Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 22230 จำนวนผู้เข้าชม |
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มุ่งเน้นทำความเข้าใจทั้งหลักในการป้องกันโรคและหลักในการรักษาโรค ซึ่งทั้งสองหลักนี้เป็นการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืนยาว โดยบทความนี้จะเน้นกล่าวถึงการป้องกันโรคเป็นหลัก
การป้องกันโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนเน้นการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและการป้องกันการเกิดโรค ซึ่งรวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดโรค ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของโรคไม่ให้ดำเนินไปในทิศทางที่แย่ลง และป้องกันโรคไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ แพทย์แผนจีนเชื่อว่าการป้องกันโรคจำเป็นต้องเน้นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับภูมิต้านทาน
ดังคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ภาคซู่เวิน บทชื่อฝ่าลุ่น《素问·刺法论》บันทึกว่า “มีภูมิต้านทานที่ดี ปัจจัยก่อโรคแทรกแซงไม่ได้(正气存内,邪不可干)” และเน้นการป้องกันการรุกรานจากปัจจัยก่อโรค
คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ภาคซู่เวิน บทซ่างกู่เทียนเจินลุ่น《素问·上古天真论》กล่าวว่า “ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยก่อโรคอย่างถูกเวลา(虚邪贼风,避之有时)”
สาธารณรัฐประชาชนจีน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชน ได้มีการจัดทำ "คู่มือการดูแลสุขภาพ"《中国公民中医养生保健素养》ออกมา ในคู่มือมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงห้าจุดสำคัญที่สามารถพิชิตโรคได้ ได้แก่
จุดถานจง Tan Zhong : CV17
จุดซานอินเจียว San Yin Jiao : SP6
จุดจู๋ซานหลี่ Zu San Li : ST36
จุดหย่งเฉวียน Yong Quan : KI1
จุดกวานหยวน Guan Yuan : CV4
จุดถานจง Tan Zhong : CV17
อยู่บนเส้นลมปราณเริ่น บริเวณทรวงอกบนแนวเส้นกึ่งกลางลำตัว ระดับช่องซี่โครงที่สี่ คนจีนสมัยโบราณจึงเรียกตำแหน่งนี้ว่า "ถานจง" เนื่องจากทรวงอกเป็นที่อยู่ของปอด ปอดมีหน้าที่ควบคุมชี่ทั่วร่างกาย จุดถานจงจึงมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของชี่ ขยายทรวงอกให้โล่ง กระจายความคั่งของชี่ เปรียบเสมือนเป็นจุดศูนย์รวมของชี่ ใช้รักษาโรคที่เกิดจากชี่ไหลเวียนติดขัดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอาการสะอึก เจ็บแน่นหน้าอก ไอหอบ ใจสั่น นอกจากนี้จุดถานจงยังเป็นจุดสำคัญในการรักษาโรคทางเต้านมของสตรีได้ หากนวดคลึงจุดนี้เป็นประจำสามารถป้องกันโอกาสเกิดโรคทางเต้านมต่างๆ เช่นเต้านมอักเสบ ปวดคัดเต้านม
วิธีการ
ใช้ฝ่ามือถูไปกลับ เป็นเส้นตรงบริเวณจุดถานจงด้วยความเร็วประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที เป็นเวลา 1-3 นาที หรือจนรู้สึกร้อนบริเวณผิวหนัง
จุดซานอินเจียว San Yin Jiao : SP6
จุดซานอินเจียว อยู่บริเวณขาด้านใน เหนือยอดตาตุ่มขึ้นมา 3 ชุ่น ชิดขอบหลังของกระดูกหน้าแข้ง
"ซาน" แปลว่า "สาม"
"อิน" หมายถึง "เส้นลมปราณอิน"
"เจียว" แปลว่า "ตัดกัน"
จุดซานอินเจียว จึงเป็นจุดที่เส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม เส้าอินไตและเจวี๋ยอินตับมาตัดกัน ม้ามมีหน้าที่สร้างเลือดและลำเลียงสารอาหาร ตับมีหน้าที่ดูแลการไหลเวียนของชี่ให้แผ่ซ่านไม่ติดขัดและสะสมเลือด
ไตมีหน้าที่ควบคุมน้ำในร่างกายและกักเก็บสารจิง ทำให้มีสรรพคุณช่วยบำรุงม้าม บำรุงไต ระบายตับได้ จึงมีขอบเขตในการรักษาโรคที่ค่อนข้างกว้าง
ในทางแพทย์แผนจีนเลือดและสารจิงเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสืบพันธุ์ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีโครงสร้างทางสรีรวิทยาเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ตกขาว การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
จุดซานอินเจียวจึงเป็นจุดแรกๆที่แพทย์แผนจีนเลือกนำมาใช้รักษาโรคทางนรีเวช ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดประจำเดือน ตกขาวขุ่น ภาวะมีบุตรยาก อาการหลังคลอดบุตร ส่วนในเพศชายสามารถรักษาอาการฝันเปียก หลั่งเร็ว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
เนื่องจากจุดซานอินเจียวสังกัดเส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม ตามมุมมองแพทย์แผนจีนกล่าวว่าม้ามทำหน้าที่ร่วมกับกระเพาะอาหาร ถือเป็นรากฐานชีวิตหลังคลอด มีหน้าที่ควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหารและน้ำ ดังนั้นจึงสามารถรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารได้โดยตรง
วิธีการ
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงเบาๆ บริเวณจุดซานอินเจียวทุกวัน วันละ 3-5 นาที
จู๋ซานหลี่ Zu San Li : ST36
จุดจู๋ซานหลี่ อยู่ใต้กระดูกหัวเข่า 3 ชุ่น ห่างจากกระดูกหน้าแข้ง 1 นิ้วมือ สังกัดอยู่เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร หน้าที่ของกระเพาะอาหารคือรองรับอาหารและน้ำ ถือเป็นเสมือนทะเลแห่งสารอาหารในทางแพทย์แผนจีน นอกจากนี้กระเพาะอาหารยังเป็นแหล่งย่อยอาหารระดับต้น ทำหน้าที่ร่วมกับม้าม จุดนี้จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงจงเจียว เสริมชี่ เป็นจุดสำคัญในการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก บิด ท้องเดิน
อีกทั้งจากการศึกษาวิจัยยังพบว่าจุดจู๋ซานหลี่สามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายได้ จึงถือเป็นจุดหลักในการปรับสมดุลร่างกายและบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง สามารถรักษาโรคเรื้องรังต่างๆที่เกิดจากชี่พร่อง ร่างกายอ่อนแอไม่แข็งแรง เหนื่อยล้าง่าย หากใช้คู่กับจุดซานอินเจียวสามารถบำรุงได้ทั้งชี่และเลือด จึงเป็นจุดที่ใช้บ่อยมากจุดหนึ่งในทางคลินิก
วิธีการ
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงเบาๆ บริเวณจุดจู๋ซานหลี่ทุกวัน วันละ 3-5 นาที หรือรมยาจุดจู๋ซานหลี่เป็นประจำทุกวัน วันละประมาณ 10-15นาทีหรือรมยาจนผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ
จุดหย่งเฉวียน Yong Quan : KI1
จุดหย่งเฉวียน เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต เมื่องุ้มเท้าจุดนี้จะอยู่ตรงจุดที่บุ๋มที่สุดของฝ่าเท้า มีสรรพคุณบำรุงไตและหยวนชี่ (หยวนชี่เป็นชี่สำคัญและเป็นชี่พื้นฐานของร่างกาย) ตามหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีนไตเปรียบเสมือนรากฐานชีวิตก่อนคลอด มีหน้าที่กักเก็บสารจิง ซึ่งสารจิงเป็นสารจำเป็นพื้นฐานของร่างกายและการดำเนินชีวิต ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย
ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่สารจิงสมบูรณ์เต็มที่ และเมื่อล่วงเข้าสู่วัยกลางคน สารจิงจะค่อยๆลดลง ร่างกายค่อยๆเสื่อมสภาพลง กระดูกไม่แข็งแรง ผมขาว ตาพร่ามัว ฟันร่วง ขี้หลงลืม หากนวดจุดนี้เป็นประจำทุกวันสามารถช่วยบำรุงสุขภาพให้แข็งแรงได้ จุดหย่งเฉวียนจึงจัดเป็นจุดบำรุงสุขภาพที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ
วิธีการ
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงเบาๆ บริเวณจุดหย่งเฉวียนทุกวัน วันละ 3-5 นาที
จุดกวานหยวน Guan Yuan : CV4
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จุดตันเถียน” สังกัดเส้นลมปราณเริ่น อยู่บริเวณท้องน้อย บนเส้นกึ่งกลางบริเวณลำตัวห่างจากสะดือลงมา 3 ชุ่น คำว่ากวานแปลว่าสะสม หยวนหมายถึงหยวนชี่ ดังนั้นกวานหยวนจึงเปรียบเสมือนแหล่งสะสมของหยวนชี่ จึงมีสรรพคุณบำรุงหยวนชี่ อุ่นไตบำรุงหยาง ป้องกันไม่ให้หยางหลุดลอย เป็นจุดที่นิยมใช้รักษาหรือฟื้นฟูร่างกายจากโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทาน (เจิ้งชี่) ของร่างกายถูกทำลาย หรือหยวนชี่ไม่เพียงพอ
อีกทั้งเมื่อดูจากตำแหน่งของจุดกวานหยวนแล้ว จะเห็นได้ว่าจุดนี้อยู่บริเวณท้องน้อย จึงมีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและเพศชายเช่น ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนไม่มา ตกขาว มดลูกหย่อน ฝันเปียก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคระบบทางเดินปัสสาวะเช่น ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ รวมไปถึงโรคระบบลำไส้เช่น ท้องเสีย ท้องผูก โรคบิด ไส้เลื่อน
วิธีการ
รมยาจุดกวานหยวนเป็นประจำ วันละประมาณ 10-15 นาที หรือ รมยาจนผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ หรือใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงเบาๆ บริเวณจุดกวานหยวนวันละ 3-5 นาที
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี
(เจี่ย จิ้ง เหวิน) 贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.765
25 ก.ย. 2567
25 ต.ค. 2567