ปวดศีรษะกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  9997 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดศีรษะกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่สามารถพบได้ในทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยทั่วไปแล้วนั้นเราทุกคนต่างก็เคยประสบกับอาการปวดศีรษะมาแล้วทั้งสิ้น อาการปวดศีรษะนั้นสามารถเกิดได้เป็นบางบริเวณหรือทั่วศีรษะก็ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการทำงานได้ หากเป็นชั่วคราวนานๆเกิดขึ้นครั้งหนึ่งนั้นก็ยังไม่น่าวิตกอะไรมากนัก ทานยาแก้ปวดไม่กี่ครั้งก็สามารถทุเลาและหายจากอาการปวดศีรษะได้ แต่ที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากคือการปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำๆเป็นประจำ ต้องคอยรับประทานยาเพื่อระงับอาการปวดอยู่ตลอดเวลา ในบางกรณีเมื่อทานยาไปถึงระยะเวลาหนึ่งกลับต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นจึงจะสามารถระงับอาการปวดนั้นๆไว้ได้

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันสามารถแบ่งสาเหตุของการปวดศีรษะได้เช่น สาเหตุจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะและคอ สาเหตุจากการทำงานของระบบประสาทที่ผิดปกติ สาเหตุจากการขยายตัวหลอดเลือดบริเวณศีรษะ สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย สาเหตุจากจากโรคหรือภาวะต่างๆ อาทิ เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง การติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

ในปัจจุบันอาการปวดศีรษะเรื้อรังนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) และปวดศีรษะข้างเดียวหรือที่เรียกว่าปวดศีรษะไมเกรน (migraine) ซึ่งพบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปวดศีรษะจากความเครียดเป็นอาการที่พบได้บ่อยครั้งที่สุด ลักษณะอาการนั้นจะมีอาการปวดชนิด กดหรือบีบหรือ รัดแน่น อาการปวดมักเริ่มบริเวณท้ายทอย ร้าวมาที่ขมับทั้งสองข้าง แล้วปวดทั้งศีรษะ การปวดศีรษะชนิดนี้อาจพบร่วมกับการปวดศีรษะไมเกรนได้ หรืออาจมีอาการกดเจ็บที่หนังศีรษะร่วมด้วย สำหรับการปวดศีรษะไมเกรนนั้นมักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยมีอาการปวดแบบตุบ ๆ ที่ด้านหน้าหรือด้านข้างของศีรษะ

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงยังมีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียงเพิ่มขึ้น


การรักษาอาการปวดศีรษะด้วยการแพทย์แผนจีน
สำหรับในทางการแพทย์แผนจีนนั้นอาการปวดศีรษะจัดเป็นโรคโถวท่ง “头痛” ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยภายนอกอาทิเช่น ลมเย็น ลมร้อน ลมชื้น เป็นต้น

ปัจจัยภายในนั้นมักมีความสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ม้ามและไต อาทิในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะไตอินพร่อง ส่งผลให้หยางของตับลอยขึ้นสู่เบื้องบน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้ หรือในผู้ที่มีภาวะกดดันทางอารมณ์ จะทำให้ชี่ตับไม่ระบาย ชี่ติดขัดเกิดเป็นไฟลอยสู่เบื้องบน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือการทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ตรงเวลา ร่วมกับการทำงานหนักเกินไป จะทำให้การย่อยและดูดซึมสารอาหารของม้ามเสียสมดุล เกิดเป็นเสมหะและของเสียต่างๆอุดกั้นที่จงเจียว ส่งผลให้การส่งต่อสารสำคัญไปเบื้องบนและขับของเสียลงเบื้องล่างสูญเสียไป จนเกิดอาการปวดศีรษะขึ้น เป็นต้น

นอกจากสาเหตุจากอวัยวะทั้ง 3 แล้ว ภาวะชี่และเลือดพร่อง ภาวะชี่และเลือดติดขัด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน


การวินิจฉัยโรคปวดศีรษะของแพทย์แผนจีนนั้นต้องอาศัยข้อมูลต่างๆเข้ามาประกอบกันเช่น บริเวณที่ปวด ลักษณะการปวด ระยะเวลาของโรค อาการร่วมอื่นๆ การดูลิ้น การจับชีพจรเป็นต้น เพราะข้อมูลเหล่านี้จะบ่งบอกถึงกลไกการเกิดของโรคและทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาได้อย่างแม่นยำตรงตามสาเหตุของโรคได้

สำหรับหลักการรักษานั้น หากวินิจฉัยได้ว่าโรคนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจาก “ภาวะแกร่ง” หลักการรักษาจึงมักใช้ การระบายลมและขับชี่ก่อโรค เป็นหลัก สำหรับปัจจัยภายในนั้นจะเกิดขึ้นได้จากทั้ง “ภาวะแกร่ง” และ “ภาวะพร่อง” การรักษาจึงสามารถใช้ได้ทั้งการบำรุงหรือระบาย หรือทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ตามแต่สาเหตุของโรค

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

1. ภาวะ / กลุ่มอาการลมเย็นกระทบศีรษะ Pattern / syndrome of wind-cold invading the head (风寒犯头证 Fēng hán fàn tóu zhèng): มักมีอาการปวดศีรษะทั่วบริเวณ อาการปวดค่อนข้างรุนแรง ปวดไปถึงคอและหลัง กลัวลมเย็น ปากแห้งไม่กระหายน้ำ ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึงแน่นลอย

2.ภาวะ / กลุ่มอาการลมร้อนกระทบศีรษะ Pattern / syndrome of wind-heat invading the head (风热犯头证 Fēng rè fàn tóu zhèng) : มักมีอาการปวดตึงศีรษะ ไปจนกระทั่งรู้สึกเหมือนจะแตก มีไข้กลัวลม หน้าแดงกล่ำ คอแห้งกระหายน้ำ ท้องผูก ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ขอบลิ้นและปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว

3. ภาวะ / กลุ่มอาการลมชื้นกระทบศีรษะ Pattern / syndrome of wind-dampness invading the head (风湿犯头证 Fēng shī fàn tóu zhèng) : มักมีอาการปวดศีรษะเหมือนถูกมัดไว้ แขนขารู้สึกหนัก ตัวร้อนรุมๆ แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร ปัสสาวะไม่คล่อง อุจจาระเหลว ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรลื่นหรือลอยอ่อน

4. ภาวะ / กลุ่มอาการหยางตับกําเริบขึ้นบน Pattern / syndrome of ascendant hyperactivity of liver yang (肝阳上亢证 Gān yáng shàng kàng zhèng) : มักมีอาการปวดตึงศีรษะหรือปวดแบบดึงรั้ง ปวดศีรษะมักเป็นที่ด้านข้างทั้งสองด้าน เวียนศีรษะ ตาลาย กระวนกระวายใจ โมโหง่าย หน้าแดง ตาแดง ปากขม ปวดสีข้าง นอนไม่หลับ ฝันมาก ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง หรือฝ้าน้อย

5. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่พร่อง Qi deficiency pattern / syndrome  (气虚证 Qì xū zhèng) : มักมีอาการปวดศีรษะหน่วงๆ กำเริบเป็นบางครั้ง ถ้าอ่อนเพลียจะเป็นมากขึ้น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่มีแรงพูด เหงื่อออกง่าย สีหน้าออกซีด ลิ้นสีแดงอ่อน หรือซีดอ้วน ขอบมีรอยฟัน ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กอ่อนหรือชีพจรใหญ่แต่ไม่มีแรง

6. ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดพร่อง Blood deficiency pattern / syndrome (血虚证 Xuè xū zhèng) : มักมีอาการปวดศีรษะหน่วงๆเรื่อยๆ สีหน้าไม่สดชื่น เวียนศีษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ ฝันมาก ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กหรือเล็กอ่อน

7. ภาวะ / กลุ่มอาการไตพร่อง Kidney deficiency pattern / syndrome(肾虚证 Shèn xū zhèng): มักมีอาการปวดศีรษะแบบกลวงโล่ง เอวและเข่าเมื่อยอ่อนแรง เวียนศีรษะ มีเสียงในหู ขี้ลืม น้ำกามเคลื่อน ตกขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากไตหยางพร่องจะมีอาการไม่ชอบหนาวแขนขาเย็น หากไตอินพร่องจะมีอาการหน้าแดงระเรื่อ ร้อน ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า เหงื่อออกกลางคืน ลิ้นใหญ่ซีดหรือลิ้นแดง ฝ้าขาวบาง หรือฝ้าน้อย ฝ้าลอก

8. ภาวะ/กลุ่มอาการเสลดกระทบศีรษะ Pattern / syndrome of phlegm turbidity invading the head (痰浊犯头证 Tán zhuó fàn tóu zhèng) : มักมีอาการปวดศีรษะหนักๆ ท้องและหน้าอกแน่น เบื่ออาหารคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะตาลาย อ่อนเพลียไม่มีแรง ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวหนา ชีพจรลื่นหรือตึงลื่น

9. ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งกระทบศีรษะ Pattern / syndrome of static blood invading the head (瘀血犯头证 Yū xiě fàn tóu zhèng) : มักมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือปวดเหมือนเข็มแทง เมื่อเวลาผ่านไป อาการไม่ทุเลาลง ตำแหน่งที่ปวดอยู่กับที่ กลางวันอาการจะเบาลงกลางคืนอาการจะมากขึ้น มีประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือมีประวัติปวดศีรษะเป็นระยะเวลานาน ลิ้นแดงคล้ำ หรือขอบลิ้นแดงมีจ้ำเลือด จุดคล้ำ หรือเส้นเลือดดำใต้ลิ้นพอง ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กตึงหรือเล็กฝืด

ตัวอย่าง กรณีศึกษา
การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรม หัวเฉียวแพทย์แผนจีน

ข้อมูลทั่วไป : นางฐิXXX XXX เพศหญิง อายุ 52 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย : HN 285XXX
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก : วันที่ 11 เมษายน 2561
อาการสำคัญ : ปวดศีรษะด้านซ้าย 10 ปี

ประวัติอาการ : ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดศีรษะด้านซ้ายอาการเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลา 10 ปี ลักษณะปวดเหมือนเข็มแทง ร่วมกับมีอาการปวดเจ็บเหมือนเข็มแทงตามร่างกาย ทานยาแผนปัจจุบันอาการจะทุเลาลงแต่ก็กลับมาเป็นซ้ำสลับไปมา โดยในช่วง 5 วันที่ผ่านมาอาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น จึงได้มาปรึกษาแพทย์แผนจีนเพื่อทำการรักษา

อาการที่มาในปัจจุบัน : ปวดศีรษะด้านซ้ายอาการเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลา 10 ปี ลักษณะปวดเหมือนเข็มแทง ร่วมกับมีอาการปวดเจ็บเหมือนเข็มแทงตามร่างกาย โดยในช่วง 5 วันที่ผ่านมา อาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น อาการร่วมอื่นๆได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจไม่เต็มปอด ขี้หนาว นอนไม่หลับ โดยมีลักษณะนอนหลับยาก ฝันมากและตื่นง่าย เวลาอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะมีอาการคัดจมูก นํ้ามูกไหลและจาม ความอยากอาหารปกติ การขับถ่าย 2-3วัน/ครั้ง ลักษณะอุจจาระจับตัวเป็นก้อนดี แต่แห้งแข็ง

ประวัติในอดีต : ไม่มี
ตรวจร่างกาย : ความดันโลหิต 108/60 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 66 ครั้ง/นาที ตรวจชีพจรพบชีพจรด้านซ้ายตึง ชีพจรด้านขวาเล็กและตึง(ตำแหน่งชุ่นและกวน)

ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน เส้นเลือดดำใต้ลิ้นโป่งพองเล็กน้อย

การวินิจฉัย : โรคปวดศีรษะ 头痛 tóu tòng

ภาวะ / กลุ่มอาการชี่พร่องและเลือดคั่ง
Pattern / syndrome of qi deficiency with blood stasis (气虚血瘀qì xū xuè yū)

วิธีการรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต สลายเลือดคั่ง บำรุงชี่และขับเคลื่อนชี่ โดยเลือกใช้ตำรับยาทงเชี่ยวหัวเสวี่ยทางเพิ่มลดในการรักษา รับประทานหลังอาหารเช้า-เย็น

ผลการรักษาพบแพทย์ครั้งที่ 2 (วันที่ 18 เมษายน 2561) 
- หลังรับประทานยาไป 1 อาทิตย์อาการปวดศีรษะทุเลาลงกว่า 90% (จากการประเมินด้วยตนเองของผู้ป่วย) อาการเจ็บเหมือนเข็มแทงตามร่างกายหายไป เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงอาการคัดจมูก นํ้ามูกไหลและจามความรุนแรงลดลง อาการขี้หนาวลดลง ขับถ่ายดีขึ้น โดยสามารถถ่ายได้วันละ 1ครั้ง ลักษณะอุจจาระอ่อนนุ่มและจับตัวเป็นก้อนดี ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่เต็มปอด นอนไม่หลับ โดยมีลักษณะนอนหลับยาก ฝันมากและตื่นง่าย ความอยากอาหารปกติ

- ตรวจชีพจรพบชีพจรด้านซ้ายเต้นเชื่องช้า (ชีพจรปกติ) ชีพจรด้านขวาเล็ก (ตำแหน่งชุ่นและกวน)

- ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน ปลายลิ้นแดง เส้นเลือดดำใต้ลิ้นที่โป่งพองกลับมาปกติ

พบแพทย์ครั้งที่ 3 (วันที่ 2 พฤษภาคม 2561) 
- อาการปวดศีรษะหายไป ไม่มีอาการเจ็บเหมือนเข็มแทงตามร่างกาย รู้สึกสดชื่นมีกำลัง หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น อาการขี้หนาวหายไป เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงอาการคัดจมูก นํ้ามูกไหลและจามความรุนแรงลดลง ขับถ่ายได้วันละ 1ครั้ง ลักษณะอุจจาระอ่อนนุ่มและจับตัวเป็นก้อนดี ยังคงมีอาการนอนไม่หลับ โดยมีลักษณะนอนหลับยาก ฝันมากและตื่นง่าย แต่ในภาพรวมผู้ป่วยรู้สึกนอนหลับดีขึ้น ความอยากอาหารปกติ

- ตรวจชีพจรพบชีพจรด้านซ้ายเต้นเชื่องช้า (ชีพจรปกติ) ชีพจรด้านขวาเล็ก
- ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน เส้นเลือดดำใต้ลิ้นปกติ

พบแพทย์ครั้งที่ 4 (วันที่ 15 พฤษภาคม 2561) 
- มีอาการปวดศีรษะและเจ็บเหมือนเข็มแทงปรากฎขึ้นบ้าง แต่ในระดับที่เบาบาง รู้สึกสดชื่นมีกำลัง หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น อาการขี้หนาวหายไป เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงไม่มีอาการคัดจมูก นํ้ามูกไหลและจาม ขับถ่ายได้วันละ 1ครั้ง ลักษณะอุจจาระอ่อนนุ่มและจับตัวเป็นก้อนดี การนอนหลับดีขึ้น สามารถเข้านอนได้ง่าย แต่ยังคงมีอาการตื่นง่ายและฝันมากอยู่ ความอยากอาหารปกติ

- ตรวจชีพจรพบชีพจรด้านซ้ายและขวาเต้นเชื่องช้า(ชีพจรปกติ)
-  ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน เส้นเลือดดำใต้ลิ้นปกติ
* เนื่องจากผู้ป่วยติดภารกิจส่วนตัวจึงไม่ได้มาทำการรักษาต่อ

สรุปผลการรักษา
จากเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถรักษาอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจและรวดเร็ว ส่งผลให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้น

วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะโดยมีตำแหน่งที่ชัดเจนแน่นอน(ศีรษะด้านซ้าย) ร่วมกับมีลักษณะการปวดเหมือนเข็มแทง และตามร่างกายมีอาการเจ็บเหมือนเข็มแทงเช่นกัน โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นอาการที่พบในกลุ่มอาการเลือดคั่ง จัดเป็นอาการแกร่ง นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยยังมีอาการอ่อนเพลีย ขี้หนาว ขับถ่ายไม่สะดวก และไม่สามารถทนทานต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อาการดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจาก ชี่ของกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง จัดเป็นอาการพร่อง

สำหรับชีพจรนั้นมีชีพจรตึงและเล็ก โดยชีพจรตึงนั้นบ่งบอกถึงการไหลเวียนของชี่และเลือดในเส้นลมปราณตับและถุงนํ้าดีไม่ดี ซึ่งเส้นลมปราณดังกล่าวนั้นมีทิศทางพาดผ่านศีรษะด้านข้าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอาการปวด ส่วนชีพจรเล็กนั้นจะบ่งบอกถึงภาวะพร่องในร่างกาย

สำหรับลิ้นนั้นพบขอบลิ้นมีรอยฟัน ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะพร่อง

โดยสรุปในผู้ป่วยรายนี้นั้นจึงมีทั้งอาการแกร่งและพร่องอยู่ร่วมกัน การรักษาจึงด้วยยาสมุนไพรจีนจึงต้องมีการปรับตัวยาและขนาดยาให้เหมาะสม ซึ่งต้องใช้ทั้งหลักการบำรุงและระบายร่วมกัน

หลังการรักษาไปเพียง 1 อาทิตย์ อาการปวดศีรษะก็ได้ทุเลาลงไปกว่า 90%(จากการประเมินด้วยตนเองของผู้ป่วย) อาการเจ็บเหมือนเข็มแทงตามร่างกายหายไป และเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1เดือนกว่าพบว่าอาการปวดศีรษะนั้นทุเลาลงไปอย่างมาก โดยอาจพบบ้างเป็นบางครั้งบางคราวและระดับความรุนแรงค่อนข้างเบาบาง

จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้นพบว่าอาการปวดศีรษะสามารถใช้ยาสมุนไพรจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาได้ทั้งสิ้น โดยผลการรักษามักเป็นที่น่าพอใจ ในบางกรณีอาจต้องมีการรักษาควบคู่ไปกับการฝังเข็มร่วมด้วย อย่างไรก็ตามควรตรวจหาสาเหตุอื่นๆเพิ่มเติมหากจำเป็น เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง การติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ (เฉิน จู เซิง)
คลินิกอายุรกรรม

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้