Last updated: 2021-02-23 |
ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่พบบ่อย โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการหลังจากเป็นโรคเบาหวานนานมากกว่า 10 ปี แต่อาจเกิดช้าหรือเร็วกว่านั้น ขึ้นกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละราย
เซลประสาท (neurons) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีเมตาบอลิสึมที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลเส้นประสาท โดยส่วนหางของเซลประสาท (axon) จะเกิดการเสื่อม สภาพ ในลักษณะจากปลายสุดมาสู่ตัวเซลประสาท (dying back)
ดังนั้น เส้นประสาทส่วนที่อยู่ปลายทางสุด จึงกระทบกระเทือนและเกิดอาการก่อน เส้นประสาทใดยาวสุดก็จะมีอาการชัดเจนก่อน ด้วยเหตุนี้ปลายเท้าจึงชาก่อนปลายมือ และชาไล่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จากปลายนิ้วเท้า มาข้อเท้า มาขาท่อนล่าง จนถึงใต้เข่า ขอบเขตของอาการจึงมีลักษณะเหมือนคนใส่ถุงเท้า หากอาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการชาจนปวด (painful neuropathy) หรือหากเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่มีปลอกหุ้ม (myelinated nerve fiber) เสื่อมมาก จะทำให้เสียการทรงตัว หรือการเดินและยืนเซ จากการเสียการรับความรู้สึกที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว หรือชาจนเดินเซ เรียกว่า sensory ataxia อาจรุนแรงจนล้มเกิดอุบัติเหตุบ่อย หรือเป็นมากจนยืนและเดินไม่ได้
อาการชาจนปวดมีได้หลายลักษณะ ที่พบบ่อย คือ ชาเหมือนไฟลวก หรือเอาพริกทา ชาเจ็บแปล็บ ๆ เหมือนไฟช๊อต หรือเข็มทิ่มแทง ส่วนอาการที่เป็นน้อยกว่าและมักพบในระยะก่อนอาการชาจนปวด คือ ชาเหมือนไม่รู้สึก ชาเหมือนมีแมลงไต่ใต้ผิวหนัง
การรักษา
การรักษาอาการดังกล่าวทั้งหมด มักไม่ประสบผลสำเร็จ แพทย์ทั่วไปรวมทั้งแพทย์ระบบประสาทมักให้ไวตามิน โดยเฉพาะ B1-6-12 เมื่อมีอาการชา และให้กลุ่มยากันชักบางชนิดที่มีผลต่ออาการปวด เช่น Gabapentin จากประสบการณ์พบว่า ไวตามิน B1-6-12 มักได้ผลเฉพาะในรายที่เริ่มมีอาการใหม่ ๆ หรือรับประทานเพื่อป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หากมีอาการชัดเจนแล้ว มักจะไม่ช่วยให้หายชาได้
ยาในกลุ่มยากันชักได้ผลดีในคนไข้บางราย แต่มีราคาแพงและต้องใช้ไปตลอด เนื่อง จากเป็นยารักษาอาการ ไม่ได้ทำให้เส้นประสาทที่เสื่อมดีขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการมากขึ้นเมื่อเส้นประสาทเสื่อมมากขึ้น จึงต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาอยู่เสมอ จนผู้ป่วยทนไม่ไหว เช่น อาการง่วงซึม สมองสับสน วิงเวียนศีรษะ เดินเซ
ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ดีในการรักษาตามแบบฉบับของแพทย์แผนตะวันตก
การรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า ร่วมกับการใช้ ไวตามิน B1-6-12 ฉีดเข้าจุดฝังเข็ม เป็นวิธีรักษาที่ให้ผลดีมาก มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าการรักษาข้างต้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการชาดังกล่าวมากกว่า 50 รายพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการชาไม่นาน มักหายชาได้สนิท และหากทำการฝังเข็มเป็นระยะ เช่น เดือนละครั้ง จะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมานาน หรือมีอาการรุนแรงในระดับ ชาจนปวด (painful neuropathy) อาการปวดจะดีขึ้นทุกราย จนสามารถลดการใช้ยากันชัก หรือหยุดยาได้ เพียงแต่อาการจะหายหมดหรือไม่ จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคก่อนที่เริ่มรักษาด้วยการฝังเข็ม
อาการที่รักษายากที่สุดคือ sensory ataxia มักจะเป็นในระยะที่เส้นประสาทเสื่อมอย่างรุนแรงที่สุด และเกิดกับเส้นประสาทขนาดใหญ่ แต่การรักษาด้วยการฝังเข็ม หากทำติดต่อกันนานพอ ผู้ป่วยมักกลับมายืนและเดินได้อีกครั้ง โดยหายในระดับที่แตกต่างกัน เช่น จากยืนไม่ได้มาเป็นยืนได้และเดินได้ โดยต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น ไม้เท้าหรือมีคนจูงเดิน หรือจากยืนได้ แต่เดินไม่ได้ มาเป็นเดินได้โดยไม่ต้องมีคนหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ บางรายตอบสนองต่อการรักษาดีมาก จนสามารถเดินต่อเท้าได้ (Tandem walk) ซึ่งถือว่าหายในระดับที่ดีที่สุดก็มี
วิธีการรักษาโดยการฝังเข็ม แพทย์จะเลือกจุดฝังเข็มและวิธีการฝังเข็ม
โดยเลือกใช้จุดฝังเข็มที่อยู่ใต้ระดับเข่าลงมา จุดหลัก และจุดเสริม
ข้อสังเกตจากการรักษาผู้ป่วย
จากประสบการณ์ การใช้เข็มน้ำ โดยใช้ไวตามิน B12 ฉีดเข้าจุด ZuSanLi (ST 36) พบว่า ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ ไวตามิน B12 ครั้งละ 0.5 - 1 มล. ฉีดข้างใดข้างหนึ่ง เพียงข้างเดียวต่อครั้ง ฉีดทุกครั้งที่ทำฝังเข็ม
การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จัดเป็นการกระตุ้นเข็มแบบบำรุง โดยใช้การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าไปตามทิศทางของเส้นลมปราณ เลือกคลื่นแบบต่อเนื่อง ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเบา ๆ ไม่ต้องรู้สึก นาน 30 นาที ทำการฝังเข็ม 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบการรักษา (course) รอบการรักษาที่ 1 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 2 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 3 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกัน หลังจากนั้นรักษาสภาพที่ดีที่สุดที่ได้มาด้วยการให้การรักษา 1 ครั้ง ทุก 3 - 4 สัปดาห์ เป็นการรักษาเพื่อคงสภาพที่ดีไว้ (mantainance phase)
ผลการรักษา
ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการดีขึ้น แต่ต้องเน้นเรื่องการรักษาควบคุมโรคที่เป็นอยู่ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริง จำเป็นต้องควบคุมโรคให้ได้ดี เช่น คุมระดับน้ำตาลทั้ง fasting blood sugar และค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือด HbA1C ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการชาทั้งปลายมือและปลายเท้า การฝังเข็มที่ขาทั้งสองข้างดังกล่าวมาข้างต้นเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาอาการชาที่ปลายมือได้ด้วย โดยไม่ต้องมาฝังเข็มที่แขนหรือมือเลย
ผู้ป่วยที่มีอาการชาจนปวด จะค่อยทุเลาลงหลังให้การรักษาประมาณ 15 ครั้ง และค่อย ๆ ลดยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์และอาจหยุดยาได้หมดในอนาคต คงไว้แต่ ไวตามิน B1-6-12 รับประทานเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นวัตถุดิบให้เซลประสาทเอาไปใช้ซ่อมแซมตัวเอง
ผู้ป่วยที่มีอาการชาจนเดินเซ หลายรายกลับมายืนและเดินได้โดยไม่เซ หรือเซลดลง ทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยลงด้วย
แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ฝังเข็มรักษาโรคอย่างไร
ฝังเข็มเจ็บไหมอันตรายหรือไม่ ?
ข้อมูลประกอบบทความ
การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-0277-7
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ "แพทย์จีน" หรือสอบถาม
ถึงข้อมูลและแนวทางการรักษาในเบื้องต้นก่อนได้ที่
เบอร์โทรศัพท์ : 02-223-1111
HOTLINE : 095-884-3518
Facebook : huachiewtcm
LINE@ : @huachiewtcm
Feb 02, 2021
Feb 03, 2021
Feb 03, 2021
Feb 02, 2021