Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2454 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะหรืออาการผื่นแดงที่หน้า (red face syndrome) มีลักษณะอาการใบหน้าแดง ร่วมกับมีผดผื่นสีแดงเล็ก ๆ ตุ่มหนอง คัน แสบร้อนผิว ระคายเคืองง่าย ไวต่อแสงแดด บางรายพบร่วมกับภาวะผิวแห้งลอกเป็นขุย เนื่องจากมลภาวะ การใช้ชีวิตและการใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางต่าง ๆ กับใบหน้ามากขึ้นทำให้พบอาการเหล่านี้ได้บ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุของผื่นแดงที่หน้าอาจมีได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่
1. ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมัน หรือ เซ็บเดิร์ม มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุย(ผิวลอก) ร่วมกับมีผิวมัน มักพบที่ข้างจมูกและคิ้ว มีอาการชัดเจนเมื่อเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
2. ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ มีลักษณะเป็นผื่นแดงบริเวณหน้า ต้นคอ ข้อพับแขนขา ร่วมกับอาการคัน ยิ่งในรายที่เป็นนานจะพบภาวะผิวแห้ง ย่นเป็นรอย มักคันพบในผู้ป่วยมีประวัติทางกรรมพันธุ์
3. ผื่นแพ้สัมผัส/ระคายสัมผัส จะเกิดผื่นแดง แสบร้อน คัน บางรายอาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย มีประวัติการใช้เครื่องสำอางหรือยาใช้ภายนอก มีอาการเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีการใช้เครื่องสำอางเท่านั้น
4. ผื่นแพ้แสง จะเกิดผื่นแดง คันหลังจากผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด
5. โรคหน้าแดง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนผิวขาว ในคนเอเชียพบได้น้อย อาการแรกเริ่มจะพบภาวะผิวหน้าแดงเป็น ๆ หาย ๆ หลังจากนั้นผิวบริเวณจมูกจะเริ่มขรุขระ และสุดท้ายจมูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแดงอย่างถาวร ในคนเอเชียอาจพบได้ในบุคคลที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
6. สิว ในรายที่มีสิวอักเสบรุนแรงและขนาดใหญ่จำนวนมากจะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ สิวมีการอักเสบตามไปด้วยจนทำให้ดูหน้าแดงเป็นบริเวณกว้าง
7. สะเก็ดเงิน ลักษณะผื่นเป็นผื่นแดง ลอกเป็นขุยสีเงิน ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินบางรายเริ่มมีผื่นที่บริเวณหน้าผาก จากนั้นผื่นก็ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีผื่นใหม่เกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าจนทำให้ดูใบหน้าเป็นสีแดง
8. ผิวหนังบางและหลอดเลือดฝอยขยายจากยาสเตียรอยด์ เป็นผลจากการใช้ยาทาหรือยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดภาวะผิวหนังบาง หลอดเลือดฝอยขยายตัวจนทำให้ใบหน้าดูแดงขึ้น
9. SLE บริเวณใบหน้าจะเป็นปื้นแดงรูปผีเสื้อตั้งแต่สันจมูกไปสู่โหนกแก้ม หนังศีรษะ และหู โดยอาจพบอาการจากระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ มีไข้ อ่อนเพลีย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าภาวะผื่นแดงที่ใบหน้ามีได้หลายสาเหตุ ลักษณะอาการของโรคก็ใกล้เคียงกัน การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องซักประวัติและตรวจดูลักษณะของผิว บางรายอาจจำเป็นต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ในการรักษาทางแพทย์แผนจีนถึงแม้มีอาการใกล้เคียงกันแต่แนวทางการรักษาอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วย โดยแพทย์แผนจีนจะใช้วิธีการรักษาโดยการทานยา ใช้ยาใช้ภายนอก ฝังเข็ม หรือการทำหัตถการอื่นๆเพิ่มเติม
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย (พจ. เจิง ฉ่าย อิง)
曾彩瑛 中医师
TCM. Dr. Nattima Techapipatchai (Zeng Cai Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก
15 ก.ค. 2567
30 ส.ค. 2567