Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 153 จำนวนผู้เข้าชม |
มุมมองการเจริญเติบโตในเด็กเล็ก
การเจริญเติบโตในเด็กเล็กเป็นกระบวนการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่สำคัญต่อชีวิตในระยะยาว ช่วงวัยนี้เป็นพื้นฐานในการวางรากฐานของสุขภาพ สมรรถภาพ และบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต ดังนั้นการเข้าใจลักษณะการเติบโตและปัจจัยที่มีผลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก
ในทางการแพทย์ปัจจุบัน การเจริญเติบโตของเด็กถูกวัดและประเมินอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการตรวจสอบพัฒนาการทางกายภาพ พัฒนาการทางสมอง และพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมอย่างละเอียดและมีเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กราฟการเจริญเติบโต (growth chart) และพัฒนาการตามวัย (developmental milestones)
ลักษณะการเจริญเติบโตในเด็กเล็ก
การเจริญเติบโตของเด็กเล็กแบ่งได้เป็นหลายด้าน ได้แก่:
- การเจริญเติบโตทางร่างกาย : เด็กจะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและส่วนสูงอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก และจะค่อย ๆ ชะลอลงเมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) ระบบอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่
- การพัฒนาทางสมองและสติปัญญา : ช่วงวัยนี้สมองของเด็กจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เด็กจะเริ่มเรียนรู้การพูด ฟัง และการแก้ปัญหาเบื้องต้น การกระตุ้นด้วยการเล่น การอ่านหนังสือ และการสนทนาจะส่งเสริมการพัฒนาทางสมองได้ดี
- การพัฒนาทางอารมณ์และสังคม : เด็กเล็กจะเริ่มแสดงออกถึงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความรัก ความกลัว หรือความโกรธ และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญในระยะนี้
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
- พันธุกรรม (Genetics)
เป็นตัวกำหนดศักยภาพสูงสุดของการเจริญเติบโต เช่น ความสูงจากพ่อแม่
- โภชนาการ (Nutrition)
การได้รับอาหารครบ 5 หมู่ มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่เพียงพอ มีผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตที่สมบูรณ์
ภาวะขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก หรือวิตามินดี จะส่งผลเสียโดยตรง
- ฮอร์โมน (Hormones)
ฮอร์โมนสำคัญ เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ไทรอยด์ฮอร์โมน มีผลโดยตรงต่อความสูงและการพัฒนาทางสมอง
- สิ่งแวดล้อมและการกระตุ้น (Environment and Stimulation)
เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการพูดคุย เล่น อ่านหนังสือ และได้รับการสัมผัสทางบวก จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ขาดการกระตุ้น
- โรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงทางการแพทย์
เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ส่งผลต่อการเจริญเติบโต
การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม
ผู้ปกครองควรใส่ใจการดูแลเด็กในทุกด้าน
- อาหารที่เหมาะสมกับวัยเวลานอนที่เพียงพอ
- การส่งเสริมกิจกรรมที่พัฒนากล้ามเนื้อและสมอง
- การให้ความรัก ความอบอุ่น และการสร้างความรู้สึกปลอดภัย
- การพบแพทย์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
- การเจริญเติบโตในเด็กเล็กในมุมมองการแพทย์แผนจีน
ในแนวทางของการแพทย์แผนจีน การเจริญเติบโตของเด็กไม่ได้มองแค่การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักหรือส่วนสูงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับ “พลังชีวิต” หรือ “ชี่” (气), “เลือด” (血), และการทำงานของอวัยวะสำคัญตามระบบห้าธาตุ (五行, อู่สิง)
หลักการพื้นฐานของการเจริญเติบโตในแผนจีน
- ไต (肾) : ถือเป็นรากฐานของชีวิต เป็นที่เก็บพลังดั้งเดิม (先天之本) เด็กที่มีไตแข็งแรงจะมีพัฒนาการดี ทั้งร่างกาย กระดูก ฟัน สมอง และการเจริญพันธุ์ในอนาคต
- ม้าม (脾) และ กระเพาะอาหาร (胃) : มีหน้าที่สร้างพลังงานจากอาหาร (后天之本) หากม้ามและกระเพาะแข็งแรง เด็กจะมีน้ำหนักตัวและพลังงานที่ดี
- ปอด (肺) : ควบคุมชี่ของร่างกาย ถ้าปอดแข็งแรง เด็กจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ป่วยบ่อย
- ตับ (肝) : เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเอ็นและกล้ามเนื้อ ตับที่แข็งแรงช่วยให้การเคลื่อนไหวพัฒนาตามวัย
วัฏจักรการเจริญเติบโตในเด็กตามแพทย์จีน
ตามตำราจีนโบราณอย่าง “黄帝内经” (หวงตี้เน่ยจิง) ได้กล่าวถึงการเจริญเติบโตเป็นช่วงวัย เช่น:
- เด็กแรกเกิด - 7 ปี: ไตเริ่มสร้างพลัง ชี่เส้นลมปราณเญิ่นเติมเต็ม กระดูกและฟันเริ่มเติบโต
- 7 ปี - 14 ปี (ผู้หญิง) / 8 ปี - 16 ปี (ผู้ชาย) : ไตเริ่มแข็งแรง ระบบสืบพันธุ์เริ่มทำงานเข้าสู่วัยรุ่น
- ในช่วง 0-7 ปีนี้ การบำรุงไต ม้าม และปอดจึงมีความสำคัญสูงสุด
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตตามแพทย์จีน
- (จิง)แรกเริ่มแต่เกิด (先天之精) : สารจิงที่ได้รับแต่กำเนิดจากพ่อแม่ จะเปลี่ยนเป็นพลังชี่ ไปกระตุ้นหล่อเลี้ยงให้อวัยวะทั้งร่างกายเกิดการทำงาน หากจิงสมบูรณ์แต่เกิด เด็กจะมีสุขภาพดีตั้งแต่แรกเกิด
- สารจิงหลังกำเนิด (后天之精) : สารจิงนี้จะได้จากอาหาร อากาศ และการดูแลเลี้ยงดูภายหลังเกิด ซึ่งส่งเสริมการเติมเต็มพลังชีวิตต่อเนื่อง
หากมีความไม่สมดุล เช่น อาหารไม่เหมาะสม อารมณ์แปรปรวนบ่อย หรือพักผ่อนน้อย จะทำให้พลังชี่และเลือดอ่อนแอ การเติบโตอาจช้าหรือผิดปกติ
วิธีส่งเสริมการเจริญเติบโตแบบแผนจีน
- เสริมสร้างพลังชี่ของม้ามและกระเพาะ : ทานอาหารที่ย่อยง่าย ขณะยังอุ่น ไม่มันเกินไป เช่น ข้าวต้ม ข้าวซ้อมมือ ผักต้ม
- บำรุงไต : ใช้อาหารที่ช่วยบำรุงไต เช่น ถั่วดำ เกาลัด เมล็ดงาดำ หรือใช้ยาจีนในบางกรณี (เช่น ตำรับลิ่วเว้ยตี้หวงหวาน 六味地黄丸)
- ปรับสมดุลอารมณ์ : สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ อบอุ่น เพื่อป้องกันการทำลายพลังตับ
- เสริมสร้างปอด : ให้ออกกำลังกายเบา ๆ และอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์
ตารางเปรียบเทียบการติดตามพัฒนาการเด็กเล็ก: แพทย์แผนปัจจุบัน VS แพทย์แผนจีน
อายุเด็ก | พัฒนาการสำคัญ (แพทย์ปัจจุบัน) | พัฒนาการสำคัญ (แพทย์จีน) |
แรกเกิด - 1 เดือน | - ชันศีรษะเล็กน้อย - ตอบสนองต่อเสียง - จ้องหน้าได้ช่วงสั้นๆ | - ชี่เริ่มขับเคลื่อน - ไตเริ่มสร้างพลังชีวิต - ม้ามและกระเพาะเริ่มทำงานเบื้องต้น |
2 - 3 เดือน | - ยิ้มตอบสนอง (social smile) - ศีรษะตั้งตรงขณะนั่งพยุง - ส่งเสียงอ้อแอ้ | - พลังปอดเริ่มเติมเต็ม - สร้างพื้นฐานการหายใจที่มั่นคง - การสร้างเลือดเริ่มดีขึ้น |
4 - 6 เดือน | - กลิ้งตัวเองได้ - คว้าของใส่ปาก - หัวเราะเสียงดัง | - การทำงานของม้ามและ กระเพาะอาหารสมบูรณ์ขึ้น - การสร้างพลังชี่, เลือดดีขึ้น - เส้นเอ็นเริ่มยืดหยุ่น |
7 - 9 เดือน | - นั่งเองได้ - คลานได้ - ตอบสนองชื่อเรียก | - พลังไตและตับเริ่มขยายเส้นเอ็นและกระดูก - สมดุลอิน-หยางในร่างกายเริ่มจัดตัวดีขึ้น |
10 - 12เดือน | - เกาะยืน - เดินโดยจับมือ - เริ่มพูดคำง่าย ๆ เช่น “แม่” “ไป” | - ชี่ที่ปอดและม้ามสมบูรณ์มากขึ้น - รากฐานการเจริญเติบโตต่อเนื่อง (ไตแข็งแรงขึ้น) |
1 - 2 ปี | - เดินเองได้ - เล่นสมมุติได้ - ใช้คำพูด 2 คำติดกันได้ (“ไปกิน”) | - เริ่มสร้างสมดุลของจิตใจ (ตับ-หัวใจทำงานร่วมกัน) - พลังชี่หลังกำเนิด (โภชนาการ) ส่งผลต่อการเติบโตชัดเจน |
2 - 3 ปี | - วิ่งได้ - ปีนบันไดได้เอง - ใช้ประโยคสั้น ๆ ได้ | - ชี่ไหลเวียนได้เต็มตัว - ไตเริ่มมีพลังส่งเสริมกระดูก, ฟัน - การพัฒนาสติปัญญา(เสิน)เริ่มขึ้นเด่นชัด |
3 - 5 ปี | - กระโดดสองขา - วาดวงกลมได้ - บอกชื่อตัวเองและอายุได้ | - ตับและม้ามแข็งแรงดี ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องตัว - สมองและระบบคิดเริ่มเชื่อมโยงได้ดี (ไตเสริมสมอง) |
อ้างอิง
1. องค์การอนามัยโลก (WHO)
- World Health Organization. (2006). WHO Child Growth Standards.
- https://www.who.int/tools/child-growth-standards
2. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
- คู่มือการเลี้ยงดูเด็กตามพัฒนาการ (Developmental Surveillance Manual)
- https://www.thaipediatrics.org
3. American Academy of Pediatrics (AAP)
- Bright Futures: Guidelines for Health Supervision of Infants, Children, and Adolescents (4th Ed.)
4. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนวทางพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี
5. Zhu, M. (2001). Pediatric Tuina Therapy. Beijing: People’s Medical Publishing House.
6. Flaws, B. & Lake, J. (2001). Chinese Medical Psychiatry. Blue Poppy Press.
7. Maciocia, G. (2005). The Foundations of Chinese Medicine: A Comprehensive Text for Acupuncturists and Herbalists.
8. Chen, J. & Chen, T. (2004). Chinese Medical Herbology and Pharmacology.
______________________________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน กัญธิมา วุฒิ (กาน ตี๋ หม่า)
甘迪玛 中医师
TCM. Dr. Kanthima Wutthi (Gan Di Ma)
แผนกทุยหนาและกระดูก
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568