อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน ตำนานยาบำรุงอสุจิ 470 ปี

Last updated: 5 ก.พ. 2567  |  523 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน ตำนานยาบำรุงอสุจิ 470 ปี

อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน (五子衍宗丸) เป็นตำรับยาอีกหนึ่งตำรับ ที่ใช้บ่อยในคลินิกโรคบุรุษเวช โดยเฉพาะการรักษาภาวะมีบุตรยากในเพศชาย ใช้กับกลุ่มอสุจิปริมาณน้อยและไม่แข็งแรง จนมีชื่อเรียกยาตำรับนี้ อีกชื่อหนึ่งว่า โจ่งจื่อตี้อีฟาง (种子第一方) หรืออันดับหนึ่งของการบำรุงเมล็ดพันธุ์ ประวัติของยาอู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน พบในบันทึกครั้งแรกตั้งแต่ “สมัยรัชวงศ์ถัง” หรือเมื่อ1400 กว่าปีที่แล้วใน “คัมภีร์เฉวียนเจี่ยลู้” 《悬解录》 โดยนักพรตจางกั่วเหล่า (张果老) ได้มีการมอบยา อู๋จื่อโส่วเซียนหวาน (五子守仙丸) ให้แก่จักรพรรดิเฉวียนตี้ ซึ่งยาตำรับนี้คือต้นกำเนิดของ “ยาอู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน” ในปัจจุบัน จนกระทั่งสมัยรัชวงศ์หมิง โดยท่านจางสือเฉ้อ (张时彻) ได้มีการบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับ “ยาอู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน” ไว้ในตำรายา “เส้อเซิงจ้งเมี้ยวฟาง”《摄生众妙方》บทที่11 จื่อสือเหมิน (บท-ลูกหลายสืบสกุล) มีคำกล่าวช่วงหนึ่งว่า “อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน ชายใดที่ทานยาตำรับนี้ บำรุงจิง (อสุจิ) บำรุงสุ่ย (สมองและไขกระดูก) ปรับการไหลเวียนของชี่ไต โดยไม่ต้องกังวลถึงความแกร่งพร่องเย็นร้อนของช่องท้องส่วนล่าง (เซี่ยเจียว : 下焦) เมื่อทานยาแล้วสมดุลจะเกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ (สมัยราชวงศ์หมิง) คือตำรับบำรุงเมล็ดพันธ์ที่ดีที่สุด กินต่อต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง” และยังมีการบันทึกถึงส่วนประกอบ วิธีการปรุง วิธีการรับประทานยาไว้โดยละเอียดด้วย

“การรับประทานสิ่งใดจะบำรุงสิ่งนั้น” คือหนึ่งรูปแบบในการใช้ยาจีนในการดูแลสุขภาพตั้งแต่อดีตมาถึงทุกวันนี้ “อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน” มีเม็ดพันธุ์จากพืช 5 ชนิด ได้แก่ โกว่ฉีจื่อ ทู่ซือจื่อ ฟู้เผินจื่อ อู๋เว่ยจื่อ เชอเฉียนจื่อ เป็นส่วนประกอบ ให้สรรพคุณในการบำรุงไตเพิ่มจิง กระตุ้นการตั้งครรถ์ บำรุงสมรรถภาพการสืบพันธุ์ในเพศชายให้แข็งแรง โดยมีเม็ดของเก่ากี้ และทู่ซือจื่อ เป็นส่วนประกอบหลักของตำรับยา

โกว่ฉีจื่อ (枸杞子 : เก่ากี้) รสหวาน ฤทธิ์กลาง เข้าเส้นจิงลั่ว(เส้นลมปราณ)ของตับไต สรรพคุณบำรุงไตอินไตหยาง ดั่งในคัมภีร์เต๋อเพ่ยมู่เฉ่า《得配本草》มีการบันทึกไว้ว่า สรรพคุณเก่ากี้เข้าเส้นจิงจู๋เซ่าอิน (ไต) และเจวี๋ยอิน (ตับ) ในระดับเลือด บำรุงอินตับ บำรุงพลังหยางในไตอิน

ซือจื่อ (菟丝子) รสเผ็ด หวาน ฤทธิ์กลาง เข้าเส้นจิงลั่วตับไต สรรพคุณบำรุงไตเพิ่มจิง รักษาตับบำรุงสายตา บำรุงม้ามระงับท้องเสีย บำรุงครรถ์ ช่วยให้เส้นลมปราณชงแข็งแรง ดั่งในคัมภีร์เปิ่นเฉ่าฮุ้ยเหยียน《本草汇言》มีการบันทึกไว้ว่า สรรพคุณทู่ซือจื่อคือยาหลักในการบำรุงไตตับ ให้ความอุ่นแก่ม้าม เสริมการทำงานกระเพาะอาหาร บำรุงอย่างอ่อนโยน ให้ความอบอุ่นที่ไม่แห้ง บำรุงทั้งอินหยางของตับไต ฤทธิ์ยาไม่แห้งและไม่ทำให้ติดขัด คัมภีร์เสินโหนงเปิ่นเฉ่าจิง《神农本草经》มีการบันทึกไว้ว่าทู่ซือจื่อจัดเป็นยาบำรุงร่างกาย เมื่อรับประทานติดต่อกันสายตาจะดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงอายุยืนยาว คัมภีร์เปิ่นเฉ่ากางมู่《本草刚目》มีการบันทึกไว้ว่า รักษาอาการบาดเจ็บรุนแรง บำรุงภาวะพร่อง เสริมแรงชี่ ทำให้คนแข็งแรง ในตำรับยาอู่จื่อเหยียนยจงหวาน ทู้ซือจื่อทำหน่าที่บำรุงตับไต เก็บกักพลังเหวียนชี่ ระงับการหลั่งของอสุจิและรักษาภาวะน้ำกามเคลื่อน

ฟู้เผินจื่อ (覆盆子 : ราสเบอรี่) รสหวาน เปรี้ยว ฤทธิ์อุ่น เข้าเส้นจิงลั่วตับไต สรรพคุณอบอุ่นไตแต่ไม่ทำให้ไตแห้ง เก็บกักจิงแต่ไม่ทำให้จิงติดขัด คัมภีร์เปิ่นเฉ่าเป้ยเย่า《本草备药》มีการบันทึกไว้ว่าฟู้เผินจื่อบำรุงไตเก็บกักจิง บำรุงตับบำรุงสายตา รักษาหยางเว่ย(เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) เพิ่มการเก็บกักปัสสาวะ เหมาะสมในการรักษาหยางเว่ยจากกลุ่มอาการไตพร่อง น้ำกามเคลื่อน ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อยเป็นต้น

อู่เว้ยจื่อ (五味子) รสเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด ขม ฤทธิ์อุ่น โดยรสยาที่เปรี้ยวหวานสามารถบำรุงอิน เพิ่มชี่สร้างสารจิน บำรุงอินของตับไต พร้อมกับการเก็บกักจิงระงับน้ำกามเคลื่อน ท่านซุนซือเหมี่ยว ได้อธิบายไว้ว่า เดือนห้า(ปฏิทินจีน)ต้องรับประทานอู่เว้ยจือ เพื่อบำรุงชี่ของอวัยวะทั้ง5 เมื่อถึงช่วงปลายฤดูร้อน(หน้าฝน) รู้สึกง่วงซึม ไม่มีเรี่ยวแรง เพิ่มหวงฉี เหรินเซิน ม่ายเหมินตง เพิ่มหวงไป๋เล็กน้อย ต้มรับประทาน เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ขาทั้งสองข้างพลังเต็มที่ เดือนหก(ปฏิทินจีน) รับประทานเพื่อบำรุงชี่ปอด เสริมความชุ่มชื้นของปอด บำรุงไต จึงสรุปได้ว่า อู่เว้ยจื่อคือยาอีกตัวเพื่อการบำรุงร่างกาย

โกว่ฉีจื่อ ทู่ซือจื่อ ฟู้เผินจื่อ อู๋เว้ยจื่อ ยาทั้ง4 เมื่อผสมรวมกัน ได้สรรพคุณบำรุงไตอินหยาง เสริมสร้างจิง เก็บกักจิง บำรุงอินหยางพร้อมกับการเก็บกักอย่างสมดุล

ยาตัวสุดท้าย เชอเฉียนจื่อ (车前子) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าเส้นจิงลั่วกระเพาะปัสสาวะ ม้าม และไต 3 เส้นอวัยวะจิง สรรพคุณเสริมการไหลและขับออกของน้ำ ในการแพทย์แผนจีนมีคำกล่าวที่ว่า  เมื่อขับน้ำช่องทวารของจิง (精窍 : จิงเชี่ยว) ปิดตัว ช่องทวารของจิงในที่นี้คือ สถานที่ในการเก็บกับอสุจิ ถ้าจิงเชี่ยวปิดตัวดี อสุจิมักเก็กกักอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อจิงมีปริมาณมากเพียงพอ ร่างกายสดชื่นแข็งแรง เมื่อมีเพศสัมพันธ์จึงสามารถมีลูกได้ ทำให้ตำรับ “อู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน” ต้องมีเพิ่มการไหลและขับน้ำ นั่นก็คือเม็ดของเชอเฉียนจื่อ นอกจากนี้เชอเฉียนจื่อยังมีสรรพคุณในการลดไฟในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะที่ไฟมากเกินไป ทำให้อสุจิเคลื่อนออกมาสู่ภายนอกได้ง่าย ทำให้อสุจิพร่อง ดังคำกล่าวใน คัมถีร์จิ่งเว้เฉวียนชูฟาฮุย《景岳全书发挥》ความว่า “การใช้บำรุงไตนั้น ต้องไม่ลืมเพิ่มการไหลและขับน้ำ ระบายไฟความร้อนที่มองไม่เห็นด้วย” ทำให้การบำรุงไตจึงมีการเพิ่มยาเชอเฉียนจื่อ พร้อมกันนั้นเชอเฉียนจื่อยังปรับการไหลเวียนของชี่ไต จึงจัดเป็นยาที่มักร่วมตำรับกับยาบำรุงไตเสมอ เป็นการจัดตำรับยาแบบใช้ความขัดแย้งของสรรพคุณยาในการเสริมประสิทธิภาพของยา

การใช้ตำรับอู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน ในการดูแลสมรรถภาพการสืบพันธุ์ในเพศชายนั้น มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวกว่า 470 ปี ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่สรีระวิทยาร่างกายของเพศชายและการทำงานของร่างกายนั้นยังคงเดิม ร่างกายจะแข็งแรงได้ ระบบสืบพันธุ์ที่ดี ต้องอยู่บนพื้นฐานการทำงานที่สมดุลของตับไต อินหยาง และจิงชี่กลไกหนึ่งใดที่เสียสมดุลไป ล้วนเป็นเหมือนฟันเฟืองที่หลวมออก การใช้ตำรับอู๋จื่อเอี่ยนจงหวาน จึงเปรียบเสมือนประแจที่เข้ามาไขให้ฟันเฟืองต่าง ๆ เข้าที่ เสริมการทำงานของตับไต อินหยาง ชี่จิงให้กลับมาทำงานได้ดังเดิม

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (หมอจีน พาน จ้าย ติง)
潘在丁  中医师   
TCM. Dr. Jittikorn  Pimolsettapun (Pan  Zai  Ding)
แผนกอายุรกรรมบุรุษเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้