Last updated: 26 พ.ย. 2567 | 116 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกาเกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้
การติดต่อจากสัตว์สู่คน
ฝีดาษลิง ติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ปรุงสุก โดยในทวีปแอฟริกาพบโรคฝีดาษลิงในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู และลิงบางชนิด แหล่งโรคตามธรรมชาติยังไม่ชัดเจนแต่มีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่จะเป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ
การติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
ฝีดาษลิงติดต่อจากมนุษย์จากการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ บาดแผล หรือสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส การติดเชื้อผ่านละอองฝอยมักต้องใช้เวลาในการสัมผัสตัวต่อตัว จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกผ่านทางรกหรือระหว่างคลอด
อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคฝีดาษลิงมักมีระยะเพาะเชื้อ 7-14 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการ โดยอาการของโรคแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะแรก (0-5 วัน) จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตเป็นอาการที่แยกโรคฝีดาษลิงออกจากฝีดาษและสุกใสได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวมักไม่พบต่อมน้ำเหลืองโต
- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะผื่น (1-3 วันหลังจากมีไข้) ผื่นจะมีมากที่ใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว สามารถพบที่บริเวณมือ เท้า เยื่อบุในช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาวและกระจกตาได้ ลักษณะของผื่นจะเริ่มจากเป็นตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น กลายเป็นตุ่มน้ำใสรู้สึกคัน แสบร้อน และกลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้นตุ่มจะแห้งเป็นสะเก็ดและหลุดไป ในรายที่เป็นมากตุ่มอาจรวมกันเป็นขนาดใหญ่และหลุดลอกไปพร้อมผิวหนังได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์ อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย บางรายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
ในมุมมองแพทย์จีน
ลักษณะผื่นฝีดาษลิงเป็นลักษณะตุ่มน้ำใส ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง ในบันทึกได้ให้คำนิยามว่าเป็นผื่นที่เรียกว่า “痘”(โต้ว) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรค天花(ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ) พบบันทึกกล่าวถึงโรคนี้ย้อนหลังนานที่สุดคือสมัยราชวงศ์จิ้น ในคัมภีร์ 《โจ่วโฮ้วจิ้วจู๋ฟาง》 ของเก๋อหงได้ปรากฏคำว่า“虏疮”(หลู่ชวง)ขึ้น หลังจากนั้นก็มีการใช้คำที่แตกต่างกันไปเรื่อยมาจนถึงบันทึกสมัยหมิงชิงมีการใช้คำว่า“痘疹”(โต้วเจิ่น) กันเป็นส่วนมาก ในสมัยราชวงศ์ชิงคัมภีร์《อีจงจินเจี้ยน·โต้วเจิ่นซินฝ่าเย้าเจว๋》มีการอธิบายอาการของโรคว่า ในระยะแรกของโรคโต้วเจิ่น อาการของโรคคล้ายกับ伤寒(ไข้ไทฟอยด์) มีไข้ตัวร้อนเกิดขึ้นฉับพลัน ซึ่งมีอาการเหมือนกับระยะแรกของฝีดาษลิง มีไข้ หนาวสั่น โดยการรักษาโรคฝีดาษลิงจะใช้ตามวิธีการรักษาโต้วเจิ่น
สาเหตุ
อู๋โย่วเข่อบันทึกในคัมภีร์《เวินอี้ลุ่น》ได้เกิดทฤษฎีใหม่ว่า“戾气”ลี่ชี่ เน้นหนักว่าโรคระบาดและ伤寒(ไข้ไทฟอยด์)นั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง โรคระบาดไม่ได้เกิดจากลม ความเย็น ความร้อน หรือความชื้นเป็นสาเหตุ โรคนี้เมื่อเข้าร่างกายแล้วทำให้เกิดโรคและเกิดการระบาด
การรักษาแพทย์จีน
การรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการทางคลินิก โดยอิงจากการรักษา โต้วเจิ่น จากการปฏิบัติการทางคลินิกและการอภิปรายทางวิชาการ หลักการรักษาประกอบไปด้วย ยาฤทธิ์เย็นที่มีคุณสมบัติเย็น และยาฤทธิ์อุ่นที่มีคุณสมบัติบำรุง
ในระยะแรกของโรคฝีดาษลิง จะใช้กลุ่มยาฤทธิ์เย็นที่มีคุณสมบัติเย็น พอระยะต่อมา จะใช้กลุ่มยาบำรุงร่างกายเสริมอิน
แบ่งกลุ่มอาการได้ 3 ระยะ
1. ระยะไข้หรือก่อนออกผื่น - ปัจจัยเสียชี่กระทบชั้นเว่ย
วิธีการรักษา :ยารสเผ็ดฤทธิ์เย็นระบายร้อนขับชื้น
ตำรับยา :ตำรับยาอิ๋นเชี่ยวส่าน(银翘散)
2. ระยะผื่น – ปัจจัยเสียชี่กระทบชั้นอิ๋ง
วิธีการรักษา :ระบายร้อนขับพิษกระทุ้งผื่น
ตำรับยา :ตำรับยาเซิงหมาเก๋อเกินทัง(升麻葛根汤), ไฉหูส่านจือ(柴胡散子)
3. ระยะฟื้นตัว – แผลเปื่อย เจิ้งชี่อ่อนแอ
วิธีการรักษา :ประคับประคองเจิ้งชี่เสริมอินขับปัจจัยเสียชี่
ตำรับยา :ตำรับยาเซิงหมาเปียเจี่ยทัง(升麻鳖甲汤) , ชิงอิ๋งทัง(清营汤), ซีเจี่ยวตี้หวงทัง(犀角地黄汤)
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน สมเกียรติ พัดอินท (หมอจีน หวง จื่อ เวย)
黃紫薇 中医师
TCM. Dr. Somkiat Padint (Huang Zi Wei)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567