การฝังเข็มรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบดั้งเดิม

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13979 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบดั้งเดิม

การฝังเข็มรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบดั้งเดิม แพทย์จีนจะอาศัยการเลือกจุดฝังเข็มและเทคนิคการกระตุ้นเข็มตามสาเหตุและการวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน เนื่องจากเป็นโรคที่มีความหลากหลายทั้งอาการ ความรุนแรง การดำเนินของโรคและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและสภาพพื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละราย

1. โรคกระทำต่ออวัยวะภายใน หรือ จ้งจั้งฝู่

1.1 กลุ่มอาการปิด หรือ ปี้เจิ้ง

ลักษณะทางคลินิก: ล้มลงพร้อมกับหมดสติฉับพลัน กัดฟันและมือกำแน่น หน้าแดง หายใจแรง มีเสียงเสมหะในคอ ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก ลิ้นแดงมีฝ้าหนาสีเหลืองหรือเทาเข้ม ชีพจรผสมระหว่างเร็ว-ตึง-ลื่น-ใหญ่แรง (Shu-Xian-Hua-HongMai) ขึ้นกับสาเหตุก่อโรค

วิเคราะห์อาการ: หยางของตับที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดลมดึงชี่และเลือดขึ้นส่วนบน ร่วมกับมีการสะสมของไฟเสมหะไปรบกวนการทำงานของสมอง ทำให้หมดสติอย่างฉับพลัน กัดฟันและมือกำแน่น หน้าแดง หายใจแรง ปัสสาวะไม่ออกและท้องผูก ลมและเสมหะทำให้เกิดเสียงเสมหะในคอ

ลิ้นแดงบ่งถึงไฟ ฝ้าลิ้นหนาบ่งถึงเสมหะ สีของฝ้าเหลืองบ่งถึงความร้อน หากความร้อนมากจะเป็นสีเทาเข้มหรือเกรียม

ชีพจรเร็ว-ใหญ่แรง (Shu-HongMai) บ่งถึงความร้อนมากหรือไฟ ชีพจรตึง (XianMai) บ่งถึงลม (ตับ)  ชีพจรลื่น (HuaMai) บ่งถึงเสมหะ เนื่องจากโรคมีสาเหตุจากทั้งลม ไฟและเสมหะร่วมกัน

ชีพจรจึงมักเป็นแบบผสม แต่จะมีลักษณะเด่นไปตามสาเหตุที่มีสัดส่วนมาก

หลักการรักษา : เปิดทวารสมอง (ทำให้ฟื้นคืนสติ) ขจัดลมและไฟ สลายเสมหะ


อธิบาย : การเปิดทวารสมอง หรือฟื้นคืนสติ ถือเป็นเป้าหมายหลักของการรักษาโรคจ้งเฟิงในกลุ่มอาการนี้ จุดที่เลือกใช้จึงเป็นจุดที่มีสรรพคุณในการเปิดทวารสมองเป็นหลัก ร่วมกับจุดที่มีความเด่นในการจัดการกับสาเหตุและกลไกการเกิดโรค



1.2 กลุ่มอาการหลุด หรือ ทัวเจิ้ง

ลักษณะทางคลินิก : ล้มลงพร้อมกับหมดสติอย่างฉับพลัน ปากอ้าค้างและตาปิด มีเสียงกรนแต่หายใจแผ่วเบา แขนและขาอ่อนปวกเปียก ปัสสาวะราด ลิ้นตก (ลิ้นอ่อนแรงปวกเปียกไปตามแรงโน้มถ่วง)  ชีพจรเล็ก-จมอ่อน (Xi-RuoMai)

ในรายที่อาการรุนแรง จะมีแขนขา-มือเท้าเย็น หรือหน้าแดงเหมือนแต้มชาด ชีพจรลอยแผ่ว (RuMai) หรือลอยกระจาย (SanMai)

วิเคราะห์อาการ : เนื่องจากชี่ปฐมภูมิ (YuanQi) อ่อนพร่องอย่างรุนแรง อินและหยางแยกตัวจากกัน และชี่ของอวัยวะตันหมดกำลัง ทำให้เกิดอาการปากอ้าค้าง (ไม่มีแรงหุบปากเพราะชี่ม้ามหลุด) ตาปิด (ไม่มีแรงลืมตาเพราะชี่ตับหลุด) หายใจแผ่วเบา (ไม่มีแรงหายใจเพราะชี่ปอดหลุด) แต่มีเสียงกรน (จากลิ้นตก) แขนและขาอ่อนปวกเปียก (กล้ามเนื้อไม่มีแรงต้านทานเพราะชี่ม้ามพร่อง) มือแบออก (เพราะชี่หัวใจหลุด) ปัสสาวะและอุจจาระเรี่ยราด (เพราะชี่ไตหลุด) ลิ้นตกและชีพจรเล็ก-จมอ่อน บ่งชี้ว่าเลือดพร่องและหยางของไตหมดพลัง

ในรายที่มีอาการแขนขา-มือเท้าเย็น หรือหน้าแดงเหมือนแต้มชาด ชีพจรลอยแผ่วหรือลอย
กระจาย เป็นอาการของโรคขั้นวิกฤติ บ่งชี้ว่า อินของส่วนล่างหมดกำลังที่จะเหนี่ยวรั้งหยางไว้ ทำให้หยางลอยขึ้นและหลุดออกไป (หมายถึงเสียชีวิต)

หลักการรักษา : ฟื้นฟูหยางโดยการรมยาที่เส้นลมปราณเริ่น



2) โรคกระทำต่อเส้นลมปราณ หรือ จ้งจิงลั่ว

2.1) โรคของเส้นลมปราณเพียงอย่างเดียว และ

2.2) พยาธิสภาพตกค้างในเส้นลมปราณหลังอวัยวะภายในฟื้นตัวจาก จ้งจั้งฝู่

ทั้ง 2 กลุ่ม แม้เริ่มต้นด้วยความรุนแรงที่ต่างกัน แต่ในตอนท้ายยังคงหลงเหลืออาการที่เส้นลมปราณเช่นเดียวกัน จึงสามารถวิเคราะห์และให้การรักษาไปในแนวทางเดียวกันได้

ลักษณะทางคลินิก: อัมพาตหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก แขนขาชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาจมีอาการร่วมอื่น ได้แก่ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก ตาแดงและหน้าแดง กระหายน้ำ คอแห้ง กระสับกระส่าย ชีพจรตึง-ลื่น (Xian-HuaMai)

วิเคราะห์อาการ: เสมหะและลมผ่านเข้าสู่ระบบเส้นลมปราณ เนื่องจากความไม่สมดุลของอินและหยาง หรือหลังจากอวัยวะภายในได้รับการรักษาฟื้นฟูแล้ว แต่ลมและเสมหะยังคงปิดกั้นอยู่ในระบบเส้นลมปราณ ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนไม่คล่อง จึงเกิดอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก แขนขาชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เป็นอาการหลัก

หากหยางตับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีลมหยางรบกวนส่วนบน จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะและกล้ามเนื้อกระตุกได้ หากมีไฟหัวใจและไฟตับมากเกินไปจะเกิดอาการตาแดงและหน้าแดง กระหายน้ำ คอแห้ง และกระสับกระส่าย ลมและเสมหะที่ติดขัดอยู่ในเส้นลมปราณทำให้เกิดชีพจรตึงและลื่น

หลักการรักษา: ทะลวงเส้นลมปราณที่ติดขัด ปรับเลือดและชี่ให้ไหลเวียนคล่อง และขจัดลม


        
วิธีฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร

(醒脑开窍针刺法: XingNaoKaiQiaoZhenCiFa)

ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวคิดการฝังเข็มแบบ “ปลุกสมองเปิดทวาร” นั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ของสาเหตุและพยาธิกำเนิดของโรคจ้งเฟิงในทรรศนะของแพทย์แผนจีน

โดยแนวคิดใหม่นี้จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “เสิน (神)” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ “เสิน” ในความหมายในแง่กว้าง ซึ่งหมายถึง  สมอง จิตใจ จิตวิญญาณ  รวมทั้งการแสดงออกต่าง ๆ ของร่างกาย  ซึ่งสามารถใช้เสิน อธิบายพยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรคได้ตามแผนภูมิด้านล่าง


 
แผนภูมิที่ 2 แสดงแนวคิดของ “เสิน” ทางสรีรวิทยาและทางพยาธิกำเนิดของโรค

จากแผนภูมิข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับเสินมาก และมองว่าเสิน ซึ่งควบคุมโดยหัวใจในทางแพทย์แผนจีน ซึ่งเทียบได้กับสมองในทรรศนะของแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากสมองเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ การรับรู้ก็ต้องอาศัยสมอง


ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า พยาธิกำเนิดของโรคจ้งเฟิงอยู่ที่สมอง และมีกลไกการเกิดโรคสำคัญคือ “ทวารปิด เสินหลบซ่อน เสินไม่ชักนำชี่ (窍闭神匿,神不导气)” แม้ว่าการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีอาการแบบทันทีทันใดก็ตาม แต่ผู้ป่วยมักมีสภาพ พื้นฐานที่อ่อนแอเป็นระยะนานอยู่ก่อน  โดยเฉพาะตับ ไตพร่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อสาเหตุและ กลไกการเกิดโรค


ดังนั้น วิธีการฝังเข็มตามแนวดั้งเดิมที่เน้น การขจัดไล่ลมรักษาเส้นลมปราณ (散风治络) ที่เน้นการปักเข็มแนวเส้นลมปราณหยาง โดยเฉพาะเส้นลมปราณหยางหมิงที่มีเลือดลมมาก ดังที่เคยปฏิบัติกันมาอาจไม่เพียงพอ  ในแนวคิด “ปลุกสมองเปิดทวาร (醒脑开窍)” มีมุมมองว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือจ้งเฟิง เป็นโรคที่มีอาการหนัก มีอาการแสดงหลายอย่าง ระยะเวลาของโรคนาน ตำแหน่งของโรคอยู่ลึก การรักษาจึงต้องแก้ที่สาเหตุพื้นฐาน คือตับและไตพร่อง โดยมุ่งเน้นการ “หล่อเลี้ยงเสริมบำรุงตับและไต (滋补肝肾)” เป็นหลัก


ในขณะเดียวกัน การที่ผู้ป่วยมีทวารสมองถูกอุดกั้น เส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดไหลเวียนไม่คล่อง ทำให้แขนขาอ่อนแรงเคลื่อนไหวได้ลำบาก เพื่อให้การฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการรักษาให้เส้นลมปราณไหลเวียนได้คล่องร่วมไปด้วย ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลักการสำคัญของการรักษาคือ “ปลุกสมองเปิดทวาร หล่อเลี้ยงเสริมบำรุงตับและไตเป็นหลัก เสริมด้วยการทะลวงเส้นลมปราณให้ไหลเวียนคล่อง (醒脑开窍,滋补肝肾为主,疏通经络为辅)”

แนวคิดในการนำการปลุกสมองเปิดทวารมาใช้ในรักษาโรคหลอดเลือดสมองหรือจ้งเฟิงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาโรคดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนเทียนจิน เมือง เทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น (Shi XueMin,石学敏 教授) ได้เริ่มทำการค้นคว้าวิจัย “วิธีการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร (醒脑开窍针刺法)” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972   ซึ่งมีแนวคิดต่างไปจากการฝังเข็มแบบเดิม โดยนำมาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อ รักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ พบว่าให้ผลในการรักษาที่ดีมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติแนวคิดในการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคจ้งเฟิง


งานวิจัยของศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น นี้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นในระดับประเทศ มีแพทย์แผนจีนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากเดินทางมาเพื่อศึกษาดูงานด้านนี้ ศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น ได้ใช้หลักพื้นฐานของการรักษาโรคตามแพทย์แผนจีน หลักการฝังเข็ม ร่วมกับทฤษฎีการเกิดโรค ทำการศึกษาค้นคว้า ทดลอง ทดสอบในผู้ป่วยกว่า 20 ปี จนตกผลึกเป็นแนวทางในการรักษา ทั้งในแง่จุดที่เลือกใช้ ทิศทาง ความลึก และความแรงในการกระตุ้นเข็ม
วิธีปฏิบัติในการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร

วิธีการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร เป็นวิธีการรักษาที่มุ่งแก้ไขกลไกพื้นฐานของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง ซึ่งมีการบดบังทวารสมองจากเลือดคั่ง ลมตับ เสมหะ เป็นต้น ทำให้ทวารสมองปิด เสินถูกปิดบัง  เสินไม่สามารถชักนำชี่ได้ (窍闭神匿,神不导气)

การฝังเข็มโดยวิธีนี้จะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณอิน และเส้นลมปราณตูเป็นหลัก ร่วมกับการใช้เทคนิคเฉพาะในการฝังเข็มเพื่อเพิ่มผลการรักษา ซึ่งพบว่าถ้าสามารถเริ่มฝังเข็มได้เร็วเท่าไหร่ ผลการรักษาก็จะยิ่งดีและเร็ว ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพ (โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต) ที่สม่ำเสมอหรือค่อนข้างคงที่ ก็สามารถเริ่มใช้การฝังเข็มร่วมไปกับวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ทันที


จุดเด่นของการฝังเข็มตามแนวคิด “ปลุกสมองเปิดทวาร”

1. เป็นวิธีรักษาที่มีพัฒนาการมาจากความเข้าใจ ในสาเหตุและกลไกการเกิดโรค โดยการที่พบ ว่า สมองกับเสินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และโรคมีสาเหตุพื้นฐาน คือ “บนแกร่งแต่ล่างพร่อง (证是上实,而上实由于下虚)” และมีกลไกร่วมคือ “ทวารปิดเสินหลบซ่อน (窍闭神匿)”


2. มีการพัฒนา วิธีการเลือกและจับคู่จุดที่ใช้ โดยมีจุดจากเส้นลมปราณอินเป็นหลัก ต่างจากในอดีตที่ใช้จุดจากเส้นลมปราณหยางเป็นหลัก เนื่องจากต้องการเน้นการบำรุงล่างพร่อง (ตับและไตพร่อง) ร่วมกับการปลุกสมองให้กลับมาทำงานตามปกติ


3. มีการทดสอบและศึกษาถึง ทิศทาง ความลึก วิธีการกระตุ้นเข็ม และความแรงที่ใช้ในจุดฝังเข็มแต่ละจุด เป็นหลักการที่แน่นอน และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้