Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 18431 จำนวนผู้เข้าชม |
กันเฉ่า (甘草) คือ รากและลำต้นใต้ดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza uralensis Fischer หรือ G. inflata Bat. หรือ G. glabra L. วงศ์ Fabaceae
ชื่ออื่น ๆ
ชะเอมจีน ชะเอมเทศ (ไทย) กันเฉ่า (จีนกลาง) กำเช่า (จีนแต้จิ๋ว) Liquorice Root, Glycyrrhizae Radix et Rhizoma
ลักษณะภายนอก
แท่งรูปทรงกระบอก ผิวล่อนหรือติดแน่น สีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลปนเทา มีรอยย่นตามแนวยาว มีกลิ่นเฉพาะตัวอ่อน ๆ รสหวานชุ่มคอ
แหล่งผลิตที่สำคัญ
เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลกันซู่ ซินเจียง และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. กันเฉ่าเพี่ยน : ล้างด้วยน้ำสะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้เนื้อนุ่ม หั่นเป็นแผ่นหนา ๆ แล้วนำไปทำให้แห้ง
2. จื้อกันเฉ่า : คลุกกันเฉ่าเพี่ยนกับน้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่เจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม (ใช้น้ำผึ้ง 25 กิโลกรัม ต่อกันเฉ่าเพี่ยน 100 กิโลกรัม) หมักไว้สักครู่ นำไปผัดโดยใช้ไฟอ่อน ผัดจนมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสหวาน สุขุม เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร
1. กันเฉ่าเพี่ยน (เซิงกันเฉ่า) : รสอมหวาน สุขุม ค่อนข้างเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ แก้ไอ ขับเสมหะ มักใช้ในตำรับยาแก้ไอที่มีเสมหะร้อน คอบวมอักเสบ พิษจากฝีแผล หรือพิษจากยาและอาหาร
2. จื้อกันเฉ่า : รสอมหวาน อุ่น มีสรรพคุณบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมชี่ ทำให้การเต้นของชีพจรมีแรงและกลับคืนสภาพปกติ มักใช้ในตำรับยารักษาอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่องไม่มีแรง ชี่ของหัวใจพร่อง ปวดท้อง เส้นเอ็นตึงแข็ง ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
มีรสหวาน ชุ่มคอ มีสรรพคุณบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น แก้เสมหะเป็นพิษ (แก้ไอ) ทำให้ชุ่มคอ ใช้ปรุงแต่งรสยาให้รับประทานง่าย
ขนาดและวิธีใช้ ต้มรับประทาน 1.5-9 กรัม
ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้ร่วมกับจิงต้าจี่ หงต้าจี๋ เหยียนฮวา กันสุ้ย ไห่เจ้า
ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ตับแข็ง ภาวะไตเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
24 มี.ค. 2566
23 เม.ย 2567
19 ก.พ. 2567