Last updated: 22 เม.ย 2568 | 345 จำนวนผู้เข้าชม |
การดูแลผิวพรรณในแต่ละฤดูกาลตามหลักการแพทย์แผนจีน
ผิวพรรณของเรามักได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและฤดูกาล ในประเทศไทย แบ่งออกเป็นสามฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แม้ว่าอากาศจะไม่หนาวจัดเหมือนประเทศในเขตหนาวก็ตาม การปรับตัวของร่างกายและผิวพรรณจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเหล่านี้อย่างสอดคล้องกัน ศาสตร์การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine: TCM) มองร่างกายและธรรมชาติเป็นองค์รวม โดยเน้นการรักษาสมดุล "อิน" และ "หยาง" ผ่านการดูแลผิว การปรับพฤติกรรม และการใช้สมุนไพร
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน กล่าวถึงฤดูกาลมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ฤดูกาลทั้งสามในประเทศไทย ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ส่งผลต่อสภาพผิวที่แตกต่างกันไป การรักษาสมดุลของผิวในแต่ละฤดูจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพผิวอย่างยั่งยืน
1. ฤดูร้อน (มีนาคม - มิถุนายน)
ฤดูร้อนในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก อากาศร้อนและแห้ง ทำให้ผิวมันและเกิดปัญหาสิวได้ง่าย เพราะความร้อนภายนอกทำให้พลังหยางในร่างกายเพิ่มขึ้น
คำแนะนำในการดูแลผิว
- สมุนไพรที่แนะนำ: ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นต้มดื่ม เช่น ใบบัวบก (Centella asiatica, 积雪草) หรือสามารถชงดื่มเป็นชา เช่นใบสะระแหน่ (Bo He 薄荷) และ เก๊กฮวย (Chrysanthemum, 菊花) ที่ช่วยระบายความร้อน ลดอาการอักเสบ และฟื้นฟูผิว
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว: เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรที่ให้ความเย็น เช่น ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera, 芦荟) เพื่อช่วยลดอาการผิวไหม้จากแสงแดดและเพิ่มความชุ่มชื้น
- การรับประทานอาหาร: ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นเพื่อลดความร้อนในร่างกาย เช่น แตงโม แตงกวา ผลไม้และผักที่ชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดหรือมัน ที่สามารถเพิ่มความร้อนให้แก่ร่างกาย เช่น ของทอดหรือเครื่องเทศรสจัด
การออกกำลังกาย: ออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะหรือไทเก๊ก ในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อให้ร่างกายไม่ร้อนจนเกินไป
การเดินเล่นในที่ร่มหรือในสวนก็ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและเพิ่มอินได้
การพักผ่อน: พักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำและอาการร้อนใน
2. ฤดูฝน (กรกฎาคม - ตุลาคม)
ฤดูฝนมีความชื้นสูง ทำให้ผิวหน้ามันเยิ้ม อับชื้น และเกิดสิวหรือผดผื่นได้ง่าย ซึ่งในทางแพทย์แผนจีน สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นส่งผลให้พลังงานในร่างกายเกิดการติดขัดและไม่สมดุล
คำแนะนำในการดูแลผิว:
- สมุนไพรที่แนะนำ: ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ขจัดความชื้นต้มดื่ม เช่น หญ้าหนวดแมว (Orthosiphon stamineus, 猫须草) ลูกเดือย (coix seed, 薏苡仁) ซึ่งช่วยขับความชื้นออกจากร่างกาย และ เห็ดหลินจือ (Reishi mushroom, 灵芝) ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงและฟื้นฟูผิวที่อ่อนแอ
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว: ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความมันและเนื้อบางเบา ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน เช่น ผลิตภัณฑ์จาก ชาเขียว (Green tea, 绿茶) ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยฟื้นฟูผิวจากการอักเสบ
- การรับประทานอาหาร: ควรรับประทานอาหารที่ช่วยขับความชื้นออกจากร่างกาย เช่น ดื่มน้ำขิงในตอนเช้า เพื่อช่วยระบบย่อยอาหารและขับความชื้น, เห็ดหูหนูดำ ช่วยขับความร้อนและความชื้นออกจากร่างกาย และยังช่วยปรับสมดุลการย่อยอาหาร, ถั่วเขียวช่วยขับความร้อนและความชื้น มีฤทธิ์เย็นและช่วยปรับสมดุลร่างกาย, ฟักทองมีฤทธิ์อุ่นและช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร ขับความชื้น และช่วยลดอาการบวมน้ำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เย็นหรือดิบมากเกินไป เช่น น้ำแข็ง หรือของหมักดองที่อาจทำให้ร่างกายสะสมความชื้น
- การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายแบบกระตุ้นการหมุนเวียนเลือด เช่น ไทเก๊ก ชี่กง หรือการวิ่งเบาๆ ช่วยในการขับความชื้นออกจากร่างกาย การฝึกท่าโยคะที่เน้นการหายใจจะช่วยสร้างพลังงานในร่างกาย
- การพักผ่อน: พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาสมดุลของพลังงานในร่างกาย และหลีกเลี่ยงการตากฝนหรืออยู่ในที่ชื้นมากเกินไป
3. ฤดูหนาว (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์)
แม้ว่าอากาศในบางพื้นที่ของประเทศไทยจะไม่หนาวจัด แต่ฤดูหนาวยังคงมีผลทำให้ผิวแห้ง เนื่องจากอากาศเย็นและแห้งมากขึ้น ส่งผลให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นและเกิดการลอกเป็นขุยได้ง่าย
คำแนะนำในการดูแลผิว:
- สมุนไพรที่แนะนำ: ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์บำรุงและเพิ่มความชุ่มชื้นต้มดื่ม เช่น หวงฉี (Astragalus, 黄芪) ที่ช่วยฟื้นฟูผิวแห้งเสีย ถั่วเหลือง (Soybean, 黄豆) ซึ่งช่วยเสริมสร้างชั้นผิวให้แข็งแรง รากชะเอมเทศ (Licorice, 甘草) ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอและระคายคอที่เกิดจากความแห้งในช่วงหน้าหนาว เมล็ดบัว (Lotus seed, 莲子) เมล็ดบัวมีฤทธิ์บำรุงอินและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย บำรุงปอดและช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบย่อยอาหาร
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว: ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความชุ่มชื้นสูง เน้นการใช้น้ำมันบำรุงผิวและครีมเข้มข้นเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในผิว หรือควรใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมจากน้ำมันธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก (Olive oil, 橄榄油) น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil, 椰子油) หรือ น้ำมันโจโจ้บา (Jojoba oil, 荷荷巴油) ที่ช่วยปกป้องผิวจากการสูญเสียน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นในชั้นผิวลึก ช่วยให้ผิวนุ่มและลดความแห้งกร้านที่อาจเกิดขึ้นจากอากาศหนาวที่แห้ง
- การรับประทานอาหาร: ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่นและบำรุงร่างกาย เช่น ซุปกระดูก ต้มจืด ผักที่มีฤทธิ์อุ่น เช่น ฟักทอง ขิง หรือหัวไชเท้า เพื่อเพิ่มพลังหยางในร่างกาย น้ำชาขิงอุ่น ๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและบำรุงร่างกายในช่วงที่อากาศเย็น
- การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายควรเน้นการเพิ่มความอบอุ่นในร่างกาย เช่น การยืดกล้ามเนื้อ ฝึกโยคะ หรือการออกกำลังกายเบาๆ ในที่อบอุ่นเพื่อช่วยเสริมสร้างการไหลเวียนของเลือดและพลังงานภายใน
- การพักผ่อน: พักผ่อนอย่างเพียงพอในช่วงที่อากาศเย็นเพื่อเสริมพลังหยางของร่างกาย หลีกเลี่ยงการนอนดึกการใช้ชีวิตเวลากลางคืน หรือทำงานหนักที่อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง
งานวิจัยสนับสนุนการดูแลผิวตามหลักแพทย์แผนจีน
งานวิจัยใน Journal of Ethnopharmacology ปี 2018 พบว่าสมุนไพร เช่น ใบบัวบกและเก๊กฮวย มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบและฟื้นฟูสภาพผิวที่เสียหายจากแสงแดด งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า สมุนไพรดังกล่าวสามารถเสริมสร้างการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ลดอาการแดงจากการอักเสบ และช่วยเสริมความแข็งแรงของชั้นป้องกันผิว
ในปี 2021 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicineได้ศึกษาประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือ พบว่าเห็ดหลินจือสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวที่แห้งและช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของผิว นอกจากนี้ เห็ดหลินจือยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิว และส่งเสริมการสร้างเซลล์ใหม่
การดูแลผิวพรรณในแต่ละฤดูกาลตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสภาพอากาศ การใช้สมุนไพรที่เหมาะสมในแต่ละฤดูสามารถช่วยปรับสมดุลพลังงานในร่างกาย และทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น การรักษาสมดุลในร่างกายด้วยวิธีการแบบองค์รวมนี้ไม่เพียงแค่ป้องกันปัญหาผิว แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวม และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอีกด้วยค่ะ
--------------------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนจีนดายุ สาธุกิจชัย (หมอจีน จาง ลี่ เจิน)
张丽真 中医师
TCM. Dr. Dayu Sathukijchai (Zhang li zhen)
แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ
8 เม.ย 2568
8 เม.ย 2568