โรคลมชักกับการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 17 พ.ย. 2566  |  717 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคลมชักกับการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

โรคลมชัก คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการชัก เหม่อลอย หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติไป  เนื่องมาจากมีการปลดปล่อยของคลื่นไฟฟ้าสมองที่สร้างจากเซลล์สมองที่ผิดปกติออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ  อาการชักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ประมาณ 1-2 นาที โดยส่วนใหญ่จะไม่เกิน 5 นาที หลังจากนั้นอาการจะหายไป อาการแสดงที่เกิดขึ้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้น

สาเหตุของโรคลมชัก

- ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมอง สาเหตุจากรอยโรคในสมองได้แก่ แผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส (สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ) เนื้องอกสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ หลังการได้รับบาดเจ็บทางสมอง

- พันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการที่เด่นชัดและเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด

- สาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิในสมอง

- สาเหตุจากภาวะเมตตาบอลิซึม เช่นภาวะความไม่สมดุลของสารน้ำ เกลือแร่และน้ำตาล ได้แก่ภาวะระดับเกลือโซเดียมในเลือด และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปเป็นต้น

- สาเหตุจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันของตนเองเช่นโรคไข้สมองอักเสบบางชนิด และโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (SLE) เป็นต้น

- ยังไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) ได้แก่ โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง

อาการมีอะไรบ้าง

- ชักทั้งตัว (Generalized seizures) อาการที่เกิดขึ้นมีหลากหลายรูปแบบตามประเภทของการชัก เช่น เกร็ง กระตุก เหม่อลอย สูญเสียการตึงตัวของกล้ามเนื้อทันทีและล้มลงโดยไม่มีการเกร็งกระตุก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเกร็งกระตุกหมดสติทันทีทันใด กล้ามเนื้อลำตัวและแขนขาเกร็ง หยุดหายใจชั่วขณะ หน้าเขียว กัดลิ้น ปัสสาวะราด และหลับไป เมื่อฟื้นคืนสติจะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ บางรายยังไม่ตื่นก็เกิดอาการชักซ้ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุน้อย ในบางรายจะแสดงอาการเหม่อลอยเป็นพักๆ ไม่มีอาการเกร็งกระตุกหรือหมดสติ ซึ่งเป็นอาการชักอีกรูปแบบแบบหนึ่งและมีอาการไม่กี่วินาที

- ชักเฉพาะที่ (Partial seizures/Focal seizures) อาการชักที่เกิดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสมอง เช่นกระตุกใบหน้า มุมปาก แขนหรือขา ชาหรือรู้สึกเหมือนถูกเข็มตำที่แขนขาเป็นพักๆ  เห็นแสงสว่างหรือเห็นเป็นรูปร่าง เห็นภาพหลอน ได้กลิ่นแปลก รสแปลกๆ หูแว่วได้ยินเสียง อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ปวดท้อง ใจสั่น ใจหวิว เหงื่อออกเป้นต้น 

ในการแพทย์แผนจีน

ในการแพทย์แผนจีนเรียกว่า “痫证” (เสียนเจิ้ง) เกิดจาก ปัจจัยก่อโรคคือ ลม ไฟ เสมหะ หรือเลือดคั่ง ไปส่งผลทำให้หัวใจ ตับ ม้าม ไตทำงานผิดปกติส่งผลไปถึงสมอง เกิดเป็นอาการลมชักขึ้น สามารถแบ่งกลุ่มอาการเป็น  อินตับและไตพร่อง ม้ามและหัวใจพร่อง ลมตับกระพือภายใน เสมหะและเลือดคั่งอุดกั้น

รักษาโดยอย่างไร

-ฝังเข็ม
-รับประทานสมุนไพรจีน

ตัวอย่างกรณีการรักษาลมชักที่เข้ารับการรักษาและได้ผลดี

รหัสผู้ป่วย : HN0132**

ชื่อ : นาง วารินทร์

เพศ : หญิง

อายุ : 36

เข้ามารักษาเมื่อ : 4/11/2022

อาการสำคัญ : หมดสติชั่วขณะ ร่วมกับมีอาการแขนขาเกร็งกระตุก มากกว่า 27 ปี เป็นหนักขึ้นกว่า 2 ปี

อาการปัจจุปัน : คนไข้เริ่มมีอาการเป็นลมเมื่ออายุ 9 ขวบ หลังจากนั้นมีอาการเป็นลมบ่อยครั้ง หลังจากหายเป็นลมมีอาการอ่อนเพลียอย่างหนัก ไปโรงพยาบาลได้รับยาแก้ลมชักมารับประทาน 2 ปีที่ผ่านมาอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หมดสติ เป็นลม และมีอาการแขนขาเกร็งกระตุก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  มีอาการ 4-7 ครั้งต่อสัปดาห์  หลังจากลมชัก มักมีอาการเวียนศีรษะ แขนขาไม่มีแรง ไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ ไม่อยากทานอาหาร อยากนอนหลับตลอดเวลา หน้าซีดขาวไม่มีสีเลือด ขับถ่ายปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยอดีต : ภาวะเลือดจาง น้ำตาลในเลือดต่ำ ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน โรคศึมเศร้า

การตรวจร่างกาย :

- ลิ้นขาวซีดอ้วน ฝ้าขาวหนา ชีพจรเล็กไม่มีแรง

- EEG ไม่พบความผิดปกติ

วิธีการรักษา : ฝังเข็ม กระตุ้นไฟฟ้าและรับประทานยาสมุนไพรจีน

ผลการรักษา :

หลังจากการรักษาด้วยการฝังเข็มและรับประทานยาสมุนไพรจีน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมจำนวนครั้งการรักษา 25 ครั้ง

หลังจากการรักษาครั้งที่ 1-5 อาการอ่อนเพลียดีขึ้น สามารถลุกขึ้นมาทำกิจกรรมได้บ้าง อยากอาหารมากขึ้น ยังมีลมชัก 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ยังมีอาการเวียนศรีษะ

หลังจากการรักษาครั้งที่  6-10 อาการอ่อนเพลียดีขึ้น สามารถลุกขึ้นมาทำกิจกรรมได้ปกติ อยากอาหารมากขึ้น ยังมีลมชัก 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ยังมีอาการเวียนศรีษะเป็นบางครั้ง กรดไหลย้อนกำเริบ

หลังจากการรักษาครั้งที่ 11-15 อาการลมชัก 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอ่อนเพลียและเวียนศรีษะเป็นบางช่วง

หลังจากการรักษาครั้งที่ 16-20 อาการลมชัก 0-1 ครั้งต่อสัปดาห์ คนไข้ห่างการรักษาเป็นเดือน อาการกลับมาแย่ลง อ่อนเพลียไม่มีแรง

หลังจากการรักษาครั้งที่ 20-25 อาการลมชักไม่กำเริบมาสามเดือน อาการอ่อนเพลียและเวียนศรีษะดีขึ้น ทานข้าวได้ปกติ

ยังรักษาต่อเนื่อง

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน วทัญญู วิจิตรธงชัย(หมอจีน เฮย เจ๋อ วัง)
黑泽汪 中医师
TCM. Dr. Watanyu Wijitthongchai
แผนกฝังเข็ม

อ้างอิง

1.临床诊疗指南 癫痫病学分册 人民卫生出版社 พ.ศ.2549

2. การฝังเข็ม-รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้