long covid กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5402 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 long covid กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

Long COVID คือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วบางราย ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลือต่อเนื่องเป็นเวลานาน  ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว  อื่น ๆ เป็นต้น

กลุ่มที่มีอาการอาจจะมีอาการตั้งแต่ 1 เดือน หรือ มากกว่า 4-6 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า  Long COVID หรือ เรียกอย่างเป็นทางการว่า post covid 19 syndrome ผู้ป่วย Long Covid ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการที่หนักขึ้น และ ผู้ป่วยเบาหวานก็มีโอกาสเป็น Long Covid ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ลักษณะผู้ป่วย Long Covid ในแพทย์แผนจีนที่พบบ่อย ๆ  คือ ภาวะที่ชี่ปอดและม้ามพร่อง ภาวะชี่และอินพร่อง ซึ่งผู้ป่วยโรคโรคเบาหวานในทัศนะแพทย์แผนจีนก็มีความเกี่ยวข้องกับชี่ปอด ชี่ม้ามพร่อง และชี่อินพร่อง เช่นกัน


ปอดในทางแพทย์แผนจีนมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมการหายใจ และปอดยังเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ถ้าชี่ของปอดแข็งแรงภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรง ปอดมีหน้าที่กระจายสารน้ำไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย ในผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการที่เกี่ยวข้องกับชี่ของปอด คืออาการกระหายน้ำบ่อย อาการนี้เกิดจากการที่ชี่ปอดอ่อนแอไม่สามารถกระจายสารน้ำไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายได้ เซลล์ต่าง ๆ ไม่ได้รับการหล่อเลี้ยง เกิดความแห้งในร่างกาย ร่างกายจึงต้องการน้ำเข้ามามากขึ้น และส่งสัญญาณทำให้เกิดอาการกระหายน้ำบ่อย ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็น Long Covid ส่งผลให้ชี่ปอดอ่อนแอ อาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และอาการกระหายน้ำบ่อยรุนแรงขึ้น

ม้ามในศาสตร์แพทย์แผนจีน มีความเกี่ยวข้องกับระบบย่อย และระบบเผาผลาญทั้งร่างกาย เป็นอวัยวะที่สร้างชี่ สร้างพลังงานไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ถ้าม้ามอ่อนแอก็จะส่งผลต่อการย่อยอาหาร การเผาผลาญ และการดูดซึมสารอาหารเข้าไปเลี้ยงในร่างกาย อาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่สามารถย่อย และดูดซึมได้เต็มที่จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการหิวบ่อย ร่างกายค่อย ๆ ซูบผอม สารอาหารที่ดูดซึมไม่ได้ก็ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบน้ำตาลและไขมัน

ในทางแพทย์แผนจีน ม้ามยังมีเกี่ยวความเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ ม้ามไม่แข็งแรง ทำให้การเสริมสร้างกล้ามเนื้ออ่อนแอลงไปด้วย ปกติผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาเรื่องระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ หรือภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัย  ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อโควิดรุนแรง และมีอาการ long covid ก่อให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อ่อนแรง การเคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะในผู้หญิงสูงอายุ จากที่กล่าวข้างต้นดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Long covid ที่มีภาวะ ชี่ปอดและม้ามอ่อนแอ ส่งผลให้อาการของเบาหวานรุนแรงมากขึ้นได้อีกลักษณะหนึ่งของ Long Covid คือ ชี่และอินพร่อง (气阴两虚


อิน(阴) เป็นตัวแทนของความชุ่มชื้น และความเย็น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นมาระยะเวลานาน ส่วนใหญ่จะมีภาวะอินของไตพร่อง  เมื่ออินของไตพร่อง ทำให้ร่างกายแห้งสารน้ำไม่เพียงพอ สารน้ำไม่เพียงพอส่งผลให้หลอดเลือดในร่างกายแห้ง การไหลเวียนเลือดไม่ดี หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น  เกิดสภาวะเลือดคั่ง (血瘀)สามารถก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าเกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือเบาหวานลงเท้าได้

ถ้าเกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดขนาดเล็กหรือเส้นเลือดฝอย ก็จะส่งผลให้เกิดสภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขึ้นตา เส้นประสาทอักเสบได้  เมื่อผู้ป่วยมีอาการของ Long Covid  ร่วมด้วยก็ยิ่งให้ให้อินพร่องมากขึ้น ทำให้อาการของโรคแทรกซ้อนของเบาหวานรุนแรงขึ้น


ปกติแล้วหัวใจเป็นตัวแทนของธาตุไฟ ไตเป็นตัวแทนของธาตุน้ำ  ไฟจากหัวใจ และน้ำจากไตจะทำหน้าที่คอยสร้างความสมดุลซึ่งกันและกัน น้ำจากไตจะคอยควบคุมไม่ให้ไฟของหัวใจร้อนเกินไป และไฟของหัวใจจะค่อยสร้างความอบอุ่นไม่ให้น้ำของไตเย็นเกินไป เมื่อร่างกายเกิดสภาวะอินพร่องจากโรคเบาหวาน หรือ อินพร่องจากภาวะ Long Covid ร่วมด้วย ส่งผลให้สารน้ำในร่างกายไม่เพียงพอ น้ำจากไตไม่สามารถที่จะไปดับไฟจากหัวใจได้ เมื่อหัวใจมีไฟที่มากเกินไปทำให้มีอาการนอนหลับยาก และอาจจะเกิดภาวะใจสั่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะร่วมด้วยได้

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็น Long Covid จะมีอาการควบคุมน้ำตาลได้ยาก มีภาวะกล้ามเนื้อลีบ สารอาหารในร่างกายไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ

จากงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์* พบว่า มีภาวะร่างกายอยู่ 3 ประเภทที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี และเป็น Long Covid อาจจะมีอาการร่วมได้คือ

1.  ภาวะ กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic tachycardia syndrome : POTS)   ซึ่งอัตราการเต้นหัวใจของผู้ใหญ่เมื่ออยู่นิ่งจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที ในระหว่างที่เปลี่ยนท่าทาง หากหัวใจเต้นเร็วขึ้น 30 ครั้ง/นาทีขึ้นไป ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาระยะเวลานานแม้จะเกิดโรคความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะความดันตกในท่ายืน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ long covid ร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้อาการดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น แล้วก็ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ  เช่นอ่อนเพลีย การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ เวียนหัว เป็นต้น

2. ภาวะการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาเรื่องระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ หรือภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัย  ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อ โรคโควิดรุนแรง มีอาการขาดโปรตีน หรือมีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถกระตุ้นร่างกายทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการ long covid ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย การเคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุ

3. เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดในร่างกาย
ซึ่งอาการเหล่านี้ก็จะมีความสัมพันธ์กับหลักของศาสตร์แพทย์แผนจีน ดังที่ได้อธิบายในเนื้อหาข้างบน

บทความโดย
แพทย์จีน เซ็งจุ้น แซ่ลี (หมอจีน หลี่ เฉิง จวิ้น)
李成俊  中医师
TCM. Dr. TSENG CHUN LEE
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.353 


* อ้างอิง: Raveendran AV, Misra A. Post COVID-19 Syndrome ("Long COVID") and Diabetes: Challenges in Diagnosis and Management. Diabetes Metab Syndr. 2021 Sep-Oct;15(5):102235. doi: 10.1016/j.dsx.2021.102235. Epub 2021 Jul 28. PMID: 34384972; PMCID: PMC8317446.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้