Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3465 จำนวนผู้เข้าชม |
ฤดูฝน... ก็มักจะมีฝนตกเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณฝนมากเกินไปทำให้อากาศมีความชื้นสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแพทย์แผนจีน เรียกว่า “ปัจจัยก่อโรคความชื้น”
“ม้าม” เป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจาก “ความชื้น” ได้มากที่สุด ในผู้ป่วยที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี ยิ่งทำให้การย่อยอาหารแย่ลงกว่าเดิม ผู้ป่วยจึงมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ปากจืด ไม่อยากดื่มน้ำ ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นเศษอาหาร อ่อนเพลีย ง่วงนอน ฝ้าที่ลิ้นขาวเหนียวหรือเหลืองเหนียว แผนจีนเรียกว่า “ความชื้นอุดกั้นจงเจียว”
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
1. ควรหลีกเลี่ยงความชื้นกระทบร่างกาย
ไม่ควรพักอาศัยหรือทำงานในที่อับชื้น ในช่วงฤดูฝนควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศในวันที่มีแดดออก เพื่อลดความชื้นในห้อง และไม่ควรนั่งหรือนอนบนพื้นที่เย็นโดยตรง
2. ทำงานและพักผ่อนอย่างเหมาะสม
การทำงานจนเหนื่อยล้า ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ความชื้นเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ ในขณะเดียวกัน ควรเพิ่มการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของชี่และเลือดได้อีกด้วย
3. รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
- รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมบำรุงม้าม สลายความชื้น เช่น ลูกเดือย ถั่วแดง เป็นต้น
- รับประทานอาหารรสไม่จัด ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ดื่มน้ำเย็น
- ไม่ควรรับประทานอาหารดิบและเย็น ของทอด ของมัน เนื่องจากอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดความชื้นสะสม ทำลายม้าม ทำให้ระบบย่อยทำงานได้ลดลง
4. กดจุดช่วยย่อย ลดท้องอืด
1) จุดอินหลิงเฉวียน(阴陵泉)
ตำแหน่ง: อยู่ใต้เข่า ด้านในของกระดูกหน้าแข้ง
สรรพคุณ: เสริมบำรุงม้าม กระตุ้นการย่อยอาหาร ขับความชื้น ลดบวมน้ำ ระงับท้องเสีย
วิธีกดจุด: นวดกดจุด 50 ครั้ง/รอบ วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น นวดกดจุดทั้ง 2 ข้าง
2) จุดจู๋ซานหลี่(足三里)
ตำแหน่ง: อยู่ใต้เข่า ด้านนอกของกระดูกหน้าแข้ง
สรรพคุณ: ปรับสมดุลกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยย่อย บรรเทาอาการท้องอืด ลดบวมน้ำ ปรับสมดุลชี่และเลือด เป็นจุดที่ใช้บำรุงร่างกาย
วิธีกดจุด: ออกแรงกดจุดประมาณ 10 วินาที หลังจากนั้นนวดคลึงประมาณ 10 วินาที ทำซ้ำจนครบ 3 นาที นวดกดจุดทีละข้าง
สองจุดนี้เมื่อใช้ร่วมกัน สามารถปรับสมดุลม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้ชี่ไหลเวียนดีขึ้น กระตุ้นระบบย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ขับความชื้นและลดบวมน้ำได้ดียิ่งขึ้น
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ปิยะมาศ เมืองใชย (หมอจีน ปี้ หย่า หม่า)
毕雅玛 中医师
TCM. Dr. Piyamas muangchai (Bi Ya Ma)
แผนกฝังเข็ม
15 ก.ค. 2567
30 ส.ค. 2567