ฤดูหนาวกับอาการตะคริว

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  1289 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฤดูหนาวกับอาการตะคริว

ช่วงนี้หมอจะได้ยินคนไข้พูดบ่อยๆว่า “พออากาศเย็นลง ขามักจะเป็นตะคริวอยู่เรื่อยเลย” สงสัยไหมคะว่าทำไมเข้าฤดูหนาวแล้ว ขาเราชอบเป็นตะคริว

อาการตะคริว คือ อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน โดยทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ส่วนมากมักจะเกิดที่บริเวณกล้ามเนื้อขาและมีอาการในตอนกลางคืน อาการตะคริวเหล่านี้จะพบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

สาเหตุของการเกิดตะคริวในทางแพทย์แผนปัจจุบันนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ  เลือดจาง หรือกล้ามเนื้อขาดเลือดก็ได้ เป็นต้น

ในทางการแพทย์แผนจีนอาการตะคริวนั้นมีสาเหตุมาจาก 2 สาเหตุหลักใหญ่ ๆ นั่นคือ “ความเย็น” และ “เลือด”

  1. ความเย็น : เป็นเหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตะคริวขึ้น โดยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุมักมีภาวะร่างกายอ่อนแอ เมื่อมีความเย็นเข้ามากระทบกับร่างกาย ความเย็นนี้จะทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เมื่อเลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ กล้ามเนื้อจึงเกิดการหดตัวเป็นตะคริวเกิดขึ้น
  2. เลือด : ในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่มีประวัติเป็นโลหิตจางอาจเกิดอาการตะคริวขึ้นได้ง่าย เนื่องจากในทางการแพทย์แผนจีนกล่าวว่าเลือด ช่วยหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้สามารถเคลื่อนไหว ทำงานได้ตามปกติ หากมีภาวะซีดหรือเลือดน้อย จะทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ง่าย จนเป็นตะคริวเกิดขึ้น

รู้อย่างนี้!!! หมอจึงมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัวดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ฤดูหนาวนี้เป็นตะคริว มาฝากกันค่ะ

  1. ให้ใส่ถุงเท้าเวลาเข้านอนหรือเมื่อต้องอยู่ในสถานที่อากาศเย็น เพื่อทำให้ปลายเท้าเราอบอุ่นไม่ทำให้ความเย็นเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
  2. หลีกเลี่ยงดื่มกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง แตงโม แคนตาลูป เป็นต้น และการรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ฟ้าทะลายโจร ใบบัวบก ใบย่านาง เป็นต้น
  3. ก่อนนอนแช่เท้าในน้ำอุ่น (แต่ในผู้สูงอายุควรระมัดระวังไม่ให้ร้อนมากจนเกินไป เพื่อป้องกันการลวกถูก)

หากปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ธันย์ชนก เอื้อธรรมมิตร (หมอจีน หยาง กุ้ย เหรียน)
杨桂莲 中医师
TCM. Dr. Tanchanok  Euathummit (Yang  Gui  Lian)
แผนกอายุรกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้