ภาวะปากแห้งหลังการฉายรังสีและบทบาทวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  17525 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะปากแห้งหลังการฉายรังสีและบทบาทวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีน

ในผู้ป่วยมะเร็งนั้นผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปากและลำคอที่มักพบอยู่เป็นประจำคือภาวะปากแห้ง (post radiation xerostomia) และกลืนลำบาก การฉายแสงในบริเวณดังกล่าวส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย ท่อน้ำลาย เส้นประสาท เส้นเลือด เนื้อเยื่อและท่อทางเดินน้ำเหลืองต่างๆบริเวณนั้น ทำให้เกิดความผิดปกติในการผลิตน้ำลายขึ้น

กลไกการเกิดโรค
น้ำลายกว่า 90% ในช่องปากนั้นถูกผลิตจากต่อมน้ำลาย 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายบริเวณกกหู (Parotid gland) ต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรล่าง (Submaxillary gland) ต่อมน้ำลายบริเวณใต้ลิ้น (Sublingual gland) นอกจากนั้นอีก 10% ถูกผลิตโดยเซลล์ต่อมเล็กๆโดยรอบ เซลล์ต่อมน้ำลายเป็นเซลล์ที่มีความไวต่อการฉายแสงมากชนิดหนึ่ง โดยต่อมน้ำลายบริเวณกกหูจะมีการตอบสนองไวที่สุด รองลงมาก็จะเป็นต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรล่าง และสุดท้ายก็จะเป็นต่อมน้ำลายบริเวณใต้ลิ้น โดยการฉายรังสีเพียงปริมาณเล็กน้อยก็สามารถกดการทำงานของต่อมน้ำลายเหล่านี้ได้แล้ว โดยส่งผลยาวนานถึง 2-3 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ไปจนถึงส่งผลตลอดชีวิต การรักษาทำได้ด้วยความยากลำบาก

หลังจากฉายรังสีก็จะทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้ปริมาณและคุณภาพที่ลดลง การรักษาความสะอาดตามธรรมชาติของช่องปากก็จะลดน้อยลง ทำให้ง่ายต่อการเกิดโรคต่างๆในช่องปาก อาทิเช่น อาการปวดฟันเวลาเคี้ยว ช่องปากแห้ง กระหายน้ำอยู่เสมอ การรับรสสูญเสียไป กลืนแล้วเจ็บหรือกลืนลำบาก สุดท้ายก็อาจส่งผลถึงความสามารถในการทานอาหารและทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง คุณภาพชีวิตแย่ลงในที่สุด

อาการแสดง มีลักษณะดังนี้
1. ปากแห้ง น้ำลายน้อย
2. การรับรสผิดปกติ
3. การเคี้ยว การกลืนและการพูดยากลำบาก
4. มีการเจ็บปวดในช่องปากจากฟันผุ หรือการติดเชื้อในช่องปากต่างๆ

การรักษาภาวะปากแห้ง กลืนลำบากและเจ็บคอหลังฉายแสงด้วยการแพทย์แผนจีน
เนื่องด้วยการฉายรังสีรักษาเป็นวิทยาการสมัยใหม่ ดังนั้นในสมัยโบราณจึงไม่มีการบันทึกถึงภาวะปากแห้งจากการฉายรังสีเอาไว้ แต่หากมองจากการแสดงออกของภาวะปากแห้งและกลืนลำบากหลังฉายรังสี จะถูกจัดอยู่ในโรคเว่ยเร่อ“胃热” ซินหั่ว “心火” เซียวเข่อ“消渴”เหล่านี้เป็นต้น สาเหตุและกลไกการเกิดโรคเกิดจาก

1. พิษไฟจากการฉายแสง เผาทำลายเยื่อบุในช่องปาก : พิษไฟจากการฉายแสงมุ่งเข้าไปทำลายเยื่อบุในช่องปากโดยตรง เผาทำลายอินและสารน้ำภายใน ในขณะเดียวกันยังทำลายเจิ้งชี่ ทำให้เกิดภาวะชี่พร่อง อินพร่อง หรือชี่และอินพร่อง ไปจนถึงส่งผลกระทบทำลายชี่ของปอด กระเพาะอาหาร ม้ามและไต

2. ชักนำให้เกิดไฟภายใน : พิษไฟจากการฉายแสงนั้นสามารถชักนำให้เกิดไฟในหัวใจหรือตับร้อน ม้ามและกระเพาะอาหารร้อน

3. ทำลายชี่และอิน : อินของปอด กระเพาะอาหาร ตับ ไต ถูกทำลายทำให้ไม่สามารถสร้างสารน้ำขึ้นมาได้

ซึ่งโดยสรุปแล้วกลไกของโรคจะเกี่ยวข้องกับ “พิษไฟทำลายอิน เจิ้งชี่ของทั้งร่างกายถูกทำลาย รวมถึงชี่และอินของปอด ม้ามและไตถูกทำลาย”

การรักษาจะเน้นใช้การ “บำรุงและขับร้อน” เป็นหลัก โดยบำรุงชี่และอินเป็นตัวนำ ดับไฟในปอดและกระเพาะอาหารเป็นหลัก

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

1. ภาวะ/กลุ่มอาการชี่และอินพร่อง Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and yin (气阴两虚证 Qì yīn liǎng xū zhèng) : มักมีอาการปากแห้ง ลิ้นแห้ง ต้องดื่มน้ำเป็นประจำเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น จมูกและคอแห้ง ส่งผลกระทบต่อการพูดและความอยากอาหาร กลืนลำบาก ต้องดื่มอาหารเหลว อ่อนเพลีย หายใจสั้น ลิ้นสีแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็วหรือตึงเร็ว

2. ภาวะ/กลุ่มอาการเสมหะและความชื้นสะสม pattern / syndrome Phlegm-dampness (痰湿证 Tán shī zhèng) : มักมีอาการปากแห้ง ลิ้นแห้ง ต้องดื่มน้ำเป็นประจำเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น ปากจืดและเหนียว แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร จมูกมีสารคัดหลั่งออกมามาก หรือมีหนองไหลออกมา ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าเหลืองเหนียวหรือหนาเหนียว ชีพจรเร็วลื่น

3. ภาวะ/กลุ่มอาการเลือดร้อน pattern / syndrome Blood heat (血热证 Xuè rè zhèng) มีอาการปากแห้ง ลิ้นแห้ง ต้องดื่มน้ำเป็นประจำ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อนและใจกระวนกระวาย ลักษณะท่าทางลุกลี้ลุกลน สารคัดหลั่งที่ไหลออกมาทางจมูกมีเลือดปน เยื่อบุภายในช่องปากแดงกล่ำ ลิ้นแดงเข้มหรือมีรอยแตก เสมหะน้อยหรือไม่มีเสมหะ ชีพจรเล็กเร็วหรือตึงเร็


ตัวอย่าง กรณีศึกษา
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้ง กลืนลำบากและเจ็บคอหลังฉายรังสี ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน (กรุงเทพฯ)


ข้อมูลทั่วไป : นางมXXX XXX เพศหญิง อายุ61ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย : HN 325XXX

วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก : วันที่ 23 มิถุนายน 2563

อาการสำคัญ : กลืนลำบากและเจ็บคอ 2 อาทิตย์

ประวัติอาการ : 8 ปีก่อน ผู้ป่วยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษา หลังการผ่าตัดแพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรับเคมีบำบัด แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา หลังจากนั้นผ่านไป5 ปี ได้ตรวจพบการกระจายไปที่ปอดโดยรอบ และกระดูกช่วงกระดูกสันหลังช่วงบน ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฉายรังสี 10ครั้ง เป็นที่เรียบร้อย (ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563) เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด 2 ครั้ง จากทั้งหมด 5 ครั้ง โดยในวันนี้เป็นนัดการทำเคมีบำบัดครั้งที่ 3 แต่ผู้ป่วยรู้สึกร่างกายไม่สามารถรับไหว จึงปฏิเสธการทำเคมีบำบัดครั้งที่ 3 ระหว่างการรักษาด้วยการฉายแสงในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากและเจ็บคอ จึงมาปรึกษาเพื่อขอเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

อาการที่มาในปัจจุบัน : กลืนลำบาก เจ็บคอทุกครั้งที่กลืนอาหาร ทานอาหารไม่ค่อยได้และเบื่ออาหาร เวลาดื่มน้ำจะสำลักน้ำ คลื่นไส้ ปากลิ้นและคอแห้งผาก ผิวแห้ง อ่อนเพลีย นอนหลับดี ขับถ่ายลำบาก(ณ วันนั้นไม่ถ่ายมาเป็นวันที่ 10 ทานยาถ่ายก็ไม่ได้ผล)

ประวัติในอดีต : ไม่มี

ตรวจร่างกาย : ความดันโลหิต 117/66 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 85 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 36.4องศาเซลเซียส น้ำหนัก ไม่ทราบ(นั่งรถเข็น)

ชีพจรเล็กและไม่มีแรง ลิ้นแดงอ่อนฝ้าเหลืองเหนียว

การวินิจฉัย : โรคเว่ยเร่อ 胃热 Wèi rè (หรือภาวะปากแห้งหลังการฉายรังสี post radiation xerostomia)

ภาวะ/กลุ่มอาการเสมหะและความชื้นสะสม  pattern / syndrome Phlegm-dampness (痰湿证 Tán shī zhèng)

วิธีการรักษา : บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ขับความชื้นและพิษร้อน เสริมอินและสารน้ำ โดยเลือกใช้ตำรับยาลิ่วจวินจึทางเพิ่มลดในการรักษา รับประทานหลังอาหารเช้า-เย็น

ผลการรักษา
ครั้งที่2 (วันที่ 4 กรกฎาคม 2563) :

- หลังรับประทานยา อาการเจ็บคอลดลง คลื่นไส้อาเจียนลดลง ปากลิ้นและคอแห้งดีขึ้น การรับรสดีขึ้น ความอยากอาหารมากขึ้น การกลืนยังทำได้ไม่ดี มีการสำลักน้ำเป็นบางครั้ง ผิวแห้ง นอนหลับดี การขับถ่ายยังคงลำบาก 5 วัน/ครั้ง ใช้การสวนทวารช่วย

- ชีพจรเล็กไม่มีแรงเล็กน้อย ลิ้นแดงเล็กน้อยฝ้าเหลืองเหนียว

ครั้งที่ 3 (วันที่ 12 กรกฎาคม 2563) 
- หลังรับประทานยา อาการเจ็บคอหายไป คลื่นไส้อาเจียนลดลง ปากลิ้นและคอแห้งดีขึ้น การรับรสดีขึ้น ความอยากอาหารมากขึ้น การกลืนดีขึ้นเล็กน้อย ไม่มีการสำลักน้ำ ผิวชุ่มชื้นขึ้น นอนหลับดี การขับถ่ายดีขึ้น 1-4วัน/ครั้ง ถ่ายไม่ค่อยคล่องและแข็ง แต่สามารถถ่ายได้เองไม่ต้องใช้การสวนทวารช่วย

- ชีพจรเล็กแรงดีขึ้นเล็กน้อย ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าเหลือง

ครั้งที่ 4 (วันที่ 18 กรกฎาคม 2563) 
-  หลังรับประทานยา ไม่มีอาการเจ็บคอ คลื่นไส้เล็กน้อย ปากลิ้นและคอแห้งดีขึ้น การรับรสดีขึ้น ความอยากอาหารดีขึ้นมาก การกลืนดีขึ้น ไม่มีการสำลักน้ำ ผิวชุ่มชื้นขึ้น นอนหลับดี การขับถ่ายดีขึ้น วันละครั้ง ถ่ายแข็ง ไม่ค่อยคล่อง แต่สามารถถ่ายได้เองไม่ต้องใช้การสวนทวารช่วย

-  ชีพจรเล็กมีแรงดี ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าเหลือง

ครั้งที่ 5 (วันที่ 25 กรกฎาคม 2563) 
- เนื่องจากผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงขึ้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จึงตัดสินใจเข้ารับเคมีบำบัดต่อเป็นครั้งที่ 3

- ปัจจุบันมีอาการปากขม การรับรสลดลง ผิวหนังบริเวณลำคอแห้ง คลื่นไส้เล็กน้อย การกลืนดีขึ้น ไม่มีการสำลักน้ำ ไม่มีอาการเจ็บคอ มีความอยากอาหารดีมาก นอนหลับดี การขับถ่ายดี วันเว้นวัน ถ่ายแข็ง ไม่ค่อยคล่อง แต่สามารถถ่ายได้เองไม่ต้องใช้การสวนทวารช่วย

-  ชีพจรเล็กมีแรงดี ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าเหลือง

ครั้งที่ 6 (วันที่ 1 สิงหาคม 2563) 
-  หลังรับประทานยา อาการปากขมหายไป การรับรสยังไม่ดีขึ้น ผิวหนังบริเวณลำคอแห้งดีขึ้น บางครั้งยังมีคลื่นไส้เล็กน้อย กระหายน้ำเล็กน้อย การกลืนดีขึ้น ไม่มีอาการสำลักน้ำ ไม่มีอาการเจ็บคอ มีความอยากอาหารดีมาก นอนหลับดี การขับถ่ายดี วันเว้นวัน ถ่ายแข็ง ไม่ค่อยคล่อง แต่สามารถถ่ายได้เองไม่ต้องใช้การสวนทวารช่วย

- ชีพจรเล็กมีแรงดี ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าขาว

สรุปผลการรักษา
จากเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาที่ส่งผลให้เกิดอาการปากแห้ง กลืนลำบากและเจ็บคอได้อย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อเนื่องให้การรับประทานอาหารทำได้สะดวกขึ้น ความอยากอาหารมากขึ้น และเรี่ยวแรงของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ จนสุดท้ายสามารถเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดต่อไปได้ จากที่ต้องหยุดพักเพราะสภาพร่างกายไม่สามารถรับไหว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้น มีกำลังใจในการรักษาโรคมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณช่วงกระดูกสันหลังส่วนบนทำให้อาจส่งผลกระทบต่อหลอดอาหารหรือต่อมน้ำลายบริเวณช่องปากได้ หลอดอาหารอาจเกิดการบวมอักเสบร่วมกับการที่ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อย ส่งผลต่อการกลืนของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยกลืนอาหารไม่ได้ ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียลง ประกอบกับมีการให้เคมีบำบัดร่วมด้วยในช่วงหลังจึงส่งผลให้ผู้ป่วยเบื่ออาหารมากยิ่งขึ้น ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

จากการวิเคราะห์สภาพร่างกายผู้ป่วยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มอาการเสมหะและความชื้นสะสม และผลจากการฉายรังสีรักษาก็ส่งผลให้มีพิษร้อนสะสมอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก สารอินและสารน้ำถูกเผาทำลายไป เกิดเป็นอาการปากแห้ง กลืนลำบาก เจ็บคอ ถ่ายแข็งและผิวแห้ง

การฉายรังสีรักษาและเคมีบำบัดยังส่งผลทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอลง ไม่สามารถสร้างชี่และเลือดออกมาหล่อเลี้ยงร่างกายได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเมื่อม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอลงก็จะทำให้การไหลเวียนของชี่ในกระเพาะอาหารผิดปกติ ย้อนขึ้นบน เกิดเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนขึ้น

การรักษาจึงเน้นใช้ตำรับยาที่มีฤทธิ์บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ร่วมกับขับความชื้น คือตำรับยาลิ่วจวินจึทาง โดยมีการเสริมตัวยาขับพิษร้อน เสริมอินและสารน้ำเข้าไปด้วย โดยผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ


จากประสบการณ์ของแพทย์จีนที่ทำการรักษานั้นพบว่า ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาที่ทำให้เกิดภาวะปากแห้ง กลืนลำบากและเจ็บคอนี้นั้น หากรักษาด้วยสมุนไพรจีนร่วมกันในช่วงก่อนและระหว่างฉายรังสีจะได้ผลการรักษาที่ดี สำหรับช่วงหลังฉายรังสีจะได้ผลดีเช่นกันหากไม่ทิ้งช่วงห่างเกิน 2 อาทิตย์หลังฉายรังสี และผลการรักษาจะด้อยลงไปเรื่อยๆหากเข้ารับการรักษาหลังจาก 2 อาทิตย์ไปแล้ว

ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมด้วยหากต้องมีการฉายรังสี เพื่อให้ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีเกิดขึ้นหรือตกค้างในร่างกายผู้ป่วยน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้


บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ (เฉิน จู เซิง)
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้