ปวดประจำเดือน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  10574 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน เป็นอาการปวดท้องน้อยช่วงก่อน ในระหว่างหรือหลังมีรอบเดือน ซึ่งจะรบกวนการทำงานและการดำเนินชีวิตปกติประจำวัน อาจเป็นแบบไม่ทราบสาเหตุหรือมีความผิดปกติจากการทำงานของมดลูก โดยตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ (แบบปฐมภูมิ) หรือทราบสาเหตุเนื่องจากมีพยาธิสภาพเปลี่ยนแปลงในอวัยวะสืบพันธุ์ (แบบทุติยภูมิ) การรักษาด้วยการฝังเข็มจะได้ผลดีในกรณีปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ

 
อาการและอาการแสดง

- มีประวัติปวดท้องน้อยซึ่งสัมพันธ์กับคาบเวลาที่จะมีรอบเดือนค่อนข้างชัดเจน
หรืออาจเคยมีประวัติของปริมาณเลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ มีบุตรยาก ใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วง  และเคยมีประวัติอุ้งเชิงกรานอักเสบ

- มักจะปวดท้องน้อยก่อนประจำเดือนมา 1 - 2 วัน โดยจะปวดมากที่สุดในวันแรก

ที่มีประจำเดือน อาการปวด มีลักษณะปวดเกร็ง เป็นพัก ๆ หรือท้องแน่นอืดร่วมกับหน่วงท้อง ในรายที่รุนแรงจะปวดร้าวไปที่เอวหรือสะโพก ทวารหนัก ช่องคลอด ขาหนีบ และอาจมีอาการหน้าซีดขาว เหงื่อออกตัวเย็น มือเท้าเย็น จนเป็นลมหมดสติได้ อย่างไรก็ตามอาการปวดนี้จะไม่มีลักษณะของกล้ามเนื้อท้องเกร็งแข็ง หรือปวดเมื่อปล่อยมือจากการกด บางรายจะปวดเมื่อใกล้หมดหรือหลังหมดประจำเดือนแล้ว 1 - 2 วัน

 
การตรวจพิเศษทางนรีเวชกรรมและการตรวจภาพรังสี

ตรวจไม่พบลักษณะของอุ้งเชิงกรานอักเสบ ก้อนเนื้อหรือตุ่มไต หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดตำแหน่ง รวมถึงการตรวจด้วยอุปกรณ์พิเศษ เช่น อัลตราซาวด์ การตรวจด้วยกล้องเจาะผ่านช่องท้อง และการถ่ายภาพรังสีท่อรังไข่ การตรวจโดยส่องกล้องเข้าในโพรงมดลูก เป็นต้น

นอกจากนี้แพทย์จะวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันออกด้วย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ  ลำไส้อักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น

การวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค

1. ความเย็นชื้นตกค้าง
ปวดเย็นท้องน้อยก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน  ขี้หนาว ประจำเดือนมาน้อยไม่คล่อง สีม่วงหรือดำเป็นลิ่ม  ร่วมกับมีตัวเย็น แขนขาเย็น  ปวดข้อ 
ลิ้น ฝ้าขาวเหนียว 
ชีพจร  จม หรือจมตึงแน่น (ChenMai or ChenJinMai)


 

2. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง
ปวดแน่นอึดอัดท้องน้อยก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน ประจำเดือนมาน้อยไม่คล่อง สีม่วงหรือดำเป็นลิ่ม  ร่วมกับแน่นทรวงอก   ชายโครงและเต้านม    
ลิ้น สีม่วงหรือมีจ้ำเลือด 

ชีพจร  จม หรือจมฝืด (ChenMai or ChenSeMai )

 
3. ชี่และเลือดพร่อง
ปวดโล่ง ๆ บริเวณท้องน้อยระหว่างหรือหลังมีรอบเดือน กดท้องแล้วรู้สึกดีขึ้น ประจำ เดือนสีแดงจาง ร่วมกับหน้าซีดขาว  อ่อนเพลียไม่มีแรง  วิงเวียนศีรษะ 
ลิ้น ซีด 
ชีพจร  เล็กและอ่อนแรง (XiRuoMai)

 
4. ตับและไตพร่องหรืออ่อนแอ
ปวดโล่ง ๆ บริเวณท้องน้อยหลังมีรอบเดือน  ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ อาจมากหรือน้อย สีแดงจาง ไม่เป็นลิ่ม ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยอ่อนล้าบริเวณหลังและเข่า นอนไม่หลับ  วิงเวียนและมีเสียงดังในหู 
ลิ้น ฝ้าน้อย 
ชีพจรเล็ก (XiMai)


 

การรักษา
- ฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ หรือ การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การฝังเข็มหู

- การรมยา
เหมาะในกลุ่มความเย็นอุดกั้น(ทั้งเย็นแกร่งและเย็นพร่อง) ซึ่งใช้เป็นเข็มอุ่นที่บริเวณท้องน้อยหรือจุดซูด้านหลัง หรือใช้กล่องรมยาก็สะดวกดีในด้านขี้เถ้าไม่หล่น จำนวนโกฐขึ้นกับสภาพอาการที่เป็นว่ามากหรือน้อย โดยทั่วไปอย่างน้อยต้องนาน 30 นาที


ตัวอย่างผู้ป่วย

ผู้ป่วยหญิงอายุ 32 ปี ปวดประจำเดือน 3-4 ปี ก่อนประจำเดือนมาหนึ่งวันมีอาการ
ปวดท้องน้อยแบบเกร็ง  ต้องทานยาจึงจะบรรเทา วางถุงน้ำร้อนพอบรรเทา มีอาการร่วมคือ คัดหน้าอก อารมณ์หงุดหงิด บางครั้งท้องเสีย ประจำเดือนสีแดงคล้ำ มีลิ่มเลือดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปริมาณปกติ 4-5 วันหมด ผู้ป่วยทำงานเป็นเลขานุการ งานจะมาก รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา มักดื่มน้ำเย็น  กาแฟเย็นเป็นประจำ อารมณ์ค่อนข้างเครียด ใบหน้ามีฝ้าเล็กน้อย บางครั้งเจ็บเสียดชายโครง มักถอนหายใจ ลิ้นแดงอมคล้ำมีรอยจ้ำ ฝ้าบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจร ตึงเล็กเร็ว

การแยกกลุ่มอาการ  พบว่าเป็นกลุ่มอาการชี่ตับติดขัด  และมีความเย็นอุดกั้น การ
รักษาโดยกระจายชี่ตับสลายการคั่ง อุ่นทะลวงเส้นลมปราณบริเวณมดลูกแก้ปวดประจำ เดือน

คำแนะนำ
1. ควรปรับอารมณ์จิตใจให้ผ่อนคลาย  โดยเฉพาะใกล้มีประจำเดือน

2. งดเครื่องดื่มเย็น น้ำแข็ง โดยเฉพาะก่อนมีรอบเดือน 5 - 7 วัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศเย็นมาก เช่น ในที่ทำงาน ห้องนอน การว่ายน้ำ ในระยะเวลาใกล้มีรอบเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้