การปฏิบัติตัวก่อน / ขณะ / และหลังฝังเข็ม
การเตรียมตัวก่อนฝังเข็ม
1. เตรียมใจ ผู้ป่วยความควรเตรียมใจมาจากบ้านก่อนมารักษาฝังเข็ม หัตถการฝังเข็มคือการใช้เข็มแทงลงไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย อาจเจ็บคล้ายมดกัดเมื่อเข็มผ่านผิว และรู้สึกตึง แน่น หน่วง ชา กระตุก หรือไฟฟ้าวิ่งบริเวณที่ฝังเข็ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการฝังเข็ม ผู้ป่วยควรเตรียมใจมาให้พร้อมเพื่อรับการรักษา ไม่ควรวิตกกังวลหรือหวาดกลัวจนเกินไป นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือ และเชื่อมั่นในตัวแพทย์ผู้รักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลที่ดีในการรักษา
2. การแต่งกาย ผู้ป่วยควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นหรืออึดอัดจนเกินไป เพื่อสะดวกในการพับเสื้อ กางเกงให้อยู่เหนือเข่าหรือข้อศอก หรือเปิดเสื้อขึ้นเพื่อฝังเข็ม โดยทั่วไปแล้วห้องหัตถการฝังเข็มได้เตรียมชุดหรือผ้าให้ผู้ป่วยผลัดเปลี่ยนก่อนเพื่อความสะดวกในการรักษา กรณีผู้ที่ต้องการฝังเข็มเสริมความงาม รักษาสิว ฝ้า บริเวณใบหน้า ไม่ควรแต่งหน้ามาจัดจนเกินไป หากเป็นไปได้ควรเช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางค์มาให้เรียบร้อยก่อนฝังเข็ม
3.การรับประทานอาหาร ผู้เข้ารับการฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป หากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ ๆ ควรนั่งพักประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ท้องไม่แน่น แล้วจึงเริ่มฝังเข็มได้ ผู้ป่วยห้ามอดอาหารก่อนมาฝังเข็ม เพราะขณะฝังเข็มร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ หากผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารมา อาจเกิดอาการหน้ามืดเวียนหัว จะเป็นลม หรือที่เรียกว่าอาการเมาเข็ม
4. ความสะอาดของร่างกาย ก่อนมาฝังเข็มผู้ป่วยควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายมาให้เรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณที่จะทำการฝังเข็ม เช่น มือ เท้า เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย อย่างไรก็แล้วแต่ก่อนที่แพทย์จะฝังเข็ม แพทย์จะใช้สำลีแอลกอลฮอลล์เช็ดบนจุดฝังเข็มก่อนทุกครั้งเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
5.การพักผ่อน ก่อนผู้ป่วยจะมาฝังเข็มควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ หลังออกกำลังกายหรือภารกิจที่รีบร้อน ผู้ป่วยควรนั่งพักให้หายเหนื่อย จนอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต(สัญญาณชีพต่าง ๆ ) เข้าสู่ภาวะปกติก่อนแล้วจึงเริ่มฝังเข็มได้
ขณะฝังเข็ม
1. ขณะฝังเข็มผู้ป่วยควรทำใจให้สบาย ไม่วิตกกังวลหรือหวาดกลัวจนเกินไป ผ่อนคลายร่างกายไม่ให้กล้ามเนื้อไม่เกร็งตึง ความรู้สึกเจ็บ ตึง หน่วง ชา ไฟฟ้าวิ่ง เป็นเรื่องปกติระหว่างฝังเข็ม
2. หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดมากเกินไป หรือมีความรู้สึกผิดปกติอย่างอื่นอย่างใด เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อแตก มือเท้าเย็น ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขอย่างทันท่วงที
3. ขณะที่มีเข็มอยู่บนร่างกายผู้ป่วยห้ามขยับตัวโดยพลการ เพราะอาจทำให้เข็มงอ กล้ามเนื้อเกร็ง เคล็ดยอก เข็มติดดึงออกยาก ผู้ป่วยที่รมยา หากขยับตัวอาจทำให้ไฟรมยาร่วงถูกตัวผู้ป่วย เกิดเป็นแผลพุพองได้
4. ผู้ป่วยห้ามดึงเข็มออกเอง หากรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเข็มให้แจ้งแพทย์เพื่อปรับความลึกและทิศทางของเข็ม หากเข็มหลุด ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบ
การปฏิบัติตัวหลังฝังเข็ม
1.ผู้ป่วยที่นอนคว่ำหน้าเป็นเวลานาน เมื่อถอนเข็มหมดแล้ว ควรนอนหงายพักผ่อนเป็นเวลา5-10 นาที ก่อนลุกจากเตียง
2.หากผู้ป่วยรู้สึกปวดขัดบริเวณจุดที่ฝังเข็ม สามารถบอกแพทย์ผู้รักษาให้ทำการแก้ไขได้
3. หลังจากฝังเข็มเสร็จ ผู้ป่วยสามารถขับรถ อาบน้ำ(ควรเว้นระยะเวลาสองชั่วโมงจึงอาบน้ำได้) ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ปกติโดยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างใด ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัวคล้ายจะเป็นไข้ สามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้เองได้ ดื่มน้ำมาก ๆ อาการดังกล่าวสามารถหายไปเองได้หลังจากนอนหลับพักผ่อน
4. หากทำการรักษาด้วยการครอบแก้ว หลังจากครอบแก้วห้ามดื่มน้ำเย็น ห้ามโดนลม ห้ามตากแอร์ และห้ามอาบน้ำ หลัง3-4ชั่วโมงจึงจะอาบน้ำได้
5. การรักษาด้วยการฝังเข็ม สามารถทำควบคู่กับการรักษาอย่างอื่นร่วมไปด้วยได้ เช่น กายภาพบำบัด การรับประทานยาแผนปัจจุบัน โดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฝังเข็ม
1.ผู้ที่ตื่นเต้นหวาดกลัวจนเกินเหตุ ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกายมาอย่างหนัก ควรเว้นการฝังเข็มไปก่อน
2.ผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารมาอิ่มเกินไป ควรนั่งพักให้อาหารย่อยก่อนสักครู่ หรือผู้ที่หิวจนเกินไป ควรหาอาหารรับประทานรองท้องก่อนจึงจะฝังเข็มได้ สตรีที่มีประจำเดือนมาในวันแรก หรือมีประจำเดือนมามาก ควรเว้นการฝังเข็มไปก่อนจนกว่าประจำเดือนจะน้อยลงหรือพ้นช่วงประจำเดือน
3.ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาให้มากขึ้น
4.ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture
4. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน