Last updated: 23 พ.ค. 2568 | 207 จำนวนผู้เข้าชม |
ปวดเอว อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
อาการปวดหลังปวดเอวเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ในทุกช่วงวัยมีประสบการณ์กันมาแทบจะทุกคน อาการปวดนั้นเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่ลักษณะของอาการปวดอาจไม่ได้สะท้อนถึงต้นตอของปัญหาได้โดยตรง ปัญหาเหล่านั้นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำถึงจะบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ได้ ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นมองเรื่องการปวดหลังปวดเอวจัดอยู่ในกลุ่มโรค “ปี้เจิ้ง”(痹症) เกิดจากภาวะชี่ไหลเวียนติดขัด หรือมาจากการทำงานของตับไตบกพร่อง หรือเลือดและชี่ไหวเวียนติดขัดจากความเย็น และความชื้นมากระทบที่บริเวณหลัง ทำให้เกิดเป็นอาการปวดขึ้นมาได้ การรักษาของแพทย์แผนจีน จะใช้การนวด การฝังเข็ม และการทานยาจีนไปบำรุงตับไต บำรุงเลือดและชี่ ทะลวงชี่ สลายความเย็นและความชื้น เพื่อรักษาอาการเหล่านี้
ภาวะอาการปวดหลังปวดเอวเหล่านี้ เป็นสัญญานเตือนว่า
1. ร่างกายของเราอาจมีการทำงานของกล้ามเนื้อมากเกิดไป กล้ามเนื้อเอว กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขาที่แข็งเกร็ง มาจากการยืนการเดินหรือการนั่งเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อมีการแข็งเกร็ง ไม่มีความยืดหยุ่นที่ดีพอ
2. มีความเย็นมากระทบจากการที่นอน หรือนั่งในตำแหน่งที่มีลมจากเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดพัดลมมากระทบเป็นระยะเวลานาน ๆ
3. มีภาวะร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามินบางชนิด ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อทำงานได้ไม่ดีพอ เช่น การดื่มน้ำน้อย การนอนดึกบ่อย ๆ การกินแต่อาหารสำเร็จรูปเป็นประจำ
4. มีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ จะทำให้มีอาการปวดหลังปวดเอวได้ง่าย มักจะมีอาการในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน
5. มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังคดจากการยกของหนัก หรือกรรมพันธุ์ ในคนที่ต้องใช้แรงงานแบกหาม หรือ ทำงานหนักตั้งแต่เด็ก หรือเป็นมาตั้งแต่เกิดจะมีอาการปวดหลังปวดเอวได้ง่าย เวลานั่งนาน ๆ หรือเดินเยอะ ๆ มักจะมีอาการปวดหลัง
6. เป็นเนื้องอก หรือมีอาการอักเสบของอวัยวะภายใน เช่น เนื้องอกในมดลูก ลำไส้อักเสบ กระเพาะอาการอักเสบ กรดไหลย้อน โรคเหล่านี้ถ้ารักษาไม่หาย อาจมีอาการปวดหลังปวดเอวร่วมด้วยได้
7. ภาวะเท้าแบน หรือข้อเข่าเสื่อม บางคนที่มีปัญหาเหล่านี้จะส่งผลถึงการปวดหลังปวดเอวได้ถ้ามีอาการยืนหรือเดิน เป็นระยะเวลานาน ๆ เมื่อพัก หรือนอน อาการก็หายได้เอง
8. ถ้ามีอาการปวดหลังชาร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
อาการเหล่านี้บางทีถ้ารีบรักษาอาการก็จะหายได้ไว ถ้าปล่อยไว้นาน อาจจะมีปัญหาอย่างอื่นตามมาได้ เมื่อมีอาการปวดแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ตรงจุด โรคก็จะไม่ลุกลาม หรือไม่เป็นหนักกว่าเดิม การรักษาควบคู่กันทั้งแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบันต่างก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน จะช่วยให้เราหายจากโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจถึงโรคและอาการต่าง ๆ ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
อ้างอิง
อาการปวดหลัง (samitivejhospitals.com)
6 อาการปวดหลัง แบบไหนเสี่ยงโรค - โรงพยาบาลเวชธานี (vejthani.com)
___________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (หมอจีน กวน จิน ซุ่น)
关金顺 中医师
TCM. Dr. Bordin Korkawin (Guan Jin Shun)
แผนกทุยหนาและกระดูก
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาโคราช
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568
27 มิ.ย. 2568