สูงวัยทำไมต้องปวดหลัง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  17837 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สูงวัยทำไมต้องปวดหลัง

อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังและเอวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุหลายคนอาจจะสงสัยว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร  ทั้งๆที่พวกท่านก็ไม่ได้ทำงานหนัก  ทำไมจึงมีอาการปวดหลังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป   บางครั้งมีอาการมากจนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่มีความสุข  ลุกก็โอยนั่งก็โอย  จนทำให้ใครหลายคนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเราอยู่ในช่วงสูงอายุก็คงจะมีปัญหาไม่แตกต่างกัน  แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบนี้บ้าง 



ก่อนอื่นเรามารู้ถึงสาเหตุของอาการปวดหลังในผู้สูงอายุก่อนว่ามาจากสาเหตุใดบ้างนะครับ

1. ภาวะกระดูกพรุน  ถ้ากระดูกพรุนจะทำให้กล้ามเนื้อ  เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ เกิดการคลายตัว มีความยืดหยุดที่ลด   ถ้าเกิดที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังจะทำให้กระดูกสันหลังที่รับน้ำหนักมาก ๆ ทรุดตัวลงได้  ส่วนมากมักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเนื่องจากกระดูกพรุนเกิดจากภาวะหมดประจำเดือน



2. กล้ามเนื้อหลังแข็งตึงจากการทำกิจวัตรประจำวัน  ผู้สูงอายุหลายคนมักอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการแข็งตัว  เมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็มักจะทำให้ปวดหลังได้ง่าย  อีกทั้งยังเกิดจากกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นที่ลดลง 



3.  เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย  โดยเฉพาะหมอนรองกระดูก  ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนมีส่วนสูงที่ลดลง  มีสรีระที่เปลี่ยนไป   หมอนรองกระดูกเมื่อเสื่อมสภาพแล้วมักจะปลิ้นออกมากดทับรากประสาททำให้มีอาการปวด/ชาร้าวลงขา 



วิธีป้องกันอาการปวดหลัง สำหรับผู้สูงอายุและคนทั่วไป

1.  หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ  การเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงแต่ทำให้หัวใจทำงานในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย  กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานต่าง ๆ ช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี  ลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ยังช่วยให้กระดูกพรุนช้าลงได้อีกด้วย  การออกกำลังกายที่แนะนำคือการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ  สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องหัวเข่าแนะนำให้ไปเดินในน้ำ การทำกายบริหารท่าต่าง ๆ หรือการรำมวยจีน  เป็นต้น นอกจากนี้การออกกำลังกายกลางแจ้ง  แสงแดดอ่อนยังช่วยทำให้เร่งกระบวนการสร้างวิตามินดี  เพื่อเพิ่มการดึงแคลเซียมเข้าสูงกระดูกได้อีกด้วย



2. หลีกเลี่ยงการอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ  เพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ  รวมไปถึงการนั่งหรือนอนที่นิ่มจนเกินไป  ไม่รองรับกับสรีระของร่างกาย  



3. เติมแคลเซียมบำรุงร่างกาย รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมเป็นประจำ  ได้แก่  ใบขี้เหล็ก ผักคะน้า  ตำลึง นม น้ำเต้าหู้ เป็นต้น



4. หลีกเลี่ยงลมและความเย็น ระวังไม่ให้ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศมากระทบตัวเราโดยตรง  จะทำให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการหดเกร็งได้ง่าย



บทความโดย  แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (หมอจีน กวน จิน ซุ่น)
แผนกทุยหนา


- อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง -


ปวดหลัง

คลายปวดเมื่อยด้วยท่านั่ง ยืน นอน และเดิน ที่ถูกต้อง





 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้