด 30 กรัม 
-    จื่อซูเยี่ย 10 กรัม (แนะนำเป็นใบสด)

วิธีการต้ม
แช่ถั่วเหลือง 50 กรัม ถั่วดำ 50 กรัม ในน้ำสะอาด 30 นาที  จากนั้นนำเนื้อหมูมาล้างทำความสะอาด  และหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ  นำห่อสมุนไพร ถั่วเหลือง ถั่วดำ และขิงสดใส่ลงหม้อ เติมน้ำ 1500 มล. ตั้งไฟแรงต้มน้ำให้เดือด  หรี่เป็นไฟอ่อน ต้มต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 30 นาที  จึงค่อยนำเนื้อหมูและใบจื่อซูเย่ที่อยู่ด้านนอกถุง ใส่ลงไปในหม้อ  ต้มต่ออีก 5 นาที  จากนั้นปรุงรสตามใจชอบด้วยซีอิ๊วขาว เกลือ และน้ำตาล

วิธีรับประทาน  :  รับประทานขณะอุ่น 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์

สรรพคุณ  

  •  เนื้อหมู (猪肉):  รสหวาน ฤทธิ์สุขุม
     มีสรรพคุณเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับลำไส้และกระเพาะอาหาร เพิ่มสารจิน บำรุงชี่ของไต
  •  ถั่วเหลือง(黄豆): รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและ กระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณบำรุงม้าม กระเพาะอาหาร ช่วยในการขับถ่าย  ขับร้อน        
  •  ถั่วดำ(黑豆):  รสหวาน  ฤทธิ์เย็น  เข้าสู่เส้นลมปราณไต 
     มีสรรพคุณบำรุงไต  ขับลมคลายความร้อน  บำรุงตา
  •  ขู่ซิ่งเหริน(苦杏仁): รสขม  ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและลำไส้ใหญ่
    มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ลำไส้ชุ่มชื้นช่วยในการขับถ่าย  
  • ผิวส้มจีน(陈皮):  รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม
    มีสรรพคุณทำให้ปรับการไหลเวียนของชี่ ช่วยให้การทำงานของม้ามดีขึ้น ขับความชื้น ละลายเสมหะ
  • ขิงสด(生姜): รสเผ็ด  ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณอบอุ่นกระเพาะอาหาร  แก้อาเจียน
  •  จื่อซูเยี่ย(紫苏叶): รสเผ็ด  ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย  เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม 
    มีสรรพคุณขับกระจายลมเย็น  ช่วยให้ชี่ไหลเวียนดีขึ้น  แก้อาเจียน    

    ข้อควรระวัง 
    -   สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
    -   ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง
    -   ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน    



1.2 ชาแดงบาร์เล่ย์คั่ว (ชาแดงทยานนภา)

ส่วนประกอบ (ปริมาณสำหรับ 1 คน)
-    ข้าวบาร์เล่ย์งอก  คั่ว 5 กรัม 
-    ป๋อเหอ 2 กรัม
-    ขู่ซิ่งเหริน (นำเปลือกออก) ทุบละเอียด 2 กรัม
-    ขิงแก่แห้ง 5 กรัม
-    ตั่งเซิน 2 กรัม
-    ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง 2 กรัม
-    ใบชาแดง 2 กรัม

สรรพคุณ

  • ข้าวบาร์เล่ย์งอกคั่ว (炒麦芽) รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร และตับ
    มีสรรพคุณช่วยให้ชี่ไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยในการย่อยอาหาร  เสริมม้ามช่วยให้เจริญอาหาร 
  • ป๋อเหอ(薄荷) มีรสเผ็ด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และตับ ระบายความร้อนในศีรษะและทำให้ตาสว่าง มีสรรพคุณ แก้เจ็บคอ กระทุ้งหัด ปรับการไหลเวียนชี่ของตับ 
  • ขู่ซิ่งเหริน(苦杏仁)รสขม ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและ ลำไส้ใหญ่
    มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยในการขับถ่าย 
  • ขิงแก่แห้ง(干姜) รสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ไต หัวใจ และปอด มีฤทธิ์อบอุ่นม้าม ปอดและกระเพาะอาหาร ฟื้นฟูหยาง ทะลวงเส้นลมปราณ สลายของเหลวที่คั่งค้างในร่างกาย 
  • ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง(炙甘草)รสอมหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร  มีสรรพคุณบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมชี่ ทำให้การเต้นของชีพจรมีแรงและกลับคืนสภาพปกติ 
  •  ใบชาแดง(红茶)รสขม หวาน ฤทธิ์ค่อนข้างอุ่น ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้อยากอาหาร ขับปัสสาวะ ลดบวม ส่งเสริมการทำงานของหัวใจ

    ข้อควรระวัง 
    - ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี


2. กลุ่มคนที่มีร่างกายพร่องหรืออ่อนแอ
 กลุ่มคนที่มีร่างกายไม่ทนต่อความเย็น กลัวหนาว กลัวลม มือเท้าเย็น ไม่ค่อยอยากอาหาร อุจจาระไม่เป็นก้อน

2.1  ซุปไก่ต้นหอมพุทราจีน (ซุปไก่ไร้เทียมทาน)

ส่วนประกอบ  (ปริมาณสำหรับ3คน)
-    ถั่วดำ 50 กรัม
-    ถั่วเหลือง 50 กรัม
-    เนื้อไก่ 250 กรัม
-    จื่อซูเยี่ย 15 กรัม (แนะนำใช้ใบสด) 
-    หัวของต้นหอม เฉพาะส่วนสีขาวของต้นหอม 3-4ก้าน
-    ขิงสด 50 กรัม (หั่นเป็นแว่น)  
-    เฉ่าไป๋เปี่ยนโต้ว (ถั่วแปบคั่ว) 30 กรัม  
-    ผิวส้มจีน 10 กรัม
-    พุทราจีน 25 กรัม   
-    ชะเอมเทศ 10 กรัม

วิธีการต้ม :   
- แช่ถั่วเหลือง 50 กรัม ถั่วดำ 50 กรัม ในน้ำสะอาด 30 นาที 
- จากนั้นนำเนื้อไก่มาล้างทำความสะอาด  และหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ 
- นำห่อสมุนไพร ถั่วเหลือง ถั่วดำ และขิงสดใส่ลงหม้อ เติมน้ำ 1500 มล.
- ตั้งไฟแรงต้มน้ำให้เดือด  หรี่เป็นไฟอ่อน นำเนื้อไก่ใส่ ต้มต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 30 นาที 
- นำจื่อซูเย่ที่อยู่ด้านนอกถุง ใส่ลงไปในหม้อ  ต้มต่ออีก 5 นาที 
- จากนั้นปรุงรสตามใจชอบด้วยซีอิ๊วขาว เกลือ และน้ำตาล

วิธีการรับประทาน  : รับประทานขณะอุ่น 3 ครั้ง  ต่อสัปดาห์

สรรพคุณ

  • ถั่วดำ(黑豆)  รสหวาน  ฤทธิ์เย็น  เข้าสู่เส้นลมปราณไต 
    มีสรรพคุณบำรุงไต  ขับลมคลายความร้อน  บำรุงตา 
  • ถั่วเหลือง(黄豆)รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณบำรุงม้าม กระเพาะอาหาร ช่วยในการขับถ่าย  ขับร้อน 
  • เนื้อไก่(鸡肉)รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและกระเพาะอาหาร
    มีสรรพคุณเสริมสร้างชี่ บำรุงสารจิง
  • จื่อซูเยี่ย(紫苏叶)รสเผ็ด  ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย  เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม 
    มีสรรพคุณขับกระจายลมเย็น  ช่วยให้ชี่ไหลเวียนดีขึ้น  แก้อาเจียน 
  • หัวของต้นหอม (小葱头)รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและกระเพาะอาหาร
    ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ฆ่าพยาธิ ขับพิษ ขับเหงื่อ และขับกระจายสาเหตุก่อโรคที่ส่วนนอกของร่างกาย
  • ขิงสด(生姜)รสเผ็ด  ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้ามและกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณอบอุ่นกระเพาะอาหาร  แก้อาเจียน 
  • เฉ่าไป๋เปี่ยนโต้ว หรือ ถั่วแปบคั่ว (炒白扁豆) รสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณเสริมม้าม แก้ท้องเสีย  
  • ผิวส้มจีน (陈皮) รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม
    มีสรรพคุณทำให้ปรับการไหลเวียนของชี่ ช่วยให้การทำงานของม้ามดีขึ้น ขับความชื้น ละลายเสมหะ 
  • พุทราจีน(大枣)รสหวาน  ฤทธิ์อุ่น  เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณเสริมบำรุงชี่ บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม  บำรุงเลือด สงบจิตใจ 
  • ชะเอมเทศ(甘草)รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและกระเพาะอาหาร
    มีสรรพคุณ บำรุงม้าม หล่อเลี้ยงชี่ ขับเสมหะ แก้ไอ บรรเทาปวด ขับพิษร้อน

 ข้อควรระวัง 
-   สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
-   ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง
-   ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

2.2 ชาขิงเก๋ากี้พุทราจีน (ชาบูรพาบ่พ่าย)



ส่วนประกอบ (ปริมาณสำหรับ 1 คน) 
-     ขิงแก่แห้ง   10 กรัม หั่นเป็นแว่น
-     เก๋ากี้  3 กรัม
-     พุทราจีน  10 กรัม หั่นเป็นชิ้น
-     ใบชาแดง  3 กรัม

สรรพคุณ

  • ขิงแก่แห้ง(干姜)รสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ไต หัวใจ และปอด
    มีสรรพคุณอบอุ่นม้าม ปอดและกระเพาะอาหาร ฟื้นฟูหยาง ทะลวงเส้นลมปราณ สลายของเหลวที่คั่งค้างในร่างกาย
  •  เก๋ากี้ (枸杞子)รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณตับและไต  บำรุงตับและไต
    เสริมสารจิงช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น
  • พุทราจีน(大枣)รสหวาน  ฤทธิ์อุ่น  เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณเสริมบำรุงชี่ บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม  บำรุงเลือด สงบจิตใจ 
  • ใบชาแดง(红茶)รสขม หวาน ฤทธิ์ค่อนข้างอุ่น
    ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้อยากอาหาร ขับปัสสาวะ ลดบวมส่งเสริมการทำงานของหัวใจ

    ** ในทางการแพทย์แผนจีนขิงสดและขิงแก่แห้งมีสรรพคุณที่ต่างกัน และขิงแก่แห้งในยาจีนมิใช่การนำขิงสดมาตากให้แห้ง แต่มีกรรมวิธีการปลูกและเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน โดยในกรณีที่ไม่สามารถหาขิงแก่แห้งได้ สามารถใช้ขิงสดตากแห้งมาใช้ทดแทนในชาสูตรนี้ได้ ** 

3. กลุ่มคนที่มีภาวะร่างกายแกร่ง

       ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้มักจะมีภาวะอาการ ปากแห้ง หรือ ปากขม มีอาการท้องผูกถ่ายแข็ง หรือถ่ายไม่สะดวก ถ่ายเหนียว เป็นต้น เจ็บคอง่ายกว่าคนทั่วไป จนกระทั่งเป็นกลุ่มคนที่มีแผลร้อนในในปากได้ง่าย เป็นต้น

3.1  ซุปลูกเดือยฟักเขียว (ซุปปราบมารสะท้านอัคคี)


ส่วนประกอบ (ปริมาณสำหรับ 3คน)
-     ถั่วเหลือง 50 กรัม
-     ฟักเขียว 200 กรัม
-     ข้าวโพด 1 ฝัก
-     มะเขือเทศ 4 ลูก
-     หัวหอม ครึ่งลูก
-     ขู่ซิงเหริน (นำเปลือกออก) ทุบละเอียด 15 กรัม 
-     ขิงสด (หั่นเป็นแว่น) 30 กรัม
-     ลูกเดือย 15 กรัม
-     ผิวส้มจีน  5 กรัม
-     หลูเกิน 15 กรัม 
-     ชะเอมเทศ 5 กรัม

สรรพคุณ

  • ถั่วเหลือง(黄豆)รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และลำไส้ใหญ่
    มีสรรพคุณบำรุงม้าม เพิ่มความชุ่มชื่นลดบวม ระบายความร้อน บำรุงชี่ 
  • ฟักเขียว (冬瓜) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และกระเพาะปัสสาวะ
    มีสรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ ลดบวม 
  • มะเขือเทศ (番茄)รสหวาน เปรี้ยว ฤทธิ์เย็น
    มีสรรพคุณบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยย่อย เพิ่มสารน้ำแก้กระหาย  ขับปัสสาวะ ลดความร้อน 
  • หัวหอมใหญ่ (大洋葱)รสหวาน เผ็ด ฤทธิ์อุ่น 
    มีสรรพคุณแก้หวัดจากการกระทบลมเย็น ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ บำรุงกระเพาะอาหาร
  • ข้าวโพด (玉米)  รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ไต และ กระเพาะปัสสาวะ
    มีสรรพคุณขับปัสสาวะลดบวม บำรุงม้ามขับชื้น ลดความร้อนชื้น
  • ขู่ซิ่งเหริน(苦杏仁)รสขม  ฤทธิ์ค่อนข้างอุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และลำไส้ใหญ่
    มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยในการขับถ่าย
  • ขิงสด(生姜)รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้าม และ กระเพาะอาหาร
    มีสรรพคุณ ขับความเย็น อุ่นร่างกายส่วนกลาง แก้คลื่นไส้ อุ่นปอด แก้ไอ ทั้งยังขิงเป็นยาที่สำคัญในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้อีกด้วย
  • ลูกเดือย(薏苡仁)รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะ และปอด
    มีสรรพคุณขับน้ำลดบวม ลดชื้น บำรุงม้าม ระบายความร้อน ขับพิษ
  • เฉินผี หรือผิวส้มจีน(陈皮) รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และม้าม
    มีสรรพคุณทำให้ชี่ไหลเวียนสะดวก เสริมบำรุม้าม สลายความชื้น ขับเสมหะ
  • หลู่เกิน(芦根)รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณ ระบายความร้อนและไฟ เพิ่มสารน้ำ แก้กระหาย แก้คลื่นไส้ ขับปัสสาวะ 
  • ชะเอมเทศ(甘草)รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และกระเพาะอาหาร
    สรรพคุณ บำรุงม้าม หล่อเลี้ยงชี่ ขับเสมหะ แก้ไอ บรรเทาปวด ขับพิษร้อน

วิธีการต้ม
- ต้มน้ำ 1,500 มล. จนเดือด ใส่ถั่วเหลือง 50 กรัม  และ ลูกเดือย 50 กรัม ต้มให้นิ่ม
- ใส่ถุงสมุนไพรจีนลงไปในหม้อต้ม ใส่หัวหอม ครึ่งลูก ข้าวโพด 1 ฝัก หั่นเป็น 3 ท่อน ต้มจนเดือด 15-20 นาที  
- ปรุงรสตามใจชอบด้วยซีอิ๊วขาว เกลือ และน้ำตาล ใส่ฟักเขียว ต้มต่อ 5 นาที  
- ใส่มะเขือเทศ  4 ลูก ขิงสด 30 กรัม  ต้มต่ออีก 5 นาที

วิธีการรับประทาน รับประทานขณะอุ่น 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์

ข้อควรระวัง 
-    สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
-    ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง
-     ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

3.2 จินจินฉา



    แนะนำสูตรโดยสำนักงานคณะกรรมการวางแผนสุขภาพและครอบครัวนครเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน และปรับสูตรให้เข้ากับภูมิอากาศในประเทศไทย

ส่วนประกอบ (ปริมาณสำหรับ 1 คน)

-         หวงฉี 3 กรัม
-         เฉ่าไป๋จู๋ 3 กรัม
-         ฝางเฟิง 2 กรัม
-         ฮั่วเซียง 2 กรัม
-         เพ่ยหลัน 2 กรัม
-         ดอกสายน้ำผึ้ง 2 กรัม
-         เหลียนเฉียว 2 กรัม
-         ป่านหลานเกิน 2 กรัม
-         เฉ่าม่ายหยา 2 กรัม
-         ชะเอมเทศ 2 กรัม

สรรพคุณ

  • หวงฉี (黄芪) มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และม้าม  
    มีสรรพคุณบำรุงชี่ ระงับเหงื่อ ขับปัสสาวะลดอาการบวม เพิ่มสารจินสร้างเลือด ทำให้ชี่ไหลเวียน ระงับปวด ช่วยรักษาบาดแผลและสร้างเนื้อเยื่อ 
  • เฉ่าไป๋จู๋ (炒白术) มีรสขมและหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและกระเพาะอาหาร
    มีสรรพคุณเสริมม้ามและบำรุงชี่ ขจัดความชื้นและขับปัสสาวะ 
  • ฝางเฟิง (防风) มีรสเผ็ดและหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ตับ และม้าม
    มีสรรพคุณ กระจายลมเพื่อขับกระจายสาเหตุก่อโรคที่ส่วนนอกของร่างกาย ขับความชื้น ระงับปวด ระงับการชัก
  • ฮั่วเซียง (藿香) มีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและปอด  กลิ่นหอมระเหยจะช่วยขับความชื้น ปรับสมดุลจงเจียว แก้อาเจียน แก้ไข้ที่เกิดจากการกระทบความร้อนชื้น
  • เพ่ยหลัน (佩兰) มีรสเผ็ด ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและปอด  กลิ่นหอมระเหยจะช่วยขับความชื้น ปรับสมดุลจงเจียว แก้อาเจียน แก้ไข้ที่เกิดจากการกระทบความร้อนชื้น 
  • ดอกสายน้ำผึ้ง (金银花) มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และกระเพาะอาหาร  ขจัดความร้อนและขับพิษ กระจายลมร้อน 
  • เหลียนเฉียว (连翘) มีรสขม ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และลำไส้เล็ก ขจัดความร้อนและขับพิษ ลดบวม ลดการอุดกั้น และกระจายลมร้อน
  • ป่านหลานเกิน (板蓝根) มีรสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร และตับ ระบายความร้อน ขับพิษ ระบายความร้อนในเลือด บรรเทาอาการระคายคอ 
  • เฉ่าม่ายหยา (炒麦芽) มีรสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร และตับ
    มีสรรพคุณช่วยให้ชี่ไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยย่อยอาหาร แก้อุจจาระเหลวเป็นประจำ ช่วยหย่านม  
  • ชะเอมเทศ (甘草) มีรสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร
    มีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ แก้ไอ ขับเสมหะ  มักใช้ในตำรับยาแก้ไอที่มีเสมหะร้อน คอบวมอักเสบ พิษจากฝีแผล หรือพิษจากยาและอาหาร


ข้อควรระวัง 
- สตรีมีครรภ์และอยู่ระหว่างการมีประจำเดือนไม่ควรรับประทาน
- หากเกิดอาการแพ้ ควรงดการใช้ทันที



(2)แข็งแรงต้านภัย...ทำได้ด้วยการฟื้นฟูที่ดี


       ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนและรสจืด หลังจากที่ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วย ฝ้าบนลิ้นจะค่อย ๆ จางหายไป ปัสสาวะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีจางใส  ค่อยๆปรับการรับประทานอาหารประเภทธัญพืช  เริ่มจากโจ๊กใสค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นข้น และอาจใช้อาหารที่มีสรรพคุณเป็นยาบางชนิดสำหรับทำเป็นโจ๊กหรือข้าวต้ม  เช่น

  • ใบบัว (荷叶) รสขม ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและตับ
    สรรพคุณระบายความร้อน ขับความชื้น ทำให้เลือดเย็น ห้ามเลือด
  • ใบไผ่ (竹叶) รสหวาน จืด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจและกระเพาะอาหาร
    สรรพคุณระบายความร้อน แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ 
  • หลูเกิน(芦根)รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และกระเพาะอาหาร 
    มีสรรพคุณ ระบายความร้อนและไฟ เพิ่มสารน้ำ แก้กระหาย แก้คลื่นไส้ ขับปัสสาวะ  
  • ข้อเหง้าบัวหลวง (藕节) รสหวาน ฝาด ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ตับ และกระเพาะอาหาร
    สรรพคุณขับพิษ ห้ามเลือด สลายเลือดคั่ง 
  • ฟักเขียว (冬瓜) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ลำไส้ใหญ่ และกระเพาะปัสสาวะ 
    สรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ

ผู้ที่มีม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ
ในผู้ที่มีม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ สามารถทำโจ๊กบำรุงม้าม ขับความชื้น เพิ่มความอยากอาหารที่ประกอบไปด้วย

  • ลูกเดือย (薏苡仁) รสหวาน จืด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร และปอด
    สรรพคุณขับน้ำและความชื้น เสริมบำรุงม้าม ขับพิษ แก้ท้องเสีย
  • เมล็ดบัว (莲子) รสหวาน ฝาด  ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม ไต และหัวใจ
    สรรพคุณช่วยเสริมบำรุงม้าม ไต และหัวใจ แก้ท้องเสีย ช่วยสงบจิตใจ 
  • ผิวส้มจีน(陈皮)รสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม
    มีสรรพคุณทำให้ชี่ไหลเวียนสะดวก เสริมม้าม สลายความชื้น ขับเสมหะ  
  • เชี่ยนสือ (芡实) รสหวาน ฝาด ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและไต
    มีสรรพคุณ เสริมบำรุงม้ามและไต ขับความชื้น ช่วยควบคุมปัสสาวะ   

ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ
ในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ สามารถทำโจ๊กที่ประกอบไปด้วย 

  • ไป่เหอ (百合) รสหวานอมขม ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจและปอด
    สรรพคุณเสริมสร้างสารน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ปอด  ช่วยสงบจิตใจ  
  • เมล็ดบัว (莲子) รสหวาน ฝาด ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม ไต และหัวใจ
    สรรพคุณช่วยเสริมบำรุงม้าม ไต และหัวใจ แก้ท้องเสีย ช่วยสงบจิตใจ 
  • เก๋ากี้ (枸杞子) รสหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณตับและไต
    สรรพคุณเสริมบำรุงตับและไต บำรุงร่างกายและสายตา  ซึ่งนอกจากเสริมม้ามแล้วยังสามารถสงบจิตใจช่วยเสริมการนอนหลับได้ดีอีกด้วย

ข้อควรระวัง
      ผู้ป่วยที่อาการหายดีแล้วในระยะแรก แต่ม้ามและกระเพาะอาหารยังไม่ฟื้นฟูเป็นปกติ ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารมัน อาหารหวาน อาหารรสจัด อาหารจำพวกผลไม้ ผักสด น้ำเย็น น้ำแข็ง รวมไปถึงอาหารย่อยยากต่าง ๆเพราะจะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนักมากขึ้น ฝ้าบนลิ้นก็จะกลับมาหนาตัวขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม

การติดตามผล และ ข้อปฏิบัติตัวเพิ่มเติมหลังผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว

1. ให้ความสำคัญกับระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย และแผนการรักษาในขณะที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เพื่อการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วมักจะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นควรสวมหน้ากากอนามัยและตรวจสอบสุขภาพตนเองต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาล

3. ผู้ป่วยควรระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล ทำการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดของใช้ในบ้านและสิ่งของพกพา 

4. ควรอาศัยอยู่ในห้องเดี่ยวที่มีการระบายอากาศได้ดี หากอยู่ในห้องปิดอาจมีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที  ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว กินร้อน แยกจานและ ช้อนส้อม และควรใช้เครื่องมือทำความสะอาดส่วนตัว หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกเคหะสถาน

5. ควรได้รับการฝึกอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงแรกเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟู เช่น การรำไทเก็ก ปาต้วนจิ่น เป็นต้น

6. ควรกลับไปตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 4 หลังออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าหายดีและไม่กลับมาเป็นซ้ำ

**หมายเหตุ หากไม่แน่ใจสภาพร่างกายของตนเองว่าอยู่ในกลุ่มไหน ควรปรึกษาแพทย์แผนจีนที่มีใบประกอบโรคศิลปะที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนรับประทาน

(3) แข็งแรงต้านภัย...ทำได้ง่ายๆ

1.การจุดกำยานยาจีน




   ใช้ อ้ายเถียว (艾条) 100 ตารางเมตร ต่อ 1 แท่ง หรือใช้สมุนไพร ชังจู๋ (苍术) 1 กรัมต่อ 1 ตารางเมตร เตรียมโดยการนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ 95% ให้ท่วม ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาจุด โดยใส่ในภาชนะที่ทนความร้อนนำมาจุดกำยาน รอให้เปลวไฟสงบก่อนออกจากห้อง อบไว้ภายในห้อง 1 - 2 ชั่วโมง ขณะเผากำยานไม่ควรให้มีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในห้อง หลังเผาเสร็จควรเปิดหน้าต่างให้อากาศระบาย

- จางจ้งจิ่ง (张仲景) หนึ่งในปรมาจารย์แห่งแพทย์แผนจีนในยุคก่อนได้กล่าวไว้ว่า "ชังจู๋สามารถฆ่าเชื้อในอากาศ ทุกบ้านสามารถจุดชังจู๋เพื่อฆ่าเชื้อ จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคระบาด"

**มีงานวิจัยจาก Guangxi University of Science and Technology ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการจุดรมควันอ้ายเยี่ยชังจู๋กับการใช้หลอดแสงยูวีที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศได้ พบว่าสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศได้

สรรพคุณ

  • อ้ายเยี่ย (艾叶) ช่วยขับไล่ความเย็น ทำให้เลือดลมไหลเวียน อบอุ่นเส้นลมปราณ บำรุงพลังหยางในร่างกาย
  • ชังจู๋ (苍术) ช่วยขับความชื้น บำรุงม้าม ขับกระจายลมเย็น


2.สำหรับกลุ่มคนที่มาภาวะมือเท้าเย็นเป็นประจำ

   สามารถแช่มือแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ที่ผสม อ้ายเยี่ย (艾叶) 50 กรัม ชิงเฮา (青蒿) 50 กรัม ขิงสด (生姜) 50 กรัม ชังจู๋ (苍术) 30 กรัม ด้วยน้ำ 4000 - 5000 มิลลิลิตร ต้มไฟแรงน้ำให้เดือด จากนั้นลดไฟอ่อนต้มต่ออีก 15 นาที รอให้อุณหภูมิน้ำเหลือ 45 องศา แล้วค่อยนำน้ำมาแช่เท้า อุณหภูมิน้ำไม่ควรต่ำกว่า 35 องศา หรือเมื่อน้ำเย็นให้ยกเท้าขึ้น   

สรรพคุณ

  • ชิงเฮา (青蒿) มีสรรพคุณทางยา คือระบายความร้อน ลดความร้อนในร่างกาย ขับลม แก้คัน  
  • ขิงสด (生姜) มีสรรพคุณไล่ความเย็น ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะอาหาร ม้าม แก้อาการคลื่นไส้
  • อ้ายเยี่ย (艾叶) มีสรรพคุณขับไล่ความเย็น ทำให้เลือดลมไหลเวียน อบอุ่นเส้นลมปราณ เพิ่มพลังหยางในร่างกาย
  • ชังจู๋ (苍术) สรรพคุณ ขับความชื้น บำรุงม้าม ขับกระจายลมเย็น

3. ถุงหอม




      ใช้ส่วนผสมของ ชังจู๋ (苍术) โกฐสอ (白芷) สือชางผู  (石菖蒲) ชวนซฺยง (川芎) เซียงฟู่  (香附)  ซินอี๋ฮวา  (辛夷花) อู๋จูยฺหวี (吴茱萸 ) ฮั่วเซียง (藿香) อ้ายเยี่ย (艾叶) ปริมาณพอเหมาะ บดให้ละเอียด ใส่ในถุง ตั้งไว้กลางบ้าน

สรรพคุณ

  • อ้ายเยี่ย (艾叶) ช่วยขับไล่ความเย็น ทำให้เลือดลมไหลเวียน อบอุ่นเส้นลมปราณ เพิ่มพลังหยางในร่างกาย
  • ชังจู๋ (苍术) มีสรรพคุณขับความชื้น บำรุงม้าม ขับกระจายลมเย็น 
  • โกฐสอ (白芷) มีสรรพคุณ บรรเทาอาการหวัดจากการกระทบลมเย็นภายนอก บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ลดอาการคัดจมูก 
  • สือชางผู  (石菖蒲) ปลุกสมอง สงบจิตใจ 
  • ชวนซฺยง (川芎) ช่วยปรับการไหลเวียนของเลือดและชี่ ขับลม แก้ปวด
  • เซียงฟู่  (香附)  ช่วยปรับการไหลเวียนของชี่ แก้ปวด
  • ซินอี๋ฮวา  (辛夷花) มีกลิ่นหอม ขจัดลม ทะลวงทวารจมูก ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ และไซนัสได้ดี
  • อู๋จูยฺหวี (吴茱萸 ) ขับไล่ความเย็น เสริมหยาง แก้ปวด แก้ท้องเดิน
  • ฮั่วเซียง (藿香)  มีกลิ่นหอมขับความชื้น แก้ไข้ที่เกิดจากการกระทบความร้อนชื้น แก้อาเจียน


    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเภสัชกรรม
    LINE Official : @pharmacytcm


    แหล่งที่มาหลัก

    1. 广东省中医药局发布《广东省新冠肺炎中医治未病指引》
     ประกาศเรื่อง <แนวทางการป้องกันก่อนเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ของมณฑลกวางตุ้ง> ออกโดย ทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งมณฑลกวางตุ้ง

    2.北京市中医药管理局发布《北京市新型冠状病毒肺炎恢复期中医康复指导建议(试行)》ประกาศเรื่อง <แนวทางการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในระยะฟื้นฟูของกรุงปักกิ่ง (ฉบับทดลอง)> ออกโดย ทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งกรุงปักกิ่ง

    คณะผู้จัดทำ
    1.แพทย์จีนอรกช  มหาดิลกรัตน์
    2.แพทย์จีนธันย์ชนก  เอื้อธรรมมิตร
    3.แพทย์จีนสิตา สร้อยอัมพรกุล
    4.แพทย์จีนธนภร ตันสกุล
    5.แพทย์จีนวรพงศ์ ชัยสิงหาญ
    6.แพทย์จีนเยาวเกียรติ เยาวพันธุ์กุล
    7.แพทย์จีนชลิดา สิทธิชัยวิจิตร
    8.แพทย์จีนเซ็งจุ้น แซ่ลี
    9.แพทย์จีนสุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์

     
    ข้อมูลอ้างอิง 

    1. People Daily Overseas Editon.中医药治疗新冠肺炎总有效率逾90%[Internet]. China; 2020 [cited 2020 Aug 7]. Available from: http://www.gov.cn/xinwen/2020-03/24/content_5494788.htm

    2. National Administration of Chinese Medicine.广东发布中医预防新冠肺炎指引,看不同体质的人如何预防调养![Internet]. Guangdong; 2020 [cited 2020 Aug 7]. Available from: http://www.satcm.gov.cn/xinxifabu/gedidongtai/2020-03-08/13716.html

    3. National Administration of Chinese Medicine.北京市新型冠状病毒肺炎恢复期中医康复指导建议(试行)[Internet]. Beijing; 2020 [cited 2020 Aug 7]. Available from: http://www.satcm.gov.cn/xinxifabu/gedidongtai/2020-03-15/13929.html

    4. National Administration of Chinese Medicine.北京市新型冠状病毒肺炎恢复期中医康复指导建议(试行)[Internet]. Beijing; 2020 [cited 2020 Aug 7]. Available from: http://www.satcm.gov.cn/xinxifabu/meitibaodao/2020-03-29/14324.html

    5. Zuo Shen, Li Da Long. Effects of air disinfection of burning of Rhizoma atractylodis and Artemisia Argyi. Journal of North Pharmacy;12(11):103. [cited 2020 Aug 7]. Available from: https://kns.cnki.net/KCMS/detail/detail.aspx?dbcode=CJFQ&dbname=CJFDLAST2015&filename=BFYX201412088&v=MDgxMjdTN0RoMVQzcVRyV00xRnJDVVI3cWZiK1pvRnk3a1c3N09KeXZTZHJHNEg5WE5yWTlOYklSOGVYMUx1eFk=







    สอบถามข้อมูลการรักษา
    ทีมหมอจีน LINE OA : @huachiewTCM

     





เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้