โรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง(顽湿聚结 Prurigo nodularis)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  103295 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง(顽湿聚结 Prurigo nodularis)

         โรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง ในทางแพทย์แผนจีนมีชื่อเรียกว่า “หวันซือจู้เจี๋ย” (顽湿聚结)เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่มีระยะการดำเนินของโรคยาวนาน มีอาการมีตุ่มแข็งที่แขนขาด้านนอกทั้งสองข้างร่วมกับมีอาการคัน
 
ลักษณะทางคลินิก

         มักพบโรคนี้ในผู้ใหญ่วัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ จะพบรอยโรคได้ที่แขนขาด้านนอก ทั้งสองข้าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าแข้ง รองลงมาอาจพบได้ที่หลังมือ หลังเท้า และ บริเวณแผ่นหลัง รอบเอว แก้มก้นตามลำดับ

         โดยในระยะแรกรอยโรคจะมีลักษณะตุ่มนูนสีแดงอ่อนหรือสีแดง แล้วค่อยๆกลายเป็นตุ่มไตแข็งทรงโดมขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเหลืองจนถึงเมล็ดถั่วปากอ้า ผิวภายนอกขรุขระมีการหนาตัวของผิวชัดเจน บางส่วนมีลักษณะงอกคล้ายหูด พื้นผิวหยาบจับแล้วมีความรู้สึกแข็งเป็นไต มักมีอาการคันมากจนต้องเกา บริเวณโดยรอบมีสีคล้ำ จำนวนไม่แน่นอน เป็นตุ่มเดี่ยววางตัวกระจัดกระจาย มีอาการคันเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหรือเมื่อมีความเครียดมักมีอาการคันมาก บางตุ่มอาจหายได้เอง แต่จะทิ้งรอยแผลเป็นหรือมีรอยสีผิวคล้ำ มักจะมีผื่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ มีการดำเนินของโรคเป็นระยะเวลานาน บางรายอาจมีประวัติหลายปี  

          ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นตุ่มและมีอาการคันเรื้อรัง บางตุ่มอาจมีสะเก็ดที่ผิวที่เกิดจากการแกะหรือเกา โรคนี้มีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยมีการแกะ เกา จิก ทุกๆวัน ผู้ป่วยบางส่วนพบว่าอาจมีโรคอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคตับ โรคไต การติดเชื้อ HIV หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไฮโปไทรอยด์ โรคซึมเศร้าหรือภาวะทางจิตเวชอื่นๆ


การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

กลุ่มอาการจากพิษร้อนชื้นและลม

ผื่นมีลักษณะนูนโค้งแบบโดมสีแดงหรือสีเทาน้ำตาล เป็นตุ่มเดี่ยววางตัวกระจัดกระจาย มีอาการคันมากเป็นช่วงๆ มีอาการร่วมคือ หงุดหงิด กระหายน้ำ ปัสสาวะสีเหลือง ท้องผูก ลิ้นสีแดงฝ้าสีเหลืองเหนียว

กลุ่มอาการลมแห้งจากเลือดคั่ง

ผื่นมีลักษณะเป็นไตแข็ง ผิวภายนอกขรุขระ สีแดงคล้ำหรือสีม่วงน้ำตาล ผิวหนาตัวขึ้น มีอาการคันเป็นช่วงๆ ลิ้นสีม่วงคล้ำ


หลักการรักษา

          หลักการรักษาคือการขับเสียชี่(邪气)เป็นหลัก ใช้สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการดับร้อนขับความชื้น ขจัดลมและพิษ เพิ่มการไหลเวียนเลือดทะลวงเส้นลมปราณ กำจัดลมลดอาการคัน สามารถใช้ยาสมุนไพรจีนแบบใช้ภายนอก ฉีดยาเฉพาะที่ ฯลฯร่วมด้วย นอกจากนี้ควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและทำการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของกระเพาะและลำไส้ผิดปกติ หรือ มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อควรรีบทำการรักษา ระวังไม่ให้ถูกแมลงกัด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ปรับปรุงด้านโภชนาการและความสะอาด เลี่ยงการเกา การระคายเคือง ทำจิตใจให้ผ่องใส


การรักษา

1 ยาสำเร็จรูป

2 การฝังเข็ม อาจเพิ่มการรมยา(艾灸)ร่วมด้วย

3 การฉีดยาจีนเข้าจุดฝังเข็ม  


การดูแลและป้องกัน

1) รักษาความสะอาด ทั้งของใช้เครื่องนุ่งห่มรวมไปถึงสถานที่ ป้องกันการถูกแมลงกัดต่อย

2) รักษาโรคชนิดอื่นๆที่มีอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พัฒนาก่อให้เกิดโรคตุ่มแข็งคันเรื้อรังได้

3) หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด แอลกอฮอล์ อาหารทะเล และของแสลงอื่นๆ

4) หลีกเลี่ยงการเกา การประคบร้อน หรือการอาบน้ำร้อนจัด

บทความโดย แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย                                                                            เรียบเรียงโดย แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร

 
ตัวอย่างกรณีศึกษาโรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง ( Prurigo nodularis)

เคสที่ 1

ผู้ป่วยเพศหญิง ชาวไทย อายุ 13 ปี  HN:342***                                                                          อุณหภูมิร่างกายปกติ (36.8℃), ชีพจร 109/min, ความดัน96/54mmHg, น้ำหนัก45.4 kg, ส่วนสูง163cm

ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 18-05-2021

          คนไข้มาด้วยอาการมีผื่นขึ้นตามตัวโดยเฉพาะบริเวณขาทั้ง 2 ข้างเป็นเวลา 8 ปี มีอาการคันและเป็นมากขึ้นได้ 1 เดือน โดยคนไข้เริ่มมีอาการผื่นขึ้นตามตัวร่วมกับอาการคันตั้งแต่อายุ 5 ปี เริ่มจากขึ้นตุ่มคันบริเวณข้อเท้าแล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปที่แขนขาทั้ง 2 ข้าง โดยพบที่บริเวณขาเป็นหลัก พบตุ่มคันเล็กน้อยบริเวณใบหน้าหลังและลำตัว เคยได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน ได้รับยาแก้แพ้ร่วมกับยาทาภายนอก(จำชื่อยาไม่ได้)แต่อาการไม่ดีขึ้น ต่อมาคนไข้จึงซื้อยามาทาเองยาชื่อ“Epiklin” หลังทาอาการดีขึ้นแต่เมื่อหยุดใช้จะกลับมามีอาการ ทานอาหารได้ปกติ พื้นฐานคนไข้ชอบรับประทานรสหวานมัน เข้านอนเวลาประมาณตี1- ตี2 มีตื่นบ้างเพราะอาการคัน ขับถ่ายปกติวันละ 2-3 ครั้ง ประจำเดือนรอบเดือน 30-45 วัน ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาปริมาณประจำเดือนน้อยลงและมาช้ากว่าปกติ สีประจำเดือนแดงซีดปนน้ำตาล ไม่มีอาการปวดประจำเดือน รอบเดือนล่าสุดวันที่ 08/05/2021                             

ลิ้นสีซีด ลิ้นใหญ่ มีฝ้าน้อยตรงกลางลิ้นพบรอยแตก ชีพจรเล็กลื่นเร็ว                                                                              

การวินิจฉัย : หวันซือจู้เจี๋ย (顽湿聚结)/  Prurigo nodularis

กลุ่มอาการ : กลุ่มอาการเจิ้งชี่พร่อง เลือดคั่งสะสม(正虚瘀结证)

การรักษา: เลือกใช้ตำรับยาจีนรับประทาน(ยาต้ม) ที่มีสรรพคุณในการบำรุงชี่เลือด ขจัดลมและระงับอาการคันร่วมกับยาเม็ดสำเร็จรูปชนิดแคปซูลเป็นเวลา 7 วัน




ตรวจรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 26-05-2021                                                                                   
ชีพจร 107/min, ความดัน107/66mmHg

          หลังรับประทานยาจีนไปไม่พบอาการไม่สบายตัวใดๆ  ผื่นบริเวณขาช่วงล่างบางจุด(ข้างขวา)ความนูนของผื่นเรียบลงกว่าเดิมเล็กน้อย อาการคันตามผื่นลดลง แต่พบว่าสีผื่นมีความเข้มมากขึ้น ยังคงใช้ยาแผนปัจจุบันทาวันละครั้งควบคู่กันกับยาทาสมุนไพรจีน รับประทานอาหารได้ปกติ เข้านอนช่วงเวลา 23.00 - 0.00น. ภายใน 1 สัปดาห์ มีตื่นกลางดึก1ครั้ง การขับถ่ายยังคงเดิมคือวันละ 2-3 ครั้ง

ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าค่อนข้างน้อยตรงกลางมีรอยแตก ชีพจรเล็กลื่นและเร็ว                                                           

การรักษา: ยาจีนรับประทาน(ยาต้ม)ยังอิงตามตำรับเดิมแต่มีการปรับเพิ่มลดตัวยาที่เน้นการบำรุงเลือดเพิ่มการไหลเวียนเลือดและชี่ ให้ทานต่อ 10 วัน
 

ตรวจรักษาครั้งที่ 6 วันที่ 11-07-2021                                                                                                    
ชีพจร 88/min, ความดัน99/57mmHg

          อาการคันผื่นตามขาลดลง ผื่นบางส่วนยุบเรียบ ยังคงมีอาการเหนื่อยง่าย ทานอาหารได้ปกติ นอนหลับได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ประจำเดือนมาวันที่04/07/2021 ปริมาณปกติ(มากกว่าเดิม) สีแดง มีลิ่มเลือดเล็กน้อย ไม่มีอาการปวดประจำเดือน

ลิ้นแดงคล้ำเล็กน้อย ฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็ว                                                                                                                         
การรักษา: เนื่องจากคนไข้ไม่สามารถทานยาจีนแบบน้ำเป็นระยะเวลานานได้ จึงลองปรับเป็ยาสำเร็จรูปชนิดลูกกลอนและแคปซูล ที่มีสรรพคุณในการบำรุงเลือดและขจัดลมระงับอาการคัน ในการรักษาครั้งที่ 4 ( 19-06-2021) และให้มาต่อเนื่องร่วมกับยาทาสมุนไพรจีนในครั้งนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์

 

ตรวจรักษาครั้งที่ 7 วันที่ 01-08-2021                                                                                      ชีพจร 108/min, ความดัน95/58mmHg

          ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณข้อเท้าข้างขวาด้านนอกมีอาการคันมากขึ้นและพบผื่นตุ่มใหม่ขึ้นหนึ่งจุด แต่บริเวณอื่นๆผื่นตุ่มนูนยุบลงชัดเจน ทิ้งรอยดำคล้ำ และไม่มีอาการคัน คนไข้ยังคงมีอาการเหนื่อยง่าย ทานอาหารได้ปกติ เข้านอนหลังเวลา 23:00น. นอนหลับสนิท การขับถ่ายปกติ

ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าค่อนข้างบางตัวลิ้นใหญ่บวมและขาดความชุ่มชื้น ชีพจรเล็กเร็ว                                                                 

การรักษา: จ่ายยาจีนสำเร็จรูปตามเดิม เป็นเวลา 4 สัปดาห์


ตรวจรักษาครั้งที่ 9 วันที่ 14-11-2021

ชีพจร 86/min, ความดัน103/62mmHg

           เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิดรุงแรงจึงให้ยาจีนทานต่อเนื่องในการตรวจรักษาครั้งที่ 8 (29-08-2021) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ผื่นบริเวณขาทั้งสองข้างค่อยๆยุบเรียบและสีจางลงตามลำดับโดยไม่มีอาการคัน แต่บริเวณข้อเท้าข้างขวามีตุ่มผื่นขึ้นใหม่เพียงจุดเดียวแต่ไม่มีอาการคันใดๆ คนไข้ไม่มีอาการเหนื่อยง่าย รับประทานอาหารได้ปกติเข้านอนก่อนเที่ยงคืนนอนหลับสนิท การขับถ่ายปกติ ประจำเดือนวันที่20/10/2021 ปริมาณปกติ สีแดงไม่มีลิ่มเลือด ไม่ปวดประจำเดือนไม่มีถ่ายเหลวช่วงรอบเดือน

ลิ้นสีแดงอมชมพูฝ้าบางและแห้งเล็กน้อย ชีพจรเล็กลื่น                                                                              

การรักษา: โดยภาพรวมผื่นส่วนใหญ่ยุบเรียบและไม่มีอาการคันใดๆ จึงให้ยารับประทานเดิมต่อเนื่องอีกหนึ่งสัปดาห์และจบขั้นตอนการรักษา

 

วิเคราะห์: กรณีคนไข้รายนี้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการเจิ้งชี่พร่องเกิดเลือดคั่งสะสม(正虚瘀结证)กลไกการเกิดโรคจากการที่เจิ้งชี่(正气)พร่องเกิดเลือดคั่งสะสม จากการที่เจ็บป่วยเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขาดการไหลเวียนของชี่ เมื่อชี่พร่อง ส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่และเลือด เมื่อชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงเกิดการสะสมคั่งค้างเกิดเป็นก้อนแข็ง ชี่พร่องเลือดไหลเวียนติดขัดส่งผลต่อการหล่อเลี้ยงสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง

          อาการแสดงของคนไข้สอดคล้องกับกลไกการเกิดโรค เดิมคนไข้เริ้มมีตุ่มนูนตั้งแต่อายุ 5 ปี การดำเนินโรคมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 8 ปี เมื่อป่วยเป็นระยะนานทำให้ชี่และเลือดยิ่งพร่อง การไหลเวียนไปสู่ร่างกายไม่เพียงพอและเกิดการคั่งค้างสะสมเกิดตุ่มนูนตามร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับมีอาการเหนื่อยง่ายและประจำเดือนมาผิดปกติ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานร่างกายของคนไข้และการใช้ชีวิตประจำวัน หลังจากเริ่มการรักษาด้วยตำรับยาที่มีสรรพคุณบำรุงชี่เลือดขจัดลมและระงับอาการคัน ในระยะแรกพบว่าเมื่อมีการบำรุงเลือดทำให้ตุ่มนูนตามร่างกายมีสีเข้มมากขึ้น แต่อาการคันลดลงตามลำดับ ในทางแพทย์แผนจีนนั้นชี่กับเลือดเป็นของคู่กัน ในการรักษาจึงมีการบำรุงชี่และเลือดพร้อมกับขจัดลมเพื่อลดอาการคัน โดยปกตินั้นการบำรุงเลือดจะต้องใช้เวลาในการที่ร่างกายจะฟื้นฟูและสร้างเลือดได้ ดังนั้นคนไข้จำเป็นต้องใช้ความอดทนและต่อเนื่องในการรักษา ต่อมาเมื่อเลือดมากขึ้นชี่มากขึ้นจะเกิดการไหลเวียนที่ดีขึ้นและทำให้เลือดที่คั่งค้างอยู่สามารถไหลเวียนและสลายเลือดที่คั่งค้างอยู่ได้ ทำให้ตุ่มนูนยุบเรียบลง นอกจากนี้ภายหลังการรักษาอาการเหนื่อยง่ายและประจำเดือนผิดปกติจึงหายตามไปด้วย

บันทึกและทำการรักษาเคสที่1โดย แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร

เคสที่ 2

ผู้ป่วยเพศหญิง ชาวไทย อายุ 47 ปี  HN:333***                                                                     
 
อุณหภูมิร่างกายปกติ (36.0℃), ชีพจร 79/min, ความดัน122/69mmHg, น้ำหนัก56 kg

ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 14-11-2020

          ผู้ป่วยมาด้วยอาการมีตุ่มคันที่แขนและขามาเป็นเวลา5ปี และมีอาการหนักมากขึ้นมาเป็นเวลา 10 เดือน  เมื่อ 5ปีก่อนผู้ป่วยมีผื่นขึ้นเป็นตุ่มเดี่ยวกระจายที่แขนและขาโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการคันมาก ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษามาหลากหลายประเภท ทั้งซื้อยาสมุนไพรใช้เอง และเข้ารับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันโดยการทานยาแก้คันและการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะจุดได้ผลดี แต่เมื่อหยุดการรักษาก็มีตุ่มคันขึ้นมาอีก อาการ ณ ปัจจุบันคือ ผู้ป่วยมีตุ่มแข็งจับแล้วให้ความรู้สึกเป็นก้อนไต มีอาการคันมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะคันจนไม่สามารถนอนหลับได้ คันจนต้องจิกตุ่มคันให้หลุดออก และหากมีเหงื่อออกก็จะมีอาการคันเป็นพิเศษ ผู้ป่วยหยุดการรักษาทุกประเภทยกเว้นทานยาแก้คัน ผู้ป่วยมีสภาวะเครียดหงุดหงิดง่าย ขี้หนาว ไม่อยากอาหาร ท้องอืดแน่นท้อง ขับถ่ายปกติ ประวัติประจำเดือนปกติ LMP:3 พฤศจิกายน 2020 ปฏิเสธการแพ้อาหารและยา มีโรคประจำตัวเป็นไมเกรน

ลิ้นสีแดงฝ้าสีขาวบาง ชีพจรเล็กลื่น

การวินิจฉัย : หวันซือจู้เจี๋ย (顽湿聚结)/  Prurigo nodularis

กลุ่มอาการ : กลุ่มอาการเสมหะจากความชื้นปิดกั้นม้าม(痰湿困脾证)

การรักษา: ยาจีนรับประทาน(ยาต้ม)ที่มีฤทธิ์บำรุงม้ามขจัดความชื้น ลดอาการคันขจัดเสมหะ


ตรวจรักษาครั้ง6 วันที่ 20-12-2020

          ผู้ป่วยอาการคันลดลง บริเวณที่มีอาการคันเหลือประมาณ 30% จากเดิม คันตามตุ่มที่มีความแข็งและหนามากเป็นพิเศษ หากมีอาการคันขึ้นมาจะคันมากจนต้องจิกเนื้อ ตุ่มคันบางส่วนเริ่มบางลง ไม่มีตุ่มใหม่เกิดขึ้น สามารถนอนหลับได้ เข้านอนยาก ตุ่มบางส่วนแห้ง ลอกเป็นขุย บางช่วงอาจมีอาการไม่อยากอาหาร หรืออาหารไม่ย่อย

ลิ้นสีแดงฝ้าสีขาวบาง และมีฝ้าสีขาวเหนียวบริเวณกลางลิ้น ชีพจรเล็ก

การรักษา: ยาจีนรับประทาน(ยาต้ม)ที่มีฤทธิ์บำรุงม้ามขจัดความชื้น ลดอาการคันขจัดเสมหะ


ตรวจรักษาครั้ง12 วันที่ 21-02-2021

เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นผู้ป่วยมีอาการคันมากขึ้น รู้สึกตึงบริเวณผิวใกล้เคียงกับตุ่มคัน กดแล้วรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และมีผดขึ้นเล็กน้อยขึ้นที่ต้นขา นอนหลับปกติ เหงื่อออกง่าย หงุดหงิดง่ายขึ้น

ลิ้นสีแดงฝ้าสีเหลืองเหนียวบาง ชีพจรเล็กตึง

การรักษา: ยาจีนรับประทาน(ยาต้ม)ที่มีฤทธิ์ระบายพิษไฟในตับ ทำให้เลือดเย็น ระงับอาการคัน


ตรวจรักษาครั้ง17 วันที่ 12-05-2021

ไม่มีผื่นใหม่เกิดขึ้น ตุ่มที่แข็งเป็นไตค่อยๆลดลงเรื่อยๆ อาการคันเหลือเพียงเล็กน้อย มีอาการท้องอืดเพราะทานไม่ตรงเวลา ผู้ป่วยขอทานเป็นยาเม็ดแทน

ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าเหนียวบาง ชีพจรตึงลื่น

การรักษา: ยาจีนรับประทาน(ยาต้ม)ที่มีฤทธิ์ระบายพิษไฟในตับ บำรุงม้าม ระงับอาการคัน

ตรวจรักษาครั้ง22 วันที่ 22-08-2021

ไม่มีผื่นใหม่เกิดขึ้น ตุ่มที่แข็งเป็นไตลดลงเหลือไม่ถึง 10จุด เหลือแต่รอยคล้ำ ไม่ปรากฎอาการคัน มารับยาทานเป็นรอบสุดท้ายเป็นการจบการรักษา

 

วิเคราะห์: ผู้ป่วยรายนี้มีสาเหตุการเกิดโรคในกลุ่มภาวะเสมหะจากความชื้นปิดกั้นม้าม(痰湿困脾)กลไกการเกิดโรคของผู้ป่วยรายนี้เกิดจาก พฤติกรรมการทาน หรือการทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ของมัน หรือของหวานมากเกินไปทำให้เกิดความชื้นภายในร่างกาย ม้ามมีคุณลักษณะชอบแห้งแต่ไม่ชอบชื้นควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาทั้งสี่ เมื่อมีความชื้นเกิดขึ้นไปขัดขวางการไหลเวียนชี่ของม้าม ทำให้กลไกการย่อยของม้ามและกระเพาะอาหารผิดปกติเกิดอาการแน่นท้อง เบื่ออาหาร ม้ามทำหน้าที่ในการควบคุมการดูดซึม รักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย เป็นแหล่งต้นกำเนิดของเสมหะ เมื่อม้ามทำงานไม่ปกติทำให้ไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกายได้เกิดการสะสมกลายเป็นเสมหะอยู่ภายในกำจัดออกได้ยาก(ในทางแพทย์แผนจีน ตุ่มไตที่มีความแข็งมากถือเป็นเสมหะชนิดหนึ่ง) และเนื่องจากผู้ป่วยเป็นมานานเวลานานจึงมีภาวะอุดกั้นเกิดขึ้นผิวจึงมีลักษณะเป็นตุ่มและมีสีคล้ำ

         ผู้ป่วยรายนี้มีอาการต่อเนื่องมา5ปีบ่งบอกถึงภาวะโรคที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันที่มักมีสาเหตุมาจากภายนอก สาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วยรายนี้เป็นสาเหตุที่เกิดจากภายในอันเนื่องมาจากผู้ป่วยมีพฤติกรรมการทานอาหารบางอย่างที่มากเกินไปมาเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับผู้ป่วยเกาบ่อยครั้ง ถือเป็นการกระตุ้นทำให้อาการหนักมากขึ้น หลังจากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยยาจีนทั้งชนิดรับประทานและยาใช้ภายนอกทำให้อาการคันเบาลงมาก ไม่มีตุ่มแข็งใหม่เกิดขึ้น ตุ่มเดิมก็ค่อยๆบางและเล็กลง ระหว่างการรักษาเนื่องจากเป็นช่วงที่มีอาการร้อนจัดและผู้ป่วยเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือนทำให้มีภาวะตับร้อนผสมร่วมกับความชื้นที่มีอยู่เดิม (ความร้อนชื้นกระทบเส้นลมปราณตับ) ทำให้เกิดผดเม็ดเล็กๆขึ้นที่ขาเมื่อมีการเพิ่มยาขจัดพิษร้อนในตับก็อาการดีขึ้น สำหรับเรื่องรอยคล้ำที่เกิดขึ้นหลังจากผื่นหาย เกิดจากผู้ป่วยมีระยะการดำเนินโรคที่ค่อนข้างยาวนานอยู่ในระดับที่อาการค่อนข้างหนักจนโครงสร้างของผิวมีความผิดปกติ หลังจากทำการรักษาจำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูโครงสร้างของผิวให้สีผิวค่อยๆกลับมาเป็นเช่นเดิม โดยผู้ป่วยทาใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีสรรพคุณช่วยปรับสีผิวเพื่อร่นระยะเวลาการฟื้นฟูของผิวให้กลับมาเป็นเช่นเดิมเร็วขึ้นได้

บันทึกและทำการรักษาเคสที่2โดย แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้