Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 4 จำนวนผู้เข้าชม |
มุมมองการเจริญเติบโตในเด็กเล็ก
การเจริญเติบโตในเด็กเล็กเป็นกระบวนการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่สำคัญต่อชีวิตในระยะยาว ช่วงวัยนี้เป็นพื้นฐานในการวางรากฐานของสุขภาพ สมรรถภาพ และบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต ดังนั้นการเข้าใจลักษณะการเติบโตและปัจจัยที่มีผลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก
ในทางการแพทย์ปัจจุบัน การเจริญเติบโตของเด็กถูกวัดและประเมินอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการตรวจสอบพัฒนาการทางกายภาพ พัฒนาการทางสมอง และพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมอย่างละเอียดและมีเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กราฟการเจริญเติบโต (growth chart) และพัฒนาการตามวัย (developmental milestones)
ลักษณะการเจริญเติบโตในเด็กเล็ก
การเจริญเติบโตของเด็กเล็กแบ่งได้เป็นหลายด้าน ได้แก่:
- การเจริญเติบโตทางร่างกาย : เด็กจะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและส่วนสูงอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก และจะค่อย ๆ ชะลอลงเมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) ระบบอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่
- การพัฒนาทางสมองและสติปัญญา : ช่วงวัยนี้สมองของเด็กจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เด็กจะเริ่มเรียนรู้การพูด ฟัง และการแก้ปัญหาเบื้องต้น การกระตุ้นด้วยการเล่น การอ่านหนังสือ และการสนทนาจะส่งเสริมการพัฒนาทางสมองได้ดี
- การพัฒนาทางอารมณ์และสังคม : เด็กเล็กจะเริ่มแสดงออกถึงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความรัก ความกลัว หรือความโกรธ และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญในระยะนี้
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
- พันธุกรรม (Genetics)
เป็นตัวกำหนดศักยภาพสูงสุดของการเจริญเติบโต เช่น ความสูงจากพ่อแม่
- โภชนาการ (Nutrition)
การได้รับอาหารครบ 5 หมู่ มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่เพียงพอ มีผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตที่สมบูรณ์
ภาวะขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก หรือวิตามินดี จะส่งผลเสียโดยตรง
- ฮอร์โมน (Hormones)
ฮอร์โมนสำคัญ เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ไทรอยด์ฮอร์โมน มีผลโดยตรงต่อความสูงและการพัฒนาทางสมอง
- สิ่งแวดล้อมและการกระตุ้น (Environment and Stimulation)
เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการพูดคุย เล่น อ่านหนังสือ และได้รับการสัมผัสทางบวก จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ขาดการกระตุ้น
- โรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงทางการแพทย์
เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ส่งผลต่อการเจริญเติบโต
การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม
ผู้ปกครองควรใส่ใจการดูแลเด็กในทุกด้าน
- อาหารที่เหมาะสมกับวัยเวลานอนที่เพียงพอ
- การส่งเสริมกิจกรรมที่พัฒนากล้ามเนื้อและสมอง
- การให้ความรัก ความอบอุ่น และการสร้างความรู้สึกปลอดภัย
- การพบแพทย์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
- การเจริญเติบโตในเด็กเล็กในมุมมองการแพทย์แผนจีน
ในแนวทางของการแพทย์แผนจีน การเจริญเติบโตของเด็กไม่ได้มองแค่การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักหรือส่วนสูงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับ “พลังชีวิต” หรือ “ชี่” (气), “เลือด” (血), และการทำงานของอวัยวะสำคัญตามระบบห้าธาตุ (五行, อู่สิง)
หลักการพื้นฐานของการเจริญเติบโตในแผนจีน
- ไต (肾) : ถือเป็นรากฐานของชีวิต เป็นที่เก็บพลังดั้งเดิม (先天之本) เด็กที่มีไตแข็งแรงจะมีพัฒนาการดี ทั้งร่างกาย กระดูก ฟัน สมอง และการเจริญพันธุ์ในอนาคต
- ม้าม (脾) และ กระเพาะอาหาร (胃) : มีหน้าที่สร้างพลังงานจากอาหาร (后天之本) หากม้ามและกระเพาะแข็งแรง เด็กจะมีน้ำหนักตัวและพลังงานที่ดี
- ปอด (肺) : ควบคุมชี่ของร่างกาย ถ้าปอดแข็งแรง เด็กจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ป่วยบ่อย
- ตับ (肝) : เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเอ็นและกล้ามเนื้อ ตับที่แข็งแรงช่วยให้การเคลื่อนไหวพัฒนาตามวัย
วัฏจักรการเจริญเติบโตในเด็กตามแพทย์จีน
ตามตำราจีนโบราณอย่าง “黄帝内经” (หวงตี้เน่ยจิง) ได้กล่าวถึงการเจริญเติบโตเป็นช่วงวัย เช่น:
- เด็กแรกเกิด - 7 ปี: ไตเริ่มสร้างพลัง ชี่เส้นลมปราณเญิ่นเติมเต็ม กระดูกและฟันเริ่มเติบโต
- 7 ปี - 14 ปี (ผู้หญิง) / 8 ปี - 16 ปี (ผู้ชาย) : ไตเริ่มแข็งแรง ระบบสืบพันธุ์เริ่มทำงานเข้าสู่วัยรุ่น
- ในช่วง 0-7 ปีนี้ การบำรุงไต ม้าม และปอดจึงมีความสำคัญสูงสุด
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตตามแพทย์จีน
- (จิง)แรกเริ่มแต่เกิด (先天之精) : สารจิงที่ได้รับแต่กำเนิดจากพ่อแม่ จะเปลี่ยนเป็นพลังชี่ ไปกระตุ้นหล่อเลี้ยงให้อวัยวะทั้งร่างกายเกิดการทำงาน หากจิงสมบูรณ์แต่เกิด เด็กจะมีสุขภาพดีตั้งแต่แรกเกิด
- สารจิงหลังกำเนิด (后天之精) : สารจิงนี้จะได้จากอาหาร อากาศ และการดูแลเลี้ยงดูภายหลังเกิด ซึ่งส่งเสริมการเติมเต็มพลังชีวิตต่อเนื่อง
หากมีความไม่สมดุล เช่น อาหารไม่เหมาะสม อารมณ์แปรปรวนบ่อย หรือพักผ่อนน้อย จะทำให้พลังชี่และเลือดอ่อนแอ การเติบโตอาจช้าหรือผิดปกติ
วิธีส่งเสริมการเจริญเติบโตแบบแผนจีน
- เสริมสร้างพลังชี่ของม้ามและกระเพาะ : ทานอาหารที่ย่อยง่าย ขณะยังอุ่น ไม่มันเกินไป เช่น ข้าวต้ม ข้าวซ้อมมือ ผักต้ม
- บำรุงไต : ใช้อาหารที่ช่วยบำรุงไต เช่น ถั่วดำ เกาลัด เมล็ดงาดำ หรือใช้ยาจีนในบางกรณี (เช่น ตำรับลิ่วเว้ยตี้หวงหวาน 六味地黄丸)
- ปรับสมดุลอารมณ์ : สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ อบอุ่น เพื่อป้องกันการทำลายพลังตับ
- เสริมสร้างปอด : ให้ออกกำลังกายเบา ๆ และอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์
ตารางเปรียบเทียบการติดตามพัฒนาการเด็กเล็ก: แพทย์แผนปัจจุบัน VS แพทย์แผนจีน
อายุเด็ก | พัฒนาการสำคัญ (แพทย์ปัจจุบัน) | พัฒนาการสำคัญ (แพทย์จีน) |
แรกเกิด - 1 เดือน | - ชันศีรษะเล็กน้อย - ตอบสนองต่อเสียง - จ้องหน้าได้ช่วงสั้นๆ | - ชี่เริ่มขับเคลื่อน - ไตเริ่มสร้างพลังชีวิต - ม้ามและกระเพาะเริ่มทำงานเบื้องต้น |
2 - 3 เดือน | - ยิ้มตอบสนอง (social smile) - ศีรษะตั้งตรงขณะนั่งพยุง - ส่งเสียงอ้อแอ้ | - พลังปอดเริ่มเติมเต็ม - สร้างพื้นฐานการหายใจที่มั่นคง - การสร้างเลือดเริ่มดีขึ้น |
4 - 6 เดือน | - กลิ้งตัวเองได้ - คว้าของใส่ปาก - หัวเราะเสียงดัง | - การทำงานของม้ามและ กระเพาะอาหารสมบูรณ์ขึ้น - การสร้างพลังชี่, เลือดดีขึ้น - เส้นเอ็นเริ่มยืดหยุ่น |
7 - 9 เดือน | - นั่งเองได้ - คลานได้ - ตอบสนองชื่อเรียก | - พลังไตและตับเริ่มขยายเส้นเอ็นและกระดูก - สมดุลอิน-หยางในร่างกายเริ่มจัดตัวดีขึ้น |
10 - 12เดือน | - เกาะยืน - เดินโดยจับมือ - เริ่มพูดคำง่าย ๆ เช่น “แม่” “ไป” | - ชี่ที่ปอดและม้ามสมบูรณ์มากขึ้น - รากฐานการเจริญเติบโตต่อเนื่อง (ไตแข็งแรงขึ้น) |
1 - 2 ปี | - เดินเองได้ - เล่นสมมุติได้ - ใช้คำพูด 2 คำติดกันได้ (“ไปกิน”) | - เริ่มสร้างสมดุลของจิตใจ (ตับ-หัวใจทำงานร่วมกัน) - พลังชี่หลังกำเนิด (โภชนาการ) ส่งผลต่อการเติบโตชัดเจน |
2 - 3 ปี | - วิ่งได้ - ปีนบันไดได้เอง - ใช้ประโยคสั้น ๆ ได้ | - ชี่ไหลเวียนได้เต็มตัว - ไตเริ่มมีพลังส่งเสริมกระดูก, ฟัน - การพัฒนาสติปัญญา(เสิน)เริ่มขึ้นเด่นชัด |
3 - 5 ปี | - กระโดดสองขา - วาดวงกลมได้ - บอกชื่อตัวเองและอายุได้ | - ตับและม้ามแข็งแรงดี ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องตัว - สมองและระบบคิดเริ่มเชื่อมโยงได้ดี (ไตเสริมสมอง) |
อ้างอิง
1. องค์การอนามัยโลก (WHO)
- World Health Organization. (2006). WHO Child Growth Standards.
- https://www.who.int/tools/child-growth-standards
2. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
- คู่มือการเลี้ยงดูเด็กตามพัฒนาการ (Developmental Surveillance Manual)
- https://www.thaipediatrics.org
3. American Academy of Pediatrics (AAP)
- Bright Futures: Guidelines for Health Supervision of Infants, Children, and Adolescents (4th Ed.)
4. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนวทางพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี
5. Zhu, M. (2001). Pediatric Tuina Therapy. Beijing: People’s Medical Publishing House.
6. Flaws, B. & Lake, J. (2001). Chinese Medical Psychiatry. Blue Poppy Press.
7. Maciocia, G. (2005). The Foundations of Chinese Medicine: A Comprehensive Text for Acupuncturists and Herbalists.
8. Chen, J. & Chen, T. (2004). Chinese Medical Herbology and Pharmacology.
______________________________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน กัญธิมา วุฒิ (กาน ตี๋ หม่า)
甘迪玛 中医师
TCM. Dr. Kanthima Wutthi (Gan Di Ma)
แผนกทุยหนาและกระดูก
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
23 พ.ค. 2568
23 พ.ค. 2568