Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 5 จำนวนผู้เข้าชม |
ปวดเอว อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
อาการปวดหลังปวดเอวเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ในทุกช่วงวัยมีประสบการณ์กันมาแทบจะทุกคน อาการปวดนั้นเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่ลักษณะของอาการปวดอาจไม่ได้สะท้อนถึงต้นตอของปัญหาได้โดยตรง ปัญหาเหล่านั้นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำถึงจะบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ได้ ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นมองเรื่องการปวดหลังปวดเอวจัดอยู่ในกลุ่มโรค “ปี้เจิ้ง”(痹症) เกิดจากภาวะชี่ไหลเวียนติดขัด หรือมาจากการทำงานของตับไตบกพร่อง หรือเลือดและชี่ไหวเวียนติดขัดจากความเย็น และความชื้นมากระทบที่บริเวณหลัง ทำให้เกิดเป็นอาการปวดขึ้นมาได้ การรักษาของแพทย์แผนจีน จะใช้การนวด การฝังเข็ม และการทานยาจีนไปบำรุงตับไต บำรุงเลือดและชี่ ทะลวงชี่ สลายความเย็นและความชื้น เพื่อรักษาอาการเหล่านี้
ภาวะอาการปวดหลังปวดเอวเหล่านี้ เป็นสัญญานเตือนว่า
1. ร่างกายของเราอาจมีการทำงานของกล้ามเนื้อมากเกิดไป กล้ามเนื้อเอว กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขาที่แข็งเกร็ง มาจากการยืนการเดินหรือการนั่งเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อมีการแข็งเกร็ง ไม่มีความยืดหยุ่นที่ดีพอ
2. มีความเย็นมากระทบจากการที่นอน หรือนั่งในตำแหน่งที่มีลมจากเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดพัดลมมากระทบเป็นระยะเวลานาน ๆ
3. มีภาวะร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามินบางชนิด ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อทำงานได้ไม่ดีพอ เช่น การดื่มน้ำน้อย การนอนดึกบ่อย ๆ การกินแต่อาหารสำเร็จรูปเป็นประจำ
4. มีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ จะทำให้มีอาการปวดหลังปวดเอวได้ง่าย มักจะมีอาการในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน
5. มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังคดจากการยกของหนัก หรือกรรมพันธุ์ ในคนที่ต้องใช้แรงงานแบกหาม หรือ ทำงานหนักตั้งแต่เด็ก หรือเป็นมาตั้งแต่เกิดจะมีอาการปวดหลังปวดเอวได้ง่าย เวลานั่งนาน ๆ หรือเดินเยอะ ๆ มักจะมีอาการปวดหลัง
6. เป็นเนื้องอก หรือมีอาการอักเสบของอวัยวะภายใน เช่น เนื้องอกในมดลูก ลำไส้อักเสบ กระเพาะอาการอักเสบ กรดไหลย้อน โรคเหล่านี้ถ้ารักษาไม่หาย อาจมีอาการปวดหลังปวดเอวร่วมด้วยได้
7. ภาวะเท้าแบน หรือข้อเข่าเสื่อม บางคนที่มีปัญหาเหล่านี้จะส่งผลถึงการปวดหลังปวดเอวได้ถ้ามีอาการยืนหรือเดิน เป็นระยะเวลานาน ๆ เมื่อพัก หรือนอน อาการก็หายได้เอง
8. ถ้ามีอาการปวดหลังชาร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
อาการเหล่านี้บางทีถ้ารีบรักษาอาการก็จะหายได้ไว ถ้าปล่อยไว้นาน อาจจะมีปัญหาอย่างอื่นตามมาได้ เมื่อมีอาการปวดแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ตรงจุด โรคก็จะไม่ลุกลาม หรือไม่เป็นหนักกว่าเดิม การรักษาควบคู่กันทั้งแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบันต่างก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน จะช่วยให้เราหายจากโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจถึงโรคและอาการต่าง ๆ ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
อ้างอิง
อาการปวดหลัง (samitivejhospitals.com)
6 อาการปวดหลัง แบบไหนเสี่ยงโรค - โรงพยาบาลเวชธานี (vejthani.com)
___________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (หมอจีน กวน จิน ซุ่น)
关金顺 中医师
TCM. Dr. Bordin Korkawin (Guan Jin Shun)
แผนกทุยหนาและกระดูก
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาโคราช
23 พ.ค. 2568
23 พ.ค. 2568