Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1515 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัสสาวะขุ่นไม่ใส คือ ภาวะที่น้ำปัสสาวะมีความขุ่น หรือพบสารลักษณะคอลลอยด์มากในน้ำปัสสาวะ หรือมีสีที่ผิดปกติของน้ำปัสสาวะ เหล่านี้เป็นอาการแสดงหลัก ที่พบได้บ่อยในโรคระบบทางเดินปัสสาวะ การแพทย์แผนจีนแบ่งสาเหตุของปัสสาวะขุ่นออกเป็น 4 สาเหตุหลัก ดังนี้
1. ความร้อนชื้นเคลื่อนที่ลงล่าง เมื่อความร้อนชื้นเคลื่อนลงล่างเข้ารุกรานกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้น้ำปัสสาวะมีความร้อนชื้นสะสมสูงขึ้น ปัสสาวะจึงขุ่น สีเหลืองเข้ม มีกลิ่นฉุน เวลาปัสสาวะมีอาการเจ็บแสบร้อนเป็นต้น
2. ไตหยางพร่อง การขับออกของน้ำปัสสาวะในระบบทางเดินปัสสาวะต้องอาศัยพลังของไตหยาง เมื่อใดที่ไตหยางพร่อง พลังชี่ไม่เพียงพอต่อการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ การกรองของเสียออกจากเลือดให้เปลี่ยนเป็นน้ำปัสสาวะเกิดความติดขัดล่าช้า เกิดเป็นอาการปัสสาวะขุ่นข้น สีขาว ปัสสาวะปริมาณน้อย ร่างกายและปัสสาวะใสมากกว่าปกติเป็นต้น
3. ชี่ตับติดขัด ชี่ของตับคือหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการควบคุมการไหลเวียนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมถึงการไหลเวียนและการรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย เมื่อชี่ตับติดขัด ทำให้การไหลเวียนของน้ำเกิดขึ้นไม่ได้ เกิดการคั่งค้างของน้ำ เกิดเป็นอาการปัสสาวะขุ่น สีคล้ายน้ำล้างเนื้อ หรือพบเลือดปนออกมาในน้ำปัสสาวะ
4. ม้ามพร่องความชื้นมาก เมื่อม้ามพร่องส่งผลต่อการไหลเวียนควบคุมปริมาณความชุ่มชื้น และปริมาณน้ำในร่างกาย เมื่อมีการสะสมของความชุ่มชื้น และปริมาณน้ำในร่างกายที่มากเกินไป ส่งผลให้ความชุ่มชื้นและน้ำต่าง ๆ ไหลตกไปรวมกับน้ำปัสสาวะ เกิดเป็นอาการปัสสาวะขุ่น สีอ่อน ๆ เหนียวข้นเป็นต้น
การรักษาอาการปัสสาวะขุ่นตามหลักการแพทย์แผนจีนทำได้โดยการ
1. ขับความร้อนชื้น โดยการใช้ยากลุ่ม ขจัดความร้อน ขับความชื้น
2. บำรุงไตหยาง โดยการใช้ยากลุ่มเสริมความอบอุ่น บำรุงไตหยาง กระตุ้นการเกิดของชี่ เพิ่มการไหลเวียนของน้ำ
3. ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ โดยการใช้ยากลุ่มการกระจายชี่ของตับ เพิ่มการไหลเวียนเลือด และสลายเลือดคั่ง
4. บำรุงม้าม โดยการใช้ยากลุ่มบำรุงม้าม ขับปัสสาวะ ปรับสมดุลความชุ่มชื้นและปริมาณน้ำในร่างกาย
การดูแลและการส่งเสริมสุขภาพในผู้ที่มีอาการปัสสาวะขุ่น ทำได้โดย
1. เข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปัสสาวะขุ่นเพื่อแยกแยะโรค เช่น ไตเสื่อม ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีอันตรายต่อชีวิตหรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ควรได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
2. เพิ่มการดื่มน้ำอุ่นสะอาดให้มากขึ้น
3. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เพิ่มการทานผักผลไม้ที่ไม่หวานมาก ส่งเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
4. รักษาความสะอาดของพื้นที่รอบ ๆ ปากทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย ทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งหลังการขับถ่าย เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เมื่อเกิดการอับชื้น เพื่อลดโอกาสการเจริญเติบโตและการสะสมของเชื้อก่อโรคในทางเดินปัสสาวะ
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร รสเผ็ด รสจัด ของมัน ของทอด ให้พลังงานสูง โปรตีนสูง
6. ไม่อยู่นิ่ง ๆ นั่ง นอน ยืนเป็นเวลานาน เพิ่มการเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของชี่ เลือดและสารน้ำในร่างกาย
7. เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่นอนดึก การนอนหลับเป้นการพักฟื้น เสริมสร้างร่างกาย ให้กลับมาแข็งแรง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (หมอจีน พาน จ้าย ติง)
潘在丁 中医师
TCM. Dr. Jittikorn Pimolsettapun (Pan Zai Ding)
แผนกอายุรกรรมบุรุษเวช
24 ก.ย. 2567
30 ส.ค. 2567