ถั่ว 9 ชนิดและวิธีการกินถั่วเพื่อสุขภาพ

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  106419 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถั่ว 9 ชนิดและวิธีการกินถั่วเพื่อสุขภาพ

ถั่วเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ  ให้ทั้งพลังงาน และแร่ธาตุที่จำเป็น  เมื่อได้ทราบถึงคุณประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทานถั่วแต่ละชนิดแล้ว  การเลือกรับประทานถั่วให้เหมาะกับตัวเองและรับประทานปริมาณที่เหมาะสม  ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามีสุขภาพดีได้เช่นกันค่ะ

หมอจีนจะมาแนะนำถั่ว 9 ชนิด ที่ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางอาหาร หากเลือกรับประทานตามความเหมาะสม การกินถั่วต่างๆก็จะเป็นเสมือนยาและอาหารเสริมบำรุงร่างกายไปในตัว

1. วอลนัท (核桃)



ในถั่ววอลนัท มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ  สารอาร์จีนีน  กรดไขมัน  ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด  ป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ  เหมาะสำหรับผู้สูงวัยและสตรีวัยหมดประจำเดือน  ควรรับประทานถั่ววอลนัทประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์  และไม่ควรรับประทานมากเกินไป  เพราะอาจทำให้ท้องอืด  อาหารไม่ย่อยได้

2.  เกาลัด  (板栗)



เม็ดเกาลัดประกอบด้วยกากใยที่อ่อนนุ่ม  เหมาะเป็นอาหารว่างสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน  ห้ามรับประทานเม็ดเกาลัดดิบ  แม้กระทั่งเม็ดเกาลัดที่สุกแล้วหากรับประทานมากเกินไปก็ทำให้ท้องอืดได้  สามารถนำเม็ดเกาลัดมาปรุงเป็นอาหาร  หรือเป็นขนมขบเคี้ยวระหว่างมื้อ  สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ  เม็ดเกาลัดเมื่อเก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ จะเป็นราได้ง่าย  หากนำเม็ดเกาลัดที่เป็นรามาปรุงสุกแล้วรับประทาน จะทำให้อาหารเป็นพิษได้  ดังนั้น เม็ดเกาลัดที่มีลักษณะผิดรูป ก็ไม่ควรรับประทาน

3.  เมล็ดทานตะวัน (葵花籽)



เมล็ดทานตะวันอุดมไปด้วยวิตามินอี  โปรตีนและสารอาร์จีนิน  มีส่วนเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด  ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง   ลดความดันโลหิต  มีผลงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าเมล็ดดอกทานตะวันช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ  เพิ่มความจำ  ให้ผลที่ดีกับผู้ที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตสูง และโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง

4.  ถั่วพิตาชิโอ  (开心果)



ถั่วพิตาชิโอมีส่วนประกอบหลักคือกรดไขมันไม่อิ่มตัว  มีผลช่วยลดคอเลสเตอรอล  ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ  นอกจากนี้ยังเป็นถั่วที่ให้พลังงานสูง  ผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก  ไม่ควรรับประทานมากเกินไป  ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคต่อครั้งคือ ครั้งละ 10 เม็ด  ถั่วพิตาชิโอที่เก็บไว้นานเกินไปไม่ควรรับประทาน

5.  อัลมอนด์ (甜杏仁)



อัลมอนด์เป็นถั่วที่ให้ทั้งพลังงานและแร่ธาตุ  โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นไขมันถึง 50%  โปรตีน 25%  และคาร์โบไฮเดรตอีก 10%  อีกทั้งวิตามินอี  แคลเซียม  แมกนีเซียม  โพแทสเซียม  มีงานวิจัยกล่าวว่า  ผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับประทานถั่วอัลมอนด์เป็นประจำมีอัตราการเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประทาน  นอกจากนี้อัลมอนด์ยังมีฤทธิ์ปรับสมดุลฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุโบรอนและแคลเซียม  มีส่วนช่วยลดการเกิดภาวะกระดูกเปราะบางในหญิงวัยหมดประจำเดือน

6.  เมล็ดฟักทอง (南瓜子)



เมล็ดฟักทองเป็นแหล่งของวิตามิน B5  ซึ่งช่วยใบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอก  และลดความดันโลหิตได้  แต่ก็ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ  มึนเวียนศีรษะได้ 

7.  ถั่วลิสง (花生)



ถั่วลิสงมีสรรพคุณบำรุงม้าม กระเพาะอาหาร  ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด  ขับเสมหะ  เปลือกถั่วชั้นบางๆ สีแดงเข้มนั้น มีสรรพคุณเพิ่มเกล็ดเลือดเพื่อใช้ในการห้ามเลือด ดังนั้น คนที่เลือดข้น เวลารับประทานถั่วลิสง ก็ควรลอกเปลือกสีแดงนี้ออกก่อน  ถั่วลิสงค่อนข้างย่อยและดูดซึมยาก  ดังนั้นไม่ควรรับประทานครั้งละมากๆ

8.  เมล็ดสน (松子)



ในเมล็ดสนมีทั้งโปรตีน น้ำตาล  กรดไขมัน  แคลเซียม  ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก  รับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี  ส่วนใครที่ระบบย่อยอาหารไม่แข็งแรง ควรรับประทานแต่น้อย

 

9.  เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (腰果)




ในบรรดาถั่วทั้งหมดที่กล่าวว่าข้างต้น  เม็ดมะม่วงหิมพานต์  เป็นถั่วที่มีไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูงถึง 20 %  สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้  ไม่ควรรับประทานมาก เพราะในเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสารกระตุ้นภูมิแพ้อยู่  ดังนั้นใครที่กลัวว่าจะแพ้  สามารถลองรับประทานสัก 1-2เม็ดก่อน  แล้วรอสัก 10นาที  หากไม่มีปฏิกริยาแพ้  ก็สามารถรับประทานต่อได้


แปลจากบทความต้นฉบับภาษาจีน 
ข้อควรระวังในการรับประทานถั่ว..เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง 
โดย 养生中国


แปลโดย  : แพทย์จีนสิริลักษณา ทวีโชติช่วง  (เว่ย หมิง จู)
แผนกฝังเข็ม  คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้