ทฤษฎีอิน-หยาง Yin & Yang พื้นฐานการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  87516 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทฤษฎีอิน-หยาง Yin & Yang พื้นฐานการแพทย์แผนจีน

อิน-หยาง (阴阳 Yin-Yang) เป็นแนวคิดปรัชญาของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณกาล ได้จากการสังเกตและค้นพบลักษณะที่สำคัญของธรรมชาติ ว่าสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วย 2 ด้าน ซึ่งขัดแย้งกัน ต่อสู้กัน พึ่งพากัน แยกจากกันไม่ได้




สัญลักษณ์อิน-หยาง สีดำแทนอิน สีขาวแทนหยาง

ทฤษฎีอิน-หยาง เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว (1,000-256 ปีก่อนคริสตกาล) มีการกล่าวถึง อิน-หยาง เป็นครั้งแรก ซึ่งถูกบันทึกในคัมภีร์อี้จิง《易经》และได้รับการปรับปรุงแนวคิดเรื่อยมาจนถึงขีดสูงสุดในยุคจั้นกั๋ว (2,476-221 ปีก่อนคริสตกาล)

เนื่องจากทฤษฎีอิน-หยาง ครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่โบราณ จึงถูกนำมาใช้ในวิชาการต่าง ๆ เช่น พยากรณ์อากาศ หมอดู ภูมิศาสตร์-ฮวงจุ้ย ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการแพทย์แผนจีนด้วย เริ่มในสมัยราชวงศ์จิ้นและราชวงศ์ฮั่น กล่าวกันว่า ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องอิน-หยางได้ดี ต้องเข้าใจคำพูดที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์เน่ย์จิงภาคซู่เวิ่น อินหยางอิ้งเซี่ยงต้าลุ่น《素问 。阴阳应象大论》กล่าวว่า “สรรพสิ่งล้วนถูกครอบคลุมโดยกฎเกณฑ์ ลักษณะคู่สองด้านที่มีการแปรเปลี่ยนมีเกิดดับเป็นพื้นฐานเป็นที่พิสดารแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด”

ความสำคัญอยู่ที่คำว่า “ลักษณะคู่” (天地之道 เทียนตี้จือเต้า) การแปรเปลี่ยน (变化之父母  เปี้ยนฮฺว่าจือฟู่หมู่) และคำว่า “เป็นที่พิสดารแปรเปลี่ยนได้เรื่อยไม่สิ้นสุด” (神明之府也 เสินหมินจือฝู่เหยี่ย)  

1.  ลักษณะคู่ของอิน-หยาง
ลักษณะคู่ของอิน-หยางมีสองลักษณะ ดังนี้
1.1 ลักษณะที่ตรงข้ามกัน ขัดแย้งกัน สู้กัน (阴阳对立 อินหยางตุ้ยลี่) เช่น ทิศทางการเคลื่อนไหวสู่ด้านนอก สู่ด้านบน ไฟ อุ่นร้อน ฯลฯ เป็นหยาง  ทิศทางการเคลื่อนไหวสู่ด้านใน สู่ด้านล่าง สงบนิ่ง น้ำ หนาวเย็น ฯลฯ เป็นอิน

1.2 ลักษณะคู่ที่พึ่งพาอาศัยกันและแยกกันไม่ได้ (阴阳互相 อินหยางฮู่เซียง) คือ ไม่ว่าอินหรือหยาง ไม่สามารถแยกกันอยู่เดี่ยว ๆ ได้ เมื่อด้านบนเป็นหยาง ด้านล่างต้องเป็นอิน จะมีด้านบนโดยไม่มีด้านล่าง หรือมีด้านล่างโดยไม่มีด้านบนไม่ได้ ต้องมีคู่กันเสมอ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ฝนเกิดจากชี่ของดินซึ่งเป็นหยาง พาน้ำระเหยขึ้นเป็นก้อนเมฆแล้วตกลงมา ฝนซึ่งเป็นมวลคืออิน จะเห็นได้ว่าวัฏจักรของการเกิดฝน ต้องมีอิน-หยางคู่กัน แยกจากกันไม่ได้ ในสมัยราชวงศ์หมิงได้กล่าวถึงอิน-หยางเกี่ยวกับการพึ่งพาและแยกจากกันไม่ได้

ในตำราอีก้วน อินหยางลุ่น 《医贯。阴阳论》ว่า “หยางสัมพันธ์กับอิน อินสัมพันธ์กับหยาง ไม่มีหยางเกิดอินไม่ได้ ไม่มีอินหยางก็ไม่เกิด”

คัมภีร์ซู่เวิ่น อินหยางอิ้งเซี่ยงต้าลุ่น《素问 。阴阳应象大论》กล่าวว่า “อินอยู่ในหยางเป็นยามเฝ้า หยางอยู่นอกเป็นผู้รับใช้ของอิน”


ความสัมพันธ์แบบแยกกันไม่ได้นี้ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์หมิง ชื่อ จางเจี้ยปิน (张介宾)  ได้เขียนไว้ในตำราเล่ย์จิง วิ่นชี่เล่ย์《类经。运气类》ว่า
“ฟ้ามีทุนเป็นหยาง ในหยางนั้นมีอิน ดินมีทุนเป็นอิน ในดินนั้นมีหยาง”


ในสมัยราชวงศ์ชิง หวงเยฺวียนอฺวี้ (黄元御)  ที่ได้เขียนไว้ในตำราซูหลิงเวยยฺวิ่น《苏灵微蕴》ว่า “อิน-หยางแยกกันไม่ได้ อวัยวะตันทั้งห้าเป็นอิน แต่เก็บซ่อนหยางไว้ ถ้าไม่มีอวัยวะตันทั้งห้าคอยเก็บซ่อนหยางไว้ หยางก็หลุดลอยไป ส่วนอวัยวะกลวงทั้งหกเป็นหยาง เป็นที่สารจิงแปรมา ไม่มีอวัยวะกลวงทั้งหก สารอินจิงที่เป็นอินก็ไม่มี จิงจะแห้งเหือดไป”  

ชี่ให้กำเนิดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ เลือดให้ชี่เป็นที่อาศัยอยู่และทำหน้าที่บำรุงชี่  ลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบอาศัยพึ่งพากันแยกกันไม่ได้ต้องสมดุล จึงจะอยู่ได้ปกติสุขไม่เป็นโรค ถ้าเกิดภาวะที่ไม่สมดุล เช่น ร่างกายมีอะไรมากระตุ้นให้ตื่นตัวมากเกินไป เกิดภาวะหยาง และไม่มีตัวยับยั้งควบคุมให้สมดุล ความตื่นตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นคนบ้าได้ในที่สุด ตรงกันข้ามถ้าไม่มีการกระตุ้นให้ตื่นตัว เหลือแต่อินเป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นโรคเศร้าซึม โรคนอนไม่หลับหรือนอนเก่ง หรือผู้ป่วยติดยาเสพติดในปัจจุบัน ก็สามารถอธิบายในลักษณะความสัมพันธ์แบบอิน-หยางได้เช่นกัน 

2. การแปรเปลี่ยนของอิน-หยาง

2.1 การจำแนกสรรพสิ่งว่าเป็นอินหรือเป็นหยาง เป็นสิ่งแน่นอน เช่น ไฟ มีคุณสมบัติร้อน ลอยขึ้นบนจัดเป็นหยาง น้ำมีคุณสมบัติเย็น ลงล่างเป็นอิน คุณสมบัติประจำตัวของสรรพสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่สามารถแปรเปลี่ยนได้ในกรณีเปรียบเทียบ  เช่น  ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งมีอากาศเย็น  เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูร้อน จึงจัดเป็นอิน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับฤดูหนาวซึ่งเย็นกว่าฤดูใบไม้ร่วงก็จัดเป็นหยาง

2.2 อินหรือเป็นหยาง สามารถแบ่งเป็นอิน-หยางได้อีก นั่นคือ อิน-หยาง แปรเปลี่ยนไปโดยแบ่งไปได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น กลางวันกับกลางคืน กลางวันเป็นหยาง กลางคืนเป็นอิน ในคัมภีร์ซู่เวิ่น จินกุ้ยเจินเอี๋ยนลุ่น《素问。金贵真言论》ได้อธิบายว่า
“ในอินมีหยาง ในหยางมีอิน” ดังนี้

ช่วงเช้าตรู่รุ่งสาง     จนถึง  เที่ยงวัน    เป็นหยางในหยาง
ช่วงเที่ยง   จนถึง เย็น     เป็นอินในหยาง 
ช่วงเที่ยงคืน   จนถึง ไก่เริ่มขัน  เป็นอินในอิน
ช่วงไก่เริ่มขัน   จนถึงเช้าตรู่รุ่งสาง เป็นหยางในอิน


ทำนองเดียวกัน ร่างกายคนก็แบ่งเป็น อิน-หยางได้ อวัยวะตันเป็นอิน อวัยวะกลวงเป็นหยาง  หัวใจและปอดอยู่ส่วนบนของร่างกาย จัดเป็นหยาง หัวใจเป็นธาตุไฟจึงจัดเป็นหยางในหยาง ปอดเป็นธาตุทองจึงจัดเป็นอินในหยาง ตับและไตอยู่ส่วนล่างของร่างกายจัดเป็นอิน ตับมีลักษณะแกร่งจัดเป็นหยางในอิน ไตเป็นธาตุน้ำจึงจัดเป็นอินในอิน ม้ามอยู่ตรงกลางของร่างกายถึงเขตอินพอดีจัดเป็นอิน 


การแปรเปลี่ยนของอิน-หยางแบ่งได้ไม่สิ้นสุด จึงเป็นคำอธิบายของคำว่า
“อะไรอยู่ภายใต้ฟ้าดินนั้นเป็นแบบนี้” ดังมีกล่าวในคัมภีร์ซู่เวิ่น อินหยางหลีเหอลุ่น《素问。阴阳离合论》ว่า “อิน-หยางนั้นจากสิบขยายได้เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น ขยายไปเรื่อย ๆ จนนับไม่ถ้วน ความจริงมาจากหนึ่ง”


2.3 อิน-หยาง เพิ่ม-ลด แปรสภาพ ร่างกายคนในเวลากลางวันจะถูกกระตุ้นให้พร้อมทำงานจัดเป็นภาวะหยาง แต่กลางคืนร่างกายจะถูกควบคุมให้พักผ่อนอยู่ในภาวะอิน พอใกล้รุ่งภาวะหยางจะค่อย ๆเพิ่มขึ้นและร่างกายก็จะเริ่มถูกกระตุ้นให้พร้อมทำงาน หยางเพิ่มอินลด (阴消阳长 อินเซียวหยางฉาง)

ในทางตรงข้ามเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน หยางจะลดอินจะเพิ่ม (阳消阴长หยางเซียวอินฉาง) เป็นเช่นนี้ร่างกายจึงจะสมดุล ซึ่งแสดงว่าอินและหยางคอยควบคุมแปรเปลี่ยนไปมาเรื่อย ๆ ถ้าผิดปกติไปจะเกิดภาวะอินหรือหยางแกร่ง หรือ อินหรือหยางพร่อง และถ้าแกร่งหรือพร่องถึงระดับสูงสุด อิน-หยางอาจจะแปรสภาพได้ เช่น ฤดูใบไม้ผลิจนถึงฤดูร้อน อากาศจะอุ่นไปจนถึงร้อนสุด แล้วก็เริ่มแปรสภาพเป็นฤดูใบไม้ร่วง อากาศจะเย็นและฤดูหนาวอากาศจะเย็นสุด แล้วกลับมาเป็นอากาศอุ่นร้อนในฤดูใบไม้ผลิอีก ต้องมีคำว่าระดับสูงสุดจึงมีการแปรสภาพ

ดังในคัมภีร์ซู่เวิ่น อินหยางอิ้งเซี่ยงต้าลุ่น《素问。阴阳应象大论》กล่าวว่า “หนาวสุดเกิดร้อน ร้อนสุดเกิดหนาว” “อินสุดเกิดหยาง หยางสุดเกิดอิน”  การแปรสภาพของอิน-หยางในทางคลินิก เช่น การกระตุ้นเป็นหยาง ถ้ากระตุ้นถึงขีดสูงสุดแล้วจะกลายเป็นถูกกดหรือถูกกดยับยั้งเป็นอินจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า ตรงกันข้ามถ้าถูกกดถึงขีดสูงสุดก็กระตุ้นให้อาละวาดได้ (โรค mania) คนไข้ที่ติดเชื้อโรคหัดเป็นพิษไข้สูงมากถึงขีดสูงสุด ไข้ลดตัวเย็น หน้าซีด ขาชาเย็น เหงื่อออกมาก  ก็คือสภาพหยางแปรเปลี่ยนเป็นอิน 


3.  ซานอินซานหยาง (三阴三阳)
อิน-หยางนั้นแบ่งมาจากหนึ่งคือ ไท่จี๋ (太极) เริ่มแรกแบ่งจาก ไท่จี๋เป็นอินหยาง แล้วแบ่ง เป็น 4 เรียก ซื่อเซี่ยง (四象) ซึ่งจะมีแต่เส้าอิน เส้าหยาง ไท่อิน ไท่หยาง โดยแบ่งตามหลักการว่า ตรงไหนมีชี่มากหรือน้อย ต่อมามีการแบ่งย่อยลงไปตามปริมาณชี่มากน้อยเป็น หยางมีเส้าหยางเป็น 1 หยาง ไท่หยางเป็น 2 หยาง หยางหมิงเป็น 3 หยาง หยางหมิงมีชี่มากสุด อินมีจฺเหวียอินเป็น 1 อิน เส้าอินเป็น 2 อิน ไท่อินเป็น 3 อิน ไท่อินมีจำนวนอินมากที่สุด เส้นอินมี 3 เส้น เส้นหยางมี 3 เส้น รวมกันเป็น 6 เส้น ซึ่งได้ถูกพัฒนาเป็นวิชา ลิ่วจิงเปี้ยนเจิ้ง《六经辨证》 ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้พิเคราะห์รักษาโรคที่ดีมากวิธีหนึ่ง



การจำแนกอิน-หยาง

การแพทย์แผนจีนได้จำแนกอิน-หยาง ดังนี้ 

1. แบ่งร่างกายและเนื้อเยื่อโครงสร้าง

หยาง - Yangอิน - Yin
อวัยวะภายนอก ขาแขนด้านนอกอวัยวะภายนอก ขาแขนด้านใน
อวัยวะภายใน หัวใจ ปอด อยู่ด้านบนอวัยวะภายในม้าม ตับ ไต อยู่ด้านล่าง
ชี่ พลังงาน ไม่มีรูปเลือด ของเหลวในร่างกาย (津液จินเยี่ย) มีรูป

                                        

2. แบ่งตามหน้าที่สรีรวิทยา

หยาง - Yangอิน - Yin
ขึ้นบนลงล่าง
ออกนอก เข้าใน
กระตุ้นกดยับยั้ง
ให้ความร้อนอุ่นให้ความหนาวเย็น
ขับเคลื่อนให้ความชื้น (นิ่ง)
อรูป (พลังงาน)มีรูป


3. แบ่งตามอาการแสดงของโรค

หยาง - Yangอิน - Yin
ไข้ร้อนหนาว
จิตตื่นเต้นจิตหงอยเหงา
อุจจาระแห้งอุจจาระเหลว
ปัสสาวะสั้น เหลืองเข้มปัสสาวะใสขาว
สีหน้าสว่าง มีเงาสีหน้ามืด หมองคล้ำ
เสียงดัง เสียงสูงเสียงค่อย  เสียงต่ำ
ชีพจรลอย ใหญ่ ลื่น เร็ว แกร่งชีพจรจม เล็ก ฝืด ช้า พร่อง


4. แบ่งตามอิทธิพลหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรค (邪气เสียชี่)

หยาง - Yangอิน - Yin
แห้ง ลมชื้น
ไฟ (ร้อน)หนาว (เย็น)
เสียชี่หยาง (เป็นอันตรายต่อ  อินและน้ำของร่างกาย)เสียชี่อิน (เป็นอันตรายต่อ  หยางชี่ของร่างกาย)
แห้งร้อน  แห้งเย็น

กับคำกล่าวว่า  “หยางเกิน เป็นโรคอิน    อินเกิน เป็นโรคหยาง”

 
5. แบ่งตามรสและฤทธิ์ของยา (4 ฤทธิ์ 5 รส)

หยาง - Yangอิน - Yin
ฤทธิ์ร้อนฤทธิ์เย็นจัด
ฤทธิ์อุ่นฤทธิ์เย็น
รสเผ็ดรสขม
รสหวานรสเปรี้ยว
-รสเค็ม


การแปรเปลี่ยนไปสู่โรคพยาธิ
ความสมบูรณ์ของอิน-หยางในร่างกาย มีความสำคัญต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างส่วนบนหรือส่วนล่างของร่างกาย หรือ ระหว่างภายในหรือภายนอกร่างกาย หรือระหว่างพลังงานชี่นอกหรือพลังงานชี่ในร่างกาย หรือ ระหว่างชี่กับมวล ถ้าความสมดุลเสียไปก็ป่วยเป็นโรค แม้โรคต่าง ๆ จะซับซ้อนเพียงใด ก็มีวิธีรักษาโดยปรับสมดุลของอิน-หยางในร่างกาย การเสียสมดุลมี 2 แบบ ดังนี้

1. อินหรือหยางแกร่ง (阴阳偏盛  อิน-หยางเพียนเซิ่ง)
อินหรือหยางแกร่ง หมายถึง ภาวะที่อินหรือหยาง ด้านใดด้านหนึ่งเกิดแกร่งขึ้นมาข่มด้านตรงข้ามทำให้เกิดโรค เช่น เสียชี่ที่เป็นหยางเข้าสู่ร่างกาย อินและเยี่ย (น้ำจะถูกกระทบ เสียชี่ที่เป็นหยาง มีลักษณะร้อน ภาวะร่างกายจะมีหยางเพิ่มขึ้น มีอาการร้อน) แต่ถ้าเสียชี่เป็นอิน มีลักษณะเย็นเข้าสู่ร่างกาย ความเย็นจะเพิ่มขึ้น ทำลายหักล้างหยางลง จะมีอาการของความหนาวเย็น ดังในคัมภีร์ซู่เวิ่น อินหยางอิ้งเซี่ยงต้าลุ่น (素问 。阴阳应象大论) อธิบายว่า “อินแกร่งเป็นโรคหยาง หยางแกร่งเป็นโรคอิน อินแกร่งจักหนาว หยางแกร่งจักร้อน” สรุปคำว่า “โรคหยาง” หมายถึง สูญเสียหยางชี่ โรคอินหมายถึง สูญเสียอินและเยี่ย

2.  อินหรือหยางพร่อง  (阴阳偏虚  อิน-หยางเพียนซฺวี)
อินหรือหยางพร่อง หมายถึง ภาวะที่อินหรือหยาง ด้านใดด้านหนึ่งข่มหรือยับยั้งด้านตรงข้ามไม่อยู่ ทำให้เกิดโรคขึ้น ตัวอย่างเช่น อินพร่องหยางเกิน หยางพร่องอินเกิน อินพร่องจะร้อน หยางพร่องจะหนาว สำหรับอินพร่องหยางแกร่ง เนื่องจากอินที่พร่องจะทำให้มีอาการร้อน คอแห้ง ปากแห้ง อุจจาระแข็งแห้ง เมื่อไฟลอยขึ้นข้างบนแก้มจะแดง  มีเหงื่อออกและร้อนวันละสองครั้งเป็นเวลา เรียก เฉาเย่อ (潮热) ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว สำหรับกรณี หยางพร่องอินแกร่ง หยางพร่องจะทำให้หนาว จิตใจห่อเหี่ยวและไม่มีแรง กลัวหนาว ปลายมือเท้าเย็น อุจจาระเหลว ปัสสาวะมากนานสีขาว ลิ้นอ้วนซีด ชีพจรพร่อง อ่อนแรง 





การใช้หลักอินหยางในการป้องกันและรักษาโรค

อินหยางต้องอยู่คู่กันไม่แยกจากกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  ถ้าอินหรือหยางอย่างใดอย่างหนึ่งพร่องไป เช่น ถ้าอินพร่องพร่องระดับหนึ่งจะทำให้หยางพร่องด้วย และในทำนองเดียวกัน ถ้าหยางพร่องถึงระดับหนึ่ง จะไม่สามารถเกิดอินได้ และต่อไปพร่องทั้งคู่ เรียก อิน-หยางเหลี่ยงซฺวี (阴阳两虚) ถ้าอินหรือหยางพร่องจนหมด ชีวิตอยู่ไม่ได้ หยางหมดไป เรียก หยางทฺวอ (阳脱)  อินแห้งไป เรียก อินเจี่ย (阴竭)

แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์หมิง ชื่อ จางเจี้ยปิน (张介宾) ได้เขียนไว้ในตำราจิ่งเยฺวี่ยฉวนซู ซินลิ่วปาเจิ้น《景岳全书。新六八阵》ได้มีการบันทึกถึงวิธีรักษาว่า “การรักษาเสริมหยางที่ดี ให้เพิ่มยาอินเข้าไป การรักษาเสริมอินที่ดีนั้นให้เพิ่มยาหยางเข้าไป” วิธีนี้เรียกว่า “ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน”  ตำรับยาที่มีชื่อเสียงของท่าน คือ  อิ้วกุยหวาน (右归丸) โดยใช้ สูตี้ (熟地) ซึ่งเป็นตัวยาเสริมอินใส่ในตำรับยาเสริมหยาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตำรับยา และในตำรับยา จฺว่อกุยหวาน (佐归丸) ใส่ตัวยาเขากวางในตำรับยาเสริมอิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตำรับยาเสริมอิน ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของอิน-หยางตามหลัก “ในอินมีหยาง” และ “ในหยางมีอิน”

 
 
ข้อมูลประกอบบทความ
หนังสือศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น Basic Traditional Chinese Medicine
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-974-16-0792-1 พิมพ์ครั้งที่ 1 : ธันวาคม 2551

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้