Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 23 จำนวนผู้เข้าชม |
ฝนยิ่งตก....คนยิ่งเศร้า ในมุมมองแพทย์แผนจีน
ช่วงฤดูฝน หลายคนอาจรู้สึก หดหู่ อ่อนล้า ขี้เกียจ ไม่มีแรงจูงใจ ซึ่งอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของแสงแดดและบรรยากาศรอบตัว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder ,SAD) โดยเฉพาะในคนที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ในศาสตร์แพทย์แผนจีน อารมณ์และสุขภาพจิตใจไม่ได้แยกออกจากร่างกาย แต่เกี่ยวพันกับสมดุลของ ชี่ (气) และการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน ที่สภาพอากาศชื้น หนัก อึมครึม สามารถส่งผลกระทบต่อระบบพลังงานของร่างกายและจิตใจได้
มุมมองอารมณ์ซึมเศร้าในฤดูฝนตามแพทย์จีน เกิดจาก
1. ความชื้น
ฤดูฝนมีความชื้นสูง ความชื้นสะสมในร่างกายทำให้พลังชี่ติดขัด ไหลเวียนไม่สะดวก ในทางแพทย์จีนความชื้นส่งผลต่อ ม้าม ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างพลังงานและอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์วิตกกังวล เมื่อม้ามอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คิดมาก ฟุ้งซ่าน วิตกกังวลได้ง่ายมากกว่าปกติ
2. พลังม้ามอ่อนแอ
ม้ามเป็นศูนย์กลางของพลังงานในระบบทางเดินอาหาร การย่อยอาหารและเปลี่ยนสารอาหารเป็น ชี่ (气) และ เลือด (血) และมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ ถ้าม้ามอ่อนแอ (脾虚)สร้างชี่ได้น้อย ทำให้ ชี่ไม่พอขึ้นไปเลี้ยงหัวใจ(气不归心) เกิดอาการอ่อนเพลีย คิดมาก ขาดความสดชื่นทางจิตใจ ไม่มีพลังใจ
3. ความไม่สมดุลของอิน-หยาง
ฤดูฝนทำให้ “อิน” เพิ่มขึ้น (ความชื้น หนาว) จน “หยาง”อ่อนกำลัง ทำให้ เกิดความรู้สึกเฉื่อยชา ซึมเศร้า ขาดแรงจูงใจ
แนวทางการรักษาในแพทย์แผนจีน
1. การฝังเข็ม
- กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด
- ช่วยปรับสมดุลระบบประสาท ปรับสมดุลอิน-หยาง ส่งผลดีต่ออารมณ์
- ลดความชื้นสะสมในร่างกาย และฟื้นฟูพลังของชี่ม้าม
2. ยาสมุนไพรจีน
- ใช้ยาขับความชื้น บำรุงม้าม และปรับสมดุลอิน-หยาง
3. การปรับวิถีชีวิต
- รับแสงแดดยามเช้า เพิ่มพลังหยาง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ชื้น ของทอด ขนมหวาน
- นอนให้ตรงเวลา ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด
ในมุมมองแพทย์แผนจีน ภาวะซึมเศร้าในหน้าฝนไม่ได้เกิดจากจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากชี่ภายในที่ไม่สมดุล การฝังเข็มและการดูแลตามหลักแพทย์จีนสามารถช่วยเสริมสร้างสมดุลของร่างกายและจิตใจ ให้กลับมาสดใสมีพลังอีกครั้งอย่างเป็นธรรมชาติ
________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
23 พ.ค. 2568
23 พ.ค. 2568