โรคผื่นแพ้อักเสบ (Eczema) โรคผิวหนังเรื้อรังที่มักเป็นซ้ำๆ

Last updated: 10 ต.ค. 2566  |  101981 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคผื่นแพ้อักเสบ (Eczema) โรคผิวหนังเรื้อรังที่มักเป็นซ้ำๆ

โรคผื่นแพ้อักเสบ หรือที่เรียกว่า Eczema เป็นโรคที่พบบ่อยมากในกลุ่มของโรคที่เกิดจากภูมิแพ้ จากสถิติแผนกอายุรกรรมภายนอกของทางคลินิกในหลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคผื่นแพ้อักเสบมากเป็นอันดับ 1 โดยพบได้ในกลุ่มคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยชรา เป็นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ป่วยจะมีผื่นแดง คัน เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย มักจะกำเริบได้ง่าย ระยะเวลาที่เป็นรวมถึงความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปในรายบุคคล  ผู้ที่ในครอบครัวมีประวัติกลุ่มโรคภูมิแพ้ ผื่นแพ้อักเสบ หอบหืด ลมพิษ ภูมิแพ้จมูกอักเสบ ภูมิแพ้อากาศ  จะมีโอกาสเป็นโรคผื่นแพ้อักเสบสูงกว่าปกติ

สาเหตุการเกิดโรค
1. สาเหตุจากสิ่งกระตุ้นภายนอกร่างกาย (Contact dermatitis) เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวกับสารที่สัมผัส

แบ่งเป็น
1.1  Irritant contact dermatitis (ICD)  คือ ผื่นที่เกิดจากการตอบสนองเนื่องจากสัมผัสกับสารก่อการระคายเคือง (Irritant)  โดยไม่ต้องอาศัยปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโรค จะพบประมาณ 70- 80% ของผู้ป่วยผื่นสัมผัส ซึ่งเกิดกับคนส่วนใหญ่ที่สัมผัส สารระคายเคืองที่รุนแรง เช่น พวกกรด หรือด่างต่างๆ  หรือเกิดจากสารระคายเคืองบ่อย ๆ  เป็นระยะเวลานาน เช่น สบู่ น้ำ ผงซักฟอก เป็นต้น

1.2  Allergic contact dermatitis (ACD) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกายต่อสารสัมผัส เช่น การแพ้โลหะนิเกิล, สารในยาย้อมผม, ผลิตภัณฑ์จากยาง เช่น ถุงมือยาง  รองเท้า , น้ำหอม หรือสารกันบูดในเครื่องสำอาง เป็นต้น   ACD จะพบประมาณ 20% ของผู้ป่วยผื่นสัมผัส

2. สาเหตุจากสิ่งกระตุ้นภายในร่างกาย (Endogenous หรือ Constitutional eczema) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาจเกี่ยวของกับพันธุกรรม

โรคในกลุ่มนี้เรียกชื่อตามลักษณะผิว  สาเหตุและบริเวณเป็น ดังนี้
2.1 Atopic dermatitis ผิวหนังอักเสบ แห้ง คัน มักเป็นที่ใบหน้า ซอกคอ ข้อพับแขนขา พบบ่อยในเด็ก มีอาการกำเริบเป็นระยะๆ อาจมีอาการต่อเนื่องจนเป็นวัยรุ่น/ผู้ใหญ่ ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมักมีประวัติกลุ่มโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นร่วมด้วย (ผื่นแพ้อักเสบ หอบหืด ลมพิษ ภูมิแพ้จมูกอักเสบ (ภูมิแพ้อากาศ) เป็นต้น)

2.2 Seborrheic dermatitis ผิวหนังอักเสบเรื้อรังบริเวณที่มีต่อมไขมันหน้าแน่น มีขุยสะเก็ดมัน (Greasy scales) ร่วมด้วย เช่น ใบหน้า (โดยเฉพาะบริเวณปีกจมูก เหนือคิ้ว) หนังศีรษะ ลำตัวส่วนบน เป็นต้น

2.3 Nummular eczema ผิวหนังอักเสบรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัดเจน

2.4 Dyshidrotic eczema ตุ่มน้ำจมอยู่ในผิวหนังบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า

2.5 Pityriasis alba (กลากน้ำนม) ผื่นผิวหนังอักเสบที่มักพบบริเวณใบหน้าในเด็กและวัยรุ่น

2.6 Xerotic eczema พบได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ชอบอาบน้ำร้อน ผิวจะมีรอยแตกคล้ายดินที่แตกระแหง แห้ง แดง คัน มีขุย มักพบบริเวณขา หน้าแข้ง ต้นแขน ลำตัว มือของผู้สูงอายุ

2.7 Stasis eczema  ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเส้นเลือดบริเวณขาส่วนล่างไหลเวียนติดขัด มักพบในผู้ป่วยวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ อาจมีอาการข้อเท้าบวมร่วมด้วย

2.8 Neurodermatitis เป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเรื้อรัง ผิวแข็ง หยาบกร้าน หนาขึ้นจนเห็นลายที่ผิวคล้ายเปลือกไม้ (Lichenification) ซึ่งเกิดจากการถูและเกาเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีปัจจัยด้านอารมณ์ เช่นความเครียด กังวล มาเกี่ยวข้อง มักพบบริเวณท้ายทอย คอ ข้อเท้า ขา หลังมือ กระเบนเหน็บ เป็นต้น

ผื่นแพ้อักเสบสามารถแบ่งตามระยะการดำเนินโรคออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน ระยะกึ่งเฉียบพลัน และ ระยะเรื้อรัง

ระยะเฉียบพลัน
มีรอยโรคหลากหลาย เช่น ผื่น ตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส มีน้ำเหลืองซึม ผิวถลอก มีสะเก็ดขุย  เป็นต้น มักพบรอยโรคหลายชนิดรวมกัน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักรู้สึกร้อนบริเวณผื่น ขึ้นแบบสมมาตร คันรุนแรง บางช่วงมีอาการรุนแรงบางช่วงเบา มักเป็นๆหายๆไม่หายขาด

ระยะกึ่งเฉียบพลัน 
เป็นอาการหลังจากอาการในระยะเฉียบพลันบรรเทาลง หรือผื่นระยะเรื้อรังแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีทำให้เข้าสู่ระยะกึ่งเฉียบพลัน รอยโรคมีน้ำเหลืองซึมน้อยลง ผื่นเป็นตุ่มแดง คัน ผิวแห้งลอก รอยแกะเกา  ขุย เป็นหลัก

ระยะเรื้อรัง
หากเป็นผื่นระยะระยะเฉียบพลันและระยะกึ่งเฉียบพลันเป็นๆหายๆสามารถพัฒนามาเป็นระยะเรื้อรังได้ หรืออาจเป็นผื่นระยะเรื้อรังตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่มักมีผื่นเฉพาะที่ มีขอบเขตชัดเจน ผิวหนังหนาตัวชัดเจน ผิวภายนอกขรุขระ (Lichenification)  ผื่นมีสีแดงคล้ำหรือรอยสีน้ำตาล

โรคผื่นแพ้อักเสบในมุมมองแพทย์แผนจีน
เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก  ปัจจัยก่อนกำเนิด ทานอาหารไม่ถูกกับสภาพร่างกาย  หรือทานของเผ็ด หมักดอง อาหารแสลงต่างๆ ไปกระทบการทำงานของกระเพาะและม้าม เกิดเป็นความร้อน ความชื้นในร่างกาย ประกอบกับถูกกระทบจากปัจจัยภายนอก ทำให้ลม ความร้อน ความชื้นเข้าไปทำลายสมดุลของผิวหนัง 

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและหลักการรักษา
1. กลุ่มอาการลมและความร้อนสะสมที่ผิวหนัง
มีผื่น ตุ่มแดงเป็นหลัก อาจมีขุย น้ำเหลืองซึม  ลุกลามรวดเร็ว มักมีรอยโรคทั่วร่างกาย คันรุนแรง ลิ้นสีแดง ฝ้าสีเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็วหรือตึงเร็ว
วิธีการรักษา : ขับลมดับร้อน ทำให้เลือดเย็นขับความชื้น

2. กลุ่มอาการความร้อนความชื้นแทรกซึม
พบรอยโรคเป็นบริเวณกว้าง ผื่นมีสีแดง รอยโรคมีอาการร้อน ตุ่มน้ำอยู่ชิดกัน มีน้ำเหลืองซึมชัดเจน คันค่อนข้างรุนแรง ลุกลามเร็ว มีอาการหงุดหงิดง่าย กระหายน้ำ ปัสสาวะสีเหลือง ท้องผูกร่วมด้วย ลิ้นสีแดง ฝ้าสีเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นหรือเร็ว
วิธีการรักษา : ดับร้อนขับความชื้น ขับพิษระงับอาการคัน

3. กลุ่มอาการความชื้นสะสมจากม้ามพร่อง
มีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำ สีผื่นซีดคล้ำหรือมีสะเก็ด อาจมีน้ำเหลืองซึม คัน มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องอืด ถ่ายเหลว ปัสสาวะสีใสหรือเหลืองอ่อนร่วมด้วย ลิ้นอ้วนซีด ฝ้าบางสีขาวหรือเหนียว ชีพจรลอยแผ่ว หรือตึงเนิบ
วิธีการรักษา : บำรุงม้ามขับความชื้น 

4. กลุ่มอาการเลือดพร่องทำให้เกิดลมแห้ง
รอยโรคเป็นแบบแห้ง ผิวหนังหยาบ ขรุขระ หนาตัวขึ้น(Lichenification) อาจพบรอยแกะเกา สะเก็ด ขุย  คัน อาการเรื้อรัง ลิ้นสีซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็ก
วิธีการรักษา : พยุงเลือดเสริมความชุ่มชื้นผิว ขับลมระงับอาการคัน

ยาใช้ภายนอก
1. ระยะเฉียบพลัน
สามารถใช้ยาชนิดน้ำหรือของเหลว หรือชนิดผงทาที่รอยโรค

2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน
เน้นการลดการอักเสบ ทำให้แห้ง ควรใช้ยาทาชนิดน้ำมัน ชนิดน้ำแขวนตะกอน ชนิดผง

3. ระยะเรื้อรัง
สามารถเลือกใช้ยาใช้ภายนอกชนิดครีม

ข้อแนะนำสำหรับคนไข้โรคผิวหนัง
1. หลีกเลี่ยงการเกา หรือเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ เมนทอล การบูร น้ำหอม น้ำร้อนจัด เป็นต้น  หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ก้อน ผงซักฟอก                         

2. อาหารที่ควรงด-หลีกเลี่ยง : เนื้อแพะ เนื้อวัว อาหารทะเล ของที่มีรสเผ็ดร้อน เห็ดต่างๆ หน่อไม้ อาหารแสลงเช่น ของหมักดอง (เช่น ปลาร้า กะปิ เต้าเจี้ยว ผัดกาดดอง เป็นต้น) อาหารแปรรูปต่างๆ (เช่น ไส้กรอก ไส้อั่ว ปูอัด ลูกชิ้น แฮม เป็นต้น)                                   

3.อาหารที่สามารถรับประทานได้ : เนื้อหมู เนื้อห่าน อาหารสดใหม่ ผักผลไม้สดที่มีวิตามินซี                                         

4. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนกับผิวหนัง เช่น สบู่-แชมพูผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก

5. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์หรือยาก่อนใช้ หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆหรือยาทาที่ไม่เคยใช้ ควรทดสอบการแพ้ก่อนการใช้

บทความโดย 
แพทย์จีน คณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล (เซี่ย กุ้ย อิง)
แผนกอายุรกรรมภายนอก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้