ประวัติการแพทย์จีนโดยสังเขป


Cr.Photo : lexandrarossacupuncture.com

การแพทย์จีนมีประวัติความเป็นมายาวนานหลายพันปี พัฒนาการของการแพทย์แผนจีนแบ่งตามยุคต่าง ๆ
ในประวัติศาสตร์จีนได้เป็น 7 ยุค ดังนี้

1. ยุคโบราณ 
เป็นยุคเริ่มต้นของการเกษตรกรรม เหตุการณ์ในยุคนี้ปรากฎอยู่ในตำนานและหลักฐานทางโบราณคดี
ซึ่งที่สำคัญ คือ

ฝูซี ประดิษฐ์เข็มหิน 9 เล่ม อายุ 4,000 - 5,500 ปี ซึ่งอาจใช้เพื่อการรักษาโดยวิธีฝังเข็ม
มีผู้เชื่อว่าฝูซีมีการริเริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรภาพขึ้นใช้ด้วย

เสินหนง เริ่มนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรค

จักรพรรดิหวงตี้ เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับแพทย์ในราชสำนัก ถกปัญหาวิชาความรู้ทางการแพทย์ วิธีรักษา
รวมทั้งการเขียนใบสั่งยาเพื่อร่างบันทึกเป็นตำราแพทย์

2. ยุคราชวงศ์เซี่ย ถึงยุคชุนชิว (2,100 - 476 ปี ก่อนคริสต์ศักราช)
ตามหลักฐานทางโบราณคดี คนจีนรู้จักทำเหล้าตั้งแต่กลางยุคหินใหม่ ในยุควัฒนธรรมหยางเสา (Yang Shao)(仰韶)
ราว 4,000 - 10,000 ปีมาแล้ว การรู้จักการทำเหล้ามีผลต่อการแพทย์ คือ การนำมาใช้ในการทำยา
โดยเฉพาะยาดองเหล้าต่างๆ ในยุคนี้เริ่มมีการทำยาต้มโดยมีการผลิตภาชนะสำหรับ
ต้มยา
ยาต้มเป็นจุดเด่นของการแพทย์แผนจีน เพราะมีประโยชน์สำคัญ 4 ประการ คือ

• สะดวกต่อการรับประทาน และทำให้ดูดซึมง่าย
• เพิ่มสรรพคุณ ลดพิษ และผลข้างเคียง
• สะดวกในการปรับขนาดตัวยาต่างๆ
• ทำให้การนำแร่ธาตุต่าง ๆ มาประกอบยาได้ง่ายขึ้น

การรู้จักทำยาต้มทำให้การแพทย์จีนพัฒนาแนวทางการใช้ยาผสมมาอย่างต่อเนื่อง
อิทธิพลของพ่อมดหมอผีเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ยุคนี้ ดังจะเห็นได้จากในยุคชุนชิว
พ่อมดหมอผีถูกจัดให้อยู่ในฝ่ายพิธีกรรม (Minister in Charge of Protocol)


Cr.Photo : kknews.cc

ในขณะที่แพทย์ขึ้นต่ออัครมหาเสนาบดี (Prime Minister) 
ในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty)(周代)
แพทย์หลวงในยุคนั้นแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ โภชนากร แพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์ และสัตวแพทย์ 

นอกจากนี้ ยังพบเอกสารโบราณชื่อ ซานไห่จิง (山海经 หรือ คู่มือภูเขาและแม่น้ำ)
ซึ่งเนื้อหาหลักเป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์ แต่ได้กล่าวถึงยาสมุนไพรไว้ราว 120 ชนิด
ทั้งจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ


Cr.Photo : 5011.net


3. ยุคก่อกำเนิดทฤษฎีการแพทย์จีนจากยุคจั้นกั๋ว (ยุครณรัฐ)
ถึงยุคสามก๊ก (475 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 265)
เป็นยุคเริ่มอารยธรรมสำคัญ ในยุคจั้นกั๋วมีการใช้วัว ควาย ปุ๋ย และอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก ในการทำเกษตรกรรม
มีการประดิษฐ์เครื่องวัดแผ่นดินไหว และที่สำคัญคือการทำกระดาษ เป็นยุคกำเนิดลัทธิขงจื่อ (Kong Zi)(孔子)
และลัทธิเต๋า (Dao Jiao)(道教) รวมทั้งเริ่มเส้นทางสายไหม

 
Cr.Photo : baike.baidu.com                                                                                                       http://3png.com

สำหรับอารยธรรมทางการแพทย์ พบตำราการแพทย์เขียนบนผ้าไหมและไม้ไผ่
จากสุสานหม่าหวางตุย (Ma Wangdui)(马王堆) แห่งราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีรายละเอียด คือ

ตำราบนผืนผ้าไหม มีถึง 10 เล่ม
• ห้าสิบสองโรคและตำรับยา
• ตำรารักษาสุขภาพ
• ตำรารักษาเบ็ดเตล็ด
• ภาพการบริหารลมหายใจ
• ตำราโรคทางสูติกรรม
• กุญแจช่วยย่อยและเสริมสุขภาพ
• ลักษณะชีพจรในผู้ป่วยหนัก
• การคลำชีพจร
• ตำราดั้งเดิมเรื่องการรมยาบนเส้นลมปราณ 12 เส้น บนแขนขา
• ตำราดั้งเดิมเรื่อง 12 เส้นลมปราณสำหรับรมยา

หนังสือบนซีกไม้ไผ่ มีจำนวนทั้งสิ้น 200 ชิ้น มีเนื้อหาประกอบด้วยตำรา 4 เล่ม
• สิบคำถาม
• ประสานอินหยาง
• ตำรายาต่าง ๆ และข้อห้ามใช้
• หลักการบริหารประเทศ

ตำรา 4 เล่มนี้ ประกอบด้วยตัวอักษร 4,000 ตัว
สรุปหลักการสำหรับสุขภาพและการรักษาโรค 4 ประการ

• ให้ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ 4 ฤดูกาล และหลักอินหยาง โดยมีสองสิ่งที่ตรงข้ามกันในธรรมชาติคือ
หญิงเป็นฝ่ายลบ และชายเป็นฝ่ายบวก

• ให้ความสำคัญกับอาหารและการรับประทานให้เป็นเวลา ควบคุมอารมณ์ทั้งความสนุกสนานความโกรธ
ความเศร้าเสียใจ และความสุข

• บริหารร่างกายโดยชี่กง

• 
ปรับและควบคุมกิจกรรมทางเพศ




ในยุคนี้มีคัมภีร์ทางการแพทย์ที่สำคัญ 3 เล่ม ได้แก่

1) คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง หรือ เน่ย์จิง

แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ซู่เวิ่น (素问)(Su Wen) หรือ Plain Questions หรือ คำถามง่าย ๆ
และ หลิงซู (灵枢)(Ling Shu) หรือ Miraculous Pivot หรือ "แกนมหัศจรรย์"




เชื่อว่าเป็นผลงานของปราชญ์หลายคนในยุคจั้นกั๋ว แต่ตั้งชื่อว่าเป็นคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิงตามประเพณี
และเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตำรา เนื้อหามีทั้งสิ้น 81 เรื่อง กล่าวถึง การเรียนวิชาแพทย์ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
หลักพื้นฐานเรื่องอิน-หยาง (阴阳)(Yin Yang) และธาตุทั้งห้า หรือ อู่สิง (五行)(Wu Xing) คือ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และน้ำ
ตลอดจนหลักธรรมชาติ 6 ประการ คือ การป้องกันและการรักษา สาเหตุและอาการของโรค ผลของฤดูกาล ผลของภูมิศาสตร์ 
ผลจากอุตุนิยม  การฝังเข็มและการรมยา




          คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง                                คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ภาคซู่เวิ่น

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงหลักการวินิจฉัยโรค 4 ประการ คือ การสังเกต การฟังและการดม การถาม
และการคลำและจับชีพจร ความสำเร็จของคัมภีร์เน่ย์จิง เกิดจากสาระสำคัญสรุปได้ คือ

• ทฤษฎีอินหยาง และธาตุทั้งห้า
• แนวคิดองค์รวม
• แนวคิดเรื่องอวัยวะ เส้นทางการทำงานของอวัยวะ และเส้นทางคู่ขนาน
ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิชาฝังเข็ม และรมยา
• แนวคิดเรื่องการป้องกันโรค
• การปฏิเสธสิ่งลี้ลับและหมอผี คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ภาคหลิงซู
กล่าวไว้ชัดเจนว่าโรคเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ และไม่มีเลยที่เกิดจากเทวดาหรือภูตผี



2) คัมภีร์เสินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง หรือ ตำราเภสัชวิทยาดั้งเดิมของเสินหนง มีอายุราว 1,780 ปี
ประกอบด้วยตำรา 3 เล่ม กล่าวถึง ตัวยา 365 ชนิด ได้แก่ พืช 252 ชนิด สัตว์ 67 ชนิด
และแร่ธาตุ 46 ชนิด มีการแบ่งยาออกเป็น 3 ระดับ ตามความปลอดภัย คือ

• ชั้นดี (Top grade) เป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้
• ชั้นปานกลาง (Middle grade) เป็นยาที่ไม่มีอันตรายหากใช้อย่างถูกต้อง
• ชั้นต่ำ (Low grade) เป็นยาที่อันตรายโดยเฉพาะหากรับประทานมากเกินไป

ตามคัมภีร์เสินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง ยังริเริ่มหลักทฤษฎียาจีนโดยแบ่งยาออกเป็น 4 จำพวก (ร้อน เย็น อุ่น และกลาง)
5 รส (เปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน และขม)
7 ผลลัพธ์ (ตัวยาเดี่ยว เสริมฤทธิ์กัน เสริมฤทธิ์ฝ่ายเดียว ถูกข่ม ลดทอนหรือกำจัดพิษ ลดทอนฤทธิ์ และให้ผลตรงข้าม)
หลักการรักษาอาการฝ่ายเย็นด้วยยาร้อน และรักษาอาการฝ่ายร้อนด้วยยาเย็น 

อย่างไรก็ตาม ในยุคราชวงศ์ฮั่น (汉代)(Han Dynasty) ลัทธิเต๋ามีอิทธิพลสูง ทำให้มีการมุ่งแสวงหายาอายุวัฒนะ
มากกว่าเรื่องการรักษาโรค ตัวยาที่ใช้ประกอบเป็นยาอายุวัฒนะจึงถูกจัดเป็นยาชั้นดี


          เสินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง                                            จางจ้งจิ่ง

3) ซางหานจ๋าปิ้งลุ่น หรือ ตำราไข้และโรคเบ็ดเตล็ด เขียนโดย จางจ้งจิ่ง (张仲景)(Zhang Zhongjing)


Cr.Photo : china.com.cn

ตอนปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 - 220) โดยรวบรวมความรู้ทางการแพทย์ในอดีตและประสบการณ์ของตนเอง แต่งตำรา 16 เล่ม
แยกโรคตามอาการ และอาการแสดง ที่สำคัญคือ เลิกเชื่อว่าเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรค และบรรยายวิธีการรักษา 8 วิธี
ได้แก่ การขับเหงื่อ การทำให้อาเจียน การระบาย การประสาน การให้ความอุ่น การลดความร้อน การบำรุง และการสลาย
ในยุคนี้มีแพทย์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่

3.1 เปี่ยนเชวี่ย (扁鹊)(Bian Que) หรือ ฉินเยฺวี่ยเหริน (秦越人)(Qin Yueren)


Cr.Photo :chinesekruiden.org

เป็นแพทย์ที่เขียนตำราแพทย์ไว้หลายเล่ม เป็นผู้ต่อต้านความเชื่อเรื่องหมอผีอย่างแข็งขัน
ซือหม่าเชียน (Si Maqian) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญในยุคราชวงศ์ฮั่นยกย่องว่า
เปี่ยนเชวี่ยเป็นหมอคนแรกที่เริ่มวิชาจับชีพจร เปี่ยนเชวี่ยได้รับฉายาว่าเป็น หมอเทวดา (Divine Doctor)

3.2 อีหยิ่น (伊尹)(Yi Yin) หรือ ฉางกง (仓公)(Cang Gong)
เป็นผู้บันทึกเรื่องชีพจรไว้ 20 ชนิด (ปัจจุบันรวมได้ 28 ชนิด)
เป็นผู้ริเริ่มการบันทึกประวัติคนไข้ เป็นผู้ต่อต้านเรื่องยาอายุวัฒนะอย่างแข็งขัน
และกล้ายอมรับความผิดพลาดในการวินิจฉัยและการรักษาโรคของตน


Cr.Photo :dili360.com

3.3 ฮัวถวอ (华佗)(Hua Tuo) เป็นแพทย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศัลยแพทย์ผู้บุกเบิก มีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก


Cr.Photo :sanguo.baike.com

เป็นคนที่ไม่สนใจยศตำแหน่ง มุ่งรักษาคนธรรมดาสามัญ ต่อมามีโอกาสรักษาโจโฉจนได้รับตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำตัวของโจโฉ
แต่ทนคิดถึงบ้านไม่ได้ จึงเดินทางกลับบ้าน และไม่ยอมเดินทางกลับมาตามคำสั่ง โจโฉจึงสั่งจับและให้ประหารชีวิต
ก่อนตาย ฮัวถวอมอบตำราให้ผู้คุม แต่ผู้คุมกลัวความผิดไม่กล้ารับไว้ ฮัวถวอจึงเผาตำราทิ้ง ทำให้ตำราของฮัวถวอสูญสิ้นไป
ฮัวถวอมีศิษย์เอก 3 คน แต่งตำราแพทย์ไว้ 2 เล่ม มีตำราอีกหลายเล่มที่ระบุว่าฮัวถวอเป็นผู้แต่ง


Cr.Photo : 70984.com

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแต่งโดยบุคคลอื่นแต่ใส่ชื่อฮัวถวอเป็นผู้เขียน เชื่อว่าฮัวถวอใช้ยา หมาฝู่ส่าน (麻沸散)(Ma Fu San)
เป็นยาระงับความรู้สึกชนิดรับประทานให้แก่คนไข้ก่อนผ่าตัด นอกจากนี้ ฮัวถวอยังสนใจเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล การบำรุงสุขภาพ
และการบริหารร่างกายโดยเลียนแบบท่าทางของสัตว์ 5 ชนิด คือ เสือ กวาง หมี ลิง และนก


Cr.Photo : lszj.com

ตามประวัติกล่าวว่า แม้ฮัวถวอจะมีอายุร้อยปี สุขภาพก็ยังดี และหวูผู่ (吴普)(Wu Pu) ศิษย์คนหนึ่งของฮัวถวอ
ซึ่งปฏิบัติตนโดยการบริหารร่างกายเลียนแบบสัตว์ 5 ชนิด เมื่อมีอายุถึง 90 ปี หู ตา และฟันก็ยังดี
ฮัวถวอมีความชำนาญเรื่องฝังเข็มและรมยา โดยพยายามใช้ยาน้อยชนิดและฝังเข็มน้อยจุด


Cr.Photo : ohu.com

        
                  เปี่ยนเชวี่ย                                            อีหยิ่น (ฉางกง)                                                  ฮัวถวอ

4. ยุคราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์หนานเป่ย์เฉา (ราชวงศ์ใต้กับเหนือ)
ราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง และยุคอู่ไต้ (ห้าราชวงศ์) (ค.ศ. 265-960)

เป็นยุคที่การแพทย์และเภสัชกรรมของจีนมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื่อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธ
ทั้งสามลัทธิศาสนาล้วนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่มีอิทธิพลต่อการแพทย์จีนแตกต่างกัน พุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่จีนตามเส้นทางสายไหม
ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นจนถึงราชวงศ์เหนือกับใต้ ราชวงศ์ถังเป็นยุคแรกที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุด มีการสร้างวัดวาอารามมากมาย
และมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน ประชาชนทั่วไปศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกัน ถือกันว่าเหลาจื่อศาสดาของลัทธิเต๋าซึ่งมีชื่อเดิมว่า หลี่ต้าน เป็นบรรพบุรุษเก่าแก่ของคนในตระกูลหรือแซ่หลี่
ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับกษัตริย์ราชวงศ์ถัง จึงทำให้ลัทธิเต๋าได้รับความศรัทธาเป็นพิเศษ และทำให้ความนิยมในเรื่องยาอายุวัฒนะ
และเรื่องคาถาอาคมแพร่หลายขึ้นด้วย หลังยุคจิ้นตะวันตก มีความนิยมนำโลหะหนักมาทำเป็นยาอายุวัฒนะกันมาก
แต่แทนที่จะทำให้อายุยืน กลับเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ในยุคนี้มีพัฒนาการทางการแพทย์จีนที่สำคัญ ดังนี้

1) การพัฒนาเรื่องการจับชีพจร ตำราที่สำคัญคือ ม่ายจิง (脉经) หรือ Pulse Classic หรือ ชีพจรคลาสสิค
แต่งโดย หวางซูเหอ (王叔和)(Wang Shuhe) แบ่งชีพจรไว้ 24 ชนิด ตามทฤษฎีการแพทย์จีนเชื่อว่า
หลังจากเลือดไหลผ่านปอดแล้วจะไปรวมศูนย์ที่ตำแหน่งชีพจรที่ข้อมือ โดยชีพจรที่ข้อมือซ้ายจะบ่งบอกภาวะของหัวใจ
ลำไส้เล็ก ตับ ถุงน้ำดี และไต ชีพจรที่ข้อมือขวาจะบ่งบอกภาวะของ ปอด ลำไส้ใหญ่ ม้าม กระเพาะอาหาร และไต


2) การพัฒนาเรื่องปัจจัยการเกิดโรคและอาการของโรค ในปี ค.ศ. 610
จักรพรรดิฉาวเหวียนฟาง (巢元方)(Chao Yuanfang)

มีพระราชโองการให้เขียนตำรา จูปิ้งเหวียนโฮ่วลุ่น (诸病源候论)
หรือ General Treatise on the Causes and Syndromes of Diseases หรือ ตำราทั่วไปเรื่องสาเหตุและอาการของโรค
เป็นหนังสือ 50 เล่ม แบ่งเป็น 67 บท 1,720 หัวข้อ เป็นตำราที่ไม่กล่าวถึงตำรับยาเลย
ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การบรรยายอาการของโรคเบาหวานว่า

“จะกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย บางครั้งเป็นแผลที่ผิวหนังง่าย
ผู้ป่วยมักชอบกินอาหารมันและหวาน ทำให้เกิดความร้อนภายใน”


บรรยายเรื่องโรคหิดและวิธีการรักษา โดยรู้ว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อหิด
และรู้ว่าพยาธิลำไส้เกิดจากการรับประทานเนื้อวัวและเนื้อปลาดิบ เป็นต้น

       
                  หวางซูเหอ                                               ฉาวเหวียนฟาง                                            ถาวหงจิ่ง

3) ความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาและการปรุงยา  มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

3.1 การปรับปรุงตำรายา มีการปรับปรุงตำรายาเสินหนงโดย "ถาวหงจิ่ง" (陶弘景)(Tao Hongjing) (ค.ศ. 452-536)


Cr.Photo : img.univs.cn
ถาวหงจิ่งได้ตรวจสอบตำรายาเสินหนง และเขียนขึ้นใหม่เป็นตำรา เปิ๋นเฉ่าจิงจี๋จู้ (本草经集注) หรือ Collective Notes to Classic of Materia Medica หรือ การรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับตำรายาคลาสสิค เป็นหนังสือ 7 เล่ม กล่าวถึงยาเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 365 ขนาน เพิ่มอีก 365 ขนาน รวมเป็น 730 ขนาน มีการจัดหมวดหมู่ยาใหม่ตามความแรงของสรรพคุณยา ริเริ่มหลัก “ยาต่างกลุ่มอาจใช้รักษาโรคเดียวกันได้” และกล่าวถึงวิธีการเก็บสมุนไพร เช่น ควรเก็บสมุนไพรช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิหรือปลายฤดูใบไม้ร่วง เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ดอก ผล กิ่ง และใบ จะโตเต็มที่และสุก


Cr.Photo : ugc.qpic.cn

ถาวหงจิ่งยังเขียนตำราไว้อีกหลายเล่ม ได้แก่ จูปิ้งทงเหย้าย่ง (诸病通药用) หรือ Effective Recipes หรือ ตำรับยาที่ได้ผล เปิ๋นเฉ่าจิงจี๋จู้ (本草经集注) หรือ Chinese Herbs in Verse หรือ ความเรียงเรื่องสมุนไพรจีน โจ่วโฮ่วไป่อีฟาง (肘后百一方) Supplement of a Hundred Formulae to Keep up Ones Sleeve หรือ ภาคผนวกของร้อยสูตรตำรับเพื่อเก็บไว้ในแขนเสื้อ เป้ย์จี๋โฮ่วฟาง (备急后方) หรือ Formulae for Keeping Good Health and Longevity หรือ สูตรตำรับเพื่อรักษาสุขภาพและทำให้อายุยืน อายุวัฒนะคลาสสิค (Classic of Longevity) และ วิธีเล่นแร่แปรธาตุ (Methods of Alchemy)  ถาวหงจิ่งเป็นนักปราชญ์ที่มีแนวคิดผสมผสานทั้งพุทธ ขงจื่อและเต๋า แต่เขาทำงานเพียงคนเดียวเท่านั้น  และตำราของถาวหงจิ่งยังมีความเชื่อในเรื่องยาอายุวัฒนะ นอกจากตำราของถาวหงจิ่งแล้ว ในยุคราชวงศ์ถังยังจัดทำตำรายาหลวงขึ้นเผยแพร่ทั่วประเทศ ชื่อ ซินซิวเปิ๋นเฉ่า (新修本草) หรือ The Newly Revised Compendium of Materia Medica (ค.ศ. 659) เป็นหนังสือ 54 เล่ม แบ่งเป็น 3 ภาค


Cr.Photo : a1.att.hudong.com

• ภาคแรก เรื่องตำรายา ว่าด้วยธรรมชาติ รส แหล่งกำเนิด วิธีเก็บและเตรียมยา และข้อบ่งใช้
• ภาคสอง เรื่องลักษณะยา ว่าด้วยลักษณะของยาแท้จากภาคต่าง ๆ ของประเทศ
• ภาคสาม เป็นรูปภาพคลาสสิคของยา

ซินซิวเปิ๋นเฉ่า นับเป็นตำรายาหลวงฉบับแรกของโลกที่เกี่ยวกับตัวยาสมุนไพร ก่อนตำรายานูเรมเบิร์ก (Nuremberg Pharmacopoeia) ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 1542 เป็นเวลาถึง 800 ปี ตำรายาฉบับนี้กล่าวถึงวัสดุอุดฟันซึ่งทำจากตะกั่ว เงิน และปรอท เป็นเวลาถึง 1,000 ปีก่อนที่เบลล์ (Bell) ทันตแพทย์ชาวอังกฤษจะคิดค้นโลหะผสมเงินและปรอทเพื่อใช้อุดฟัน นอกจากตำรา 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ได้แก่ การรวบรวมตำรับยาจากต่างประเทศ และการจัดทำตำรายา สืออู้เปิ๋นเฉ่า (食物本草) หรือ Compendium of Materia Medica for Dietaric Treatment หรือ ตำรายาฉบับย่อเพื่อโภชนบำบัด

3.2 การพัฒนาการรักษาเฉพาะโรค ได้แก่

• การรักษามาลาเรียด้วยสมุนไพรฮ่อมดง (常山)(Changshan หรือ Radix Dichroae)
• การรักษาโรคเหน็บชา (Beriberi) โดย เฉินฉางชี่ (陈藏器)(Chen Cangqi) พบว่าการกินข้าวขาวเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคเหน็บชา และ ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈)(Sun Simiao) พบว่าการกินข้าวกล้องช่วยรักษาโรคเหน็บชาได้
• การรักษาโรคคอพอกด้วยสาหร่ายทะเล (Marine Algae) สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล (Kelp) และต่อมธัยรอยด์จากสัตว์
• การรักษาโรคตามัวในที่มืด (Night Blindness) ด้วยตับสัตว์
• การรักษาวัณโรคด้วยรกสัตว์

3.3 การนำวิชาเล่นแร่แปรธาตุมาใช้ในการพัฒนาเภสัชเคมีภัณฑ์  เกิดจากความพยายามแสวงหายาอายุวัฒนะตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์ฉิน ทำให้มีการพัฒนาวิชาเล่นแร่แปรธาตุ ส่งผลให้มีการพัฒนาเภสัชเคมีภัณฑ์ในยุคเริ่มแรก

3.4 การพัฒนาการปรุงยา มีตำรา เหล่ย์กงเผ้าจื้อลุ่น (雷公炮炙论) หรือ Leis Treatise on Medicinal Preparation หรือ ตำราการปรุงยาของเหล่ย์ แนะนำการปรุงยา เพื่อเพิ่มสรรพคุณ ลดพิษและอาการข้างเคียง รวมทั้งการปรุงยาเพื่อให้ใช้ได้ง่าย และเก็บรักษาได้นาน

4) การพัฒนาเวชปฎิบัติ ในยุคราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถัง มีแนวโน้มการพัฒนาแพทย์ให้มีความชำนาญเฉพาะทางแขนงต่าง ๆ ดังนี้

4.1 ตำราเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีการรวบรวมและเขียนตำราชื่อ สือโฮ่วจิ้วจู๋ฟาง (时后救卒方) หรือ Emergency Formulae to Keep up Ones Sleeve หรือ ตำรายาฉุกเฉินสำหรับเก็บไว้ในแขนเสื้อ  โดยเก๋อหง (葛洪)(Ge Hong) ซึ่งนับเป็นตำราปฐมพยาบาลเล่มแรกของโลก ตั้งแต่เมื่อ 1,600 ปี มาแล้ว

4.2 ตำราฝังเข็มและรมยา มีตำราฝังเข็มและรมยาชื่อ เจินจิ่วเจี่ยอี่จิง (针灸甲乙 经) หรือ A-B Classic of Acupuncture and Moxibustion หรือตำรา เอ-บี คลาสสิค เขียนในยุคราชวงศ์ฉิน โดย หวงฝู่มี่ (皇甫谧)(Huang Fumi) (ค.ศ. 215–282) เป็นหนังสือ 12 เล่ม 128 บท  แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกเป็นทฤษฎีพื้นฐาน ภาคสองเป็นเวชปฏิบัติ นับเป็นตำราสำคัญของการแพทย์จีนในเรื่องฝังเข็มนับจากคัมภีร์เน่ย์จิง  ต่อมาในยุคราชวงศ์ฉินตะวันออก เปากู (鲍姑)(Bao Gu) ภรรยาของเก๋อหง เป็นแพทย์หญิงคนแรกของจีนที่ชำนาญเรื่องฝังเข็มและรมยา

4.3 ตำราเฉพาะเรื่องทางศัลยศาสตร์  มีตำราชื่อ หลิวเจวียนจื่อกุ่ยอี๋ฟาง (刘涓子鬼遗方) หรือ Liu Juanzi’s Remedies Left Over by Ghosts หรือ ตำราผีบอกของหลิวเจวียนจื่อ รวบรวมโดย ก้งชิ่งซวน (龚庆宣)(Gong Qingxuan) ในยุคราชวงศ์ฉี เป็นตำราเล่มแรกที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องทางศัลยศาสตร์ เป็นหนังสือ 10 เล่ม เกี่ยวกับการรักษาบาดแผล ฝี ผิวหนังอักเสบ การบาดเจ็บ และโรคผิวหนังต่าง ๆ มีตำรับการรักษา 140 ตำรับ ประกอบด้วยเรื่องการห้ามเลือด การระงับปวด ยาสมาน การบรรเทาพิษ และการระงับความรู้สึก

       
                      เก๋อหง                                                          หวงฝู่มี่

4.4 ตำราเฉพาะเรื่องการบาดเจ็บ มีตำราชื่อ เซียนโซ่วหลี่ซางซู่มี่ฟาง (仙授理伤续秘方) หรือ Secret Formulae to Treat Traumatic Injury Given by Celestials หรือ ตำรับลับจากเทวดาในการรักษาการบาดเจ็บ เขียนโดยนักพรตเต๋าชื่อ ลิ่นเต้าเหริน (蔺道人)(Lin Daoren) (ค.ศ. 790-850) เป็นตำรารักษาการบาดเจ็บเล่มแรก กล่าวถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกหักทั้งชนิดมีแผลปิดและเปิดมีการแนะนำให้ใช้ฝิ่นช่วยระงับความรู้สึกเจ็บปวดในขณะดึงจัดกระดูกให้เข้าที่

4.5 ตำราเฉพาะเรื่องทางสูติศาสตร์ มีตำราชื่อ จิงเสี้ยวฉ่านเป่า (经效产宝) หรือ Tested Prescriptions in Obstetrics หรือ ตำรับที่ทดสอบแล้วทางสูติศาสตร์ (ค.ศ. 852) เขียนโดย จ่านยิน (昝殷)(Zan Yin) ในคำนำของตำราบรรยายไว้ว่า ในปีต้าจง (大中)(Dazhong) ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 847  อัครมหาเสนาบดี (PrimeMinister) ไป๋หมินจง (Bai Minzhong) ตระหนักถึงปัญหาการคลอดยากที่พบมากขึ้น จึงส่งคนออกไปตระเวนหาแพทย์ที่ชำนาญทางสูติกรรม ได้พบกับจ่านยิน จึงนำตัวไปให้อัครมหา-เสนาบดีสัมภาษณ์ด้วยตนเอง จ่านยินตอบคำสัมภาษณ์โดยรวบรวมเป็นตำราให้ 3 เล่ม อัครมหาเสนาบดีไป๋พอใจว่าเป็นตำราที่สั้นกระชับดี จึงตั้งชื่อหนังสือให้  ตำรานี้ประกอบด้วยเนื้อหา 52 บท 317 ตำรับ

• เล่มแรก เป็นตำรารักษาภาวะขาดประจำเดือน ตกขาวและความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์
• เล่มสอง ว่าด้วยความผิดปกติในการคลอด
• เล่มสาม ว่าด้วยความผิดปกติหลังคลอด

4.6 ตำราเฉพาะเรื่องกุมารเวชศาสตร์  มีตำราชื่อ หลูซฺยงจิง (颅匈经) หรือ Manual of the Fontanel and Head หรือ คู่มือกระหม่อมและศีรษะ  เป็นตำราที่ไม่ทราบชื่อผู้เขียน  นับเป็นตำรากุมารเวชศาสตร์เล่มแรกในยุคราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เป็นหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เป็นเรื่องชีพจรผิดปกติลักษณะต่าง ๆ ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก  เล่มสอง อธิบายสาเหตุและการรักษา

5) ระบบการศึกษาและการบริหารการแพทย์  ในยุคนี้มีพัฒนาการที่สำคัญ คือค.ศ. 581 ในยุคราชวงศ์สุย มีการก่อตั้ง ไท่อีเวี่ยน (太医院)(Imperial Medical Institute หรือ สถาบันแพทย์หลวง) ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนก คือ แผนกยา การนวด และเวทมนต์ (Incantation) ค.ศ. 618 ในยุคราชวงศ์ถัง กิจการแพทย์หลวงซึ่งเดิมจำกัดขอบเขตงานอยู่เฉพาะในวังหลวง ได้ขยายออกไปทั่วประเทศ มีการเริ่มกิจการโรงเรียนแพทย์ เพิ่มระยะเวลาการฝึกอบรมเป็นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น

• อายุรแพทย์ทั้งระบบ เน้นโรคภายใน (内科)(Internal Medicine) ใช้เวลา 7 ปี
• อายุรแพทย์ภายนอก (外科)(External Medicine) ใช้เวลา 5 ปี- กุมารแพทย์ ใช้เวลา 5 ปี
• แพทย์รักษาโรคตา หู คอ จมูก ใช้เวลา 2 ปี

มีระบบการสอบประจำเดือน ประจำภาค และประจำปี สอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  มีกรรมการจากภายนอกมาร่วมในการสอบไล่ประจำปี ผู้เข้าเรียนแพทย์มักเป็นบุตรหลานข้าราชการ ส่วนที่เรียนเภสัชศาสตร์มักเป็นบุตรหลานชาวบ้าน การศึกษาการแพทย์ของจีนในยุคนี้มีความเป็นระบบมากกว่าระบบของโรงเรียนแพทย์สมัยแรกในอีกสองศตวรรษต่อมาของยุโรป เช่น ที่ซาเลอร์โน ประเทศอิตาลี (ค.ศ. 846) ในยุคราชวงศ์ถัง มีแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ

5.1 ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈)(Sun Simiao) (ค.ศ. 581-682) ขณะมีอายุ 71 ปี (ค.ศ. 652) ได้แต่งตำรา เชียนจินเอี้ยวฟาง (千金要方) หรือ Thousand Ducat Formulae หรือ ตำรับยาพันเหรียญทอง เป็นหนังสือ 30 เล่ม ต่อมายังแต่งต่ออีก 30 เล่ม ชื่อ ตำรา เชียนจินอี้ฟาง (千金翼方) หรือ Supplement to the Thousand Ducat Formulae หรือ ภาคผนวกตำรับยาพันเหรียญทอง นักประวัติศาสตร์การแพทย์ เรียกตำราชุดนี้ว่า “สารานุกรมชุดแรกว่าด้วยเวชปฏิบัติในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของจีน (The First Encyclopedia of Clinical Medicine in the History of Traditional Chinese Medicine)”   ตำราชุดนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ ดังนี้- กล่าวถึงตัวยาถึง 4,000 ชนิดในฉบับเดิม และอีก 2,000 ชนิดในภาคผนวก- ให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก- ให้ความสำคัญกับโภชนบำบัด  มุ่งเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ  โดยให้ “ทำงานเบา ๆ เป็นประจำ อย่าหักโหมทำงานหนักเกินกำลัง”  ให้ความเอาใจใส่กับตำรับยาพื้นบ้าน  ส่งเสริมการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ  ซุนซือเหมี่ยวได้รับยกย่องเป็น “เภสัชยราชา (Medicine King)”

5.2 หวางถาว (王焘)(Wang Tao) (ค.ศ. 670-755) ได้รวบรวมตำราจากแพทย์ราว 70 คน มาเขียนใหม่ ใช้เวลา 10 ปี เสร็จใน ค.ศ. 752 คือตำรา ไว่ไถมี่เอี้ยวฟาง (外台秘要方) หรือ Arcane Essentials from Imperial Library หรือ ตำราสาระลี้ลับจากห้องสมุดราชสำนัก  เป็นหนังสือ 40 เล่ม 450 หัวข้อ 1,104 เรื่อง ยา 6,700 ตำรับ การรมยา 7 ชนิด ใน 19 เรื่อง จุดฝังเข็ม 663 จุด ใน 19 เรื่อง  และเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเรื่องการชิมปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน   

          
                  ซุนซือเหมี่ยว                                              หวางถาว                                              ไว่ไถมี่เอี้ยวฟาง

   
                        เฉียนอี่                                         เสี่ยวเอ๋อร์เหย้าเจิ้งจื๋อจฺเหวีย

5.5 ศัลยศาสตร์และวิทยาการบาดเจ็บ หรือ ซางเคอเสฺวีย (伤科学)(Traumatology)  มีตำราชื่อ ไว่เคอจิงเอี้ยว (外科精要) หรือ Essentials of External Diseases หรือ ตำราเรื่องสำคัญเกี่ยวกับโรคภายนอก (ค.ศ. 1263)  เขียนโดย เฉินจื้อหมิง (陈自明)(Chen Ziming)  และมีการบันทึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งเป็นครั้งแรกในตำรา เว่ย์จี้เป่าซู (卫济宝书) หรือ Treasured Book for Health Care หรือ ตำราขุมทรัพย์เพื่อการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ มีการรักษากระดูกสันหลังหักโดยการแขวนถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เดวิส (Davis) จะกล่าวถึงวิธีการจัดให้เข้าที่โดยการแขวน (Reduction by Suspension) เป็นเวลาถึง 600 ปี และมีการใช้เฝือกไม้ 4 ชิ้น เพื่อรักษากระดูกหัก

5.6 การพัฒนาด้านนิติเวชศาสตร์ มีตำรานิติเวชศาสตร์ชื่อ สี่วานจี๋ลู่ (洗冤集绿) หรือ Records of Washing Away the Injustice หรือ บันทึกการขจัดความอยุติธรรม เขียนโดย ซ่งฉือ (宋慈)(Song Ci) (ค.ศ. 1186-1249) เป็นหนังสือ 4 เล่ม ดังนี้

• เล่มแรก เป็นเรื่องพื้นฐานนิติเวช การผ่าศพพิสูจน์ และการวิเคราะห์เหตุการณ์ของการบาดเจ็บ
• เล่มสอง แยกแยะสาเหตุของการมีบาดแผลและการตาย ว่าบาดแผลเกิดก่อนหรือหลังตาย เป็นการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม
• เล่มสาม  ว่าด้วยยาพิษ ทั้งจากสัตว์หรือแร่ธาตุ ที่ใช้ฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม
• เล่มสี่  ว่าด้วยวิธีแก้พิษ และภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ

6. ยุคพัฒนาการแพทย์และเวชปฏิบัติแผนใหม่ ช่วงยุคราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ก่อนสงครามฝิ่น (ค.ศ. 1368-1840)

เหตุการณ์ในยุคนี้ที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการแพทย์ของจีน ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1371-1435 ขันที เจิ้งเหอ (郑和)(Zheng He) หรือ ซันเป่ากง (三宝公)(San Bao Gong) ได้ออกเดินทางท่องทะเลไปตลอดทะเลจีนใต้ถึงอินเดียและกว่า 30 ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้ประเทศจีนได้แลกเปลี่ยนวิทยาการและการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการปิดกั้นควบคุมบรรดาปัญญาชน โดยในราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ มีการสอบถึง 8 ภาค และมีความพยายามปิดกั้นขัดขวางกระแสทุนนิยมโดยการใช้นโยบายปิดประเทศด้วย พัฒนาการด้านต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่สำคัญในยุคนี้ มีดังนี้

1) การพัฒนาตำราการแพทย์และเภสัชตำรับ ได้แก่

ตำรายา เปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草纲目) หรือ Compendium of Materia Medica (ค.ศ. 1578) เขียนโดย หลี่สือเจิน (李时珍)(Li Shizhen) (ค.ศ. 1518-1593) โดยใช้เวลากว่า 30 ปี ศึกษาตำรากว่า 800 เล่ม เขียนตำรานี้เสร็จเมื่อมีอายุได้ 60 ปี  และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1596 เป็นหนังสือรวม 52 เล่ม กล่าวถึงสมุนไพร 1,892 ชนิด โดย 374 ชนิดเป็นรายการใหม่เพิ่มจากตำราเดิม มีภาพประกอบกว่า 1,160 ภาพ  เป็นตำรับยากว่า 11,000 ตำรับ  และตำรับยากว่า 8,160 ตำรับ เขียนจากประสบการณ์ของเขาเอง  มีการจัดหมวดหมู่ของสมุนไพรใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย  ทั้งนี้ ดาร์วิน (Davin) ได้อ้างอิงข้อมูลเรื่องปลาทอง (Golden Fish) และไก่ดำ (Blackbone Chicken) จากตำราชุดนี้ด้วย ดาร์วินเรียกตำรานี้ว่า สารานุกรมจีนโบราณ (Encyclopedia of Ancient China)

     
                     หลี่สือเจิน                                                  เปิ๋นเฉ่ากังมู่

ต่อมา จ้าวเสวียหมิ่น (赵学敏)(Zhao Xuemin) (ค.ศ. 1716-1805) ได้เขียนตำรา เปิ๋นเฉ่ากังมู่สืออี๋ (本草纲目拾遗) หรือ An Addendum to the Compendium of Materia Medica หรือภาคผนวกของตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ของหลี่สือเจิน โดยใช้เวลาราว 40 ปี ทบทวนตำรากว่า 600 เล่ม

• ตำรา จื๋ออู้หมิงสือถูเข่า (植物名实图考) หรือ Illustrated Investigation of Names and Natures of Plants หรือ หนังสือภาพการสืบค้นชื่อและธรรมชาติของพืช  เขียนโดย หวูฉีจุ้น (吴其浚)(Wu Qijun) (ค.ศ. 1789-1847) ซึ่งเป็นข้าราชสำนักตำแหน่งสูง และมีโอกาสเดินทางไปหลายมณฑลกว่าครึ่งประเทศ เช่น ส่านซี (陕西) หูเป่ย์ (湖北) หูหนาน (湖南) เจียงซี (江西) ซีจั้ง (西藏) ฝูเจี้ยน (福建) ยฺหวินหนาน (云南) และกุ้ยโจว (贵州) เป็นต้น  เขาสนใจศึกษาสมุนไพรของท้องถิ่นต่าง ๆ และศึกษาตำรากว่า 800 เล่ม ซึ่งในครั้งแรกได้รวบรวมพืชกว่า 780 ชนิด ต่อมาปรับปรุงใหม่เป็นหนังสือถึง 38 เล่ม กล่าวถึงพืช 1,714 ชนิด

• ตำรา ผู่จี้ฟาง (普济方) หรือ Prescription for Curing All People หรือ ตำรับยาเพื่อรักษาทุกคน (ค.ศ. 1406) เป็นหนังสือ 168 เล่ม แบ่งเป็นกว่า 100 หัวข้อ 2,175 หัวข้อย่อย ตำรับยากว่า 61,000 ตำรับ รวมตัวอักษรราว 10 ล้านอักษร

• หนังสือ อีฟางเข่า (医方考) หรือ Verification of Formulae หรือ หนังสือการทดสอบตำรับยา (ค.ศ. 1584) เขียนโดย หวูคุน (吴琨)(Wu Kun) (ค.ศ. 1551-1602) เป็นหนังสือ 6 เล่ม 72 หัวข้อ  เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมาก ต้องพิมพ์ซ้ำประมาณ 10 ครั้ง


• หนังสือ อีฟางจี๋เจี่ย (医方集解) หรือ Collection of Formulae and Notes หรือ หนังสือรวบรวมสูตรตำรับและบันทึก  เขียนโดย วางหม่าว (汪昴)(Wang Mao) แบ่งเป็น 21 หัวข้อ 300 ตำรับ


• ตำราเกี่ยวกับไข้ หลายเล่ม ได้แก่ ตำรา ซางหานลุ่น (伤寒论) หรือ Treatise of Febrile Diseases หรือ ตำราโรคไข้ ตำรา ซือเร่อเถียวเปี้ยน (湿热条辨) หรือ Systematic Differentiation of Damp Heat Syndromes หรือ ตำราการแยกกลุ่มอาการร้อนชื้นอย่างเป็นระบบตำรา เวินปิ้งเถียวเปี้ยน (温病条辨) Systematic Differentiation of Febrile Diseases หรือ ตำราแยกโรคไข้อย่างเป็นระบบ และ ตำราโรคระบาดฉบับย่อ (Compendium on Epidemic Febrile Diseases)

2) การพัฒนาทฤษฎีโรคระบาด และการปลูกฝี
ในยุคราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง เกิดโรคระบาดขึ้นหลายครั้ง  มีโรคระบาดเกิดขึ้นราว 64 ครั้ง ในช่วง 276 ปีของยุคราชวงศ์หมิง และ 74 ครั้ง ในช่วง 266 ปีของยุคราชวงศ์ชิง จึงมีการพัฒนาตำราที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด คือตำรา เวินอี่ลุ่น (温疫论) หรือ Treatise of Pestilence หรือ ตำราโรคไข้ระบาด เขียนโดย หวูโหย่วซิ่ง (吴有性)(Wu Youxing) เป็นหนังสือ 2 เล่ม วางทฤษฎีพื้นฐานเรื่องโรคระบาด ในคำนำบรรยายสาเหตุของโรคระบาดว่า โรคระบาดมิได้เกิดจากลม ความเย็น ความร้อน หรือความชื้น แต่เกิดจากเหตุผิดปกติของดินฟ้าอากาศเป็นพิษจากการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล (ตำราการแพทย์จีนดั้งเดิม เชื่อว่าโรคเกิดจากเหตุธรรมชาติ 6 ประการ ได้แก่ ลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความแห้ง และไฟ) นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเชื้อโรคระบาดเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก หวูโหย่วซิ่งยังสังเกตเห็นว่า โรคระบาดเกิดในคนและสัตว์ ไม่เหมือนกัน “วัวป่วยในขณะที่เป็ดไม่ป่วย และคนป่วยในขณะที่สัตว์ไม่ป่วย”

สำหรับการบุกเบิกเรื่องการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ มีผู้บันทึกว่าคนจีนในอำเภอไท่ผิง (太平)(Taiping) มณฑลหนิงกั๋วฝู่ (Ningguofu) ซึ่งปัจจุบันคือ มณฑลอันฮุย (安徽)(Anhui) รู้จักวิธีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาตั้งแต่รัชสมัยหลงชิง (隆庆)(Long Qing) แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1567-1572)

ในยุคราชวงศ์ชิง มีหนังสือที่กล่าวถึงตำนานที่มาของการป้องกันไข้ทรพิษในประเทศจีน 2 เล่ม คือ หนังสือ ตำราอ้างอิงใหม่เกี่ยวกับการปลูกฝีในมนุษย์ (New Text About Human Variolation) (ค.ศ. 1884) แต่งโดย หวูหรงหลุน (武荣纶)(Wu Rong Lun) และตงยฺวี่ซาน (董玉)(Dong Yushan) บันทึกไว้ว่า “จากการสืบค้นหนังสือเก่า ๆ พบศัพท์ทางการแพทย์เกี่ยวกับการปลูกฝีในคน ใน ช่วงสมัยถังไค่เยฺวียน (Tang Kaiyuan) จ้าวสือ (Zhao Shi) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำแยงซี ได้ใช้วิธีพ่นผงแห้งหรือที่ทำให้ชุ่มของสะเก็ดแผลไข้ทรพิษ เข้าไปในเยื่อบุจมูกของเด็กที่ปกติ”

หนังสือเล่มดังกล่าวได้กล่าวถึงการปลูกฝีในจีนว่า เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 713-741 หนังสืออีกเล่มคือ ตำราไข้ทรพิษ (Treatise on Pox) (ค.ศ. 1713) เขียนโดย จูชุนเซี่ย (Zhu Chunxia) แพทย์ราชสำนักแห่งสถาบันแพทย์หลวง กล่าวไว้ว่า การปลูกฝีเริ่มต้นมาจาก หมอเทวดา (Divine Doctor) แห่งภูเขาเอ๋อร์เหมย (娥眉)(Emei) ตั้งแต่รัชสมัยซ่งเจินจง (宋真宗)(Song Zhenzong) (ค.ศ. 1023-1063) ตำนานมิได้กล่าวถึงวิธีการปลูกฝี แต่เล่าว่า หวางต้าน (王旦)(Wang Dan) อัครมหาเสนาบดีของราชสำนักซ่งเจินจง ได้นำวิธีจากหมอเทวดามาปลูกฝีให้กับลูกของตนเอง หลังจากลูกหลายคนของเขาต้องตายไป เพราะไข้ทรพิษ ตำนานทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ จึงไม่ใคร่ได้รับความเชื่อถือวิธีการปลูกฝีของจีนเผยแพร่ไปใช้ในญี่ปุ่น ค.ศ. 1652 และเข้าสู่รัสเซีย ค.ศ. 1688

3) การพัฒนาเวชปฏิบัติ
ในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการพัฒนาเวชปฏิบัติแขนงต่าง ๆ ทั้งอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ วิทยาการบาดเจ็บ สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ จักษุวิทยา ทันตกรรม ลาริงซ์วิทยา และวิทยาการฝังเข็ม  มีตำราแพทย์หลายชุดเขียนขึ้นในยุคนี้ เช่น

• ตำรา อิ้วอิ้วจี๋เฉิง (幼幼集成) หรือ A Complete Work on Pediatrics หรือ ตำรากุมารเวชศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ (ค.ศ. 1750) เขียนโดย เฉินฟู่เจิ้ง (陈复正)(Chen Fuzheng) โดยเขียนจากประสบการณ์ราว 40 ปี อธิบายลักษณะหลอดเลือดดำที่นิ้วชี้ให้สมบูรณ์ขึ้น เน้นการรักษาด้วยยาภายนอกมากกว่ายาภายใน

• ตำราเป่าอิงชัวเอี้ยว (保婴撮要) หรือ Synopsis of Caring for Infants หรือ ตำราดูแลทารกฉบับย่อ เขียนโดยสองพ่อลูก เซฺวียไข่ (薛铠)(Xue Kai) และ เซฺวียจี่ (薛己)(Xue Ji) เป็นหนังสือ 20 เล่มกล่าวถึงโรคต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของเด็กกว่า 700 เรื่อง มีเรื่องวิธีการป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด โดยการจี้สายสะดือที่ตัดออกด้วยความร้อน

4) การรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิม
มีการรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคัมภีร์เน่ย์จิง (Classic of Internal Medicine) และตำราซางหานลุ่น (Treatise on Febrile Disease) โดยทำให้กระชับและชัดเจนขึ้น จนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ในยุคต้นราชวงศ์ชิง ตำราแพทย์ต่าง ๆ ตำราดั้งเดิมกว่า 120 เล่ม ได้รับการจัดหมวดหมู่ เพื่อ ให้อ้างอิงได้สะดวก  จัดทำเป็นหนังสือรวม 520 เล่ม  เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่บันทึกทางการแพทย์สมัยดั้งเดิม การวินิจฉัยโรค การรักษา ทฤษฎีพื้นฐานของโรคแขนงต่าง ๆ การประกอบโรคศิลปะ บันทึกเหตุการณ์และประวัติแพทย์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งทฤษฎีและวิธีการปรุงตำรับยา ตำราสำคัญจากการรวบรวมและชำระตำราแพทย์ดั้งเดิม คือ ตำรา อีจงจินเจี้ยน (医宗金鉴) หรือ ตำราการแพทย์ฉบับราชสำนัก (ค.ศ. 1739) รวบรวมและชำระโดยแพทย์ราชสำนักแห่งราชวงศ์ชิง  มี หวูเชียน (吴谦)(Wu Qian) เป็นหัวหน้าคณะ จัดทำเป็นหนังสือ 90 เล่ม หลังการสถาปนารัฐจีนใหม่ใน ค.ศ. 1949 สถาบันแพทย์ราชสำนัก (The Institute of the Imperial Physicians) จัดให้ตำราชุดนี้เป็นตำราอ้างอิงของนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมบันทึกเวชปฏิบัติของแพทย์ เช่น

• หนังสือ กู่จินอีถ่ง (古今医统) หรือ A Great Collection of Medical Works, Ancient and Modern หรือ หนังสือรวบรวมผลงานทางการแพทย์ครั้งใหญ่ทั้งโบราณและปัจจุบัน (ค.ศ. 1556) รวบรวมโดย สวีชุนฝู่ (徐春甫 Xu Chunfu)

• หนังสือ เจิ้งจื้อจุ่นจฺเหวีย (证治准绝) หรือ Standard of Diagnosis and Treatment (ค.ศ. 1602) โดยหวางเขิ่นถัง (王肯堂)(Wang Ken Tang)

• หนังสือ จิ่งเยวี่ยฉวนซู (景岳全书) หรือ Complete Works of Zhang Jingyue หรือ หนังสือผลงานฉบับสมบูรณ์ของจางจิ่งเยวี่ย (ค.ศ. 1624) โดย จางเจี้ยปิน (张介宾)(Zhang Jiebin) เป็นหนังสือ 64 เล่ม รวมกว่า 1 ล้านตัวอักษร

• หนังสือ หมิงอีเล่ย์อั้น (名医类案) หรือ Classified Medical Records of Famous Physicians หรือ หนังสือเรียบเรียงการบันทึกทางการแพทย์อย่างเป็นระบบของแพทย์ผู้มีชื่อเสียง (ค.ศ. 1549) รวบรวมโดย เจียงกวน (江瓘)(Jiang Guan)  โดยใช้เวลาทำงานกว่า 20 ปี รวบรวมบันทึกและเขียนคำวิจารณ์ แต่ทำได้เพียง 12 เล่ม ก็เสียชีวิต เจียงยิ่งซู (Jiang Yingsu) ผู้เป็นบุตรใช้เวลาทำงานสืบทอดต่อมาอีก 19 ปี จึงเสร็จ และตีพิมพ์เผยแพร่ได้ใน ค.ศ. 1591 หนังสือนี้ได้รับความนิยมและตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

• หนังสือ ซู่หมิงอีเล่ย์อั้น (续名医类案) หรือ Supplements to the Classified Medical Records of Famous Physicians หรือ ภาคผนวกหนังสือเรียบเรียงการบันทึกทางการแพทย์อย่างเป็นระบบของแพทย์ผู้มีชื่อเสียง (ค.ศ. 1770) และหนังสือ คำอภิปรายเรื่องเวชปฏิบัติในหลิวโจว (柳州医话) หรือ  Discussion of Medical Practice in Liu Zhou รวบรวมโดย เว่ย์จือซิ่ว (魏之绣)(Wei Zhixiu)

                 
         หวูโหย่วซิ่ง (หวูอิ้วเข่อ)                                            จางจิ่งเยวี่ย                                             หวางเขิ่นถัง

5) การแลกเปลี่ยนทางการแพทย์กับต่างประเทศ ในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ของจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี โดยส่วนใหญ่ญี่ปุ่นและเกาหลีรับถ่ายทอดวิทยาการจากจีน ขณะเดียวกันวิทยาการทางการแพทย์ของตะวันตกได้เผยแพร่เข้าสู่จีนทั้งวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา เภสัชวิทยา และอื่น ๆ แต่มีอิทธิพลต่อการแพทย์จีนไม่มากในขณะที่การแพทย์จีนเริ่มเผยแพร่เข้าสู่ยุโรปโดยผ่านทางคณะมิชชันนารี เช่น

• มิเชล บอย์ม (Michel Boym) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ พรรณไม้จีน (Chinese Flora) (ค.ศ. 1643) เป็นภาษาละตินโดยเนื้อหาส่วนใหญ่ได้มาจากตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草纲目) หรือ Compendium of Materia Medica ของหลี่สือเจิน

• อาร์ พี แฮร์ริว (R.P. Harrieu) ตีพิมพ์หนังสือ ความลับของการแพทย์จีนดั้งเดิม (Secret Classic of Traditional Chinese Medicine) (ค.ศ. 1671)

• พูมิเกอร์ (Pumiger) แปลหนังสือ อีหมิงเหอจงกั๋วม่ายหลี่ (医明和中国脉理) หรือ Medical Guide and Traditional Chinese Medicine Pulse Theory หรือ คู่มือทางการแพทย์และทฤษฎีชีพจรการแพทย์จีน  เป็นภาษาละติน ใน ค.ศ. 1680  และพิมพ์เผยแพร่ในประเทศเยอรมนี


• เคลอเยอร์ (Cleryer) รวมงานแปลของพูมิเกอร์เรื่องชีพจรของจีน การตรวจลิ้น สมุนไพรจีน 289 ชนิด และภาพเส้นชีพจร 68 ภาพ  ตีพิมพ์หนังสือ ตัวอย่างการบำบัดโรคของจีน (中国医法齐例)(Examples of Chinese Medical Therapies) เป็นภาษาละติน ใน ค.ศ. 1682 ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนีในศตวรรษที่ 17 แพทย์ชาวตะวันตกเริ่มนำวิชาฝังเข็มและรมยาไปใช้ กล่าวคือ ค.ศ. 1671 มีการตีพิมพ์ตำรารมยาออกมา 2 เล่ม ในประเทศเยอรมนี เล่มหนึ่งเขียนโดย เกลฟูซุส (Geilfusius) อีกเล่มหนึ่งเขียนโดย บูสชอฟ (Busschof)

• เซอร์จอห์น ฟลอเยอร์ (Sir John Floyer) แพทย์ชาวอังกฤษเขียนรูปแบบการจับชีพจรของแพทย์ (Form of Doctor’s Feeling the Pulse)

• เจ เอ เกห์มา (J.A. Gehma) ตีพิมพ์หนังสือ การประยุกต์วิธีรมยาของจีนในการรักษาอาการปวดข้อจากโรคเก๊าท์ (应用中国灸术治疗痛)
(Application of Chinese Moxibustion to Treat Migratory Arthralgia) (ค.ศ. 1683) โดยพิมพ์ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนี

7. ยุคการแพทย์สมัยใหม่ จากสงครามฝิ่น การสถาปนาจีนใหม่ จนถึงปัจจุบัน (现代)(Modern Age) (ค.ศ. 1840–ปัจจุบัน)

1) การยอมรับการแพทย์ตะวันตก

ประวัติศาสตร์จีนในช่วงยุคนี้ การแพทย์ตะวันตกมีผลกระทบอย่างมากต่อการแพทย์จีน เริ่มต้นจากการเกิดสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับชาติตะวันตก 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกทำสงครามกับประเทศอังกฤษ (ค.ศ. 1840-1842) และครั้งที่สองทำสงครามกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส (ค.ศ. 1856-1860) ก่อนสงครามฝิ่น การแพทย์ตะวันตกในประเทศจีนถูกปิดกั้น มีการตั้งสถานพยาบาลการแพทย์ตะวันตกบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น โธมัส อาร์ คอลเลดจ์ (Thomas R.Colledge) แพทย์ของบริษัท บริติชอิสต์อินเดีย เริ่มตั้งโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งแรกที่เมืองมาเก๊า (Macau) และใน ค.ศ. 1834 ปีเตอร์ ปาร์เกอร์ (Peter Parker) (ค.ศ. 1804-1888) แพทย์บาทหลวงชาวอเมริกันถูกส่งไป ที่เมืองกวางเจาและจัดตั้งโรงพยาบาลตา แต่หลังสงครามฝิ่น จีนตกอยู่ในฐานะกึ่งเมืองขึ้น มีการตั้งโรงพยาบาลมิชชันนารีเป็นจำนวนมาก ระหว่าง ค.ศ. 1828-1949  มีโรงพยาบาลมิชชันนารีมากถึง 340 แห่ง

เคทเบอรี โจนส์ (Katebury Jones) เขียนถึงบทบาทของโรงพยาบาลเหล่านี้ไว้ในหนังสือ บนคมมีดผ่าตัด (On the Edge of the Operating Knife)
(ค.ศ. 1935) ตีพิมพ์ที่นครเซี่ยงไฮ้ (上海)(ซ่างไห่) ว่า
“สำหรับนายแพทย์ปีเตอร์ ปาร์เกอร์แล้ว มีดผ่าตัดของเขาทำหน้าที่ฟันบานประตูจีนให้เปิดออก ขณะที่กระสุนปืนของตะวันตกพังทลายไม่ได้”

สมาคมแพทย์นักสอนศาสนาอเมริกัน (American Medical Preaching Association) ตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกแห่งแรกขึ้นที่เมืองกวางเจา ใน ค.ศ. 1866 ชาวจีนเองก็ได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกขึ้นที่เทียนสิน เมื่อ ค.ศ. 1881 และตั้งโรงเรียนแพทย์ตะวันตกขึ้นในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในค.ศ. 1903 ซึ่งต่อมาได้แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแพทย์ปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ. 1906 หลัง “สัญญาสันติภาพ” (ค.ศ. 1901) ระหว่างจีนกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส
มีการตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนแพทย์เสียเหออีเสวียถาง (协和医学堂)(Union Medical School หรือ โรงเรียนแพทย์ยูเนียน ค.ศ. 1903)
ที่ปักกิ่ง (北京 เป่ย์จิง) โรงเรียนแพทย์ฉีหลู (Qilu ค.ศ. 1904) ที่จี้หนาน (济南)(Jinan) โรงเรียนต้าถง (大同)(Datong)(ค.ศ. 1908) ที่ฮั่นโข่ว (Hankou) 
โรงเรียนแพทย์ถงจี้ (同济医院)(ค.ศ. 1908) ที่นครเซี่ยงไฮ้  โรงเรียนแพทย์ยูเนียน (ค.ศ. 1911) ที่เมืองฝู่โจว (福州)(Fuzhou) และโรงเรียนแพทย์เซียงหยา (Xiangya)(ค.ศ. 1914) ที่เมืองฉางซา (Changsha)  รวมแล้วมีโรงเรียนแพทย์ตะวันตกของคณะมิชชันนารีกว่า 20 แห่ง  

หลังการปฏิวัติประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911 มีโรงเรียนแพทย์ทั้งของรัฐและเอกชนตั้งขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ  นอกจากนี้ นักศึกษาจำนวนมากเดินทางไปศึกษาการแพทย์ในต่างประเทศ ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป และมีการแปลตำราแพทย์ตะวันตกจำนวนมากเป็นภาษาจีนในยุคดังกล่าว มีการต่อสู้กันระหว่างการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก และผลที่สุดการแพทย์จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แพทย์จีนหลายคนมีความพยายามผสมผสานการแพทย์ทั้งสองแผนเข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากทฤษฎีพื้นฐานแตกต่างกัน จึงผสมผสานกันไม่ได้

2) ความพยายามล้มเลิกการแพทย์จีน
หลังจากการแพทย์ตะวันตกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋ง มีความคิดและความพยายามล้มเลิกการแพทย์จีน ดังนี้

ค.ศ. 1914 หวางต้าเซีย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ยกเลิกการแพทย์จีน และให้ใช้การแพทย์ตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ค.ศ. 1925 สมาคมสหศึกษาแห่งประเทศจีน เสนอต่อรัฐบาลให้นำการแพทย์จีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ตะวันตก แต่ถูกปฎิเสธ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929  ในที่ประชุม “คณะกรรมการกลางสาธารณสุข” นายแพทย์เวี่ย วินซิ่ว ซึ่งศึกษาวิชาแพทย์จากญี่ปุ่นและกลับมาจีน  ใน ค.ศ. 1914 เสนอให้ยกเลิกการรักษาโรค โดยแพทย์จีน ด้วยเหตุผล คือ

• ทฤษฎีแพทย์จีน ล้วนแล้วแต่เป็นทฤษฎีเพ้อฝัน
• การวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการแมะหรือจับชีพจรไม่เป็นจริง เป็นการหลอกลวงประชาชน
• การแพทย์จีนไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้
• พยาธิวิทยาของการแพทย์จีนไม่เป็นวิทยาศาสตร์

นายแพทย์เวี่ยวินซิ่ว เสนอขั้นตอนการยกเลิกการแพทย์จีนไว้ ดังนี้

• ขึ้นทะเบียนแพทย์จีนที่มีอยู่ทุกคน ภายในปี ค.ศ. 1930
• จัดอบรมแก่แพทย์จีน มีกำหนด 5 ปี จนถึง ค.ศ. 1930 แล้วมอบประกาศนียบัตรให้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับใบประกาศนียบัตร ให้หมดสิทธิ์ในการประกอบโรคศิลปะ
• แพทย์จีนที่มีอายุเกิน 50 ปี และได้ใบประกอบโรคศิลปะในประเทศมาแล้ว เกิน 20 ปี ให้ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการอบรม แต่จำกัดมิให้รักษาโรคติดต่อ ไม่มีสิทธิ์เขียนใบมรณบัตร และใบประกอบโรคศิลปะดังกล่าวให้มีอายุต่อไปอีก 15 ปี นับแต่ ค.ศ. 1929ห้ามแพทย์จีนโฆษณาประชาสัมพันธ์ และห้ามแนะนำการแพทย์จีนทางหนังสือพิมพ์
• ห้ามนำเสนอข่าวในวารสาร ห้ามการโฆษณาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
• ห้ามตั้งสถาบันการแพทย์จีน

หลังจากมติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของที่ประชุม ได้เกิดการต่อต้านจากวงการแพทย์และเภสัชกรรมแผนจีนอย่างกว้างขวาง กลุ่มสมาคมต่าง ๆ 132 กลุ่ม จาก 15 มณฑล ได้ส่งตัวแทนไปชุมนุมกันที่นครเซี่ยงไฮ้ กลุ่มผู้ต่อต้านได้ชูคำขวัญ “เรียกร้องการแพทย์จีน เพื่อป้องกันการรุกรานทางวัฒนธรรม เรียกร้องแพทย์และเภสัชกรจีน เพื่อป้องกันการรุกรานทางเศรษฐกิจ”  มีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกมติดังกล่าว แพทย์และเภสัชกรแผนจีนในนครเซี่ยงไฮ้นัดกันหยุดงานครึ่งวันเป็นการประท้วง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมการค้าแห่งประเทศจีน สมาคมสินค้าแห่งประเทศจีน สำนักพิมพ์ข่าวการแพทย์ และชาวจีนโพ้นทะเลในแถบอุษาคเนย์ได้ส่งโทรเลขสนับสนุนการคัดค้านครั้งนี้ด้วย การรณรงค์คัดค้านดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1929  แพทย์จีนจึงถือวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันแพทย์จีน ผลของการคัดค้านอย่างกว้างขวางทำให้มติดังกล่าวไม่ได้นำไปปฏิบัติ แต่ก็มีการดำเนินการบางประการ ได้แก่

• กระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่ง ให้เรียกโรงเรียนการแพทย์จีนเป็นเพียงสถานให้การศึกษา
• กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลแพทย์จีนเป็นสถานพยาบาล และห้ามแพทย์จีนทำงานร่วมกับฝ่ายการแพทย์แผนปัจจุบัน
• ค.ศ. 1932 รัฐบาลมีคำสั่งห้ามสอนการแพทย์จีนในระบบโรงเรียน

ผลที่ตามมาทำให้โรงเรียนแพทย์จีนลดจำนวนลงมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในมณฑลกวางตุ้ง จากเดิมมีโรงเรียนแพทย์จีนอยู่มากกว่า 20 แห่ง คงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวใน ค.ศ. 1947 แพทย์จีนซึ่งประมาณว่ามีอยู่ราว 5 แสนคน แต่เพราะการสอบที่เข้มงวด ทำให้ส่วนน้อยเท่านั้นที่สอบผ่านและได้รับใบประกอบโรคศิลปะ เช่น
ในนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่าง ค.ศ. 1927-1935 มีผู้สอบได้เพียง 6,000 คน เท่านั้น การแพทย์จีนในประเทศจีนจึงเสื่อมสลายลงตามลำดับ

3) การฟื้นฟูการแพทย์จีนหลังการสถาปนาจีนใหม่
ระหว่างสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 28 ปี เนื่องจากเขตที่ฝ่ายคอมมูนิสต์ครอบครองอยู่ ถูกปิดล้อมจากทุกด้าน การแพทย์ในเขตนี้จึงต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากการแพทย์จีน และได้มีการผสมผสานการแพทย์ตะวันตกมาโดยต่อเนื่องหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949
รัฐบาลจีนใหม่มีนโยบาย “สังคายนาการแพทย์จีน” ทั่วประเทศ

ต่อมา ค.ศ. 1956 ได้จัดตั้งสถาบันสอนการแพทย์จีนใน 4 เมืองใหญ่ คือ นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองนานกิง และเมืองเฉิงตู
และขยายเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลมีนโยบายกระจายบริการสาธารณสุขไปทั่วประเทศ
ด้วยการสร้าง “หมอเท้าเปล่า” ขึ้น

มีการเสนอคำขวัญ “หญ้าหนึ่งกำ เข็มหนึ่งเล่ม สามารถรักษาโรคได้” การผลิตแพทย์ด้วยนโยบายซ้ายจัด ทำให้เกิดแนวคิด
“การรวมแพทย์ทั้งสองแผนเข้าด้วยกัน” เพื่อผลิตแพทย์แผนใหม่ให้รู้ทั้งการแพทย์ตะวันตกและการแพทย์จีน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
เพราะทำให้ได้แพทย์ที่ไม่มีความรู้ลุ่มลึกพอทั้งสองแผน

เมื่อเข้าสู่ยุค “สี่ทันสมัย” (ค.ศ. 1980) มีนโยบายทบทวนการพัฒนาการแพทย์ในประเทศจีน
ตั้งเป้าหมายใหม่ให้มี  “การคงอยู่ร่วมกันของการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก
และการผสมผสานระหว่างการแพทย์จีนกับการแพทย์ตะวันตก โดยมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาพร้อม ๆ กัน”


ปัจจุบันการแพทย์จีนมีการพัฒนาที่ครบวงจร ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน การให้บริการในโรงพยาบาล และการพัฒนายา
โดยการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตกมีการยอมรับซึ่งกันและกัน และได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐบาลและประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้