Long Covid อาการแทรกซ้อนระยะยาวหลังหายจากการติดเชื้อโควิด19

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  12447 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Long Covid อาการแทรกซ้อนระยะยาวหลังหายจากการติดเชื้อโควิด19

ผลข้างเคียงของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด19 ซึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในกลุ่มโรค อาการอ่อนเพลีย(虚劳)นอนไม่หลับ(不寐)ความจำลดประสิทธิภาพลง(健忘)วิตกกังวล หรือ ซึมเศร้า(郁证)หัวใจเต้นผิดจังหวะ (心悸)หายใจลำบาก หรือ ความเสียหายในปอด(肺痿/肺胀)ปวดหัว(头痛)กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย (痿证)



ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งไม่ใช่การรักษาทางหลักในประเทศไทย แต่จะเน้นไปที่การรักษาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคแบบองค์รวม และการวินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการ การเกิดโรคเริ่มจากปัจจัยภายในร่างกายที่มีภาวะไม่สมดุล ได้แก่ ชี่พร่อง , ชี่ติดขัด , เลือดพร่อง , เลือดคั่ง หยางพร่อง , อินพร่อง , เสมหะชื้น , ร้อนชื้น เมื่อร่วมกับปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่เชื้อก่อโรค ความหนาว ความร้อน ความชื้น ทำให้ร่างกายเสียสมดุล เกิดเป็นโรคขึ้น


ถึงแม้ผู้ป่วยจะหายจากการติดเชื้อโรคไวรัสโควิด19 แล้วก็ตาม แต่สภาพร่างกายยังเสียสมดุลอยู่

1. อาการแทรกซ้อนจากภาวะอ่อนเพลีย
ภาวะอ่อนเพลีย หรือ สวีเหลา (ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน) หมายถึง กลุ่มอาการพร่องต่างๆ อันเนื่องมาจากสารจําเป็นก่อนกําเนิดไม่เพียงพอ การดูแลหลังกําเนิด ไม่เหมาะสม ผู้ที่ป่วยเป็นเวลานานขาดการบํารุง เจิ้งชี่ถูกกระทบ ร่างกายพร่องเป็นระยะเวลานาน ไม่ได้รับการฟื้นฟู อาการพร่องอันเกิดเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ล้วนจัดอยู่ในขอบเขตของกลุ่มอาการซวีเหลา

ส่วนมากการดําเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากกลุ่มอาการซวีเหลามีขอบเขตที่กว้างมาก ดังนั้นคนสมัยก่อนจึงมีการแบ่งชนิดของความพร่องเป็นแบบต่างๆ เช่น อู่เหลา ลิ่วจี๋ ชีซาง หากแต่การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์กับอินพร่อง หยางพร่อง หรืออินและหยางพร่อง

2. อาการแทรกซ้อนจากภาวะนอนไม่หลับ
ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวล ใช้สมองมากเกินไป ชี่และเลือดพร่อง หรือเกิดจากความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ชี่ติดขัด และภาวะที่ร่างกายเกิดร้อนรบกวนขึ้น ภายใน เสลดขุ่นปิดกั้น เป็นต้น ทําให้อินและหยางไม่ประสานกลมเกลียวกัน จิตไม่สงบ ทางการแพทย์แผนปัจจุบันพบในโรคนอนไม่หลับ จิตใจอ่อนเพลีย โรคลมชัก โรคฟุ้งพล่าน ฮิสทีเรีย หลอดเลือดสมองอุดตัน และยังพบกับโรคทางร่างกายอื่นๆ

3. อาการแทรกซ้อนจากภาวะหลงลืม ขี้ลืมง่าย ความจำสั้น 
ความจําไม่ดี หลงลืมง่าย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจและม้ามพร่อง คนสูงอายุที่สารจิงน้อยลง หรือมีภาวะเลือดคั่งและเสลดปิดกั้นเส้นลมปราณ เป็นอาการที่มักพบในโรคเกี่ยวกับสมอง เช่น จิตอ่อนล้า สมองฝ่อ การบาดเจ็บภายในสมอง ถูกพิษ เป็นต้น

4.  อาการแทรกซ้อนจากความวิตกกังวล หรือ ซึมเศร้า
โรคที่มีอาการแสดงคืออารมณ์เก็บกดหรือไม่สบายใจ , โรคที่ทำให้เกิดภาวะกระวนกระวายใจ อยู่ไม่เป็นสุข (โรคไป๋เหอ-เพราะรักษาด้วยยาจีนไป๋เหอเป็นหลักจึงตั้งชื่อตามยา) มีอาการสติมึนงง ไม่ว่า เดิน นั่งหรือนอน หรือรับประทานอาหารก็จะรู้สึกไม่สบายไปเสียหมด ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคตามมาหลังจากไข้สูงเฉียบพลัน ได้รับพิษ หรือโรคทางสมอง ในขณะที่พิษภัยยังไม่หมดไป ภายในร่างกายเกิดภาวะอินและน้ำพร่อง ชี่และเลือดเสียสมดุล ทําให้เส้นเลือดเส้นลมปราณขาดการหล่อเลี้ยง จิตใจว้าวุ่น

ฮิสทีเรีย โรคทางจิตใจที่เกิดจากอารมณ์ไม่ปลอดโปร่ง ทําให้ชี่คั่งเกิดไฟขึ้นในร่างกายก่อกวนภายใน หรือ ในช่วงสตรีวัยหมดประจําเดือน เนื่องจากเลือดพร่องไปตามวัย ทําให้อินและหยางเสียสมดุล การเคลื่อนไหว ของชี่สับสน จิตจึงไม่นิ่ง เหล่านี้ทําให้เกิดอาการโรคขึ้น มีอาการวิตกกังวล กระสับกระส่ายไม่นิ่ง กระทั่ง ทุกข์ระทมอยากร้องไห้

5. อาการแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
มีอาการใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ไม่สบายใจ ประกอบด้วยใจสั่นที่มีอาการตกใจกลัว จิตใจไม่สงบ (惊悸) กับใจเต้นตุบๆ ที่เป็นอาการใจสั่นแบบรุนแรง (怔忡)


6. อาการแทรกซ้อนจากภาวะหายใจลำบาก หรือ ความเสียหายในปอด
ปอดโป่งพอง โรคที่เกิดตามวัณโรคปอดหรือโรคหืด จากการที่ชี่ของปอดถูกอุดกั้นเป็นเวลานาน เนื้อปอดจึงมีการขยายตัวค้างไว้จนบวมแน่นทรวงอก มีอาการแน่นหน้าอก ไอและขากมีเสมหะ หายใจหอบถี่ เป็นโรคที่สังกัดโรคของปอด

ปอดแฟบ เกิดจากมีอาการไอหอบเป็นเวลานานไม่หายหรือเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายอย่างรุนแรง ชี่ของปอดได้รับความเสียหาย สารน้ำสูญสลาย ทําให้เนื้อปอดขาดการหล่อเลี้ยง ปอดแฟบทํางานไม่ได้ มีอาการหายใจยาก ขากเสมหะเป็นฟอง เป็นโรคที่สังกัดโรคปอด

7. อาการแทรกซ้อนจากอาการปวดหัว
อาการปวดหัวเกิดจากการที่เส้นลมปราณหรือเส้นเลือดบริเวณศีรษะไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจาก ปัจจัยก่อโรคจากภายนอก ลม ร้อน ความชื้น ส่งผลให้เส้นลมปราณ หรือเส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อมีการถูกปิดกั้น หดเกร็ง เกิดการอุดกั้น ส่งผลให้ศีรษะขาดการไหลเวียนที่ดีชองชี่และเลือด การติดขัดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดอาการปวด หรืออาจเกิดจากสภาพร่างกายอ่อนแอหลังจากหายจากโรค ทำให้ม้านพร่อง หัวใจพร่อง ไตพร่อง ส่งผลต่อการผลิตชี่เลือดไม่เพียงพอต่อการส่งไปหล่อเลี้ยงบริเวณศีรษะจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น

8. อาการแทรกซ้อน กลุ่มกล้ามเนื้อไม่มีแรง/อ่อนเพลีย
โรคในกลุ่มนี้ จัดว่าใหญ่มาก สามารถแบ่งเป็นกลุ่มอาการย่อยได้คือ

8.1 เหว่ยปิ้ง (แขนขาไม่มีแรง / ง่อยเปลี้ย) มีอาการเส้นเอ็นบริเวณแขนขาหย่อน อ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานเข้าก็จะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายมีความบกพร่องตั้งแต่กำเนิด หรือสภาพร่างกายมีความเสียสมดุล ถูกพิษจากภายนอกเข้ามากระทบ หรือเกิดจากอารมณ์มีการแปรปรวนกระทันหันรุนแรง/เป็นเวลานาน ความเหน็ดเหนื่อยจนส่งผลต่ออวัยวะภายใน ซึ่งส่งผลทำให้ชี่ของอวัยวะภายในเสียหาย เส้นเอ็นขาดการบำรุงหล่อเลี้ยงจึงเกิดโรคขึ้น

8.2 กู๋เหว่ย/เซิ่นเหว่ย (กระดูกไม่แข็งแรง) มีอาการเมื่อยเอว กระดูกสันหลังอ่อนล้า ไม่สามารถยืดหลังได้ ขาอ่อนแรง เดินเคลื่อนไหวลำบาก สีหน้าไม่สดใส ฟันสีหมองคล้ำ

8.3 ม่ายเหว่ย/ซินเหว่ย (แขนขาอ่อนแรงจากขาดเลือดมาเลี้ยง) เกิดจากหัวใจมีภาวะร้อนทำให้เลือดและชี่ไหลย้อนขึ้นข้างบน จนขาดเลือดลงไปเลี้ยงตามส่วนล่างของร่างกาย นอกจากนั้นยังเกิดได้จากความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรง ทำให้หยางชี่ภายในร่างกายปั่นป่วน ส่งผลให้เลือดไหลออกนอกเส้นเลือด เกิดเป็นอาการมีเลือดออกตามจุดต่างๆของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในหลอดเลือดขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง อวัยวะต่างๆ ร่างกายส่วนต่างๆจึงขาดการหล่อเลี้ยงด้วย มีอาการสำคัญคือข้อต่อแขนขาขยับไม่ได้เหมือนหับแขนขาหัก ขาและเท้าไม่มีแรงจนยืนไม่ได้

8.4 โร่วเหว่ย (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) เกิดจากป่วยด้วยโรคของกระเพาะอาหารหรือลําไส้เรื้อรังเป็นทุนเดิม ผนวกกับการติดเชื้อไวรัสโควิด19 มีการเข้าทำลายอวัยวะในระบบการย่อยอาหาร ทำให้รับประทานอาหารน้อย ชี่ของม้ามอ่อนแอ ร่างกายขาดสารอาหารมาหล่อเลี้ยง มีอาการไม่อยากอาหาร ท้องอืด ท้องเสีย อ่อนเพลีย ซูบผอม

8.5 จินเหว่ย (เส้นเอ็นหดเกร็ง) ส่วนใหญ่เกิดจากข้อยึดผิดรูป โรคปวดจากกระดูก การนอนแช่อยู่กับเตียงเป็นเวลานาน อาการเหล่านี้ทําให้จิงชี่สูญสลาย เส้นเอ็นขาดสารมาบํารุงเลี้ยง ทําให้แขนขาเกิดการหดเกร็ง งอได้แต่ยืดไม่ได้ จากนั้นแขนขาจะลีบจนใช้การไม่ได้

เรียบเรียงโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (พาน จ้าย ติง)

อ้างอิง

【1】   ประกาศของสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ สาธารณะรัฐประชาชนจีน หนังสือทางการแพทย์ 2563 ฉบับที่ 680 เรื่องแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคปอดบวม ไวรัสโคโรนา 2019  ฉบับทดลองที่แปด.

【2】   ประกาศของสำนักงานการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ สาธารณะรัฐประชาชนจีน 2563 (ประกาศอิเล็กทรอนิก) วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เรื่อง คำแนะนำพิเศษโดยสำนักงานการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ สาธารณะรัฐประชาชนจีน ในการควบคุมการใช้และการผลิตตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง.

【3】   ประกาศของสำนักงานการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ สาธารณะรัฐประชาชนจีน 2563 (ประกาศอิเล็กทรอนิค) วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เรื่อง ผลการศึกษาการใช้ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ในทางคลินิก จากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ:ใช้ตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง ในการรักษาภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา2019ยิ่งเร็วผลการรักษาทางคลินิกยิ่งดี.

【4】   ไขรหัสตำรับยาชิงเฟ่ยไผตู๋ทัง (清A肺排毒汤) และข้อควรระวังในการใช้(https://www.huachiewtcm.com)

【5】   "จินจินฉา" หมอจีนแนะนำชาบำรุงสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกัน Jin Jin Chinese Herbal Drink (https://www.huachiew tcm.com)

【6】   หลี่ เฟย. หนังสือตำรับยาจีนขั้นสูง เล่มบน ตีพิมพ์ครั้งที่สอง.สำนักพิมพ์ Ren min wei sheng,2017-02.

【7】   หลี่ เฟย. หนังสือตำรับยาจีนขั้นสูง เล่มล่าง ตีพิมพ์ครั้งที่สอง.สำนักพิมพ์ Ren min wei sheng,2017-02.

【8】   เกา เสว่ หมิน. หนังสือตำรับยาจีนขั้นสูง เล่มบน ตีพิมพ์ครั้งที่สอง.สำนักพิมพ์ Ren min wei sheng,2000-11.

【9】   เกา เสว่ หมิน. หนังสือตำรับยาจีนขั้นสูง เล่มล่าง ตีพิมพ์ครั้งที่สอง.สำนักพิมพ์ Ren min wei sheng,2000-11.

【10】 แนวทางการร่วมรักษาโรคไวรัส COVID-19 ด้วยการฝังเข็มและรมยา ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (https://www.huachiewtc m.com)

【11】 PPTV Online. “สมองล้า เพลียง่าย หายใจไม่ออก” ยุโรปศึกษาผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19, เผยแพร่ 12 กรกฏาคม 2563. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%

E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/129809 (ค้นหา16 มกราคม 2564)

【12】 ไทยรัฐออนไลน์. นักวิจัยเผยโควิดร้ายกว่าที่คิด หายป่วยแต่ยังมีภาวะแทรกซ้อน, เผยแพร่ 13 มกราคม 2564.  https://www.thairath.co.th/news/foreign/2010732 (ค้นหา 16 มกราคม 2564)

【13】 สถาบันการแพทย์ไทย-จีน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับประเทศไทย-บัญชีรหัสกลุ่มโรค อาการและหัตถการด้านการแพทย์แผนจีน ฉบับ2016.

【14】 โจว จง อิง. หนังสืออายุรกรรมแพทย์แผนจีน ตีพิมพ์ครั้งที่2.สำนักพิมพ์ Zhong guo zhong yi yao,2013-02.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้