ปลดทุกข์ ปลดโรค

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  9398 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปลดทุกข์ ปลดโรค

ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของระบบอวัยวะภายในร่างกาย ที่มีความเกี่ยวเนื่อง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในการทำให้ระบบขับถ่ายในร่างกายเราให้เป็นปกติ โดยที่ระบบอวัยวะตัน (อวัยวะจั้ง) และระบบอวัยวะกลวง (อวัยวะฝู่) จะร่วมกันทำหน้าที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การขับถ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากมีอวัยวะหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วม เพื่อทำให้ระบบขับถ่ายในร่างกายของเราเป็นปกติ

อวัยวะตัน (อวัยวะจั้ง) ได้แก่

  • ระบบหัวใจ จะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเลือดและควบคุมสภาพจิตใจ แต่เมื่อไหร่ที่ระบบหัวใจทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบไหลเวียนของเลือดและชี่ (ลมปราณ) ติดขัดหรือไม่เพียงพอ อีกทั้งยังส่งผลต่อกระเพาะอาหารและม้าม และต่อไปยังระบบขับถ่ายได้ในที่สุด ทั้งนี้ หากสภาวะจิตใจของเราได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจะเกิดปัญหาถ่ายยาก หรือ ในผู้ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่มีแต่ความเศร้าหมอง ก็จะทำให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ โดยกว่าจะขับถ่ายทีก็ใช้เวลานานหลายวัน
  • ระบบตับ จะทำหน้าที่ระบายและขับเคลื่อนการไหลเวียนของชี่ (ลมปราณ) และปรับสมดุลของการไหลเวียนชี่ (ลมปราณ) ทั่วร่างกาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ ระบบตับมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของชี่กระเพาะอาหารและม้าม ทำให้เกิดความเสียสมดุลระหว่างชี่ของทั้งสองอวัยวะ จึงส่งผลต่อระบบขับถ่ายได้ เช่น เกิดอาการท้องเสียสลับกับอาการท้องผูก
  • ระบบม้าม จะทำหน้าที่แปรสภาพและลำเลียงอาหารและน้ำ ให้เกิดเป็นสารอาหารและสารน้ำ แล้วส่งสารอาหารและน้ำไปหล่อเลี้ยงทั่วทั้งร่างกาย แต่หากระบบอวัยวะม้ามอ่อนแอลง และไม่สามารถควบคุมการขับเคลื่อนของชี่ม้าม (ลมปราณม้าม) และสารน้ำในร่างกายได้ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบขับถ่ายขึ้นได้ เช่น กินแล้วมักจะถ่ายทันที
  • ระบบปอด มีส่วนช่วยควบคุมให้การไหลเวียนของชี่ (ลมปราณ) ทั่วร่างกาย ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยจะทำหน้าที่ประสานกันกับตับ นอกจากนี้ ระบบปอดยังทำหน้าที่ช่วยเหลือระบบอวัยวะม้ามในการช่วยผลักดันสารน้ำให้หล่อเลี้ยงได้ทั่วทั้งร่างกาย และเมื่อระบบปอดมีปัญหา ก็มักจะส่งผลไปถึงระบบการควบคุมสารน้ำ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำไปหล่อเลี้ยงหรือมีน้ำมากจนตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านของการขับถ่ายที่ลำบากหรือมีอาการท้องเสียได้ด้วยเหมือนกัน เช่น ถ่ายออกมามีลักษณะคล้ายขี้เป็ดหรือเกิดอาการท้องผูกไปเลยก็มี
  • ระบบไต มีบทบาทในเรื่องของการอั้นและการถ่าย ทั้งนี้ ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ระบบไต ถือเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังงานอินและหยางของร่างกายที่ส่งผลให้เกิดพลังขับถ่ายให้เป็นปกติรวมถึงการอั้นด้วย เพราะหากพลังหยางของไตปกติดี การขับถ่ายก็จะมีลักษณะเป็นก้อน แต่ หากมีพลังหยางของไต น้อยหรือไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียขึ้นในยามเช้ามืด และหากพลังอินของไตพร่อง ก็มักจะทำให้เกิดการขับถ่ายที่ค่อนข้างยาก หรือลักษณะของถ่ายจะเหมือนกับขี้แพะ

นอกจากอวัยวะตัน (อวัยวะจั้ง) ทั้ง 5 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายของเราแล้ว ยังมี อวัยวะกลวง (อวัยวะฝู่) อีก 3 อวัยวะสำคัญ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายด้วย

อวัยวะกลวง (อวัยวะฝู่) ได้แก่

  • ลำไส้เล็ก ทำหน้าที่รับเอาอาหารที่ยังย่อยไม่เสร็จสมบูรณ์มาจากกระเพาะอาหาร แล้วทำการย่อยต่อไปจนได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการ ดังนั้น ลำไส้เล็กจึงมีหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหารแล้วส่งไปให้ม้ามเพื่อให้ม้ามส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกายต่อไป ส่วนกากอาหารก็จะส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่เพื่อรอให้ขับออกมาเป็นอุจจาระ ขณะเดียวกันลำไส้เล็กยังทำหน้าที่ดูดซับน้ำจากการย่อย สารน้ำที่เกิดประโยชน์จะส่งไปใช้ และที่เหลือก็จะส่งต่อไปยังไตผ่านทางกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งถ้าหากหน้าที่การทำงานของลำไส้เล็กเกิดผิดปกติก็จะทำให้การย่อยของเราไม่สมบูณ์ จึงเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะผิดปกติได้
  • ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่รับเอากากอาหารที่ย่อยเสร็จสมบูรณ์แล้วจากลำไส้เล็ก โดยลำไส้ใหญ่จะยังคงดูดซึมน้ำกลับคืนอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงทำหน้าที่ขับของเสียออกมาเป็นอุจจาระ โดยในการขับอุจจาระออกมานั้น นอกจากชี่ของลำไส้แล้ว ยังต้องอาศัยชี่ (ลมปราณ) ของปอด กระเพาะอาหาร ม้าม และไตในการผลักดันให้อุจจาระออกมาด้วย
  • ซานเจียว เป็นอวัยวะที่ไม่มีในศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยซานเจียวเป็นทางเดินของชี่และน้ำ ซึ่งชี่ (ลมปราณ) และน้ำที่มีอยู่ทั่วร่างกาย จะอาศัยซานเจียวเป็นทางเดิน ซึ่งหากทางเดินติดขัด ไม่ราบรื่น น้ำก็จะไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้การขับถ่ายผิดปกติ

การดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ

  • หมั่นจิบน้ำอุ่นหรือดื่มน้ำที่มีอุณหภูมิห้องบ่อย ๆ และไม่ควรดื่มน้ำทีละอึกใหญ่ ๆ และเพื่อให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน ควรจะดื่มน้ำอย่างน้อยให้ได้ 1 - 2 ลิตรต่อวัน
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ซิทอัพ หรือฝึกแขม่วหน้าท้อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการบีบตัวได้ดียิ่งขึ้น
  • รับประทานผลไม้ เช่น แตงโม แคนตาลูป แตงกวา ในหน้าร้อน เพื่อเติมเต็มสารน้ำและช่วยให้ร่างกายสามารถขจัดความร้อนออกไปจากร่างกายได้ดีขึ้น
  • ควรดื่มน้ำอุ่นหลังจากที่ตื่นนอนในตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และยังเป็นการกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
  • ในผู้ที่มีระบบการย่อยที่ไม่ดี หรือมักมีอาการท้องอืด แต่กินน้อย ควรทานพุทราจีน เพื่อช่วยให้ระบบกระเพาะอาหารและระบบม้ามแข็งแรงขึ้น แต่ควรระวังในการทานด้วย ซึ่งไม่ควรทานมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการร้อนในได้

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้