โรคนอนหลับมากเกินไป Hypersomnia

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  4527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคนอนหลับมากเกินไป Hypersomnia

          การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะในระหว่างการนอนหลับจะเกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากร่างกายไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนกับการทำกิจกรรมอื่นๆ การนอนหลับถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีความจำเป็นของชีวิต การนอนหลับที่ดี คือการนอนหลับที่มีคุณภาพซึ่งช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน การนอนหลับพักผ่อนในแต่ละวันจึงจำเป็นที่จะต้องมีระยะเวลาในการนอนที่พอเหมาะ และหลับอย่างสนิทจึงจะทำให้รู้สึกสดชื่นเวลาตื่นในแต่ละวันได้

          บุคคลจำนวนมากมีความเข้าใจว่า การได้นอนหลับวันละหลายๆชั่วโมง จะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนนานขึ้น แต่ในทางการแพทย์แล้ว การนอนหลับมากเกินไป กลับส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี เช่น น้ำหนักขึ้นง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ความคิดช้า มึนงง รอบเดือนผิดปกติ และอาจมีอาการซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน ดังนั้นทางการแพทย์จึงจัด โรคนอนหลับมากเกินไป (Hypersomnia , 嗜睡) เป็นโรคผิดปกติทางการนอนอย่างหนึ่ง

สาเหตุการเกิดโรค

1. อดนอนเป็นเวลานาน และบ่อยครั้ง จนทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ
2. นาฬิกาชีวิตแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น ผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีช่วงเวลาต่างกันมาก
3. ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองผิดปกติ ทำให้นอนมากเกินไป
4. นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอ
5. สมองได้รับการบาดเจ็บ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง

โรคนอนหลับมากเกินไปนั้นมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

          จากเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental disorders fifth edition (DSM-5) ได้ระบุถึงโรคนอนเกิน (Hypersomnia) ว่ามีเกณฑ์การวินิจฉัยอาการดังนี้

มีความรู้สึกง่วงนอนมากผิดปกติ แม้ว่าจะนอนหลับไปแล้วมากกว่า 7 ชั่วโมง และ มีอาการอื่นร่วมด้วย คือ


            1.1 มีการเข้านอนหลับใหม่ หรือ มีรอบการนอนหลับเพิ่มในวันเดียวกัน
            1.2 ระยะเวลาการนอนหลับยาวนานมากขึ้น และมีอาการอ่อนเพลียหลังจากตื่นนอนแล้ว
            1.3 มีความยากลำบากในการตื่นเมื่อถูกปลุกให้ตื่นระหว่างการนอนหลับ

2. มีอาการดังกล่าวอยู่อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันในช่วง 3 เดือน

3. การนอนหลับมากเกินไป มีอาการร่วมกับ ความเครียด หรือ กระทบกระบวนการคิด การเข้าสังคม ประกอบอาชีพ และการทำงานอื่นๆ

4. การนอนหลับมากเกินไป ไม่ได้มีอาการร่วมกับการนอนหลับที่ผิดปกติอื่นๆ เช่น หยุดหายใจขณะหลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะระหว่างการนอน หรือ การละเมอ

5. โรคทางกายหรือโรคทางจิตใจอื่นๆ ไม่เป็นอาการเด่นกว่าอาการนอนหลับมากเกินไป

6. การนอนหลับมากเกินไปไม่ได้เกิดจากการใช้ยา หรือสารเคมีอื่นๆประกอบ

ระยะของอาการนอนมากเกินไป แบ่งได้เป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 เฉียบพลัน เกิดขึ้นในระยะน้อยกว่า 1 เดือน

ระยะที่ 2 กึ่งเฉียบพลัน เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 1 – 3 เดือน
ระยะที่ 3 เรื้อรัง เกิดขึ้น มากกว่า 3 เดือน

ระดับความรุนแรงของโรค

          โรคนอนหลับมาเกินไป แบ่งระดับความรุนแรงตามความลำบากในการตื่นตัวในแต่ละวัน โดยวัดจากความรู้สึกง่วงนอนที่เกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ในขณะที่กำลังทำงาน หรือกิจกรรมอยู่ โดยแบ่งเป็น

ระดับเบา มีความยากลำบากในการตื่นเกิดขึ้น 1 – 2 วันต่อสัปดาห์
ระดับกลาง มีความยากลำบากในการตื่นเกิดขึ้น 3 - 4 วันต่อสัปดาห์
ระดับรุนแรง มีความยากลำบากในการตื่นเกิดขึ้น 5 - 7 วันต่อสัปดาห์

 

โรคนอนหลับมากเกินไป 嗜睡 ในมุมมองการแพทย์แผนจีน

โรคนอนหลับมากเกินไป 嗜睡 มักมีสาเหตุมาจาก
1. ความชื้นในร่างกายสะสม
2. สภาพแวดล้อมที่พักหรือที่ทำงานมีความชื้นสะสม
3. หยางถูกความชื้นเกาะกุมไม่ได้กระจายออก
นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ใน ผู้ที่ป่วยทำให้เจิ้งชี่ถูกทำร้าย หรือผู้สูงอายุที่จ้างชี่ไม่เพียงพอ

อาการหลัก

1.ขาดสมาธิ รู้สึกง่วงเพลียบ่อย นอนกรนเสียงดัง ตื่นยาก เป็นกลุ่มอาการหยางชี่ถูกเกาะกุม (阳气受困)
2.จิตใจหดหู่ท้อแท้ (精神萎靡) ง่วงเหงาหาวนอน  (朦胧作睡) ขานเรียกจะตื่น (呼之即醒) เมื่อตื่นแล้วง่วงนอนต่อได้อีก (醒后又欲睡) เป็นกลุ่มอาการเจิ้งชี่ถูกทำร้ายอย่างหนัก (正气大伤)

อาการอื่นที่สามารถพบได้ คือ เกิดความชื้นสะสมคุกคามหยางม้าม (湿困脾阳) อาการ แขนขาหนัก ปวดหัวหนักๆเหมือนมีผ้ารัดไว้ จุกแน่นกลางอก ทานอาหารได้น้อย ถ่ายเหลว ขาบวม ลิ้นฝ้าขาวเหนียว ชีพจรช้าหนืด (脉濡缓)

ไตหยางพร่อง (肾阳衰竭) อาการขา และหัวเข่าเย็น กลัวหนาวตัวห่อ (畏寒蜷缩) ปัสสาวะน้อยท้องบวม ลิ้นคล้ำฝ้าเปียก ชีพจรเล็ก (脉微细)  

สารจิงไตพร่อง (肾精亏损) อาการหูแว่วหูหนวก ขี้ลืมตอบสนองช้า อ่อนเพลียหมดแรง

หัวใจและไตพร่องทั้งคู่ (心肾两虚) ใบหน้าหมองคล้ำ เบื่ออาหารท้องเสีย หายใจสั้น ใจสั่น ผู้หญิงรอบเดือนมาไม่ปกติ สีซีดปริมาณเยอะ

การปฏิบัติตัวและรักษา

1.เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน เมื่อตื่นนอนแล้วให้ลุกจากเตียงทันที
2.หากิจกรรมก่อนนอนง่ายๆ เช่น อ่านหนังสือ หวีผม เพื่อปรับตัวและเตรียมพร้อมร่างกายที่จะเข้านอน
3.ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดเครื่องดื่มคาเฟอีนทุกชนิด
4.อย่าวิตกกังวลมากจนเกินไป หากิจกรรมที่จะคลายความเครียด เนื่องจากความวิตกกังวลและความเครียดจะทำให้ใช้เวลานานกว่าจะสามารถเข้านอนหลับได้และจะทำให้ตื่นนอนรู้สึกไม่สดชื่น
5.เข้านอนเวลากลางคืน และหากงีบกลางวันไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง

แนวการดูแลตนเองในทางการแพทย์แผนจีน

หลักการรักษา จะเน้นในการขับความชื้น บำรุงม้ามกระเพาะอาหาร

การกดจุด สามารถกดคลึงบริเวณ จุดเฟิงหลง (ST40) ตำแหน่งอยู่หน้าแข็งเหนือตาตุ่มนอกขึ้นมา 8 ชุ่น ห่างขอบกระดูกขา (Tibia) ทางด้านนอก 2 ชุ่น ช่วยในการขับเสมหะและความชื้น เนื่องจากจุดเฟิงหลงเป็นจุดลั่ว สามารถกระตุ้นได้ทั้งสองเส้นลมปราณ คือเส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหารและเส้นลมปราเท้าไท่อินม้าม และจากตำรา 《玉龙歌》ได้กล่าวไว้ว่า เสมหะเยอะให้เลือกใช้จุดเฟิงหลง“痰多宜向丰隆寻”จุดเฟิงหลงเป็นเหมือน เมฆ และ ฟ้าร้อง คนที่มีอาการปวดหัวเวียนศีรษะ เปรียบเหมือนมีเมฆและฟ้ารองอยู่เหนือศีรษะ จะใช้วิธีการกระตุ้นเฟิงหลงทำให้เกิดฝนตกทำให้เมฆหนาบางลง เห็นดวงอาทิตย์ได้ จึงทำให้หายเหนื่อยล้าและง่วงนอนได้ (“丰隆”是“云”、“雷”之意,人头痛脑昏,就像头顶襄着一团阴云,而刺激丰隆穴,就能使水湿浊气,化为倾盆大雨,哗哗而落,于是能够拨云见日,豁然开朗,疲惫困乏通通消去了。)


กดจุดสะท้อนที่ฝ่ามือ

การกดคลึงจุดฝังเข็มเป็นการช่วยฟื้นคืนหยวนชี่ ดึงจิงเสิน (於恢复元气,提振精神)

1.นวดบริเวณจุดสะท้อนของสมอง เพื่อปลุกสมองดึงจิงเสิน โดยใช้นิ้วชี้นิ้วโป้งมือขวากดคลึงบริเวณจมูกเล็บนิ้วโป้งมือซ้าย ทั้งสองข้างบริเวณรอยบุ๋มและกดคลึงเบาๆ โดยเน้นบริเวณนิ้วชี้ แล้วจึงสลับข้าง

 2.กดคลึงบริเวณจุดสะท้อนของม้ามที่บริเวณฝ่ามือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระเพาะอาหารและมาก เลี่ยงการเกิดเสมหะทำให้ง่วงเพลีย โดยใช้นิ้วโป้งมือขวากดคลึงบริเวณฝ่ามือฝั่งนิ้วโป้ง大鱼际 และเปลี่ยนข้าง โดยกดให้กดและคลึงบริเวณที่เจ็บให้กดเน้นบริเวณนั้น เป็นการกระตุ้นจุดสะท้อน

ฝึกชี่กงด้วยท่าโบกสะบัดแขนซ้ายขวา 左右高甩法 โดย

1.ยืนเท้าสองข้างห่างกันระยะหัวไหล่ ยืนหันหน้ามองตรง
2.หายใจเข้าพร้อมกับบิดตัวหันไปทางซ้าย มือสองข้างยกขึ้นสูง
3.หายใจออกพร้อมกับลดมือสองข้างลงและบิดตัวหันมองตรง
4.หายใจเข้าพร้อมกับบิดตัวหันไปทางขวา มือสองข้างยกขึ้นสูง
5.หายใจออกพร้อมกับลดมือสองข้างลงและบิดตัวหันมองตรง
ทำซ้ำ ประมาณ 10 รอบ

อ้างอิง

มธุรส กลัหโสภา. (2551). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ :การวิเคราะห์อภิมาน[วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). https://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/28100/1/Mathurose_gu.pdf

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29640

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK519704/table/ch3.t35/

https://m.xuewei360.com/rentixuewei/baojiananmo/2013-07-22/15185.html

https://zyk.99.com.cn/zjtn/tnam/2012/0516/223068.html

https://new.qq.com/rain/a/20210310A02M8800

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้