Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1134 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการชาบริเวณมือเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยทางคลินิก แต่ในบางครั้งไม่สามารถทราบได้ว่าอาการชามือที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากอะไร เราสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการชามือที่พบได้บ่อยในแผนกกระดูกและทุยหนาเบื้องต้นได้ดังนี้
โรคกระดูกต้นคอเสื่อมชนิดกดทับรากประสาท (Cervical spondylotic radiculopathy) เป็นโรคที่อาการชามือเกิดจากรากประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอถูกกระตุ้น บริเวณที่ชาจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณนิ้วมือ แต่จะมีอาการปวด ชาบริเวณคอและแขนร่วมด้วย การตรวจ Eaten’s test และ Cervical compression test จะให้ผลเป็นบวกร่วมกับมีอาการบริเวณคอและแขน บริเวณนิ้วที่ชาจะขึ้นกับบริเวณที่เส้นประสาทคอถูกกดทับ
โรคปลายประสาทอักเสบ (Polyneuritis) เป็นโรคที่จะมีอาการชามือทั้งสองข้างและบริเวณที่ชาจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยง ยังรวมทั้งบริเวณที่เส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve) และเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) หล่อเลี้ยงด้วย กล่าวคือจะมีอาการชาหลายนิ้วและชาทั้งสองข้าง
กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) เป็นกลุ่มอาการที่จะมีการชามือบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลางและนางครึ่งนิ้ว ส่วนมากจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งโดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการงอข้อมือหรือทำให้โพรงข้อมือมีแรงดันมากขึ้น ในรายที่รุนแรงอาจพบกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้งลีบ การตรวจ Tinel's test, Modified phalen's test และ Carpal compression test ให้ผลเป็นบวก
กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อศอก (Cubital tunnel syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่มีอาการชาบริเวณนิ้วก้อยซึ่งอาการอาจไม่รบกวนผู้ป่วยมากเนื่องจากบริเวณที่มีอาการชามีขนาดเล็กผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณด้านในของข้อศอก อาการอ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อลีบซึ่งสังเกตได้ชัดกว่า อาจจะเป็นอาการนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ตำแหน่งที่สังเกตกล้ามเนื้อลีบได้ชัดเจนคือกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วก้อย การตรวจ elbow flexion test ให้ผลเป็นบวก
ในมุมมองทางการแพทย์แผนจีนอาการชาตามร่างกายมักเกิดจากสาเหตุการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ชี่และเลือดพร่อง (气血亏虚) ลมตับภายในกำเริบ (肝风内动) เสมหะและความร้อนสะสม (痰热内盛) ลมและเสมหะอุดกลั้นเส้นลมปราณ (风痰阻络) จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์และรักษาตามกลุ่มอาการของโรคเพื่อทราบกลุ่มอาการของโรคและสาเหตุของการเกิดโรค จากนั้นเลือกหลักการรักษาและวิธีการรักษาที่เหมาะสม ทั้งการนวดทุยหนา การฝังเข็มหรือการรับประทานยาสมุนไพรจีนเพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุด
สุดท้ายนี้ อาการชามือที่แตกต่างกันย่อมเกิดจากสาเหตุและมีวิธีในการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการชามือเกิดขึ้นควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน (เฉิน ไท่ เริ่น)
陈泰任 中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)
30 ส.ค. 2567
15 ก.ค. 2567