โรคความดันโลหิตสูง

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  15566 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เกี่ยวกับความดันในหลอดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้น ลักษณะทางคลินิก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ตาลาย มีเสียงในหู เป็นต้น ดังนั้น จึงจัดโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในกลุ่มอาการ “วิงเวียน” หรือ “ปวดศีรษะ” ของการแพทย์แผนจีน



โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะมีผลกระทบต่อหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ สมองและไต จนในที่สุดเกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะเหล่านั้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

หนังสือแนวทางการป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอว่า การควบคุมความดันโลหิตสูงเป็นการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง 

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน : อ้างอิงจากหนังสือแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อยทางอายุรกรรม โดย สมาคมการแพทย์แผนจีน ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 และหนังสือแนวทางการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับยาจีนและยาใหม่ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางยาจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002.

โรคความดันโลหิตสูง จัดอยู่ในกลุ่มอาการ “วิงเวียน” และ “ปวดศีรษะ” ในการแพทย์แผนจีน

อาการหลัก :  วิงเวียนศีรษะ ตาลาย ปวดศีรษะ



อาการรอง : ปวดศีรษะแบบหนัก ๆ หน้าแดงตาแดง ปากขมคอแห้ง มีเสียงในหู หูตึง เหงื่อออก เมื่อยเอวและเข่าอ่อน เป็นต้น

หลักการรักษา
จากสาเหตุและกลไกของโรค จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาการพร่องและกลุ่มอาการแกร่ง

กลุ่มอาการพร่อง : ทะเลแห่งไขกระดูก (SuiHai) พร่อง หรือภาวะชี่และเลือดพร่อง ทวารสมองขาดการบำรุง    แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการเลือดและชี่พร่อง กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง และกลุ่มอาการหยางไตพร่อง

กลุ่มอาการแกร่ง : ปัจจัยก่อโรค ได้แก่ ลม ไฟ และเสมหะ รบกวนทวารสมอง
แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการหยางตับเกิน กลุ่มอาการเสมหะและความชื้นอุดกั้นภายใน และกลุ่มอาการเลือดคั่งปิดกั้นทวารสมอง

การรักษาความดันโลหิตสูงทางการแพทย์แผนจีน ไม่เพียงแต่ใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิตลงเท่านั้น แต่ยังเน้นที่ “การวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค” โดยผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมักมีอาการวิงเวียน เป็นต้น ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่ จึงเป็นไปในแนวทางการรักษากลุ่มอาการวิงเวียนตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน

กลไกการเกิดโรค มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัจจัยก่อโรค คือ ลม ไฟ และความชื้น (เสมหะ) เป็นอย่างมาก



การรักษาตามการวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการ

1.  กลุ่มอาการหยางตับเกิน
อาการและอาการแสดง : วิงเวียน มีเสียงในหู ปวดศีรษะและตาแบบบวมพอง ปากขม นอนไม่หลับ ฝันมาก อาการจะเพิ่มขึ้นหากตรากตรำหรือผูกโกรธ ในรายที่รุนแรงอาจหมดสติ หน้าแดง หงุดหงิดโกรธง่าย มือเท้าสั่น ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงและเร็ว (XiánShùMài)

2.  กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
อาการและอาการแสดง :  วิงเวียน อาการเพิ่มขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว ตรากตรำหรือเหนื่อยล้า หน้าซีดขาว ไม่มีชีวิตชีวาอ่อนเพลีย เปลี้ย ไม่อยากพูด ริมฝีปากและเล็บไม่สดใส ผมไม่เงางาม ใจสั่น นอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อยแน่นท้อง ลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กและจมอ่อน (XiRuòMài)  

3.  กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตไม่เพียงพอ
อาการและอาการแสดง : มีอาการวิงเวียนเรื้อรัง เซื่องซึม เมื่อยเอวและเข่าอ่อน นอนไม่หลับ ฝันมาก หลงลืมความจำเสื่อม ตาแห้ง สายตาเสื่อมลง หรือมีอาการหลั่งอสุจิโดยไม่รู้ตัว มีเสียงในหูฟันโยก หรือมีอาการแก้มแดงคอแห้ง มือเท้าและหน้าอกร้อน (ร้อนทั้งห้า) ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กและเร็ว (XìShùMài)

4.  กลุ่มอาการหยางไตพร่อง
อาการและอาการแสดง : นอกเหนือจากกลุ่มอาการสารจำเป็นในไตไม่เพียงพอแล้ว อาจจะพบอาการร่วมอื่น ๆ เช่น หน้าซีด ร่างกายและมือเท้าเย็น ปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน เป็นต้น ลิ้นนุ่มสีชีด ฝ้าขาว ชีพจรจม เล็ก อ่อน ช้า (ChenXiRuoChiMai)

5.  กลุ่มอาการเสมหะชื้นอุดกั้นภายใน
อาการและอาการแสดง : วิงเวียน รู้สึกศีรษะหนัก ๆ มึนงง เป็นอาการสำคัญ หรือมีอาการร่วมเวียนศีรษะรู้สึกสิ่งรอบตัวหมุน แน่นหน้าอก คลื่นไส้มักบ้วนน้ำลาย รู้สึกเหมือนตัวหนักไม่สดชื่น รับประทานอาหารได้น้อย นอนมาก เป็นต้น ลิ้นมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรลอยแผ่วและลื่น  (RuHuáMài)

6. กลุ่มอาการเลือดคั่งปิดกั้นทวาร
อาการและอาการแสดง : วิงเวียน ปวดศีรษะเหมือนเข็มแทง ปวดเฉพาะที่ เป็นอาการสำคัญ มักมีอาการหลงลืม นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ใจสั่น มือเท้าชาโดยเฉพาะในเวลากลางคืน เป็นต้น  ลิ้นคล้ำ มีจุดจ้ำเลือด ชีพจรฝืด (SèMài) หรือชีพจรเล็กและฝืด (XiSeMai) 

การรักษาด้วยการฝังเข็ม



การฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ

1. กลุ่มอาการแกร่ง
หลักการรักษา : สงบตับ สลายเสมหะ

2.  กลุ่มอาการพร่อง
หลักการรักษา : บำรุงชี่ บำรุงเลือด ระงับอาการวิงเวียน

การฝังเข็มที่ศีรษะ

การฝังเข็มหู

เลือกจุดหลัก : ต่อมหมวกไต subcortex (PiZhiXia) และ หน้าผาก (额) 
- ผู้ที่มีกลุ่มอาการหยางตับแกร่งขึ้นสู่ส่วนบน เพิ่มจุด ตับ ถุงน้ำดี
- ผู้ที่มีกลุ่มอาการเสมหะความชื้นอุดกั้นจงเจียว เพิ่มจุด ม้าม
- ผู้ที่มีกลุ่มอาการเลือดและชี่พร่อง เพิ่มจุด ม้าม กระเพาะอาหาร
- ผู้ที่มีสารจำเป็นของไตพร่อง เพิ่มจุด ไต สมอง

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น
- การฝึกชี่กง
- การแช่เท้าด้วยยาจีน
- การประยุกต์ใช้ยาจีนแบบภายนอก
- การฝังไหมละลาย
- การรมยา

โรคความดันโลหิตสูง คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังเส้นเลือดแดงสูงผิดปกติ  อันเกิดมาจากหัวใจ อาการที่พบบ่อย คือ ปวดหัว วิงเวียนหัว ตาลาย มีเสียงในหู ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่ จึงจัดโรคความดันโลหิตสูง อยู่ในกลุ่มอาการ “เวียนศีรษะ” หรือ “ปวดศีรษะ” ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

หนังสือแนวทางการป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า  การควบคุมความดันโลหิตคือมาตรการหลักในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด การรักษาด้วยการฝังเข็ม รมยา และยาจีนนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยลดความดันโลหิต แต่ยังช่วยปรับสมดุลและป้องกันอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน เป็นการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญ และเหมาะที่จะใช้เป็นแนวทางในการทำการวิจัยต่อไป

ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า สาเหตุและกลไกของโรค เกิดจากภาวะอินและหยางในร่างกายไม่สมดุล ร่วมกับภาวะเสมหะและเลือดคั่งเป็นปัจจัยหลัก เสมหะ เลือดคั่งและภาวะพร่อง เป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง 

ชื่อโรคในการแพทย์แผนจีน 14 โรค ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง มีเพียงสองโรคเท่านั้นที่ยอมรับโดยทั่วไป ได้แก่ “โรคเวียนศีรษะ” และ “โรคปวดศีรษะ” สาเหตุจากปัจจัยภายใน  ได้แก่ สารจำเป็นและชี่เสื่อมและถดถอยลง (精气衰退) มีพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิดในลักษณะหยางแกร่งอินพร่อง สาเหตุจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ อารมณ์ อาหาร ความตรากตรำอ่อนเพลีย และการมีเพศสัมพันธ์มากเกิน

กลไกของโรค คือ อินและหยางอวัยวะภายในไม่สมดุล อวัยวะหลัก ได้แก่ อินหยางของตับและไตเสียสมดุล สาเหตุที่ก่อโรค ได้แก่ ลม ไฟ เสมหะ เลือดคั่ง และภาวะพร่อง

ตำแหน่งของโรคกระทบที่ตับและไตเป็นหลัก เกี่ยวโยงไปถึงม้ามและหัวใจ
การรักษาด้วยยาจีนสามารถประยุกต์ใช้ตามการวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรคได้ 10 กลุ่มอาการ

1.  กลุ่มอาการหยางตับแกร่งขึ้นสู่ส่วนบน
หลักการรักษา คือ สงบตับและกดหยางลงส่วนล่าง บำรุงตับไต

2. กลุ่มอาการเสมหะปฏิกูลปิดกั้นจงเจียว
หลักการรักษา คือ ขจัดชื้นและสลายเสมหะ เสริมม้ามและปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

3. กลุ่มอาการเลือดและชี่พร่อง
หลักการรักษา คือ บำรุงชี่และเลือด เสริมม้ามและกระเพาะอาหาร 

4. กลุ่มอาการไฟตับขึ้นสู่ส่วนบน
หลักการรักษา คือ ขจัดและระบายตับและถุงน้ำดี

5. กลุ่มอาการชี่ติดขัดและเลือดคั่ง
หลักการรักษา คือ ปรับการไหลเวียนของชี่ สลายเลือดคั่ง

6. กลุ่มอาการอินพร่องหยางแกร่ง
หลักการรักษา คือ บำรุงอิน กดหยาง ข่มตับ และระงับลม

7. กลุ่มอาการอินตับและไตพร่อง
หลักการรักษา คือ บำรุงอินตับและไต

8. กลุ่มอาการชี่ตับติดขัดเรื้อรังและม้ามพร่อง
หลักการรักษา คือ ระบายการติดขัด ปรับการไหลเวียนของชี่ บำรุงม้าม สลายชื้น

9. กลุ่มอาการเส้นลมปราณชงและเริ่นเสียสมดุล
หลักการรักษา คือ บำรุงตับและไต ปรับสมดุลเส้นลมปราณชงและเริ่น

10. กลุ่มอาการอินและหยางพร่อง 
หลักการรักษา บำรุงอิน เสริมหยาง


เอกสารอ้างอิง
1. มาตรฐานการตรวจวินิจฉัย : บันทึกการรักษาโรคทางแพทย์แผนจีน 105 ชนิด จากผู้เชี่ยว ชาญ 24 ท่าน

2. การตรวจวินิจฉัย : ตำราเรียนอุดมศึกษาภาคสามัญ “สิบหนึ่งห้า” ระดับชาติ ตำราเรียนวิชาอายุรกรรมแผนจีน สำหรับการแพทย์แผนจีน ระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ชุดซินซื่อจี้ พิมพ์ครั้งที่ 2.

3. เอกสารอ้างอิงด้านการฝังเข็มและรมยา: นำมาจาก ตำราเรียนอุดมศึกษาภาคสามัญ “สิบหนึ่งห้า” ระดับชาติ ตำราเรียนวิชาการฝังเข็มและรมยา สำหรับการแพทย์แผนจีน ระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ชุดซินซื่อจี้ พิมพ์ครั้งที่ 2.

4. ฝู่ยวี่หรง. หนังสือ การใช้ยาสมุนไพรจีนสำเร็จรูปรักษาโรคความดันโลหิตสูงทางคลินิกในประเทศจีน 2007, 18-19.

5. หลิวเสวียเหว่ย. หนังสือผลการประเมินทางคลินิกในการใช้ยาสมุนไพรจีนสำเร็จรูปรักษาโรคความดันโลหิตสูง 2008, 144.

6. หานเสวียเจี๋ย. หนังสือรวมการรักษาการตรวจวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีนในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 2008, 611-613.

7. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2551, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, พิมพ์ครั้งที่ 1, กันยายน 2552.

8. World Health Organization, International Society of Hypertension Writing Group. 2003 World Health Organization (WHO)/ International Society of Hypertension (ISH) statement on management of hypertension. J Hypertens 2003; 21: 1983-1992.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้