Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 6006 จำนวนผู้เข้าชม |
การรับประทานอาหารที่อร่อย ถูกปาก เป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ในปัจจุบัน แนวทางในการรับประทานอาหารที่ดีที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพนั้นคงหนีไม่พ้นประโยคที่กล่าวไว้ว่า “ควรรับประทานให้อิ่มประมาณเจ็ดถึงแปดส่วน” ซึ่งในชีวิตประจำวันอาจจะทำได้ยาก หากเป็นการรับประทานอาหารกับเพื่อนหรือครอบครัว ที่ส่วนมากมักจะนัดเจอกันที่ร้านชาบู หมูกระทะ ร้านบุพเฟ่ต์ หรือร้านอาหารที่ถูกปากกับทุกคน
ในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีนการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารถูกทำลาย ทำให้เกิดอาหารตกค้าง มีความชื้นเสมหะ แปรเปลี่ยนเป็นความร้อน ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา
1.การรับประทานน้อยเกินไป
ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ไม่โตตามวัย ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยได้ง่าย ทำลายชี่กระเพาะอาหาร
2.การรับประทานมากเกินไป
ทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารถูกทำลาย มีความชื้นและเสมหะสะสม แปรเปลี่ยนเป็นความร้อน ทำให้เป็นโรคอื่นๆตามมาในภายหลัง เช่น กรดไหลย้อน โรคอ้วน ฯลฯ
3.การรับประทานอาหารไม่สะอาด
ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารและสำไส้ โรคพยาธิ อาหารเป็นพิษ ฯลฯ
4.การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรือร้อนมากเกินไป
ทำให้สมดุลอินหยางในร่างการขาดสมดุล เกิดเป็นโรคตามมา
- การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากเกินไป เช่น สลัดผัก น้ำปั่น น้ำแข็ง ไอศกรีม น้ำเก๊กฮวย ฯลฯ ทำให้หยางชี่ของม้ามและกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดเป็นความเย็นและความชื้นเกิดขึ้นภายในร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป เช่น พริก ของทอด ช๊อคโกแลต ชาบู ปิ้งย่าง ฯลฯ ทำให้มีความร้อนสะสมที่กระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นริดสีดวงทวาร ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นานวันเข้าทำให้มีความชื้นสะสม เกิดเป็นเสมหะ แปรเปลี่ยนเป็นความร้อนจึงเกิดเป็นโรค เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหรือเนื้องอก
5.การรับประทานอาหารรสจัด
ทำให้ชี่ของอวัยวะมากเกินไป กระทบการรักษาสมดุลของแต่ละอวัยวะ ทำให้อวัยวะอื่นเกิดโรคขึ้นมา เช่น
- เค็มไป ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว การไหลเวียนมีปัญหา สีของหลอดเลือดเปลี่ยนไป
- ขมไป ทำให้ผิวแห้ง ไม่ชุ่มชื้น ผมหลุดร่วงง่าย
- เผ็ดไป ทำให้เส้นเอ็นหดเกร็ง เล็บเปราะบาง
- เปรี้ยวไป ทำให้กล้ามเนื้อและหลังมือหยาบกร้าน ริมฝีปากห้อย
- หวานไป ทำให้ปวดกระดูก ผมร่วงง่าย
6.การรับประทานอาหารเดิมๆซ้ำๆ
ทำให้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น คอหอยพอก (ขาดไอโอดีน) ตาบอดกลางคืน(ขาดวิตามินเอ) ฯลฯ ส่วนการรับประทานของมันของทอดรวมทั้งของหวานมากเกินไปนั้นทำให้มีความชื้นสะสมเกิดเป็นเสมหะ แปรเปลี่ยนเป็นความร้อน ทำให้เกิดเป็น โรคอ้วน เวียนศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ฯลฯ
25 ก.ย. 2567