Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10797 จำนวนผู้เข้าชม |
ภูมิแพ้อากาศ หรือ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) คือการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อร่างกายของตัวเรานั้นมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หญ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง แมลงสาบ เชื้อรา ควันบุหรี่ ควันธูป ควันรถ สเปรย์น้ำหอม ยาฆ่าแมลง เป็นต้น ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา จาม ไอ ตาบวม ตาแดง หรือขอบตาคล้ำได้ บางรายอาจมีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ผื่นผิวหนังอักเสบหรือลมพิษร่วมด้วย แล้วจะทำอย่างไรดีหากอาการเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หลักการ 4 ข้อที่ควรจำมีอะไรบ้าง...ไปดูกันเลย
“หลีกเลี่ยง กำจัด รักษา ป้องกัน”
1.หลีกเลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
คงเป็นการดีหากรู้ว่าเราแพ้อะไรก็ควรถอยห่างจากสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ฤดูที่มีการฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้ หรือ ควันบุหรี่ ควันรถ ควรอยู่ให้ห่างพร้อมทั้งใส่ผ้าปิดปากป้องกันไว้เสมอ เป็นต้น
2. กำจัด คือ กำจัดสารก่อภูมิแพ้
ไรฝุ่น มักอยู่ตามหมอน ที่นอน ผ้าห่ม เนื่องจากการกำจัดไรฝุ่นให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำได้โดยการนำเครื่องนอนไปตากแดดจัด อย่างน้อย 30 นาทีทุกสัปดาห์ หมั่นซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มโดยซักในน้ำร้อน 60 องศาเซลเซียส นาน30นาที 1-2ครั้งต่อสัปดาห์ อีกทั้งควรดูดฝุ่นหรือถูพื้นแทนการกวาดบ้าน
ขนสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัช แมว ไม่ควรนำมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ลดการสัมผัส หรือหากสัมผัสแล้วควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งเพื่อไม่ให้ติดเข้าไปในบ้าน หมั่นทำความสะอาด ดูดฝุ่นอยู่เสมอ
แมลงสาบ ควรใช้ถังขยะที่มีฝาปิดแน่นหนา หรือ มัดถุงขยะทุกครั้งเมื่อทิ้งเศษอาหารช่วยได้ทั้งเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในบ้านได้อีกด้วย
เชื้อรา ห้องที่อับชื้นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีให้กับเชื้อรา ดังนั้นควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศ หรือ หาที่ดูดความชื้นมาวางไว้เพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อรา
สเปรย์ ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์น้ำหอม สเปรย์ฉีดผม สเปรย์ปรับอากาศล้วนทำให้ฟุ้งกระจายในอากาศเวลาใช้ สำหรับผู้ที่แพ้อาจสร้างความระคายเคืองได้จากการสารเคมีบางชนิดในน้ำยา
3. รักษา คือ การใช้ยาบรรเทาอาการภูมิแพ้
ยาแผนปัจจุบัน หมออาจพิจารณาโดยการใช้กลุ่มยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮีสตามีน(Antihistamine) ยาลดน้ำมูก ยาพ่นจมูกชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เป็นต้น
แนวทางการรักษาในทางแพทย์แผนจีน
ภูมิแพ้อากาศในทางแพทย์แผนจีนเรียกว่า ปี๋ชิว(鼻鼽)สัมพันธ์กับอวัยวะปอด ม้าม ไต สาเหตุจากอวัยวะอ่อนแอ หรือกระทบลมเย็น ลมร้อน ทำให้ปอดสูญเสียการกระจายชี่จึงทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย การรักษามีทั้งการทานยาสมุนไพรจีน ฝังเข็ม ทุยหนา
1) ยาจีน เป็นการนำสมุนไพรจีนมาจัดเป็นตำรับให้เหมาะสมกับอาการคนไข้รายบุคคล โดยแพทย์จะพิจารณาตามพื้นฐานร่างกายของผู้ป่วยตามหลักการ
วินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีน
การวินิจฉัยกลุ่มอาการและวิธีการรักษา
1.1 กลุ่มอาการเย็นจากชี่ปอดพร่อง (肺气虚寒证)
อาการ : คัดจมูก น้ำมูกใสปริมาณมาก คันจมูก จามถี่ การได้กลิ่นลดลง มักเป็นบ่อยเมื่อเจออากาศเย็น เป็นหวัดง่าย ขี้หนาว กลัวลม อาการร่วมอื่นๆเช่น เหงื่อออกง่าย หายใจสั้น เสียงต่ำ ไม่อยากพูดคุย ใบหน้าซีด ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรอ่อนแรง (脉虚弱)
วิธีการรักษา : บำรุงชี่ปอด ขับความหนาว
ตัวยาที่เหมาะสม : เช่น หวงฉี(黄芪) ฝางเฟิง (防风) ซินอี๋ฮวา(辛夷花)
1.2 กลุ่มอาการม้ามและปอดพร่อง (肺脾两虚证)
อาการ : คัดจมูก น้ำมูกใสหรือขาวเหนียว การได้กลิ่นลดลง อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดหัว เวียนหัว มือเท้าเย็น ไม่ค่อยมีกำลัง ความอยากอาหารลดลง ท้องอืด ถ่ายเหลว ลิ้นซีดหรืออ้วนซีด มีรอยฟันข้างลิ้น ฝ้าลิ้นขาวลื่น ชีพจรอ่อนไม่มีแรง(脉软无力)
วิธีการรักษา : บำรุงชี่ปอดและม้าม
ตัวยาที่เหมาะสม : เช่น ตั่งเซิน(党参) เฉินผี (陈皮) ไป๋จื่อ(白芷)
1.3 กลุ่มอาการไตหยางพร่อง (肾阳虚证)
อาการ : คัดจมูก น้ำมูกใส จามถี่เป็นเวลานาน มักเป็นบ่อยช่วงเช้าเย็น อาการร่วมอื่นๆ เช่น กลัวลมหนาว มือเท้าเย็น ตึงท้ายทอย คอบ่า ปวดเมื่อยเอว ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ลิ้นซีด ชีพจรจมเล็กไม่มีแรง (脉沉细无力)
วิธีการรักษา : อบอุ่นไตหยาง
ตัวยาที่เหมาะสม : เช่น โก่วฉีจื่อ(枸杞子) ทู่ซือจื่อ (菟丝子) อูเหมย(乌梅)
2) ฝังเข็ม โดยเลือกจุดฝังเข็มที่เหมาะสม ได้แก่ 迎香,印堂,足三里,凤池 เป็นต้น
จุดอิ๋งเซียง迎香(yíng xiāng) : LI20
จุดอิ้นถาง印堂(yìn táng) : GV29
จุดจู๋ซานหลี足三里(zú sān lǐ) : ST36
จุดเฟิงฉือ风池 (fēng chí) : GB20
3) นวดกดจุด : ช่วยให้จมูกโล่ง เลือดลมไหลเวียนดี
3.1 ใช้ทั้งสองมือถูให้ร้อนแล้วอังบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้างจนรู้สึกอุ่น
3.2 กดจุดอิ๋งเซียง(迎香)20-30 ครั้ง 1 ครั้ง เช้าเย็น
3.3 นวดจากจุดฉวนจู๋(攒竹)ตำแหน่งบริเวณหัวคิ้ว นวดไปทางจุดไท่หยาง(太阳)ซึ่งอยู่ตำแหน่งขมับ ควรทำ 2-3 ครั้งต่อวัน
3.4 นวดฝ่าเท้าบริเวณจุดหย่งเฉวียน(涌泉) และ ขาทั้งสองข้างบริเวณจู๋ซานหลี(足三里)ก่อนนอน
4. ป้องกัน คือ หลักการป้องกันไม่ให้ภูมิแพ้กำเริบ
4.1 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4.2 ลดความเครียด
4.3 ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยให้สะอาดเสมอ
4.4 ออกกำลังกาย เพื่อเสริมภูมิต้านทาน
4.5 ไม่ควรทานอาหารฤทธิ์เย็น แนะนำทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่นจะเหมาะสมกว่า เนื้อสัตว์ควรรับประทานประเภทอกไก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลากะพง(กรณีไม่ได้แพ้อาหารทะเล)
4.6 ผักผลไม้ที่ควรทาน ได้แก่
ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น บร็อคโคลี ตำลึง ผักโขม กะหล่ำปลี
ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม สัปปะรด สตอเบอรี่ มะนาว
ผักผลไม้สีส้มหรือสีเหลือง เช่น ฟักทอง เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก มะเขือเทศ
ผักตระกูลหอม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม
15 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567
1 ก.ค. 2567