การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพตามแนวคิดการแพทย์แผนจีน

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  2566 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพตามแนวคิดการแพทย์แผนจีน

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความรู้ทางด้านสาธารณสุขและกระแสในการดูแลสุขภาพ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้กล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อสุขภาพดังนี้
            1.กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี จึงทำให้สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้อารมณ์มั่นคงขึ้น
            2.ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการพัฒนาขึ้น สามารถส่งเลือดไปไหลเวียนในร่างกายได้ดีขึ้น รวมถึงทำให้ปอดทำงานดีขึ้น
            3.เพิ่มความแข็งแรงของกระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารได้มีการเคลื่อนไหว กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดี
            4.ส่งเสริมให้เลือดไปบำรุงอวัยวะภายในและทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ
            5.เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายและกระตุ้นการทำงานของต่อมไร้ท่อ
            6.เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและข้อต่อ ทำให้รู้สึกสดชื่น คล่องตัว
            7. กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซน์ต้านอนุมูลอิสระ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            8. ช่วยรักษารูปร่าง ป้องกันการเกิดโรคอ้วน เนื่องจากช่วยลดรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการเผาผลาญไขมัน
            9. ขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปได้ด้วย อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นระดับปานกลางถึงระดับสูงเลือดและออกซิเจนจะไหลเวียนไปยังสมองของคุณมากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเซลล์สมองใหม่และเกิดการหลั่งสารเคมีเช่น เอนโดรฟิน จากต่อมใต้สมอง และไฮโปทาลามัส ที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดและผ่อนคลายและลดความเครียดวิตกกังวลได้

            จากประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดการส่งเสริมการออกกำลังกายจนเป็นกระแสการออกกำลังกายในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก การจัดการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายขนาดใหญ่ การมีสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะและเอกชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในมุมมองทางการแพทย์แผนจีน อธิบายว่าคนเรามี ซานเปา (三宝)  ได้แก่ จิง (精-สารสำคัญ) ที่ถูกกักเก็บภายในไต ชี่(气) หรือพลังลมปราณที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย และจิตวิญญาณ (神) ที่ทำให้คนเรามีชีวิตได้ การออกกำลังจึงเกี่ยวข้องกับการบำรุงทั้งสามสิ่งนี้ เพื่อเจริญสติ รับรู้ได้ดี ฝึกคุมการหายใจ ให้ชี่ผลักดันเลือดให้ไหลเวียนหล่อเลี้ยงไปทั่วร่างกาย  ในการขับเคลื่อนชี่ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายนั้น ยังช่วยให้เส้นเอ็น กระดูก ข้อต่อ ได้เคลื่อนไหว ทำให้ชี่ไหวเวียนตามเส้นลมปราณในร่างกายได้สะดวก กระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆได้เหมาะสม ร่างกายและจิตวิญญาณสอดประสาน เส้นเลือดทั้งหลายไหลผ่านได้สะดวก ภายนอกภายในสัมพันธ์กัน อวัยวะตัน-อวัยวะกลวงทำงานสอดคล้องกัน ทำให้ร่างกายปรับอินหยางเข้าสู่สมดุลได้ จึงช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงกระฉับกระเฉง การออกกำลังกายนั้นจะต้องให้มีเหงื่อออกเล็กน้อยจึงจะได้ผลดี ไม่ควรจะให้เหงื่อออกมากจนเกินไป

            การออกกำลังเป็นการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะตันทั้งห้า ได้แก่ ม้ามควบคุมแขนขาและกำกับกล้ามเนื้อ ตับกำกับเส้นเอ็น ไตควบคุมไม่ให้ไฟแรงจนเกินไป หัวใจเป็นที่สถิตของจิตวิญญาณ ปอดกำกับชี่และควบคุมเรื่องการหายใจ ทำให้การหายใจลึกและชี่ปอดไหลเวียนได้ทั่วร่างกาย ทิศทางชี่ของปอดลงเบื้องล่างและกระจายขึ้นบนและแผ่กระจายออก จึงสามารถเอาพิษต่างๆขับออกภายนอกร่างกายได้ ดังนั้น การหายใจลึกๆนอกจากสามารถบรรเทาความเครียดและลดความวิตกกังวลลง ยังช่วยปรับอารมณ์ที่ขุ่นมัว เศร้า โกรธ กระวนกระวาย ออกไปได้ด้วย  การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ให้ชี่เลือดไหลเวียนได้ดี การหายใจลึก ๆ ทำให้ปอดสามารถขับพิษออกจากร่างกายทำให้หยางชี่ไหลเวียนผ่านอวัยวะตันทั้งห้าได้สะดวก ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง

            การออกกำลังเป็นการกระตุ้นให้หยางถูกใช้ออกมา ตามมุมมองของการแพทย์แผนจีน หยางชี่เป็นรากฐานของชีวิต การออกกำลังเป็นการช่วยกระตุ้นเพิ่มพลังหยาง และเมื่อหยางชี่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ แต่การออกกำลังกายมากจนเกินไปนั้นจะทำร้ายหยางชี่ หยางชี่เป็นรากฐานของชีวิต ถ้าหยางชี่ถูกใช้ออกไปมากเกินไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ในตำราซู่เวิ่นได้กล่าวไว้ว่า “五劳所伤:久视伤血,久卧伤气,久坐伤肉,久立伤骨,久行伤筋.” หมายความว่าการเจ็บป่วยจากการใช้งานเกินไปทั้งห้า ได้แก่ใช้สายตามองมากเกินไปทำลายเลือด นอนมากเกินไปทำลายชี่ นั่งมากเกินไปทำลายกล้ามเนื้อ ยืนมากเกินไปทำลายกระดูก เคลื่อนไหวมากเกินไปทำลายเส้นเอ็น เพราะฉะนั้น การทำกิจวัตรต่างๆที่นานจนเกินไปทำให้สุขภาพแย่ลงได้เช่นกัน

            การออกกำลังมากเกินไปจะทำให้สภาพร่างกายต้องเกิดความตึงเครียดมาก ซึ่งทำให้กระทบกับสารจิงของไต บางคนต้องการออกกำลังเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ เมื่อออกกำลังมากขึ้น หยางชี่ของม้ามถูกใช้มากขึ้นและเกิดความร้อนไปทำลายสารจิงที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมร่างกาย เมื่อหยางชี่ถูกใช้ไปมากทำให้เกิดหยางพร่องและนำอินแปรเปลี่ยนเป็นหยางเพื่อนำมาใช้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอินหยางพร่องทั้งคู่และส่งผลให้ร่างกายเกิดการไม่สมดุลของอินหยางและเกิดความเจ็บป่วยเกิดขึ้น จึงไม่ควรออกกำลังกายหักโหมมากจนเกินไป

            จากแนวคิดเกี่ยวกับการออกกำลังกายดังกล่าว ทางการแพทย์แผนจีนจึงมีข้อเสนอแนะในการออกกำลังกายดังนี้

            1.การออกกำลังต้องออกกำลังในบริเวณที่มีอาการบริสุทธิ์และถ่ายเท
            2.การออกกำลังกายที่ดี ควรจะออกกำลังหายให้พอมีเหงื่อออกบ้าง ไม่ควรออกกำลังมากจนเกินไป
            3.เหงื่อที่ออกจากการออกกำลังกายนั้น เกิดจากหยางชี่จากภายในออกสู่ภายนอก ขับเป็นเหงื่อออกมา เมื่อหยางชี่ออกมาอยู่ด้านนอกทำให้ภายในหยางพร่องเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำเย็น มิฉะนั้นอาจทำให้เหงื่อไม่ออกและมีพิษตกค้างอยู่ภายในร่างกาย
            4.การเดิน เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุด ทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เดินเร็วหรือช้าก็ได้

            ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนจีน การออกกำลังกายถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต่างให้การสนับสนุนให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนจีนต่างมีการอธิบายกลไกของการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไป รวมถึงผลดีผลเสียต่างๆ ดังนั้นหากผู้ออกกำลังกายนำแนวคิดของทั้งทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนมาประยุกต์ใช้ก็จะทำให้การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา:  https://www.sohu.com/a/361905752_525638
            https://adaa.org/understanding-anxiety/related-illnesses/other-related-conditions/stress/physical-activity-reduces-st

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้