กรณีศึกษาการรักษา “กรดไหลย้อน” ด้วยยาสมุนไพรจีน

Last updated: 10 ม.ค. 2567  |  755 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษาการรักษา “กรดไหลย้อน” ด้วยยาสมุนไพรจีน

อาการกรดไหลย้อนเป็นอาการที่เริ่มพบได้มากขึ้นในยุคปัจจุบัน สืบเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรีบรับประทานอาหาร ทำงานหนักทำให้เวลาพักผ่อนน้อย มีความเครียดสะสม และเป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถกระตุ้นการหลั่งกรดมากขึ้น ทั้งยังอาจรวมไปถึง การรับประทานอาหารสำเร็จรูป สะดวกและง่ายต่อการรับประทาน มักมีน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งส่งผลให้กรดไหลย้อนหายได้ช้าและไม่หายขาดเสียที วันนี้ผมมีเคสตัวอย่างที่รักษากรดไหลย้อนด้วยสมุนไพรจีน โดยถึงแม้จะใช้เวลานานเสียหน่อยในการรักษา แต่ผลที่ออกถือว่าค่อนข้างดีและสามารถช่วยบรรเทาอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยด้วย ซึ่งก่อนอื่นขออธิบายสาเหตุและกลไกการเกิดกรดไหลย้อนไว้ดังนี้

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

          1. เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ

          2. หลอดอาหารและกระเพาะเกิดอาการระคายเคืองจากกรด อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผลหรือไม่เกิดแผลก็ได้

          3. กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย

          4. กรดไหลย้อนสามารถลุกลามไปที่คอหอย กล่องเสียงได้ ทำให้อาจมีอาการร่วมเช่น ไอ สำลัก เสียงแหบ เสียงปนเสมหะ เป็นต้น

          5. สาเหตุมักเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป รสจัด ไขมันสูง การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานแล้วนอนทันที มีปัญหาที่โครงสร้างหูรูดหลอดอาหาร เป็นต้น

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

          1. กลุ่มอาการอาหารตกค้าง(饮食停积)

          อาการ : เรอเปรี้ยวแสบกลางอก ร่วมกับอาการท้องอืดแน่นหลังรับประทานอาหาร ท้องผูกหรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นอาหาร เป็นต้น
          ลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดงฝ้าขาวเหนียว ชีพจรลื่น(滑)
          การรักษา : ดึงชี่กระเพาะลง ช่วยย่อยอาหาร ระบายชี่ติดขัด

          2. กลุ่มอาการตับและกระเพาะอาหารไม่ประสานกัน(肝气犯胃证)

          อาการ : เรอเปรี้ยวแสบกลางอก ร่วมกับอาการคลื่นไส้ ขมคอ เสียดสีข้างชายโครง แน่นหน้าอก อาการมักเกิดขึ้นพร้อมกับความเครียดหรือหงุดหงิด เป็นต้น
          ลิ้นและชีพจร : ขอบลิ้นแดง ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึง(弦)
          การรักษา : ระบายตับ ปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง

          3. กลุ่มอาการความเย็นกระทบกระเพาะ(寒邪犯胃证)

          อาการ : เรอเปรี้ยวแสบกลางอก ร่วมกับอาการ กลัวหนาวมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง เป็นต้น

          ลิ้นและชีพจร : ลิ้นฝ้าขาวบาง ชีพจรลอย(浮)
          การรักษา : ดึงชี่กระเพาะลง กระจายความเย็น

          4. กลุ่มอาการเสมหะและน้ำคั่งค้างกระเพาะ(痰饮停胃)

          อาการ : เรอเปรี้ยวแสบกลางอกร่วมกับ คอแห้งแต่ไม่กระหายน้ำ ดื่มน้ำแล้วคลื่นไส้อาเจียน พบเสียงท้องร้องโครกคราก ท้องอืดแน่น เป็นต้น

          ลิ้นและชีพจร : ลิ้นฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึงลื่น(滑弦)
          การรักษา : สลายเสมหะและน้ำคั่ง ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง

          5. กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะเย็นจากพร่อง(脾胃虚寒)

          อาการ : หลังจากอาการเรอเปรี้ยวหรือคลื่นไส้มักมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กลัวหนาว ชอบประคบท้องด้วยความอุ่น ใบหน้าซีดเซียว เป็นต้น
          ลิ้นและชีพจร : ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรไม่มีแรง(弱)
          การรักษา : อุ่นกระเพาะม้าม ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง

          6. กลุ่มอาการอินกระเพาะอาหารพร่อง(胃阴虚证)

          อาการ : เรอเปรี้ยวแสบกลางอกร่วมกับ คอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียนพบเมือกเหนียวแต่น้อย หิวแต่ไม่อยากอาหาร อุจจาระแข็ง เป็นต้น
          ลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว(细数)
          การรักษา : เสริมอินเพิ่มความชุ่มชื้น ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง

ตัวอย่างกรณีศึกษา

ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย

ชื่อ : น.ส. กลxxxxx             

เพศ : หญิง             

อายุ : 42 ปี          

รหัสผู้ป่วย : 365xxx

อุณหภูมิ : 36.3°C             

ชีพจร : 100/min             

ความดันโลหิต : 118/78 mmHg             

น้ำหนัก :  72 kg

วันที่เข้ารับการรักษา : 06 สิงหาคม พ.ศ. 2565

อาการสำคัญ : จุกเสียดกลางอกร่วมกับอาการแสบร้อน 1 ปี 

ประวัติการเจ็บป่วย : ช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีอาการจุกเสียดกลางอกร่วมกับแสบร้อน ลักษณะเป็น ๆหาย ๆ ขณะที่เป็นจะรู้สึกจุกแน่นด้านหลังร่วม ได้ทำการตรวจกระเพาะลำไส้ด้วยการทำ CT และส่องกล้องกระเพาะลำไส้ผลตรวจยังคงปกติ พบเพียงการอักเสบเล็กน้อยของกระเพาะและหลอดอาหาร ช่วง 6 เดือนที่แล้วเคยเข้า Admit ด้วยอาการดังกล่าว

อาการร่วม : คลื่นไส้ จุกแน่นหลังรับประทานอาหาร ขับถ่ายไม่สุด บางครั้งท้องผูก ถ่ายลำบาก เป็นแผลร้อนในง่าย เหงื่อออกเยอะ ร้อนง่าย มือชา แสบร้อนที่โพรงจมูก

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : ไขมันพอกตับ

การตรวจร่างกาย : ลิ้นแดงฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่นและเล็ก (滑细) เสียงปนเสมหะขณะพูด

วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน :吐酸ภาวะเรอเปรี้ยว

วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน :กรดไหลย้อน (GERD)

กลุ่มอาการ : กระเพาะม้ามอ่อนแอร่วมกับเสมหะอุดกั้น

วิธีการรักษาโดยแพทย์จีน

เลือกใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระเพาะม้าม ขจัดเสมหะที่อุดกั้น โดยเลือกใช้ตำหรับ เซียงซาลิ่วจวินจื่อทัง (香砂六君子汤) โดยปรับเพิ่มยากลุ่มสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการบีบตัวและลดการหลั่งกรดของทางเดินอาหารร่วมด้วยในการรักษา โดยให้รับประทานยาจีนเช้า-เย็น หลังอาหาร 30 นาที

ประเมินผลการรักษา

ครั้งที่ 2 (วันที่ 13 สิงหาคม 2565) 

- ยังคงมีอาการจุกเสียดกลางอกอยู่ แสบร้อนกลางอกในบางครั้ง

- คลื่นไส้ในบางครั้ง ร่วมกับเวียนศีรษะ แสบร้อนจมูก

- การขับถ่ายลำบากดีขึ้น

- สีลิ้นแดงฝ้าขาว ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 3 (วันที่ 18 สิงหาคม 2565) 

- ไม่มีอาการเวียนศีรษะ

- คลื่นไส้บางครั้ง แสบร้อนจมูกดีขึ้น

- อาการจุกเสียดแน่นอกดีขึ้น แสบร้อนกลางอกอยู่บ้าง

- พบเสมหะในลำคอ

- สีลิ้นแดงฝ้าขาว ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 4 (วันที่ 24 สิงหาคม 2565) 

- ปวดศีรษะในบางวัน ไม่มีอาการแสบร้อนจมูก 

- พบคลื่นไส้ 1 ครั้ง/สัปดาห์

- จุกเสียดกลางอกเกิดขึ้น 1-2 วัน/สัปดาห์ ไม่มีอาการแสบร้อน

- การรับประทานอาหารและการขับถ่ายปกติ

- สีลิ้นแดงฝ้าขาว ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 5 (วันที่ 1 กันยายน 2565) 

- อาการในภาพรวมดีขึ้น

- ยังคงพบอาการแสบกลับมาบ้างเล็กน้อยร่วมกับจุกเสียดกลางอก

- ปวดศีรษะบ้างร่วมกับแสบร้อนจมูกเล็กน้อย 

- สีลิ้นแดงเล็กน้อย ฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 6 (วันที่ 8 กันยายน 2565) 

- อาการใกล้เคียงกับช่วงอาทิตย์ก่อน แต่มีปัญหานอนไม่หลับเพิ่มเติม (มีการปรับเปลี่ยนยาเพิ่มเติม)

- อาการโดยรวมปกติ  ขับถ่ายคล่องปกติ

- สีลิ้นแดงเล็กน้อย ฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 7 (วันที่ 24 กันยายน 2565) 

- ยังไม่พบอาการจุกเสียดแน่นกลางอกหรือแสบร้อน

- คลื่นไส้ 1 ครั้งในช่วง 2 สัปดาห์

- รู้สึกในช่องคอมีเสมหะ

- สีลิ้นแดงเล็กน้อย ฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่นเล็ก

ครั้งที่ 8 (วันที่ 6 ตุลาคม 2565) 

- อาการในภาพรวมคงที่ ไม่มีจุกเสียดแสบร้อนเพิ่มเติม

- ไม่มีอาการคลื่นไส้

- การรับประทานอาหารและการขับถ่ายปกติ

- ยังไม่พบอาการปวดศีรษะหรือแสบร้อนจมูก

- เสมหะในช่องคอลดลง

- หากรับประทานของทอดจะมีอาการไอร่วม

- ปวดเมื่อยคอบ่าไหล่

สรุปผลการรักษา

จากเคสกรณีศึกษาข้างต้น เห็นได้ว่าการรักษาด้วยยาตำรับสมุนไพรจีน สามารถช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อน ไม่ว่าจะเป็นอาการจุกเสียดแน่นกลางอก แสบร้อนกลางอก และปัญหาการขับถ่าย อีกทั้งสามารถรักษาควบคู่กับแพทย์ปัจจุบันเพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาและช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

วิเคราะห์ผลการรักษา

ผู้ป่วยมีอาการเริ่มต้นคืออาการจุกเสียดกลางอกร่วมกับแสบร้อน ลักษณะเป็น ๆหาย ๆ ขณะที่เป็นจะรู้สึกจุกแน่นด้านหลังร่วม คลื่นไส้ จุกแน่นหลังรับประทานอาหาร ขับถ่ายไม่สุด บางครั้งท้องผูก ถ่ายลำบาก เป็นแผลร้อนในง่าย เหงื่อออกเยอะ ร้อนง่าย มือชา แสบร้อนที่โพรงจมูก ลิ้นแดงฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่นและเล็ก เสียงปนเสมหะขณะพูด

ซึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นมองว่าผู้ป่วยมีอาการลักษณะเป็น ๆหาย ๆ บ่งบอกถึงชี่ในกระเพาะม้ามอ่อนแอลง ไม่สามารถจัดการอาหารที่รับประทานได้ รวมถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ในการย่อยไม่แข็งแรง ส่งผลไปถึงหูรูดที่อ่อนแอลงและเกิดภาวะกรดไหลย้อนขึ้นจนมีอาการดังกล่าว

หลังจากใช้ยาสมุนไพรจีนในกลุ่มเสริมความแข็งแรงให้กระเพาะและม้าม ร่วมกับขจัดเสมหะ รวมถึงกลุ่มยาบางชนิดที่ใช้ตามอาการที่ผู้ป่วยมีในแต่ละอาทิตย์นั้น พบว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะใช้เวลาในการรักษาร่วม2เดือนกว่า แต่ยังคงสามารถทำให้พื้นฐานการย่อยและการขับถ่ายของผู้ป่วยดีขึ้น และยังคงต้องติดตามดูอาการในระยะยาว ให้ความรู้ความเข้าใจในด้านการดูแลอาหาร การออกกำลังกาย และดูแลสภาพจิตใจในภาพรวม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำหรือเป็นหนักขึ้นในภายภาคหน้า

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้