Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2464 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น ตามหลักแพทย์จีนแล้วฤดูหนาวควรกักเก็บสารอินและป้องกันหยาง ในช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่มักพบปัญหาผิวหนังได้บ่อย เพราะอากาศจะเย็นและแห้ง ผิวหนังของเราจะถูกกระทบและบอบบางลง รวมถึงมลภาวะต่างๆที่มีมากขึ้นทุกวันก็เป็นตัวกระตุ้นในการทำร้ายผิวเช่นกัน หากวิธีการดูแลไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือปัญหาที่มีอยู่รุนแรงมากจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ผิวแห้ง คัน แตก เป็นขุย เป็นต้น หากเราต้องการดูแลผิวของเราให้ดี เราควรที่จะดูแลทั้งสุขภาพร่างกายภายในและภายนอกควบคู่กันเพื่อสุขภาพผิวที่ยั่งยืนในระยะยาว
การดูแลผิวพรรณจากภายใน เราควรที่จะดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมให้ดี ให้มีชี่ เลือด สารน้ำอย่างเพียงพอและมีการไหลเวียนที่ดี ฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่างสมดุล การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ถือเป็นพื้นฐานการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจากภายใน นอกจากนี้แพทย์จีนยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนดีอยู่เสมอ และการบำรุงดูแลรักษาไตให้แข็งแรง เพราะไตเป็นรากฐานของชีวิต มีหน้าที่กักเก็บสารจิง หากไตแข็งแรงจะช่วยชะลอวัยทำให้เราแก่ช้าลง ผมหงอกช้า ฟันไม่โยกง่าย กระดูกแข็งแรง และการเน้นเลือกรับประทานอาหารที่บำรุงอิน บำรุงปอดเช่น สาลี่ ลิลลี่ ถั่วดำ วอลนัท บล็อกโคลี่ เป็นต้น
ส่วนการบำรุงผิวภายนอก ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะเน้นทำหัตถการควบคู่กับการปรับสมดุลจากภายใน เพื่อช่วยในการส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดลมบริเวณใบหน้า ขับพิษของเสียต่างๆ และเน้นการใช้สมุนไพรจีนเพื่อบำรุงผิวพรรณตามสภาพผิวแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีหลากหลายวิธี เช่นการนวดหน้ากดจุด ตามมัดกล้ามเนื้อ และจุดต่างๆ บนเส้นลมปราณ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และเพิ่มการไหลเวียนเลือด จะช่วยทำให้ผิวหนังแข็งแรงขึ้น ไม่หย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วงได้ง่าย และอีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือการกวาซา เป็นการใช้อุปกรณ์ที่ขอบเรียบลื่น เช่นหยกหรือหิน มาขูดเบาๆ บริเวณใบหน้า ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ลดอาการบวมน้ำ ส่งเสริมการระบายน้ำเหลือง ขับสารพิษ เป็นต้น การพอกสมุนไพร หรือการมาร์คหน้า เป็นการใช้สมุนไพรบำรุงผิวสูตรต่างๆ ตามสภาพผิวของแต่ละบุคคล เช่น ให้ความชุ่มชื้น ช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ลดเลือนจุดด่างดำ เป็นต้น
วันนี้หมอมีจุดบนเส้นลมปราณต่างๆที่ไหลผ่านบริเวณใบหน้า มาแนะนำที่จะช่วยในการบำรุงผิวพรรณง่ายๆ สามารถทำเองได้ที่บ้านมาฝากกันค่ะ
1. 印堂 จุดอิ้นถาง อยู่บนเส้นลมปราณ 任脉 (เญิ่น ม่าย)
ตำแหน่ง บริเวณหน้าผาก อยู่กึ่งกลาง ระหว่างคิ้ว
สรรพคุณ ช่วยลดความเครียด สงบจิตใจ ทำให้นอนหลับสบาย หายใจโล่งขึ้น ลดริ้วรอยระหว่างคิ้ว
2. 攒竹จุดฉ้วนจู๋ อยู่บนเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ
ตำแหน่ง อยู่บริเวณขอบเบ้าตา แอ่งบริเวณหัวคิ้ว
สรรพคุณ ช่วยบำรุงสายตา คลายความเหนื่อยล้า ลดอาการปวดกระบอกตา กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนมาเลี้ยงที่ตาได้ดีมากขึ้น ให้ดวงตาสดใส
3. 阳白จุดหยางไป๋ อยู่บนเส้นลมปราณถุงน้ำดี
ตำแหน่ง เหนือคิ้ว 1 นิ้ว ตรงกับรูม่านตา
สรรพคุณ ช่วยให้ผิวหน้ากระจ่างใส ชะลอภาวะหนังตาหย่อยคล้อย ลดอาการปวดศีรษะ บำรุงสายตา
4.太阳 จุดไท่หยาง อยู่นอกระบบเส้นลมปราณ
ตำแหน่ง อยู่บริเวณขมับ ด้านหลังหางคิ้ว และหางตา ประมาณ 1 นิ้ว สามารถสัมผัสแล้วรู้สึกถึงแอ่ง กดแล้วรู้สึกตึงหน่วง
สรรพคุณ ช่วยในการผ่อนคลาย ลดอาการปวดศีรษะ บำรุงสายตา
5.四白 จุด ซื่อไป๋ อยู่บนเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร
ตำแหน่ง มองตรง จุดอยู่ตรงกับรูม่านตา ใต้ถุงใต้ตา จะมีร่องอยู่บริเวณหน้าแก้ม
สรรพคุณ ช่วยให้ผิวหน้าขาวกระจ่างใส ดูมีเลือดฝาด ลดอาการกล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็ง บำรุงสายตา
6.迎香 จุด อิ๋งเซียง อยู่บนเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่
ตำแหน่ง อยู่บริเวณตรงกลางปีกจมูกด้านนอก บนร่องแก้มระหว่างจมูกและปาก
สรรพคุณ รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล และเส้นประสาทบนใบหน้า กล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็ง ช่วยพยุงร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก
7.巨髎จุด จวี้ เหลียว อยู่บนเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร
ตำแหน่ง มองตรง จุดอยู่ตรงกับรูม่านตา ระดับเดียวกับปีกจมูกด้านล่าง ด้านข้างร่องแก้มด้านนอก
สรรพคุณ รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับ เส้นประสาทบนใบหน้า หน้าเบี้ยว ช่วยพยุงร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก
8.地仓จุด ตี้ชัง อยู่บนเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร
ตำแหน่ง มองตรง จุดอยู่ตรงกับรูม่านตา บริเวณมุมปากด้านนอก
สรรพคุณ รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับ เส้นประสาทบนใบหน้า หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ช่วยพยุงร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก แก้มหย่อนคล้อย
9.颊车จุด เจี๋ยเชอ อยู่บนเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร
ตำแหน่ง อยู่บริเวณแนวกราม ด้านบนและด้านหน้ามุมของขากรรไกรล่าง ประมาณ1 นิ้ว
สรรพคุณ ช่วยรักษาอาการกรามค้าง ปวดฟัน ปากเบี้ยว หน้าบวม ใบหน้าหย่อนคล้อย
10.承浆จุด เฉิงเจียง อยู่บนเส้นลมปราณ 任脉 (เญิ่น ม่าย)
ตำแหน่ง อยู่บริเวณร่อง ตรงกลางริมฝีปากล่าง
สรรพคุณ ช่วยรักษาอาการเกี่ยวกับช่องปาก ปากเป็นแผล ลิ้นเป็นแผล ร้อนใน ปากเบี้ยว น้ำลายไหล
วิธีการกดจุด
ใช้นิ้วโป้งหรือนิ้วชี้หรือนิ้วกลาง กดคลึงเบาๆบริเวณจุดฝังเข็ม อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง กดสักครู่ จนกว่าจะรู้สึกตื้อๆหน่วงๆ ค้างไว้ประมาณ30 วินาที แล้วผ่อนคลาย ทำซ้ำจุดละ 2-3 ครั้ง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ดายุ สาธุกิจชัย (หมอจีน จาง ลี่ เจิน)
张丽真 中医师
TCM. Dr. Dayu Sathukijchai (Zhang Li Zhen)
แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ
1 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567
15 ก.ค. 2567