อาการตกหมอน..บรรเทาได้ด้วยตัวเอง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  4234 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการตกหมอน..บรรเทาได้ด้วยตัวเอง

             อาการตกหมอนเป็นอาการที่หลายคนเคยพบเจอ อาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับท่านอนที่ไม่ถูกต้อง นอนท่าเดิมเป็นเวลานานๆ หรือการเลือกใช้หมอนที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกายเช่น หมอนสูงหรือต่ำเกินไป รวมไปถึงโดนลมเย็นกระทบ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกร็งตัว เลือดและชี่ในบริเวณนั้นติดขัดจนทำให้เกิดอาการปวด อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงเช้าหลังตื่นนอน ส่วนมากแล้วอาการจะค่อยๆบรรเทาลงภายใน 2-3วัน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงอาจทำให้คอแข็ง ไม่สามารถหมุนซ้ายขวาหรือก้มเงยได้ และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน

            การบรรเทาอาการตกหมอนตามศาสตร์แพทย์แผนจีนสามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็ม ทุยหนา การประคบสมุนไพรจีน หรือแม้กระทั่งการนวดกดจุด ซึ่งการนวดกดจุดนี้เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

จุดไว่เหลากง (WaiLaoGong, EX-UE8)

            จุดนี้เป็นจุดพิเศษที่ใช้รักษาอาการตกหมอน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จุดลั่วเจิ่น (LuoZhen) หรือจุดตกหมอน” อยู่บริเวณหลังมือ ระหว่างกระดูกฝ่ามือของนิ้วชี้และนิ้วกลางใกล้มาทางสันหมัด 0.5 ชุ่น เมื่อมีอาการตกหมอนให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดจุดนี้ด้วยแรงจากเบาไปหนักประมาณ 5-10นาที เน้นด้านที่อาการปวดตึง ในขณะที่กดให้หมุนคอไปทางซ้ายขวา ก้มและเงยหน้าให้สุดช้าๆ เพื่อคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ

            อ้างอิงตามทฤษฎีเส้นลมปราณ อาการตกหมอนจัดเป็นโรคของเส้นเอ็นบนเส้นลมปราณมือและเท้าไท่หยาง และเส้นลมปราณเส้าหยาง ดังนั้นจึงสามารถนวดกดจุดต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทาปวดได้ดีมากขึ้น

จุดโฮ่วซี (HouXi, SI3)

             จุดโฮ่วซีใช้บรรเทาอาการตกหมอนที่เกิดบนเส้นลมปราณมือไท่หยาง นั่นคือบริเวณหลังคอค่อนมาด้านข้างห่างจากเส้นกึ่งกลางลำตัว รวมไปถึงมีอาการปวดตึงบริเวณหลังหูและสะบัก วิธีการหาจุดโฮ่วซีคือ ให้กำมือ จุดนี้อยู่ตรงปลายรอยย่นของสันมือตามแนวสีผิวที่ตัดกันของฝ่ามือและหลังมือ

จุดซู่กู่ (ShuGu, BL65)

             จุดนี้ใช้บรรเทาอาการตกหมอนที่เกิดบนเส้นลมปราณเท้าไท่หยาง บริเวณลำคอด้านหลังใกล้เส้นกึ่งกลางลำตัว รวมถึงมีอาการปวดตึงบริเวณท้ายทอยและหลัง จุดซู่กู่อยู่บริเวณเท้าฝั่งด้านนอก หลังต่อข้อ metatarsophalangeal ที่5 ตรงแนวบรรจบของฝ่าเท้าและหลังเท้า

จุดเสวียนจง (XuanZhong, GB39)

            ใช้บรรเทาอาการตกหมอนที่เกิดบนเส้นลมปราณเส้าหยางบริเวณด้านข้างของลำคอ มักพบในคนที่นอนท่าตะแคง จุดเสวียนจงเป็นจุดฝังเข็มบริเวณขาด้านนอก เหนือยอดตาตุ่ม 3 ชุ่น ชิดขอบหน้าของกระดูก fibula

            และเนื่องจากความเย็นมีส่วนทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด กล้ามเนื้อตึงตัว หลังจากนวดกดจุดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสามารถใช้ผ้าประคบอุ่นตรงบริเวณที่ต้องการ เพื่อคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเป็นการขจัดความเย็นได้อีกด้วย

            สำหรับการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดอาการตกหมอนควรเริ่มจากการปรับท่านอนให้ถูกต้อง หมอนที่เลือกใช้ควรมีความสูงพอดีกับไหล่ รวมถึงบริหารกล้ามเนื้อคอและบ่าเป็นประจำเพื่อลดความตึงตัวและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้