ปวดด้านข้างลำตัว การไหลเวียนของเส้นลมปราณถุงน้ำดีเกิดอุดตัน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  8393 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดด้านข้างลำตัว การไหลเวียนของเส้นลมปราณถุงน้ำดีเกิดอุดตัน

สรีระร่างกายด้านข้างลำตัว ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะมีเส้นลมปราณถุงน้ำดี 足少阳胆经 หรือ เส้น Zushaoyangdanjing : จู๋เส้าหยางต่านจิง พาดผ่าน



หน้าที่ของถุงน้ำดี ช่วยในการกักเก็บน้ำดีและหลั่งน้ำดีโดยทำงานร่วมกับตับด้านการตัดสินใจและความกล้าหาญ การไหลเวียนของเส้นลมปราณนี้เริ่มตั้งแต่หัวจรดเท้า หากมีการไหลเวียนไม่ดี หรือ มีการอุดตันจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น การอุดตันของเส้นลมปราณถุงน้ำดีส่วนบนของร่างกายมักจะทำให้ปวดศีรษะ เช่น โรคปวดหัวไมเกรน ปวดในระดับที่ปวดร้าวไปถึงเบ้าตา



หรือ บางคนมีอาการหูอื้อ มีเสียงในหู ปวดตึงคอบ่าไหล่ นอนหลับยาก ตื่นบ่อย ใจสั่น ตกใจง่าย จุกเสียดชายโครง หากการอุดตันของเส้นลมปราณถุงน้ำดีเกิดที่ส่วนล่าง มักพบอาการ ปวดตึงหน่วงสะโพก ปวดเข่าเวลายืด หรืองอ ปวดข้อเท้า เวลายืด หรือ ตึงเอ็นร้อยหวาย







 

สาเหตุของอาการปวด เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย โดยจัดหมวดหมู่กลุ่มอาการปวดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดเอว ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ อยู่ใน กลุ่มอาการปี้เจิ้ง 痹症  (Bi Zheng or Bi Syndrome) ซึ่งมีสาเหตุจะเกี่ยวกับ ลม ความเย็น ความชื้น เลือดคั่ง ชี่ และเลือดพร่อง มากระทำต่อเส้นลมปราณ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เกิดภาวะเลือดคั่งและชี่ติดขัด

กลไกคือ เมื่อไหลเวียนไม่สะดวกก็จะปวด ( 不通则痛) หรือ เลือดและชี่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณต่างๆของร่างกายได้ 不荣则痛 จนเกิดอาการปวด โดยโรค หรือ อาการที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นลมปราณถุงน้ำดีส่วนบนของร่างกายนั้น มีวิธีการรักษาทางการแพทย์แผนจีนมากมายหลายวิธี เช่น การนวดรักษาด้วยวิธีทุยหนา เป็นต้น



การกดจุดบนร่างกายบริเวณเส้นลมปราณถุงน้ำดีส่วนบน 

1. จุดซ่วยกู่ shuaigu  率谷 (GB8)  


2. จุดเฟิงฉือ 风池 fengchi (GB20) 


3. จุดเจียนจิ่ง 肩井 jianjing (GB21)


การกดจุดบนร่างกายบริเวณเส้นลมปราณถุงน้ำดีส่วนล่าง
1. จุดเฟิงซื่อ 风市 fengshi (GB31) 



2. จุดหยางหลิงฉวน  阳陵泉 yanglingquan  (GB34) 


3. จุดชิวสวี 丘墟 qiuxu (GB40) 



การส่งเสริมการรักษาเพิ่มเติมด้วยการฝังเข็ม ครอบแก้ว รมยา กวาซา รวมถึงการใช้ตำรับยาจีน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้นอีกด้วย


ในการป้องกัน แนะนำว่าต้องเลี่ยงอาหารฤทธิ์ร้อนเผ็ด สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดและความกังวล  เพิ่มการทานอาหารรสเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นและระบายลมปราณถุงน้ำดี หรือ เครื่องดื่ม  ผลไม้สดหรือผลไม้แห้ง ที่มีกลิ่นหอมช่วยผ่อนคลาย เช่น ชามะนาว ปลา ลูกพลับ เห็ดเข็มทอง พุทรา เป็นต้น



บทความโดย แพทย์จีน ชนาธิป ศิริดำรงค์ (หวง จวิน ลี่)  
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1490
คลินิกกระดูกและทุยหนา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้