การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีหลักการตรวจวินิจฉัยโรคแบบองค์รวม หมายถึง การนำข้อมูลจากทั้งตัวผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาร่วมพิจารณาหาสาเหตุของโรค โดยหลักการแบบองค์รวมของศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นจะพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้

Cr.Photo : geimian.com


1. ตรวจสอบอาการเจ็บป่วยทั้งภายในและภายนอก
       เมื่อมีภายในย่อมมีภายนอก หมายถึง ภายในร่างกายเกิดพยาธิสภาพ ย่อมจะแสดงออกมาให้เห็นทางภายนอก หรือรู้เฉพาะอาณาบริเวณเล็ก ๆ สามารถทราบทั้งระบบ


2. ตรวจสอบอาการเจ็บป่วยของมนุษย์กับธรรมชาติ
       ฤดูกาลและภูมิประเทศที่ต่างกันจะพบโรคเกิดบ่อยหรือความชุกของโรคต่างกัน หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนอย่างฉับพลัน และการระบาดของโรคล้วนมีอิทธิพลต่อมนุษย์

3. ตรวจสอบอาการเจ็บป่วยของมนุษย์กับสังคม
      มักเน้นปัจจัยการเกิดอาการเจ็บป่วยจากภาวะจิตใจ เช่น การแข่งขันที่รุนแรง มีภาวะกดดันจิตใจอย่างหนักหน่วง ล้วนส่งผลให้อัตราการเกิดโรคทางด้านจิตใจมีมากขึ้น



การแพทย์แผนจีนมีหลักการตรวจทุกด้านเพื่อหาสาเหตุของอาการโรค หมายถึง การตรวจพื้นฐาน 4 ประการ หรือ ซื่อเจิ่น (四诊) ซึ่งวิธีการตรวจโรคทั้งสี่นี้เป็นการหาข้อมูลในมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นการตรวจโรค 4 ด้าน ของแพทย์แผนจีนจึงไม่อาจทดแทนกันได้ เนื่องจากการตรวจโรคทั้ง 4 ด้าน จะส่งเสริมข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์

 อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละคนนั้น อาการแสดงออกอาจไม่พบจากการตรวจครบ 4 ด้าน ดังนั้น การแยกแยะการเจ็บป่วยจำเป็นต้องจับประเด็นอาการป่วยหลัก ๆ ให้ได้ก่อน

การตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีน

Cr.Photo : sohu.com



วิธีตรวจโรคทั้งสี่ ได้แก่

  • การมองดู (望诊)(ว่างเจิ่น)
  • การฟังและการดมกลิ่น (听诊和闻诊)(ทิงเจิ่นเหอเหวินเจิ่น)
  • การถาม (问诊)(เวิ่นเจิ่น)
  • การจับชีพจรและการคลำ (切诊和按诊)(เชี่ยเจิ่นเหออั๋นเจิ่น)

1.การมองดู (望诊)
การมองดู เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโดยการสังเกตความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกาย ได้แก่ "การดูเสิน" (神) การแสดงอารมณ์ทางใบหน้า การดูสีหน้า การดูลักษณะท่าทาง การดูลิ้น


Cr.Photo : epochtimes.com

และการดูสารคัดหลั่งต่าง ๆ จุดประสงค์ในการตรวจวินิจฉัยโดยการดูนั้น เพื่อประเมินพยาธิสภาพของอวัยวะภายในที่สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นความผิดปกติของร่างกายภายนอก ทำให้เข้าใจถึงสภาวะของโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   การดูใบหน้าและการดูลิ้นนั้น ทางการแพทย์แผนจีนถือว่าเป็นอวัยวะที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอวัยวะภายในมากที่สุ

2. การฟังเสียงและการดมกลิ่น (听诊和闻诊)
2.1 การฟังเสียง (听诊)

  • เสียงแหบ
  • การเปล่งเสียง
  • ลักษณะการพูด
  • เสียงหอบ
  • เสียงอาเจียน
  • เสียงสะอึก

          2.2 การดมกลิ่น (闻诊)

  • กลิ่นปาก ลักษณะบูดเปรี้ยว เกิดจากชี่ของม้ามพร่อง อาหารไม่ย่อย ลักษณะเหม็น เกิดจากมีความร้อนที่กระเพาะอาหาร
  •  กลิ่นในจมูก มีน้ำมูกข้นไหลไม่หยุด เกิดจากไซนัส (โพรงจมูก) อักเสบ
  • กลิ่นเหม็นจากลำตัว อาจเกิดจากแผลเน่าเปื่อยบนร่างกาย
  • อุจจาระ ลักษณะกลิ่นเหม็นมาก เกิดจากความร้อนภายใน และลักษณะกลิ่นคาว เกิดจากความเย็นภายใน


หมายเหตุ  ใช้การดูและการถามร่วมในการตรวจด้วยกลิ่นในห้องผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ได้มีแผลเปื่อยบนร่างกาย แต่ในห้องมีกลิ่นเหม็นเน่า แสดงถึงความรุนแรงของโรคที่หนัก  กลิ่นแอมโมเนียคล้ายกลิ่นปัสสาวะ พบในผู้ป่วยโรคไต มีอาการบวมในระยะสุดท้าย และกลิ่นแอปเปิ้ลเน่า พบในผู้ป่วยเบาหวานและมีอาการหนั

3. การถาม (问诊)

การถามประวัติทางการแพทย์จีนแต่โบราณ มีการจัดกลุ่มคำถามซึ่งควรถามผู้ป่วยหรือญาติไว้ 10 หัวข้อ ดังนี้

1. ร้อนและเย็น (หนาวและไข้)
2. เหงื่อ
3. ศีรษะและลำตัว 
4. ปัสสาวะและอุจจาระ
5. อาหารการกินและรสชาติ
6. ทรวงอก
7. การนอนหลับและการได้ยิน
8. ความกระหายน้ำ
9. ประวัติเกี่ยวกับการป่วย
10. สาเหตุแห่งการเจ็บป่วย


นอกจากนี้ ในสตรีจะสอบถามประวัติประจำเดือนร่วมด้วย และในเด็กจะสอบถามประวัติการออกผื่น เช่น สุกใส หรือหัด เป็นต้น การซักถามประวัติต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์จีนจะทำด้วยความสุภาพ นุ่มนวล และรอบคอบ ความไว้วางใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้แพทย์จีนรับรู้สภาวะของโรคได้อย่างถูกต้องชัดเจน

4. การตรวจชีพจร (脉诊)



Cr.Photo : zymfy.com


การตรวจชีพจร (พะแมะ) มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายพันปีในสาธารณรัฐประชาชนจีน แพทย์จีนใช้การตรวจชีพจรเป็นการวินิจฉัยโรค และใช้หลักการรักษาโรคโดยทดลองใช้กับมนุษย์ ตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน มีแพทย์จีนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ชื่อ "เปี่ยนเซฺวี่ย" (扁鹊) เชี่ยวชาญวิธีการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจชีพจร



Cr.Photo : 17yangsheng.cn



สมัยจักรพรรดิหวงตี้ (黄帝)


Cr.Photo : epochtimes.com


จักรพรรดิหวงตี้ ได้แต่งคัมภีร์เน่ย์จิง (内经)

Cr.Photo : epochtimes.com



คัมภีร์เน่ย์จิง (内经) ได้กล่าวถึง "ซานปู้จิ่วโฮ่ว" (三部九候) ว่า ซานปู้ (三部) หมายถึง ตำแหน่งการตรวจชีพจรของมือทั้งสองข้าง แต่ละข้างมีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งชุ่น (寸) ตำแหน่งกวน (关) และตำแหน่งฉื่อ (尺) แต่ละตำแหน่งใช้นิ้วกดด้วยแรงหนักเบา 3 แบบ คือ แบบลอย (浮 ฝู) แบบกลาง (中จง) และแบบจม (沉 เฉิน) รวมทั้งสามตำแหน่งจึงมี 9 แบบ เรียกว่า "ซานปู้จิ่วโฮ่ว"

 

สมัยราชวงศ์ฮั่น "จางจ้งจิ่ง" (张仲景) 



สมัยราชวงศ์ฮั่น "จางจ้งจิ่ง" ได้แต่งตำราวินิจฉัยโรค โดยได้สรุปเอาไว้ว่า การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ ต้องมี 4 วิธี
ประกอบด้วย การมอง (望 ว่าง) การถาม (问 เวิ่น) การดม-ฟัง (闻  เหวิน) การตรวจชีพจรและการคลำ (切诊 เชี่ยเจิ่น)

 



ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซีจิ้น หวางซูเหอ (王叔和) ได้แต่งคัมภีร์ม่ายจิง (脉经) โดยรวบรวมคัมภีร์สมัยก่อนราชวงศ์ฮั่น ได้แก่ คัมภีร์เน่ย์จิง (内经) และคัมภีร์หนานจิง (难经) แต่งโดยจางจ้งจิ่ง และฮัวถวอ (华佗) คัมภีร์ม่ายจิงนี้ ได้แบ่งชีพจรออกเป็น 24 แบบ ซึ่งเป็นคัมภีร์ล่าสุดที่ใช้ในการศึกษาการตรวจชีพจร คัมภีร์นี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก

 

สมัยราชวงศ์หมิง

Cr.Photo : sns.91ddcc.com


หลี่สือเจิน (李时珍) ได้แต่งคัมภีร์ผิงหูม่ายเสฺวีย (频湖脉学) โดยได้รวบรวมความโดดเด่นของ “ม่ายเสฺวีย (脉学) ตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์หมิง คัมภีร์นี้มาจากพื้นฐานของคัมภีร์ม่ายจิง ซึ่งมีชีพจร 24 แบบ และได้เพิ่มเติมขึ้นอีก 3 แบบ รวมเป็น 27 แบบ ซึ่งได้แต่งเป็นบทกลอนเพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำ 
ต่อมาแพทย์จีนหลี่ซื่อไฉ (李士材) ได้แต่งตำราเจินเจียเจิ้งเหยี่ยน (诊家正眼) เพิ่มเติมชีพจรแบบ “จี๋ม่าย (疾脉)” ขึ้นอีก 1 แบบ รวมเป็น 28 แบบ ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ม่ายจฺเหวียฮุ่ยเปี้ยน (脉诀汇) ซึ่งแต่งโดยหลี่เอี๋ยนกัง (李延罡) หลังจากนั้นมีแพทย์จีนอีกหลายท่านสนใจศึกษาการตรวจโรคด้วยการตรวจชีพจรเพื่อนำไปใช้วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ การตรวจชีพจรต้องผ่านการเรียนรู้และศึกษาขั้นพื้นฐานตามวิธีต่าง ๆ ต้องอาศัยประสาทสัมผัสที่ไวของนิ้ว และต้องฝึกปฏิบัติหาประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งต้องอาศัยการไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง

 

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการตรวจชีพจร


Cr.Photo : sohu.com

แพทย์จีนที่ทำการตรวจวินิจฉัยโรคโดยวิธีนี้ ต้องอาศัยสมาธิและจิตใจที่สงบนิ่ง กำหนดลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมออย่างเป็นธรรมชาติ  โดยนิ้วมือที่สัมผัสชีพจรของผู้ป่วยต้องมีจังหวะการกดเบาหนักและแรงที่ถูกต้อง การตรวจชีพจรจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยนั่งพักสักครู่ เพื่อให้จิตใจสงบก่อนและไม่มีสิ่งใดมารบกวน จึงจะส่งผลให้ตรวจพบชีพจรที่แท้จริงได้มากขึ้น  ในระหว่างการตรวจชีพจร ให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงในท่าที่สบาย ยื่นแขนออกมาในลักษณะหงายฝ่ามือขึ้น โดยวางแขนบนโต๊ะให้อยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งหัวใจ

ในการวินิจฉัยโรคแต่ละครั้ง ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 นาที เพื่อให้แพทย์จีนมีเวลาวินิจฉัยการเปลี่ยนแปลงของชีพจร ลักษณะชีพจรของคนปกติ คือ การหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง ชีพจรจะเต้น 4 - 5 ครั้ง หรือ 72 - 80 ครั้ง / นาที ตำแหน่งชีพจรจะอยู่ที่กึ่งกลาง ไม่ลอย ไม่จม ไม่ยาว ไม่สั้น จังหวะการเต้นสม่ำเสมอ ราบรื่น มีแรงสม่ำเสมอ ทั้งตำแหน่งชุ่น กวน ฉื่อ เมื่อใช้นิ้วกดจมลงหาชีพจรก็ยังมีชีพจรเต้นอยู่ 



การเปลี่ยนแปลงของชีพจรโดยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงในร่างกายและสิ่งแวดล้อม ชีพจรของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม อายุ เพศ ลักษณะภายนอก (อ้วนหรือผอม) ลักษณะการกินอยู่ และอารมณ์จิตใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันทั้งสิ้น เช่น เด็ก ๆ หายใจเข้าออกหนึ่งครั้งชีพจรจะเต้นถึง 7 ครั้ง หนุ่มสาวปกติการเต้นของชีพจรจะราบลื่นไม่ติดขัด ผู้สูงอายุชีพจรจะตึงและแข็ง ผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย ชีพจรจะอ่อนนุ่มเล็กเร็วกว่าปกติเล็กน้อย หญิงตั้งครรภ์ชีพจรจะลื่นและเร็ว คนอ้วนชีพจรจะจมเล็ก คนผอมชีพจรจะลอยใหญ่ คนสูงชีพจรจะยาว คนเตี้ยชีพจรจะสั้น การออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารและหลังดื่มแอลกอฮอลล์ ชีพจรจะลื่นเร็วมีแรง ความหิวจะทำให้ชีพจรอ่อนนุ่มไม่มีแรง คนที่นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมชีพจรจะอ่อนนุ่ม

เมื่อจิตใจอารมณ์เปลี่ยนแปลงชีพจรก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น ความโกรธ ส่งผลกระทบต่อตับ ชีพจรจะตึงเล็ก ความตกใจกลัวทำให้ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ระหว่างกลัว ตกใจ ดีใจ หรือ เสียใจ ตื่นเต้น เครียดมาก กังวล ทั้งหมดนี้ทำให้ชีพจรเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เมื่ออารมณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ชีพจรจะเต้นกลับคืนสู่ปกติ


Cr.Photo : aboluowang.com


ฤดูกาลทั้ง 4 ก็มีผลทำให้การเต้นของชีพจรเปลี่ยนแปลงไป เช่น ฤดูใบไม้ผลิทำให้ชีพจรตึง ฤดูร้อนชีพจรเต้นใหญ่ ฤดูใบไม้ร่วงชีพจรจะเต้นเบาเล็ก ฤดูหนาวชีพจรจะจมแน่น
ระหว่างกลางวันและกลางคืนจะมีการเปลี่ยนแปลง กลางวันชีพจรจะลอยและแรง
ส่วนกลางคืนชีพจรจะจมเล็กช้า

ส่วนมากคนที่อยู่เมืองหนาวมักชอบรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง การเต้นของชีพจรจะจม แกร่ง ถ้าคนอยู่เมืองร้อน อากาศจะร้อนอบอ้าว รูขุมขนจะขยายตัว ภายในและภายนอกกล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย การเต้นของชีพจรจะเร็วและอ่อนนุ่มกว่าเล็กน้อย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้